บันทึกของผม นศ.นวมินทร์ ปิ่นปฐมรัฐ


ก่อนจากกัน บรรยากาศการล่ำลาในตอนเช้า เต็มไปด้วยความชื่นมื่น สิ่งที่ทุก ๆ คนพูดเหมือนกันก็คือ ‘จบแล้วอย่าลืม รพ.ชุมชนนะ’ ทำให้ผมและเพื่อนๆรู้สึกว่าพวกเราคือ ความหวังของทุกคนจริง ๆ ครับ

-  ลุงเป็นเบาหวาน เดินทำสวน โดนหินบาดที่ง่ามนิ้ว   ทำให้แผลติดเชื้อและหายยาก  ลุงชอบกินผักและปลา  ไม่ชอบกินของหวาน  แต่บางครั้งถ้ามีของที่ชอบมากจริง ๆ ก็กินเยอะทำให้น้ำตาลมากขึ้นได้.....................“ส่วนใหญ่หมอจะสนใจแต่ตัวเลขว่าน้ำตาลขึ้นเท่าไร  แต่ไม่ได้สนใจถึงความสุขที่คนไข้อยากได้เป็นบางครั้งบางคราวจากการที่ได้กินของที่ตัวเองชอบ........... รักษาโรค หรือ รักษาคน”

-  น้องเป็นโรคหัวใจ ร้องไห้งอแง มีแม่มานอนเฝ้าตลอดเวลา ในสายตาของแม่เวลาเล่าเรื่องลูกของตนเองที่ป่วยผมก็รู้สึกได้ถึงความเป็นห่วง  เมื่อเห็นลูกร้องไห้แม่ก็รีบปลอบด้วยหัวใจที่สงสารลูกของตน..............สำหรับเราอาจจะเห็นอาการหอบเหนื่อย หรือการตรวจร่างกายที่ผิดปกติเป็นเพียงอาการทางคลินิกหรือช่วยในการวินิจฉัยโรค แต่ในมุมมองของความเป็นแม่ แล้วคือ “ความเจ็บปวดของลูก”

-  คนไข้เบาหวานมีแผลเรื้อรัง แพทย์แนะนำให้ตัดขา เพราะแผลติดเชื้อลุกลามมากแล้ว  ผู้ป่วยไม่อยากตัด..................”ถ้าเราลองคิดว่าตัวเราเป็นคนไข้ เราก็คงไม่อยากตัดขาเช่นกัน  การบอกข้อมูลต่าง ๆ ให้คนไข้ทราบจัดเป็นเรื่องสำคัญและต้องทำให้ดีที่สุด ข้อมูลจะต้องเพียงพอ เพื่อให้คนไข้นำไปคิด สุดท้ายคนไข้และญาติก็ต้องตัดสินใจเอง  ผลจะเป็นเช่นไร ก็ต้องปฎิบัติตามนั้น เพราะเป็นสิทธิของคนไข้”

-  ชมป้าว่าคุมน้ำตาลได้ดีมาก  ป้ารู้สึกภูมิใจมากเลย........... บางทีคำชมจากหมอแม้เพียงเล็กน้อย ก็จำเป็นและสำคัญพอ ๆ กับยาที่เราจ่ายให้ผู้ป่วยครับ

- ได้นำความรู้ การตั้งคำถาม และกระบวนการแก้ปัญหา จากที่ได้เรียน PBL มาใช้ในการดูแลผู้ป่วยครับ

- ป้าเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และอัมพฤกษ์ออกไปซื้อของเองไม่ได้ ไม่มีใครดูแลและเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องกินอาหารกระป๋อง ของหมักดองที่เค็ม..................”บางทีคนไข้ก็รู้ว่าควรทำอะไร แต่สิ่งแวดล้อม และข้อจำกัดทำให้ต้องใช้ชีวิตอย่างนี้  ถ้าหมอไม่ลงไปสัมผัสกับผู้ป่วย เราก็จะไม่รู้ว่าทำไมคนไข้ถึงทำอย่างที่เราแนะนำไม่ได้  บางทีการรักษาคนไข้ก็ไม่ใช่จบแค่ที่ยาและโรงพยาบาลครับ”

- ลุงมีแผลติดเชื้อเรื้อรังที่เท้า ทำยังไงก็ไม่หายเพราะ สำหรับลุง สิ่งสำคัญกว่าแผลคือ ปัญหาปากท้องและครอบครัว  ซึ่งเป็นส่วนที่ลุงต้องรับผิดชอบ ทำให้ต้องออกไปทำงาน และใช้งานในอวัยวะส่วนที่หมอห้าม  ซึ่งทั้งหมดนี้ลุงคิดว่าสำคัญกว่าแผลที่เท้าของคุณลุงครับ

- เวลาคนไข้เล่าเรื่องราวต่าง ๆ  หลายครั้งก็เป็นประสบการณ์ที่ไม่เกี่ยวกับอาการผิดปกติที่อยากให้หมอช่วย  เวลาหมอฟังอาจนึกว่าเป็นเรื่องที่น่ารำคาญ  และเสียเวลามาก แต่ถ้าเราฟังดี ๆ จะรู้ว่าผู้ป่วยเค้าพยายามสังเกตอาการของตัวเองอย่างละเอียดเพื่อมาเล่าให้หมอฟังอย่างตั้งใจ ซึ่งผู้ป่วยคิดว่าเป็นการช่วยหมออีกทางหนึ่ง

- วันนี้เป็นวันแรกที่ผมได้ทำแผลคนไข้จริง ๆ รู้สึกตื่นเต้นมาก ๆ  ผู้ป่วยมีชีวิตมีความรู้สึก การทำแผลแต่ละครั้งทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวด  ทำให้ผมคิดเสมอว่าการทำแผลทุกครั้ง คือ การกำลังทำแผลตัวเองอยู่  อยากให้คนอื่นทำให้เรายังไง เราก็จะทำให้ผู้ป่วยเช่นนั้น

- ไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน ป้าอยู่คนเดียว ก่อนกลับพวกเราก็เอาก๋วยเตี๋ยวที่ซื้อมาให้ป้า  พูดคุยได้สักพักป้าก็เริ่มตื้นตันพูดไม่ออก............บางทีที่คนอื่นอาจเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อย แต่สำหรับอีกคนอาจเป็นเรื่องที่วิเศษและยิ่งใหญ่สำหรับเค้าก็ได้

- เหนื่อยมาก ๆ รู้สึกว่างานที่ รพ.ชุมชน ถ้าทำอย่างจริงจังก็จะมีอะไรให้ทำตลอด และแต่ละเรื่องก็สำคัญและมีประโยชน์จริงๆ

อยู่ที่นี่มา 13 วัน วันนี้ต้องกลับแล้ว ได้อะไรมากมายจริง ๆ มากกว่า คำว่า รพ.ชุมชน  เพราะทุกอย่างที่นี่เต็มไปด้วยความรู้สึกที่ดีมากมายที่หาไม่ได้จากที่ไหน  และไม่สามารถหาคำใดๆมาบรรยายได้ หากแต่ต้องมาสัมผัสเองครับ

-  ก่อนจากกัน บรรยากาศการล่ำลาในตอนเช้า เต็มไปด้วยความชื่นมื่น  สิ่งที่ทุก ๆ คนพูดเหมือนกันก็คือ         ‘จบแล้วอย่าลืม รพ.ชุมชนนะ’  ทำให้ผมและเพื่อนๆรู้สึกว่าพวกเราคือ ความหวังของทุกคนจริง ๆ ครับ

หมายเลขบันทึก: 339067เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2010 12:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท