บทเรียนจากกิจกรรมโรงงานผลิตขยะ


วิชาสันติศึกษา

คำถามของอาจารย์คือ

“ระยะเวลาเกือบ 4 เดือนที่คุณเรียนวิชานี้ คุณเรียนรู้อะไรบ้างคะ”

  1. ก่อนอื่น ต้อง “ขอโทษ” ทุกคนที่ทำให้เกิดความสับสน (ในเนื้อหาและกิจกรรม) และเหนื่อยมาก (ในการทำกิจกรรม)รวมทั้งทำให้เกิดอารมณ์โกรธ เคือง เครียด เกลียด ไม่พอใจ เบื่อ สนุก ขำขัน เซ็งเป็ดและอื่นๆ อีกมากมาย แม้ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ อาจารย์ตั้งใจทำให้เกิดขึ้นก็ตาม (ยกเว้นความสับสนในการอธิบายเนื้อหาทฤษฎีของอาจารย์ ซึ่งเป็นความสามารถเฉพาะตัวของอาจารย์เอง ห้ามลอกเลียนแบบนะคะ (-_-“) อาจารย์กำลังพยายามปรับปรุงตัวอยู่ค่ะ) สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ อาจารย์มุ่งหวังในการแสดงให้คุณเห็นว่า การสื่อสารของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ การที่ “เรา” จะต้องตรวจสอบความเข้าใจใน “สาร” เสมอค่ะ เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดและตีความผิดพลาด
  2. ในการเรียนเรื่องความขัดแย้งนั้น สิ่งที่สำคัญมากก็คือ การได้มีประสบการณ์ “อยู่” ในความขัดแย้ง เพราะอาจารย์คิดว่าเป็นเรื่องยากมากเลยนะคะที่เราจะอยู่กับความขัดแย้งให้ได้ อาจารย์เชื่อว่า พวกคุณที่เข้าร่วมในกิจกรรมก็จะรับรู้ถึงบรรยากาศและความตึงเครียดที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งต่างๆ
  3. หากคุณสังเกตดูดีๆ คุณจะพบว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องที่คน “สร้าง” มันขึ้นมา เหมือนกับที่อาจารย์สร้างความขัดแย้งขึ้นมา ซึ่งโดยมากความขัดแย้งมักจะมาจาก แรงผลักดันของ NEEDS และ INTERESTS ของมนุษย์ที่มนุษย์คิดเอาเองว่าไม่สามารถที่จะสูญเสียมันไปได้ ซึ่งในความคิดของอาจารย์แล้ว สิ่งนี้คือรากฐานสำคัญของการเกิดขึ้นของความขัดแย้ง
  4. นอกจากนั้น วิธีการหรือรูปแบบต่างๆ ในการจัดการความขัดแย้งก็มีอย่างหลากหลายและมากมายขึ้นอยู่กับสถานการณ์และผู้ที่อยู่ในความขัดแย้งว่าจะเลือกใช้วิธีการใด ในแง่นี้ “ใจ” และอคติจึงเป็นสิ่งสำคัญมากนะคะ อาจารย์เชื่อว่า ใจที่ประกอบไปด้วยความกรุณาจะทำให้ความขัดแย้งคลี่คลายไปได้อย่างสันติค่ะ
  5. การโกหก การเชื่อคำยั่วยุ หรืออำนาจฝ่ายมืดต่างๆ (จากอาจารย์หรือจากอารมณ์ของคุณเอง) ล้วนเป็นสิ่งที่อาจารย์ค้นพบจากแบบสะท้อนของคุณหลายๆ คนว่า คุณไม่ได้ชอบที่จะทำมันเลย อาจารย์ขอชื่นชมพวกคุณค่ะ ที่ “รู้” ว่านั่นเป็นเรื่องที่ไม่ดี อย่างไรก็ตาม หลายคนก็ “จำเป็น” ที่จะต้องทำเรื่องที่ไม่ดีเหล่านี้ บทเรียนนี้สอนอะไรคุณบ้างคะ สำหรับอาจารย์แล้วบทเรียนนี้สอนอาจารย์สองเรื่อง ในประการแรกคือ มนุษย์ทุกคนมี NEEDS เป็นแรงผลักดันให้ทำอะไรบางอย่างอยู่ตลอดเวลา ประการที่สองคือ หากเราสามารถที่จะเข้าใจ NEEDS ของผู้อื่นได้ บางทีเราอาจจะหาทางออกจากสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ได้ (การเอาใจเขามาใส่ใจเรานั่นเองค่ะ) ความลับของอาจารย์ คือ ตอนที่คุณกำลังเล่นเกม A B C อยู่นั้น อาจารย์เฝ้ารอให้มีใครสักคนตั้งคำถามกับความไม่ยุติธรรมของเกมดังกล่าว และเสนอทางเลือกอื่นๆ ขึ้นมาค่ะ
  6. อาจารย์อยากให้คุณตระหนักไว้นะคะว่า แก้วที่มันร้าวหรือแตกแล้ว ไม่มีทางที่จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ ยกเว้นทำลายแล้วสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งนั่นต้องใช้เวลาและพลังงานจำนวนมหาศาล หากเราเปรียบแก้วเป็นความสัมพันธ์ เมื่อไรก็ตามที่คุณรู้สึกว่า ความขัดแย้งอาจจะเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ อย่าปล่อยมันเอาไว้โดยไม่คิดจะทำอะไรเลย หรือทำอะไรโดยไม่คิดนะคะ เพราะว่าสิ่งดีๆ ที่คุณเพียรสร้างมาอาจจะถูกทำลายในพริบตาค่ะ
  7. ท้ายที่สุดนี้ อาจารย์อยากจะฝากคำของมหาตมะ คานธีไว้กับพวกคุณค่ะ “Be the change you want to see in the World” จงเป็นสิ่งที่คุณอยากให้โลกใบนี้เป็นค่ะ เช่น หากคุณอยากให้โลกใบนี้เปี่ยมด้วยเมตตาและกรุณาคุณก็ต้องเป็นคนมีเมตตาและกรุณาค่ะ หากอยากจะให้ผู้อื่นเป็นมิตรกับตน ก็ต้องหยิบยื่นความเป็นมิตรให้กับคนอื่นด้วยและอย่าลืม “ช่างมันเถอะ” 10 ประการที่อาจารย์ให้คุณไว้ด้วยนะคะ
  8. ขอบคุณนะคะ สำหรับประสบการณ์ดีๆ ที่คุณมอบให้กับอาจารย์และอาจารย์รู้สึกยินดีที่ได้รู้จักพวกคุณค่ะ


คำสำคัญ (Tags): #สันติศึกษา
หมายเลขบันทึก: 339051เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2010 11:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท