รัฐฉาน-ไทใหญ่ รัฐแห่งความลุ่มรวยทางวัฒนธรรม การต่อสู้ คราบน้ำตา และการสูญเสีย


ถ้าบ้านเมืองเจริญหรือว่าพัฒนา มีอิสรภาพ แต่รากเหง้าทางวัฒนธรรมสูญหายจะมีบ้านเมืองแบบนี้ทำไมกันเล่า

ทุกวันนี้สถานการณ์ความขัดแย้งในบ้านเมืองไทย ชัดเจนเป็นสีๆ บางคนไม่สนใจเพราะเสียเวลากับการต้องรู้เท่าทัน สถานการณ์ทั้งที่สภาพการอยู่กินและการดำเนินชีวิตในแต่ละวันยังยากลำบาก หาเช้ากินค่ำ และยังดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด...บางคนได้แต่ส่ายหน้า บ่ายหน้าหนีกับภาพของสังคมไทยที่ยังอาจจะยังไม่เจียมกับสภาพที่หลงลืมไปว่าประวัติศาสตร์ของการสร้างชาติไทยของบรรพบุรุษ ประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ด้วยพลังมวลชน ด้วยชีวิตที่พลีชีพให้กับกระสุนปืน พลีกายให้กับผู้ข่มเหง มานักต่อนักเพื่อการอยู่รอดของคนที่อาศัยในทุกวันนี้มันแลกด้วยทุกสิ่งอย่างยิ่งนัก หรือว่าเราที่อยู่กินในสังคมปัจจุบันสบายเกินไป เห็นว่าเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของคนอื่นที่มีหน้าที่เท่านั้น...?

หลายวันมานี้..ฉันได้ฟังเรื่องราวจากเสียงของผู้คนที่ได้ไปเยี่ยมเยียนรัฐฉาน เรื่องราวคนไทใหญ่ ชาติพันธุ์หนึ่งที่เรียกว่าเป็นเชื่อสายพี่น้องเดียวกับคนไทย ฟังจากเพลงของน้าแอ๊ดคาราบาว เห็นภาพจากคลิปวิดีโอเล่าเรื่องราวชีวิตที่มีแต่การพลัดพราก การต่อสู้เพื่ออิสรภาพ การต่อสู้ของผู้คนเพื่อให้ตัวเองมีลมหายใจอยู่ เด็กผู้หญิงตัวน้อยๆที่ตกเป็นเหยื่อของความหื่นกระหายทางอารมณ์ การหนีตายเพื่อให้ชีวิตตัวเองยังคงอยู่ วิถีชีวิตที่ทุกวินาทีต้องต่อสู้กับความเหงา ความกลัว ความปลอดภัยในชีวิต....ทุกอย่างที่เป็นความต้องการพื้นฐานของชีวิตกลับไม่มีหลงเหลือให้กับผู้คนไท-คนไตย ในรัฐฉาน

หากใครเคยดูหนังแรมโบ้ 4 ก็จะเห็นภาพเหตุการณ์ได้ชัดเจนขึ้น ว่าความโหดร้ายทุกวินาทีมันเป็นเช่นไร?....

พี่ๆหลายคนได้เล่าเรื่องราวหลังจากที่ได้ไปเยี่ยมเยียนรัฐฉาน แม้มีเรื่องราวน่าเศร้าหลายอย่าง แต่ภายใต้เรื่องน่าเศร้าคือความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม ความสวยงามของผู้คนที่รักษารากเหง้าของเค้าให้คงอยู่ แม้ว่าทุกลมหายใจจะอยู่ในห้วงความกังวลกับการอยู่รอดของชีวิตและการเรียกร้องอิสรภาพ ความเป็นธรรม..เพียงแค่สิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์

 “ถ้าบ้านเมืองเจริญหรือว่าพัฒนา มีอิสรภาพ แต่รากเหง้าทางวัฒนธรรมสูญหายก็จะมีบ้านเมืองแบบนี้ทำไมกันเล่า”

ประโยคหนึ่งที่ฟังจากการถ่ายทอดความรู้สึกจากพี่ๆที่ได้ฟังจากเจ้ายอดศึกแล้วประทับใจ ท่านตอบคำถามหนึ่งเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองของรัฐฉานกับปฏิทินการเฉลิมฉลองชาติที่มีบ่อยครั้งในหนึ่งปี เพราะทุกครั้งจะต้องมีการเฉลิมฉลอง มีการแสดงทางวัฒนธรรม ดูออกจะเป็นลักษณะงานรื่นเริงซึ่งออกจะดูแปลกแยกจากสถานการณ์ความคับขันที่เผชิญอยู่ แต่คำตอบนี้ทำให้เห็นวิสัยทัศน์ของเจ้าเมืองกับการสร้างบ้านเมืองให้มั่นคงและเต็มเปี่ยมด้วยรากเหง้าของความเป็นไทใหญ่ รากเหง้าที่จะยังคงอยู่กับบ้านเมือง และลูกหลานสืบไป

น้ำตาคลอ...ตื้นตัน..ที่ได้ฟัง และหวังว่าสักครั้งคงจะมีโอกาสได้ไป นอกจากได้ฟังเรื่องราว ฟังเพลง ภาพทุกอย่างที่ประมวลอยู่ในจินตนาการของฉันบวกกับเรื่องราวที่เคยอ่านในหนังสือ “ใบอนุญาตข่มขืน” ที่เป็นเรื่องราวที่โหดร้ายรุนแรง สะท้อนใจยิ่งนักว่าการอยู่กินของฉัน การดำรงชีวิตของฉันในปัจจุบันช่างแสนสบายเหลือเกิน อุปสรรคปัญหาที่เจอในแต่ละวันที่มันรู้สึกว่าใหญ่เหลือเกินกลายเป็นเรื่องขี้หมาไป...

ขอบคุณเรื่องราว และความเป็นไปของพี่น้องเพื่อนบ้าน แม้เป็นเรื่องน่าเศร้า แต่การต่อสู้ของชาวไตใหญ่ยังมีพลังแห่งนักรบและนักต่อสู้ ช่วยปลุกพลังของคนไทยอยู่ไม่น้อย หากคนไทยช่วยกันคิด ช่วยกันมองให้ข้ามพ้นเรื่องฉันเรื่องเธอ เรื่องของกู เรื่องของมึง สังคมไทยคงจะมีอะไรดีๆว่านี้ขึ้นเยอะ

ภิชา  (เขียน)

วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553(23.58 น.)

หมายเลขบันทึก: 338711เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2010 00:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 20:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท