ลายกระหนก หรือ ลายกนก


เป็นลายพื้นฐานหนึ่งที่สำคัญของลายไทย

ลายกระหนก หรือ ลายกนก เป็นลายพื้นฐานหนึ่งที่สำคัญของลายไทยในงานจิตรกรรมไทย มีพื้นฐานจากสามเหลี่ยมชายธง (สามเหลี่ยมมุมฉาก) อาจมีตัวเดียว หรือหลายตัวก็ได้ มักมีฐานมุมแหลมหันไปทางเดียวกัน โดยมีขนาดและสัดส่วนที่แตกต่างกันไป ลายกระหนกที่สำคัญ ได้แก่ กระหนกสามตัว กระหนกเปลว กระหนกใบเทศ จากนั้นก็เป็นกระหนกผักกูด กระหนกกอ เป็นต้น

ความหมาย

ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี พ.ศ. 2525 ให้ความหมายว่า กระหนก หมายถึงลวดลาย แต่จะสะกดว่า กนก ก็ได้ด้วย, กนก หมายถึงทอง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงอธิบายใน พระนิพนธ์สาส์นสมเด็จ ว่า "กนก" คงใช้เรียกตู้ลายทอง (ตู้ลายรดน้ำ) แล้วเข้าใจผิดไปว่า ลวดลายนั้นเป็น "กนก"

 

บ่อเกิดแห่งลายไทย

ลายไทยมีบ่อเกิดมาจากธรรมชาติ ได้แก่

  • ดอกบัว
  • ดอกมะลิ
  • ดอกชัยพฤกษ์
  • ใบฝ้ายเทศ
  • ผักกูด
  • ตาอ้อย
  • เถาวัลย์
  • กาบไผ่
  • เปลวไฟ
  • ฯลฯ

 

กำเนิดของลายกระหนก และกระหนกสามตัว

ต้นแบบของลายกระหนก มาจากหางไหล ซึ่งเป็นลายที่มาจากลักษณะของเปลวไฟ

กระหนกสามตัวเป็นแม่ลาย ถือเป็นแม่แบบของกระหนกทั้งหลาย

ประเภทของลายกระหนก

ลายกระหนกแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ ดังนี้คือ

  • กระหนกเปลว
  • กระหนกใบเทศ
  • กระหนกผักกูด
  • กระหนกนารี
  • กระหนกหางหงส์
  • กระหนกลายนาค
  • กระหนกช่อลายต่าง ๆ

 

อธิบายคำว่ากระหนก  และ  กนก  เสียก่อนว่าจะมีความหมายอย่างไร  คำว่า  กระหนก  ในภาษาสันสกฤติแปลว่า  หนาม  และในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ. ๒๕๒๕  ให้ความหมายคำว่า  กระหนก  ไว้ว่าชื่อแบบลายประเภทหนึ่ง ใช้ผูกเขียนเป็นลวดลาย มีทั้งการระบายสี ปิดทองรดน้ำ ปั้น หรือแกะสลัก เป็นต้น  กระหนกมีหลายชนิด เช่น กระหนกสามตัว  กระหนกเปลว  กระหนกใบเทศ  กระหนกหางโต  กระหนกลายก้านขด  และกระหนกเครือวัลย์  เป็นต้น

                       

         ส่วนคำว่า  กนก นี้แต่เดิมโบราณาจารย์ได้ให้ความหมายต่างไปอีก  โดยท่านหมายถึงดงนกและดงไม้  อันเนื่องมาจากการประดิษฐ์จากธรรมชาติ  อ่านว่า  กอนก  แต่เขียนลดรูปพยัญชนะตัว อ เสีย  ต่อมาคนรุ่นหลังขาดการสังเกตว่าแต่เดิมเขาอ่านอย่างไร  และมีความหมายอย่างไร  เลยอ่านออกเสียงเป็นกระหนกไป  บางคนสันนิษฐานแปลคำว่า  กนก ว่าทอง ไปก็มี  เพราะลวดลายที่ผูกเขียนเป็นเถาสะบัดปลายรูปเปลวไฟ  ส่วนมากมักลงรักปิดทอง  คนรุ่นหลังเลยเข้าใจว่า แปลว่า ทอง และอ่านคำว่า  กนก เป็น กระหนก  จนถึงทุกวันนี้

         เมื่อดูจากพจนานุกรมฯ  คำว่า กนก เป็นภาษามคธ  แปลว่า ทองคำ ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว  ให้ใช้คำว่ากระหนกเท่านั้น  เพราะมีความหมายตรงกับความเป็นจริงมากกว่า

         การเรียนศิลปะไทยจะต้องฝึกหัดเขียนตามหมวด  หรือขั้นตอนตามที่โบราณาจารย์ได้วางไว้  โดยเริ่มจากหมวดกระหนกก่อน  เพราะกระหนกหรือลวดลายต่างๆ เช่น ตามอาคารสถานที่  สิ่งของเครื่องใช้  แม้แต่ในการเขียนภาพ พระ นาง ยักษ์ ลิง และสัตว์หิมพานต์ ได้แก่ การเขียนลายคิ้ว ลายพรายปาก (หนวดเครา) ลายประกอบจอนหู  เครื่องประดับมงกุฎ  ชฎา  ลายหน้ากระบัง  และลายผ้า  เป็นต้น

         ฉะนั้น  จึงควรฝึกหัดเขียนลายกระหนก ลวดลาย ให้ชำนาญทั้งด้านซ้าย ขวา ยอดขึ้น ลง หันเหไปมา  เพื่อเวลาเขียนลายก้านขด จะได้เขียนอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องหมุน หรือกลับกระดาษ

         จากที่ได้กล่าวไว้ในคราวที่แล้ว  เรื่องบ่อเกิดแห่งลายไทย  ท่านผู้อ่านคงจะจำได้ว่า ดอกบัวหลวง เป็นบ่อเกิดแห่งลายกระหนกสามตัว  ฉะนั้น  ก่อนที่จะเขียนลายกระหนกสามตัวอย่างเต็มรูปแบบนั้น  จำต้องศึกษาส่วนประกอบของตัวกระหนก  ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากเป็นการเพิ่มพูนทักษะในการเขียน  และบังเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้  อันได้แก่  การเขียนบากลาย  และการเขียนปลายยอดกระหนก

         ในการเขียนลายกระหนกต่างๆ  สิ่งที่จะช่วยให้ลายกระหนกที่เขียนขึ้นนั้น  มีความงาม มีความอ่อนไหว  ดูมีชีวิตชีวาและพลัง  ซึ่งจะขาดไม่ได้เลยก็คือ บาก หรือ หยัก และยอดลาย  จึงควรฝึกเขียนบากลายและยอดลายปลายกระหนกให้ชำนาญ  ถูกต้องและสวยงามก่อนที่จะฝึกเขียนลายกระหนกต่างๆ

         บาก หรือ หยัก
         หรือที่ครูช่างครั้งโบราณเรียกติดปากว่า  "หนามเตย"  คือการแบ่งระยะของเส้นรอบตัวกระหนกออกเป็นช่วงๆ  ให้ได้ระยะจังหวะถี่ห่างเท่า ๆ กัน  ซึ่งลักษณะการบาก หรือ หยักดังกล่าวนี้  มีลักษณะคล้ายหนามของใบไม้ชนิดหนึ่ง  ที่มีรูปร่างยาวรีคล้ายใบเตยแต่มีหนาม  จึงเรียกตามลักษณะใบไม้ชนิดนี้ว่า  "หนามเตย"  การบากมีอยู่  ๒  ลักษณะวิธี คือ

         ๑.  บากเข้า  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บากใน ลักษณะคล้ายเส้นกลีบบัวตูม  เส้นกลีบบัวจะอ่อนโค้งห่อเข้าใน  เมื่อนำเอาเส้นกลีบบัวมาเขียนเป็นบากลาย  ต้องเขียนแยกปลายบากลายให้ห่างและมีความลึกประมาณครึ่งส่วนของบากลาย

         ๒.  บากออก  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บากนอก ลักษณะคล้ายเส้นกลีบบัวบาน  เส้นกลีบจะโค้งออกนอก  เมื่อนำเอาเส้นกลีบบัวมาเขียนเป็นบากออก  ต้องเขียนแยกปลายบากลายแยกห่าง และมีความลึกประมาณครึ่งส่วนของบากลาย

         ยอดกระหนก
        คือส่วนปลายสุดของกระหนก  จุดเด่นความงามของกระหนกอยู่ที่ปลายยอดกระหนก  หรือยอดลาย  หากรูปทรงตัวลายได้สัดส่วนสวยงามดี  แต่ยอดลายแข็งไม่อ่อนพริ้ว  กระหนกนั้นก็จะหมดความงาม  ฉะนั้น  จึงควรฝึกเขียนยอดลายให้ถูกต้องและสวยงาม

          

         สิ่งที่เป็นรูปแบบและแรงบันดาลใจในการเขียนยอดลายปลายกระหนก  คือ  เปลวไฟ และ หางไหล  การเขียนปลายยอดกระหนก  จะต้องเขียนให้ยอดอ่อนไหวพริ้วคล้ายเปลวไฟที่กำลังลุก หรือ สะบัดพริ้วไหวเหมือนการเคลื่อนไหวของหางไหล  (หางปลาไหล)

 

 

หมายเลขบันทึก: 338616เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2010 20:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กระผมเป็นอีกคนหนึ่งที่ชื่นชอบในศิลปลายกนก ลายไทย ที่มีความอ่อนช้อยละเอียด พิถีพิถัน สมควรค่าแก่การอนุรักษ์และเผยแพร่ แก่อนุชนร่นใหม่ ได้เห็นคุณค่าและความอ่อนช้อยของศิลปไทยสืบต่อไป

พึ่งเขัาใจต้นกำเนิดของลวดลาย ต้องยอมรับภูมิปัญญาไทยสมัยก่อนที่คิดค้นสังเกตุ และอนุรักษ์สืบทอดมาถึงปัจจุบัน  ตื้นตันใจประทับใจที่สุดครับ!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท