เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานในเวทีสมัชชาสุขภาพ


อีกก้าวของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน

อีกก้าวของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน จังหวัดแพร่ ในเวทีสมัชชาสุขภาพ 2552

                ปี 2551 เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน จ.แพร่ ได้นำเสนอประเด็นนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพของจังหวัด และได้มีการประกาศเป็นนโยบายโรงเรียน/ศูนย์เด็กเล็ก ปลอดน้ำอัดลม ลูกอม ขนมกรุบกรอบ นั้น  จากการสรุปการดำเนินงานสมัชชาสุขภาพของจังหวัด พบว่าเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มีการเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมในหน่วยงานภาครัฐ 20 แห่ง ในประเด็น Healthy Meeting และ โรงเรียนประถมศึกษาอีก 50 โรงเรียน ซึ่งส่งผลให้จังหวัดแพร่ได้เป็นตัวแทนของภาคเหนือในเวทีถอดบทเรียนการทำสมัชชาระดับประเทศ เพราะมีการดำเนินงานสมัชชาอยู่ในระดับที่ 4 (พัฒนาเติมรูปแบบ) คือมีกระบวนการสมัชชาครบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีข้อเสนอเชิงนโยบาย มีการติดตามผลักดันจนนโยบายเกิดการปฏิบัติ และมีการติดตามประเมินความสำเร็จ  และทาง สช. ได้มาถ่ายทำ VDO สรุปบทเรียนการขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพของจังหวัดแพร่ นำเสนอให้ผู้แทนจาก 4 ภาค ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายวิชาชีพของ สช. 36 คน  เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา

                จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ก้าวต่อไปของสมัชชาสุขภาพจังหวัดแพร่ ได้วางแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ  โดยมีการประชุมสรุปบทเรียนการทำงานที่ผ่านมา ระหว่างหน่วยงาน องค์กร ภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ข้อสรุปร่วมกันที่จะขับเคลื่อนนโยบายในประเด็นที่ร่วมกัน ได้แก่ อาหารที่เอื้อต่อสุขภาพ และ การสร้างความเข้มแข็งสถาบันครอบครัว โดยมีพิธีลงนามพันธะสัญญาร่วมกันระหว่าง 36 หน่วยงาน/องค์กร/เครือข่าย  เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552  และได้รับเกียรติจาก นายแพทย์อำพล  จินดาวัฒนะ  เลขาธิการ สช. มาร่วม    ลงนามเป็นสักขีพยาน  ซึ่งก่อนจะมีพิธีลงนาม ท่านได้กล่าวถึงความรู้สึกและแสดงความคิดเห็น   ให้ฟังที่ทำให้คนแพร่หน้าบาน  โดยเฉพาะเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน มีข้อความว่า ดังนี้ค่ะ

                “วีดีทัศน์ที่ฉาย 2 วีดีทัศน์ คือ วีดีทัศน์ความเป็นมาของ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และ         วีดิทัศน์การขับเคลื่อนสมัชชาจังหวัดแพร่  คุณค่าจะอยู่ที่ชิ้นหลังว่าคนแพร่ทำอะไรให้คนแพร่ มีการใช้ พรบ.สุขภาพแห่งชาติให้เป็นประโยชน์  มีคนกล่าวไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงโลกเกิดจากจุดเล็กๆของสังคมเสมอ  จ.แพร่ รู้จักนำเครื่องมือสมัชชามาใช้ในการนำทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน โดยใช้ข้อมูลทางด้านวิชาการต่าง ๆ มาปรับใช้  เดี๋ยวนี้ปัญหาสุขภาพเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า ถ้าจะทำให้สุขภาวะสังคมดีต้องทำตั้งแต่ต้นน้ำ ไม่ต้องรอให้เป็นโรค และต้องร่วมกันทำทุกฝ่าย ทำงานในแนวราบ ไม่มีใครสั่งใคร  เรื่องที่ จ.แพร่ทำเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา เล็ก ๆ น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ เป็นเรื่องใกล้ตัวซึ่งพวกเราโดนครอบงำจากทุนนิยม  เคยมีรายงานการวิจัยว่าเราเสียเงินค่าขนม น้ำอัดลม ปีละเป็นหมื่นล้าน และของพวกนี้กำลังทำลายสุขภาพเยอะมาก  

                ในงานประชุมมอบรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล  ได้ดูวีดีทัศน์ของยุโรปทำเรื่องผลไม้และอาหารในโรงเรียน คืออยากให้เด็กนอกจากเรียนรู้ทางวิชาการแล้ว ก็ควรจะได้รับอาหารที่มีประโยชน์ด้วย    มีการขับเคลื่อนจนเป็นนโยบายสาธารณะของประเทศเบลเยี่ยม

                แพร่ทำเทียบเท่าสากล ทำเรื่องใกล้ตัว เรียนรู้การทำงานร่วมกันทุกสาขา เอาคนที่มีจิตใจ     ดี ๆ ต่อสังคม มาทำงานร่วมกันและผลักดันให้เกิดผลต่อการปฏิบัติ  ผมเป็นเพื่อนกับ ผอ. รพ.แพร่  ท่านบ่นเรื่องความแออัดของโรงพยาบาล  มีแนวคิดแก้ไขเรื่องนี้ อยากขยายการดูแลผู้ป่วยไปที่ชุมชน บ้าน และจัดหน่วยไปเยี่ยมเยียน  เรื่องนี้ทำได้แต่ต้องอาศัยพลังนโยบายและขับเคลื่อนร่วมกัน

การมาวันนี้เพื่อประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันใน MOU ในการผลักดันให้เกิดกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะร่วมกัน สนับสนุนกระบวนการ แต่จะทำเรื่องอะไรเป็นเรื่องของจังหวัด  การลงนามเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้พบปะกัน  จ.แพร่ โชคดีที่ นพ. สสจ. เปิดไฟเขียว ทำจากเรื่องเล็ก ๆ ใกล้ตัว แต่อยากให้ทำอย่างต่อเนื่อง  ถักเชื่อมการทำงานให้มีพลังมากขึ้น  ดังที่อาจารย์ประเวศฯ กล่าวไว้ว่า  การถักทอผ้าต้องมีทั้งเส้นด้ายแนวตั้งแนวนอน ขาดเส้นใดเส้นหนึ่งไม่ได้  สปสช.  สสส. หน่วยงานต่าง ๆ เปรียบเหมือนเส้นด้ายแนวตั้ง จะมาช่วยเสริมการถักทอแนวนอน  อยากให้โอกาสนี้ถักเชื่อมการทำงานให้มีพลังมากขึ้น”

เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน จ.แพร่ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีนี้ไว้ว่า “ขอบคุณสมัชชาสุขภาพ  ได้สร้างโอกาสให้คนทำงานที่กำลังเดินและหาทางขับเคลื่อนงานที่ปรารถนาให้เด็กและเยาวชนมีสุขภาพดี  รู้สึกประทับใจข้อความตอนหนึ่งในหนังสือสมัชชาสุขภาพที่กล่าวไว้ว่า  การพัฒนานโยบายสาธารณะรูปแบบใหม่ที่เน้นการมีส่วนร่วม ถักทอเชื่อมประสานกันอย่างเป็นกัลยาณมิตร โดยใช้ทั้งความรู้และความรัก เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะร่วมกัน  ซึ่งตรงกับสิ่งที่จังหวัดทำมาตลอด คือ การขับเคลื่อนนโยบายนี้ใช้การเรียนรู้อยู่เสมอว่าการทำงานที่ผ่านมาสร้างการเปลี่ยนแปลงในทีมงาน  กลุ่มเป้าหมายอย่างไร เคยมีคนถามอยู่เสมอว่าทำไมทำเรื่องยาก ซึ่งเหตุผลที่ตอบก็คือ มันเป็นปัญหาใกล้ตัวและเป็นปัญหาจริง ๆ ของเด็กในจังหวัดแพร่ โดยมีแนวคิดอยู่เสมอว่า เด็ก ๆ ควรจะได้รับความคุ้มครองและมีสิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและได้รับอาหารที่จะทำให้เขามีสุขภาพที่ดี

การทำงานที่ผ่านมามุ่งให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนและโรงเรียน  จากอดีตโรงเรียนมักถามว่า “หมออยากให้ทำอะไรก็บอกมา” และเจ้าหน้าที่ของเราก็เป็นจอมโปรเจกต์    คิดโครงการให้โรงเรียนทำเยอะมาก  สิ่งที่อยากเห็นคือ เราอยากให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการสุขภาพตนเอง  เป้าหมายการทำงานของเราก็ยังมีการขับเคลื่อนต่อ แต่สมัชชาสุขภาพเป็นตัวช่วยที่จะทำให้งานของเราขยายครอบคลุมโรงเรียนในจังหวัดแพร่ได้มากขึ้น ”   ก้าวย่างต่อไปในเวทีสมัชชาสุขภาพ  ของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานจังหวัดแพร่  จะเกิดขึ้นในไม่ช้า ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเป็นอย่างไร แต่ก็คงต้องลองผิดลองถูก เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่าน้อยหน่อยจะขนหงอกก็คงยังหยุดการเรียนรู้ไม่ได้ เพราะเราจะทำสีให้เป็นสีชมพูตลอดไป

หมายเลขบันทึก: 338141เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2010 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท