Community Participation


การมีส่วนร่วมของชุมชน (Community Participation)

การมีส่วนร่วมของชุมชน

                การมีส่วนร่วมของชุมชนนั้น จะต้องประกอบไปด้วยองค์กรหลักๆอยู่ 3 องค์กร คือ รัฐบาล (Government) ประชาชน (People) และชุมชน (Community) ซึ่งองค์กรชุมชนนั้นเป็นองค์กรพื้นฐานที่สำคัญของการเป็นรากฐานของประเทศ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนและการพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้าไป

ความหมายของการมีส่วนร่วมของชุมชน

การมีส่วนร่วมของชุมชนนั้นมีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายไว้ดังนี้

                โคเฮนและอัฟฮอฟ  (Cohen and Uphoff. 1981 : 6)  ได้ให้ความหมาย  การมีส่วนร่วมของชุมชนว่า สมาชิกของชุมชนต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องใน  4  มิติ  ได้แก่ 

1. การมีส่วนร่วมการตัดสินใจว่าควรทำอะไรและทำอย่างไร

2. การมีส่วนร่วมเสียสละในการพัฒนารวมทั้งลงมือปฏิบัติตามที่ได้ตัดสินใจ

3. การมีส่วนร่วมในการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน

4. การมีส่วนร่วมในการประเมินผลโครงการ

                โดยสร้างโอกาสให้สมาชิกทุกคนของชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือและเข้ามามีอิทธิพลต่อกระบวนการดำเนินกิจกรรมในการพัฒนา รวมถึงได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนานั้นอย่างเสมอภาค  องค์การสหประชาชาติ  (United  Nation. 1981 : 5)  และ รีเดอร์  (Reeder. 1974 : 39)  ได้ให้ความหมายเจาะจงถึงการมีส่วนร่วม  ว่าการมีส่วนร่วมเป็นการปะทะสังสรรค์ทางสังคม  ทั้งในลักษณะการมีส่วนร่วมของปัจเจกบุคคล  และการมีส่วนร่วมของกลุ่ม นอกจากนี้ สุชาดา  จักรพิสุทธิ์ (ออนไลน์. 2547) ศึกษาเรื่องชุมชนกับการมีส่วนร่วมจัดการศึกษา  สรุปได้ว่า การมีส่วนร่วมของชุมชน  แบ่งออกเป็น  2  ลักษณะ ได้แก่

                1. ลักษณะการมีส่วนร่วมจากความเกี่ยวข้องทางด้านเหตุผล โดยการเปิดโอกาสให้สังคม องค์กรต่างๆ ในชุมชน  ประชาชนมีบทบาทหลักตามสิทธิ  หน้าที่ในการเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน  ตั้งแต่การคิดริเริ่ม  การพิจารณาตัดสินใจ วางแผน การร่วมปฏิบัติและการรับผิดชอบในผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมทั้งส่งเสริม ชักนำ สนับสนุนให้การดำเนินงานเกิดผลประโยชน์ต่อชุมชนตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดด้วยความสมัครใจ

                2. ลักษณะการมีส่วนร่วมจากความเกี่ยวข้องทางด้านจิตใจ เป็นการมีส่วนร่วมของชุมชน  ที่การเกี่ยวข้องทางด้านจิตใจ  อารมณ์  รวมทั้ง  ค่านิยมของประชาชนเป็นเครื่องชี้นำตนเองให้เข้ามามีส่วนร่วม  แสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  การกระทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้  ทำให้ผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วม  เกิดความผูกพัน  มีความรู้สึกรับผิดชอบต่อกิจกรรมที่ดำเนินงานด้วยความสมัครใจ

                จากแนวคิดและทัศนะที่ได้กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด สามารถแยกประเด็นสรุปได้ว่า    การมีส่วนร่วมของประชาชนเกิดขึ้นจากเป้าหมายที่ต้องการ  ค่านิยม ความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี   ความผูกพัน  การเสริมแรง  โอกาส  ความสามารถ   การสนับสนุน   ความคาดหมายในสิ่งที่ต้องการ โดยมีพื้นฐานของการมีส่วนร่วม ดังนี้ 

- การมีส่วนร่วมบนพื้นฐานของเหตุผล          - การมีส่วนร่วมบนพื้นฐานของค่านิยม

- การมีส่วนร่วมบนพื้นฐานของประเพณี       - การมีส่วนร่วมบนพื้นฐานของความผูกพัน

                การมีส่วนร่วมของชุมชนนั้น เกิดจากจิตใจที่ต้องการเข้าร่วมในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งเพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ของกลุ่มคนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตทางสังคม  ซึ่งการเร้าให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมนั้น  ผู้ดำเนินงานจะต้องมีความเข้าใจในวิธีการดำเนินชีวิต  ค่านิยม ประเพณี  ทัศนคติของบุคคล เพื่อให้เกิดความสมัครใจเข้าร่วมกิจกรรม

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วม

                การที่ชุมชนจะเข้ามามีส่วนร่วมนั้น มีปัจจัยที่ส่งผลให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม จากการศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนในชนบท  พบว่า  อายุ  เพศ  การศึกษา  ขนาดของครอบครัว  อาชีพ  รายได้และระยะเวลาการอยู่อาศัยในท้องถิ่น  มีความสัมพันธ์กับระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน

                นอกจากนี้  ประยูร  ศรีประสาธน์ (2542 : 5)  ได้นำเสนอปัจจัยของการมีส่วนร่วม ว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีส่วนร่วม  มีด้วยกัน  3  ปัจจัย  คือ

                1. ปัจจัยส่วนบุคคล  ได้แก่  อายุ  เพศ

                2. ปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ  ได้แก่  การศึกษา  อาชีพ  รายได้  และการเป็นสมาชิกกลุ่ม

                3. ปัจจัยด้านการสื่อสาร ได้แก่  การรับข่าวสารจากสื่อมวลชนและสื่อบุคคล

จากแนวคิดที่กล่าวมาข้างต้น สามารถสรุปปัจจัยต่อการมีส่วนร่วมทำกิจกรรมได้ ดังนี้

                1. ลักษณะส่วนบุคคล  ได้แก่  เพศ  อายุ  ระดับการศึกษา  ประสบการณ์ต่างๆ

                2. ลักษณะทางเศรษฐกิจ  ได้แก่  อาชีพ รายได้

                3. การได้รับข้อมูลข่าวสาร  ได้แก่  ความถี่ในการรับรู้ข่าวสาร  และแหล่งที่มาของข่าวสาร

ขั้นตอนการมีส่วนร่วมของชุมชน

จากแนวคิดที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนั้น ขั้นตอนการมีส่วนร่วมของชุมชนสรุปได้ว่า เป็นขั้นตอนของการเข้ามามีส่วนร่วมของชุมชนมีทั้งหมด  6  ขั้นตอน  ได้แก่  

                1) การค้นหาปัญหา สาเหตุของปัญหาและแนวทางแก้ไข

                2) ตัดสินใจกำหนดความต้องการ

                3) ลำดับความสำคัญ

                4) วางแผน  กำหนดวัตถุประสงค์  วิธีการ  แนวทางการดำเนินงาน ทรัพยากร

                5) วางแผน  กำหนดวัตถุประสงค์  วิธีการ  แนวทางการดำเนินงาน  ทรัพยากร

                6) ดำเนินงานตามโครงการ  และ/หรือ  สนับสนุนการดำเนินงาน

หมายเลขบันทึก: 337506เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2010 20:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท