National Health Act 2007


พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ 2550

พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

รับการกล่าวขานว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทย ที่จัดทำด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากสังคมตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสมบูรณ์ โดยใช้ระยะเวลาถึง 8 ปีเต็มจึงมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ในฐานะ “ธรรมนูญสุขภาพของประเทศไทย” นั้น มีความเป็นมาน่าสนใจและควรค่าต่อการศึกษาเรียนรู้สำหรับประชาชนอย่างยิ่ง ดังมีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

ปี พ.ศ. 2542 คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภาได้จัดทำ “รายงานระบบสุขภาพประชาชาติ ข้อเสนอการปฏิรูประบบสุขภาพสืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540” ขึ้นเพื่อหวังให้เป็นแนวทางการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ โดยมี ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย เป็นประธานจัดทำข้อเสนอ ถือกันว่า ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ คำว่า “ระบบสุขภาพ” (Health Systems) ถูกใช้อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ความหมายที่ครอบคลุมกว้างกว่าระบบสาธารณสุข (Public Health Systems) ที่ใช้กันมาแต่เดิม ต่อมาปี พ.ศ. 2543 รัฐบาลได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (คปรส.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตั้งสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) ขึ้นภายใต้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเลขานุการ ผลักดันการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ โดยการจัดทำ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ให้เป็นกฎหมายแม่บทด้านสุขภาพของสังคมไทย กระบวนการจัดทำ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ใช้การทำงานทางวิชาการเป็นฐาน เชื่อมโยงเข้ากับการเคลื่อนไหวให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมคิดเห็นและเสนอแนะอย่างกว้างขวาง มีประชาชนทั่วประเทศเข้าร่วมกระบวนการยกร่าง พ.ร.บ.สุขภาพ เป็นเรือนแสน มีการรณรงค์เชิญชวนประชาชนลงชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กว่า 4.7 ล้านคน ผ่าน โครงการรณรงค์รวมพลังสร้างสุขภาพตามรอยพระยุคลบาท เมื่อปี พ.ศ.2545 และมีประชาชนรวมตัวกันเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติในนามภาคประชาชนตามช่องทางของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540 กว่าหนึ่ง แสนคน เมื่อปี พ.ศ.2547 ในระหว่างการจัดทำ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ปี 2543-2549 มีการนำสาระสำคัญบางประการในร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติมาทดลองปฏิบัติ เช่น การจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพในประเด็นต่างๆ เช่น ประเด็นภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ ประเด็นผลกระทบด้านสุขภาพจากการทำอุตสาหกรรม ประเด็นเกษตรและอาหารปลอดภัย ประเด็นความอยู่เย็นเป็นสุข ประเด็นการสร้างสุขภาวะด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2550 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เห็นชอบให้ผ่าน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ออกมาใช้เป็นกฎหมายได้อย่างเป็นทางการ

พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 จึงกลายมาเป็น “เครื่องมือใหม่” อีกชิ้นหนึ่งของสังคมไทย ที่จัดให้มีกลไกเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายในสังคมมาทำงานเรื่องสุขภาพด้วยกัน ด้วยรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย ในสังคมที่ประกอบด้วยประชาชนที่มาจากวัฒนธรรม และสภาพเงื่อนไขที่กำหนดภาวะสุขภาพอันแตกต่างหลากหลาย กลไกต่าง ๆ ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ จึงมีหน้าที่หนุนเสริมกลไกต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลไกของรัฐบาลที่จำแนกเป็นกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ กลไกภายใต้ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กลไกภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กลไกภายใต้ พ.ร.บ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ให้ผสานตัวเข้าหากัน เพื่อช่วยกันทำงานพัฒนาสุขภาพหรือสุขภาวะที่มุ่งสู่ทิศทาง “สร้างนำซ่อม”

การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment; HIA)

การประเมินผลกระทบทางสุขภาพถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพไม่ได้เป็นกระบวนการตัดสินใจในตัวมันเอง แต่เป็นกระบวนการที่จะให้ข้อมูลหลักฐานในด้านสุขภาพและเพิ่มน้ำหนักหรือให้ความสำคัญกับมิติสุขภาพในกระบวนการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายสาธารณะ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพเป็นความพยายามในการพัฒนาชุดของคำแนะนำหรือข้อเสนอแนะที่มีข้อมูลหลักฐานยืนยัน (Evidence-based recommendations) ที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวทาง และคุณค่าหรือความสำคัญของการมีสุขภาวะที่ดีร่วมกันของสังคม เพื่อประกอบการตัดสินใจในเชิงนโยบายสาธารณะ ความมุ่งหวังของการประเมินผลกระทบทางสุขภาพที่จะก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการนโยบายสาธารณะให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี ประกอบด้วยบทบาทหลักใน 4 ด้านด้วยกันคือ

1) การเปิดพื้นที่หรือเปิดกระบวนการ ให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสร่วมกันในการกำหนดนโยบายสาธารณะ โดยอาศัยคุณค่า ข้อมูลหลักฐาน และทรัพยากรที่ตนเองมีอยู่

2) การเพิ่มความสำคัญหรือการเพิ่มคุณค่าของมิติทางสุขภาพ ในกระบวนการกำหนดนโยบาย ในระดับต่างๆ รวมถึงการแสดงให้เห็นถึงการให้คุณค่าที่แตกต่างกันและการเคารพในการให้คุณค่าที่แตกต่างกัน ของผู้มีส่วนได้-เสียต่างๆ (เช่น การให้คุณค่ากับมิติสุขภาวะทางจิตวิญญาณของชุมชนท้องถิ่น) ทำให้การตัดสินใจเป็นไปโดยรอบคอบและมีความเป็นธรรมเพิ่มขึ้น

3) การแสดงน้ำหนัก และข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพ และข้อห่วงใยทางด้านสุขภาพที่ชัดเจนและเป็นระบบ ซึ่งเป็นข้อค้นพบที่ได้จากการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ทำให้การตัดสินใจในกระบวนการนโยบายสาธารณะที่จะเกิดขึ้นยืนอยู่บนฐานของข้อมูลที่เป็นจริง และมีความครบถ้วนรอบด้านมากขึ้น

4) การระดมทรัพยากรของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ โดยอาศัยกระบวนการเรียนรู้ การสร้างความตระหนัก และการสร้างจิตสำนึกร่วมกันในการสร้างเสริม คุ้มครอง และฟื้นฟูสุขภาพของตนเองและสมาชิกอื่นๆ ในสังคม จนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมกระบวนการหรือร่วมดำเนินการในนโยบายสาธารณะนั้นด้วยความเต็มใจและตั้งใจ

 

 

ขั้นตอนที่สำคัญของการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ

การประเมินผลกระทบทางสุขภาพประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้คือ

1. การกลั่นกรองข้อเสนอนโยบายแผนงานหรือโครงการ (Screening) เป็นการดำเนินการเพื่อพิจารณาว่านโยบาย แผนงานหรือโครงการใดมีความจำเป็นหรือมีความเหมาะสมที่จะทำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ

2. การกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบโดยสาธารณะ ( Public Scoping) เป็นขั้นตอนพิจารณาร่วมกันถึงขอบเขต ประเด็น ทางเลือกในการดำเนินกิจกรรมการพัฒนา และแนวทางในการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากกิจกรรมการพัฒนานั้น โดยเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้แสดงให้เห็นถึงหลักฐานข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น ทางเลือกในการดำเนินการ และข้อห่วงใยอย่างเต็มที่ เพื่อให้การประเมินผลกระทบทางสุขภาพในแต่ละครั้งสามารถประเมินถึงผลกระทบทางสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง รอบด้านและสัมพันธ์เชื่อมโยงกันให้มากที่สุด ตลอดจนไม่ละเลยถึงผลกระทบทางสุขภาพทั้งทางตรง ทางอ้อม และผลกระทบสะสมที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนส่วนใหญ่ และเกิดขึ้นกับประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ดังนั้นการกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบโดยสาธารณะจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญของกระบวนการการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ

3. การวิเคราะห์ ( Analysis) และร่างรายงานการประเมินผลกระทบ ( Reporting) เป็นขั้นตอนในการวิเคราะห์ ประมาณการณ์ และคาดการณ์ถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นตามขอบเขต ประเด็น และแนวทางที่ได้วางไว้ในขั้นตอนที่ผ่านมา

4. การทบทวนร่างรายงานโดยสาธารณะ( Public Review) เป็นขั้นตอนในการรับฟังความคิดเห็นของสาธารณะที่มีต่อร่างรายงานที่จัดทำขึ้น โดยการทบทวนร่างรายงานโดยสาธารณะจะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง มีการให้ข้อมูลในรูปแบบที่เหมาะสม และเวลาที่เพียงพอต่อการทบทวนร่างรายงาน เพื่อให้รายงานและการตัดสินใจที่จะมีขึ้นเป็นไปอย่างสมบูรณ์ เป็นธรรม และชอบธรรมมากที่สุด ทั้งนี้ การทบทวนร่างรายงานโดยสาธารณะอาจนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงในขั้นตอนการวิเคราะห์และร่างรายงานหรือในบางกรณีอาจต้องย้อนกลับไปปรับปรุงในขั้นตอนของการกำหนดขอบเขตและแนวทางการเมินผลกระทบโดยสาธารณะเลยทีเดียว

5. การมีบทบาทในกระบวนการตัดสินใจ (Influrncing) เป็นขั้นตอนที่สถาบันหรือผู้ที่ทำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจำเป็นจะต้องพยายามให้รายงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพเข้าไปมีส่วนร่วมหรือมี่บทบาทในกระบวนการตัดสินใจ โยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ให้มากที่สุด โดยมุ่งหวังให้การตัดสินใจที่จะเกิดขึ้นได้คำนึงถึงผลกระทบทางสุขภาพที่คาดการณ์ไว้ มาตรการทางเลือกและมาตรการลดผลกระทบที่เสนอแนะ และความสามารถในการรับมือของกลุ่มบุคคลต่าง ๆ อย่างจริงจัง ทั้งนี้โดยการดำเนินการผ่านกระบวนการสร้างการยอมรับในทางวิชาการ การสร้างความตระหนักในทางสังคม และการสร้างแรงผลักดันในทางการเมือง ตามลำดับ ในทางปฏิบัติแล้ว การพิจารณาถึงการมีบทบาทในกระบวนการตัดสินใจจำเป็นต้องดำเนินการตั้งแต่ขั้นตอนการกลั่นกรอง และขั้นตอนการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบโดยสาธารณะ เพื่อให้รายงานผลกระทบทางสุขภาพเป็นไปในขอบเขต แนวทาง และวิธีการหรือรูปแบบที่เป็นที่ยอมรับและมีผลต่อการตัดสินใจของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด

6. การติดตามเฝ้าระวัง และการประเมินผล ( Monitoring and Evaluation) เป็นขั้นตอนในการติดตามว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการตามข้อเสนอจากการประเมินผลกระทบทางสุขภาพที่จัดทำขึ้นหรือไม่ เพราะอะไร และจำเป็นที่จะต้องจัดระบบการเฝ้าระวัง เพื่อติดตามดูผลกระทบทางสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งที่ได้คาดการณ์ไว้แล้ว และไม่ได้คาดการณ์ไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถดำเนินการแก้ไขและปรับปรุงการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาได้อย่างทันท่วงที รวมถึงควรมีการประเมินผลในภาพรวมตามระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อเป็นสร้างสมองค์ความรู้และประสบการณ์ สำหรับการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายคลึงกันต่อไป

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 337489เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2010 19:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 18:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท