เสน่ห์ของวิชาทางวิทยาศาสตร์...


ถ้าหากเราไม่รู้จักคิดและหาคำตอบเอง เราก็ต้องหาซื้อวิทยาศาสตร์ไปเรื่อย ซื้อเครื่องฟอกอากาศ เครื่องปรับอากาศ สเปรย์ตัวนั้น เจลตัวนี้ กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ต้องหลงกับคำโฆษณาของนักธุรกิจโดยปริยาย...!

ที่จริงแล้วการวิจัยแบบ Pure Science หรือศาสตร์ในสาขาเหล่านี้เป็นสิ่งที่มี "เสน่ห์" มากนะ เพราะสามารถทดลองวิจัยอะไรออกมาแล้วเห็นได้เป็นรูปธรรม นับได้ สัมผัสได้ แตกต่างกับการวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ดูเหมือน "หวือหวา" คือศึกษาเรื่องพฤติกรรม ความสนใจ ความพึงพอใจ การศึกษาเปรียบเทียบสิ่งโน้น สิ่งนี้ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับคน อารมณ์ซึ่งจะต้องใช้การบรรยายหรือจินตนาการให้เห็นภาพและคล้อยตาม

การสรุปรายงานการวิจัยทางสังคมศาสตร์จึงต้องอาศัยจินตนาการบวกประสบการณ์สูง ซึ่งนั่นก็แล้วแต่จินตนาการหรือประสบการณ์ของแต่ละคน บางคนใช้ประสบการณ์ตีความไปอย่างนี้ อีกคนมีประสบการณ์ไปอีกอย่างหนึ่ง ก็ว่าคนโน้นผิด คนนี้ถูก คนนี้ก็เข้าใจอย่างหนึ่ง คนนี้ก็เข้าใจอีกอย่างหนึ่ง ส่วน Pure Science ผลได้ออกมาอย่างไรนำไปทดลองซ้ำก็เป็นอย่างนั้น

แต่ปัญหาของนักวิจัยหรือนักวิชาการโดยทั่วไปที่มีปัญหาเกี่ยวกับงานวิจัยแบบ Pure science ส่วนใหญ่ก็คือ มักจะ "คิดการใหญ่" ก็คือคิดจะค้นหาทฤษฎีหรือหลักการใหม่ ๆ หรือจะทดลองอะไรที่ใหญ่ ๆ บางครั้งก็ใหญ่เกินตัว

เมื่อคิดจะโน่นอันโน้น ก็ติดว่าเครื่องมือไม่มี สารเคมีไม่พอ คิดจะวิจัยอันนี้งบประมาณก็เยอะ ต้องใช้เวลาตั้งแยะ ติดอันนั้น ติดอันนี้

แต่ถ้าหากเราเข้าใจถึงหัวใจแห่ง R2R (Research to Routine) เราก็จะสามารถสนุกกับการวิจัยแบบ Pure Science นี้ได้

ในแววตาของเด็ก ๆ นักเรียน นักศึกษา มักจะมีสมมติฐานต่อสิ่งที่เราหรืออาจารย์สอนเสมอ

ถ้าหากเราสามารถจัดการความรู้ในแววตาของเด็ก ๆ นั้นได้ ง่าย ๆ ก็คือถามเขาว่า สงสัยอะไร คิดอะไรอยู่กับทฤษฎีที่ครูสอนอยู่ในขณะนี้ เราก็จะได้โจทย์วิจัยง่าย ๆ ที่สามารถทำให้ห้องเรียนฟิสิกส์ที่น่าเบื่อกลายเป็นสถานที่ทดลองที่สนุกสนานได้

หรืออย่างเช่นเร็ว ๆ นี้ก็ได้คุยกับเจ้าของร้านขายเหล็กท่านหนึ่ง ก็ถามเขาง่าย ๆ ว่าเหล็กที่ได้มาตรฐานที่โรงงานเขาว่ามาตรฐานต้องเท่านั้น เท่านี้จะดูได้อย่างไร

เราก็เริ่มสงสัยว่า แล้วเอ๊ะ เวลาที่เขาสั่งเหล็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งสแตนเลสมาขายที่ร้านเขาเช็คกันอย่างไร...?

เขาก็ตอบว่า ทำได้แค่ดูใบรับประกัน (Certificate) และต้องหาบริษัทที่มั่นใจ

เราก็ถามต่อไปอีกว่า ดูได้แค่นั้นเองหรือ...?

เขาก็บอกว่าต้องส่งไปตรวจแล็ปที่กรุงเทพฯ หรือไม่ก็ต้องให้ทีมงานจากส่วนกลางเอามาตรวจเช็ค ซึ่งนั่นก็หมายความว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายหมื่นหรือหลักแสนเลยทีเดียว

เราก็คิดต่อไปว่า น่าจะมีอะไรที่ทำได้มากกว่านั้นนะ เพราะในความเป็นจริงแล้ว เราก็จะไม่สามารถส่งเหล็กเส้นเดียวไปเช็คที่กรุงเทพฯ ก็เพียงเพื่อหาความมั่นใจว่าของที่ได้นั้นคุ้มกับเงินที่เราจ่ายนั้นหรือไม่...?

ยิ่งในฐานะผู้บริโภคตาดำ ๆ อย่างเรา ไม่นับรวมถึงร้านค้าเวลาที่เขาสั่งของมาขาย ในเวลาซื้อของนั้น อาทิ จะสั่งรั้วสแตนเลสมาใส่ที่บ้านสักบานนึง คนขายก็บอกว่านี้ก็บอกว่านี้เกรด 304 นะ ไม่ใช่ 201, 202 ราคาจึงต้องแพงกว่า เราไอ้เรานี้จะรู้ได้อย่างไรว่าตัวนี้มันเกรดไหนกันแน่

แล้วถ้าคิดไปให้ลึก 304 บริษัทนี้ กับ 304 ร้านนี้ ประเทศโน้นมาตรฐานเดียวกันไหม ต่างกันอย่างไร คำถามนี้นักวิทยาศาสตร์สามารถหาสารเคมีอะไรมาตรวจได้หรือเปล่า...?

เราจึงได้ย้อนคิดกลับไปลึกอีกนิด ก็พบได้ว่าที่จริงแล้วนักฟิสิกส์ เคมี ชีวะที่ผู้บริหารการศึกษาส่วนใหญ่บอกว่าขาดแคลนนั้น ที่จริงแล้วคำว่าขาดแคลนไม่น่าจะใช่ในเรื่องของจำนวนคน แต่น่าจะขาดแคลนในเรื่องของการวิจัยที่ใกล้ตัว ใกล้ใจคน

ส่วนใหญ่ก็จะมุ่งเป้าไปที่อวกาศกัน จะไปแข่งเหยียบดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวศุกร์กัน หรือไม่ก็มุ่งแต่ค้นหาเทคโนโลยีสเตมเซลล์ หรืออะไรต่ออะไรที่มันใกล้ตัว

จากนั้นก็นำสิ่งที่นักวิชาการไทยคิดได้ ค้นคว้าได้ ไปเทียบกับเมืองนอก ที่เขามีทุนวิจัยหนา ๆ มีเครื่องมืออุปกรณ์เยอะ ๆ ก็มักได้คำตอบว่าของเราด้อย ประเทศเรายังต้องใช้งบใช้ทุนวิจัยอีกมาก

แต่ถ้าหากเรามอบย้อนกลับมาใกล้ ๆ ตัวสักนิด นำชีวะ เคมี และฟิสิกส์ มาตอบปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน โดยอาจจะเริ่มต้นที่ครอบครัวของนักวิทยาศาสตร์เอง ปัญหาเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในการทำอาหาร การจัดที่หลับที่นอนว่ามีเชื้ออะไรอยู่บ้าง ทดลองนั่น ทดลองนี่ ทดลองว่าแดดบ้านเรากับแดดเมืองนอกอะไรจะฆ่าเชื้อโรคได้มากกว่ากัน ตากแดดเท่านี้ ความร้อนขนาดนี้ใช้ได้กี่วัน คนที่นอนหายใจง่ายขึ้นหรือไม่ หรือมีอาการเจ็บป่วยอะไรตามมาหรือเปล่า เพราะถ้าหากเราไม่รู้จักคิดและหาคำตอบเอง เราก็ต้องหาซื้อวิทยาศาสตร์ไปเรื่อย ซื้อเครื่องฟอกอากาศ เครื่องปรับอากาศ สเปรย์ตัวนั้น เจลตัวนี้ กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ต้องหลงกับคำโฆษณาของนักธุรกิจโดยปริยาย...!

เป็นครู เป็นอาจารย์ก็เริ่มต้นทดลองจากข้อสงสัยเล็ก ๆ ของเด็ก ๆ เด็กในที่นี้ต้องว่ากันตั้งแต่อนุบาลเลยนะ เพราะว่าเด็กโต ๆ จำพวกปริญญาโท ปริญญาเอก เขาจะมีปัญหาแต่เรื่องระดับชาติ ระดับอวกาศ

แต่ถ้าหากเราเริ่มต้นปัญหาเล็ก ๆ แบบเด็ก ๆ เด็กอนุบาล เด็กประถม เด็กมัธยม เขาก็จะมีปัญหากุ๊กกิ๊ก ๆ ที่บางครั้งผู้ใหญ่ระดับอาจารย์อย่างเราอาจจะมองดูว่า "ไร้สาระ"

แต่สิ่งนั้นคือสิ่งที่ "จำเป็น" ต่อชีวิตเขา จำเป็นต่อการที่เขาจะสร้างอุปนิสัยในการทดลอง วิจัย เพื่อนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ของการตั้ง "สมมติฐาน (Hypothesis)" ดังนั้น เราซึ่งเป็นอาจารย์ก็ควรจะที่สนใจ ใส่ใจ และให้กำลังใจกับสมมติฐานเล็ก ๆ ของเขา โดยนำเอาเป็นโจทย์หรือกรณีศึกษาที่ใช้ภายในชั้นเรียน ณ เวลานั้น

ถ้ามีการคิดและทดลองแบบนี้ก็คงจะสนุกกว่าให้นักเรียนไปท่องสูตรทางเคมีมาสอบ เพราะหลาย ๆ คนก็บอกว่าท่องไปท่องมาตอนนี้ก็จำได้แค่ CO2

ถ้าอาจารย์รู้จักการทดลอง การวิจัยอะไรต่าง ๆ ในชีวิต ประเทศไทยจะห่างไกลจากคำว่าการขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์

เพราะนักวิทยาศาสตร์คือผู้ที่อยู่บนฐานของเหตุและผล ดังนั้นเมื่อมีเหตุให้สงสัย นักวิทยาศาสตร์จักต้องทดลองเพื่อให้ทราบคำตอบนั่นก็คือผล

เราทุก ๆ คนก็สามารถเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้ หากเราเข้าใจและใช้การวิจัยในชีวิตประจำวัน (Research of Life...)


ที่มาจากบันทึก Pure science for Apply research

หมายเลขบันทึก: 337410เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2010 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท