สร้างความสุขด้วยตัวเราเอง


สร้างความสุขด้วยตัวเราเอง

                                                            สร้างความสุขด้วยตัวเราเอง

ความสุขมีได้หลายความหมายและหลายระดับ 
      1 . สุขคือพอใจเมื่อได้สิ่งที่ต้องการ (รักตนเอง) 
      2 . สุขคือพอใจเมื่อได้ทำในสิ่งที่มีคุณค่าต่อตนเองและผู้อื่น (รักตนเองและผู้อื่น)
      3 . สุขคือภาวะของจิตที่ถอนตนเสียได้จากความพอใจ และไม่พอใจในโลก
         ( เห็นทุกอย่างตามเป็นจริง  เมตตากรุณาต่อทุกสรรพสิ่ง ไม่มีตัวตน เรา-เขา ) 
        มนุษย์ส่วนมาก โดยเฉพาะในโลกแห่ง วัตถุนิยม และ บริโภคนิยม เช่นปัจจุบัน จะ
หลงติดอยู่กับความสุขแบบที่หนึ่ง จึงต้องมีชีวิตที่ทุรนทุราย เสาะแสวงหาสิ่งที่ชอบที่พอ
ใจให้ตัวเองอย่างไม่รู้จบสิ้น ความหล่อ ความรวย ความสวย ความไพเราะ ความน่ารัก
น่าสัมผัส คือสิ่งที่ดึงดูดให้คนเหล่านั้นวิ่งตาม ได้มาแล้วก็คุ้นชิน เบื่อหน่าย เกิดความ
อยากที่แปลกใหม่มาทดแทนให้ได้เหน็ดเหนื่อย ดิ้นรน เสาะแสวงสิ่งปรนเปรอความสุข
มากขึ้นเรื่อยๆ จวบจนจบสิ้นชีวิตไปก็ไม่น้อย   สุขแบบนี้ ผู้มีปัญญาล้วนหยั่งเห็นว่าแท้
จริงคือทุกข์นั่นเอง เพราะเราต้องเหน็ดเหนื่อยวิ่งตามหามันอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากสิ่ง
เหล่านั้นล้วนมีความเปลี่ยนแปลง ไม่แน่นอนอยู่ในตัวทั้งสิ้น อีกทั้งจิตใจคนก็พัฒนา
ความอยาก ความปรารถนายิ่งๆขึ้น ไม่รู้จบสิ้นเช่นกัน   การแสวงสุขแบบนี้ยังเป็นการ
บั่นทอนโอกาสของการแสวงหาและสั่งสมความรู้ที่เป็นประโยชน์  เมื่อขยับขึ้นไปสนใจ
ความสุขระดับที่สองก็จะทำอะไรได้ไม่มาก เพราะขาดทุนสำรอง คือความรู้ความ
ชำนาญในเรื่องที่จะช่วยเหลือผู้อื่น   อยากอนุเคราะห์ช่วยเหลือใครก็ทำได้แค่คิด  เพราะ
ไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะช่วย   จะถอยหลังกลับไปแก้ไขก็ทำไม่ได้อีกแล้ว 
        สุขแบบที่สองเป็นการพัฒนาขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง   เป็นเรื่องของคนที่เห็นความไร้
สาระของการแสวงหาความสุขในแบบที่หนึ่ง และมองความสุขว่าอยู่ที่การควบคุมใจไม่
ให้ฟุ้งซ่านลุ่มหลงไปกับสิ่งไร้สาระ   แต่จะให้ความสำคัญกับความกตัญญูกตเวที ความ
รักความเมตตา เอื้ออาทรต่อกันด้วยความบริสุทธิ์ใจ   แสวงหาวัตถุแต่ไม่ลุ่มหลงวัตถุ  ใช้
วัตถุเพื่ออำนวยประโยชน์ตนและเอื้อเฟื้อผู้อื่นให้ได้พ้นความทุกข์ยากต่างๆ    เห็นสุข
จากการให้ มีค่ากว่าการรับ    โลกจะน่าอยู่ขึ้นอีกไม่น้อย หากมีคนกลุ่มนี้อยู่ด้วยกันมากๆ
เพราะต่างฝ่ายต่างปรารถนาจะเป็นผู้ให้    ความขัดแย้งจะมีน้อย   สิ่งที่เรียกว่าความรักจะ
สูงค่าขึ้นทันที 
        สุขแบบที่สาม  แม้ว่ายากจะไปได้ถึง ก็ควรได้ตั้งเป็นเป้าหมายของชีวิตเอาไว้ เพราะ
เป็นสุขที่ปราศจากทุกข์ใดมารบกวน   เป็นสุขที่เรียกว่า โลกุตรสุข หรือสุขที่อยู่เหนือโลก
เป็นภาวะของจิตที่หยั่งเห็นแจ่มแจ้งในสัจธรรมทั้งปวง    เห็นชัดแจ้งว่าทุกอย่างล้วนเกิด
จากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง และเป็นกระแสแห่งการแปรปรวนเปลี่ยนแปลง   ด้วยการ เกิดขึ้น
ตั้งอยู่ และดับไปทั้งสิ้น  ไม่มีสัตว์ - บุคคล - ตัวตน - เรา - เขา ที่ไหน  เป็นเพียง
สมมุติที่กำหนดกันขึ้นมา   เห็นความไม่มี "ตัวฉัน" อย่างแจ่มแจ้ง สิ่งที่เป็น "ของฉัน"
ก็ ไม่มี  ไม่ต้องตื่นเต้นกับการได้มา หรือโศกเศร้ากับการสูญเสียใดๆ    จิตเป็นอิสระอย่างยิ่ง
สามารถอยู่อย่าง " สงบเย็น และ เป็นประโยชน์ " ได้เสมอ  เมตตาธรรมเต็มเปี่ยม  อุดม
ด้วยพลังสร้างสรรค์ และพร้อมที่จะใช้ชีวิตอุทิศตัวเพื่อประโยชน์ผู้อื่นได้อย่างเต็มที่ 

คำสำคัญ (Tags): #ศรีสะเกษ5
หมายเลขบันทึก: 337399เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2010 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ก็ดีอยู่ดอกครับ...แต่ทำไม่ค่อยได้...ส่วนมากเบื่อหน่ายตนเอง...เลยอยากให้คนอื่นทำให้สุขบ้างครับ...(ฮิฮิฮิ!!!!!)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท