ผิดเป็นครู (Error Knowledge Management)


ปลอบใจกันโดยไม่ใช่หลักการของเหตุและผลว่า การบอกคนอื่นว่าทำผิดแล้วไม่เป็นอะไรจะสร้างอุปนิสัย "ไร้ความรับผิดชอบ" ต่อการทำความผิด

คำว่า "ผิดเป็นครู" นั้น ต้องพิจารณาให้ดีเพราะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 นัยยะ

นัยยะแรกคือ คนที่มักจะทำผิดซ้ำ ๆ ผิดบ่อย ๆ ผิดเพราะมาท ผิดเพราะจงใจ ผิดไปเรื่อย ผิดซ้ำ ผิดซาก แต่พอทำผิดเข้าก็ชอบเข้าข้างตัวเองว่า "ผิดไปครู" ความผิดตามนัยยะนี้ที่บุคคลได้กระทำนั้นไม่มีประโยชน์ รังแต่จะเกิดทุกข์โทษเพราะจะสร้าง "สันดาน" ที่ไม่ดี

สันดานที่ไม่ดีคือ มักง่าย ไม่รอบคอบ ผิดอย่างไรก็ยังมีทางออกโดยพร้อมเตรียมคำตอบเพื่อบอกกับคนรอบ ๆ ข้างว่า "ผิดเป็นครู"

เราพึงจะต้องระวังแนวความคิดตามนัยยะแรกนี้ให้มาก ก็เพราะว่าคนเราส่วนใหญ่นั้นชอบเข้าข้างตนเอง ผิดแล้วไม่ยอมรับผิด ผิดแล้วก็อ้างโน่น อ้างนี่ไปเรื่อย อ้างไปเรื่อยเฉื่อยว่า "ผิดเป็นครู"

น่า... ไม่เป็นไรน่า ปลอบใจกันโดยไม่ใช่หลักการของเหตุและผลว่า การบอกคนอื่นว่าทำผิดแล้วไม่เป็นอะไรจะสร้างอุปนิสัย "ไร้ความรับผิดชอบ" ต่อการทำความผิด

เมื่อผิดแล้วก็มีแต่คนมาบอกว่าไม่เป็นไร "ผิดเป็นครู" แล้วก็เลยรู้สึกว่าความผิดที่เขาทำนั้นเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องผิดเป็นเรื่องธรรมดา ใคร ๆ ก็ทำผิดกันได้ ผิดนิดหน่อยไม่เห็นเป็นไร

การปล่อยปะละเลยความคิดเล็กน้อยจนนี้จะสะสมกลายเป็นความผิดใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้น

หนีเที่ยว ขโมยเงิน เบียดเบียน ทำร้ายสัตว์ ทำลายกัน ค่อย ๆ สะสมเพิ่มดีกรีจากครูจนกลายเป็น "อาชญากร"

บางครั้งทำความผิดจนเข้าขั้นอาชญากรแล้วก็ยังรู้สึกตัวอยู่ว่า "ผิดเป็นครู"

เขาเชื่ออย่างนั้นเพราะคนในสังคมสอนเขามาอย่างนั้น สังคมสอนเขาว่าทำผิดได้ไม่เป็นไร ทำผิดก็มีแต่คนคอยให้อภัย จนวันหนึ่งจิตใจหลงผิดมากไปจนไม่สามารถที่จะเยียวยา

คนเราเดี๋ยวนี้จึงทำผิดกันไปเรื่อย ผิดกันจนเป็นปกติ ผิดกันจนเป็น "ประชาธิปไตย" พวกมากลากไป พวกผิดมากก็ลากพวกผิดน้อย พวกผิดน้อยหน่อยก็รู้สึกว่าไม่ผิดเลย

ผิดอย่างไรก็คือผิด แต่เดี๋ยวนี้คนเรามีเหตุผลว่าผิดได้ นิดหน่อย พอได้ สังสรรค์ เข้าสังคม ความผิดจึงกลายเป็นที่ชื่นชมยินดีในหมู่โจร

เวลาโจรเขาปล้นเขาจะรู้สึกว่าตนเองผิดบ้างหรือไม่ แต่ถ้าหากใครสามารถสืบย้อนกลับไปได้จุดเริ่มต้นเขาก็มาจากการลักเล็กขโมยน้อยแล้วมีคนคอยสอนเขาว่าไม่เป็นไร "ผิดเป็นครู..."

จุดสำคัญของบุคคลตามนัยยะแรกก็คือ "ผิดไม่รู้จักผิด" ผิดแล้วไม่ยอมรับว่าตนเองผิด ผิดแล้วอ้างไปข้าง ๆ คู ๆ ว่า "ผิดเป็นครู"

ส่วนในชุดความรู้ที่สมดุลที่ว่าด้วยเรื่องความผิดที่มีประโยชน์นั้น จุดสำคัญคือ "ต้องยอมรับผิด" ต้องยอมรับอย่างเต็มใจว่าตนเองผิด ผิดอย่างไม่มีเงื่อนไข และเป็นการผิดโดยไม่ต้องใช้เหตุผลใด ๆ มาโต้แย้ง

เมื่อเรารับได้ว่าตนเองผิด กระบวนการต่อไปก็จะเริ่มต้นด้วยการคิดว่าเราผิดทำไม...?

ต้นเหตุจากการผิดพลาดนั้นคืออะไร ถ้าหากย้อนเวลาได้เราควรทำอะไร เราทำอะไรได้ดีมากกว่านี้หรือไม่ และเมื่อย้อนเวลาไม่ได้ ในบัดนี้เราควรแก้ไขปัญหาอย่างไร และมีวิธีการอย่างไรที่จะปกป้องไม่ให้ความผิดพลาดเช่นนี้เกิดขึ้นมาอีก

การเรียนรู้จากความผิดพลาดไม่ว่าจุดจบจะไปอยู่ที่ใดไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขหรือปกป้อง จุดเริ่มต้นที่สำคัญนั้นคือการ "ยอมรับผิด"

ยอมรับผิดด้วยใจของตนเอง ใจที่ยอมรับนั้นเป็นการเปิดทางให้วงจรของปัญญาหมุนวนเพื่อให้เกิดวงจรในการแก้ไขปัญหาและ "พัฒนาความผิดเป็นความรู้ (Error Knowledge Management)"

การพัฒนาความรู้จากความผิดนั้นจึงเปรียบได้กับการมีครูที่สร้างเกลียวความรู้จากผลแห่งกรรม

ไม่ว่ากรรมดีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "กรรมชั่ว" ที่เรานั้นได้เคยก่อ กำลังก่อ หรือคิดที่จะก่อ ถ้าหากเรายอมรับได้ว่านั่นเป็นความผิด เป็นสิ่งที่ผิด การยอมรับความผิดนั้นก็เปรียบเสมือนยอมรับให้ครูเดินเข้ามาในบ้าน มาเปิดใจ เปิดหน้า เปิดกระดาน แล้วเจือจานความรู้ (Tacit knowledge) ให้กับศิษย์ด้วยหัวใจ

ความผิดนั้นจึงเป็นครูที่ประเสริฐ เพราะน้ำตาแห่งทุกข์ย่อมให้ประสบการณ์ฝังลึก (Tacit Experience) ที่วิเศษสุด ประดุจขุมทรัพย์ที่เต็มไปด้วยอัญมณี

ขอให้เราทั้งหลายย้อนกลับมาพิเคราะห์ พิจารณาจากครูที่ประเสริฐคนนี้เถิด ยกท่านขึ้นมาเพื่อสอนใจ ยกท่านขึ้นมาสอนตัวสอนใจเรา...


ที่มาจากบันทึก ชุดความรู้ที่สมดุล
หมายเลขบันทึก: 337210เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2010 23:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

แต่ถ้าผิดซ้ำซาก ก็ยากที่จะให้อภัยนะคะ >>>ว่าไม๊ ? :-)

โดนค่ะ มันยากตรงที่ไม่ยอมรับเนี่ยแหละ บางทีก็รู้สึกเหมือนรู้ แต่ใจไม่เข้มแข็งพอที่จะก้าวเดินตามเสียงกระซิบเบา ๆในใจ ที่บอกว่าทางนี้ดีกว่า แต่พอเป็นเสียงแห่งความเคยตัวในด้านลบ กลับเป็นเสียงตะคอกที่มีพลัง

การก้าวเดินออกจากความเคยชิน ที่แย่ ๆ มันไม่ง่ายนักสำหรับคนที่ไม่เคย แต่ก็เชื่อมั่นว่า ไม่มีอะไรเกินความสามารถของคนที่ไม่ยอมแพ้ค่ะ

ขอบพระคุณสำหรับบันทึกโดน ๆ

เราต้องให้ความผิดนั้นเป็นครู ครูที่คอยตักเตือนสั่งสอนเรา

มิใช่เราใช้ครูเป็นแพะรับบาป เมื่อทำผิดแล้วใคร ๆ เขาก็จะพูดกับเราได้ว่า "ครูไม่สั่งสอน"

ครูที่ไหนก็ไม่รู้ใจเราเท่ากับ ครูในใจของเราเอง เพราะความผิดนี้เราทำเอง เรารู้เพราะสิ่งนั้นเกิดขึ้นจากมือเรา

ถึงแม้นว่าเราจะไปเล่าให้คนฟัง จะเป็นครูหรือใคร ในใจเราก็ไม่สามารถเล่าได้หมด เพราะบางครั้งเราก็ละอายใจเกินกว่าที่บอกไปในบางครั้ง

อคติ (Bias) ทั้งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง รวมถึงอคติที่ของคนที่เราไปคุยด้วยซึ่งเป็นสิ่งที่เขาสั่งสมมาจะทำให้เขาแก้ไขปัญหาของเราออกนอกลู่ นอกทาง

ซึ่งนั่นจักแตกต่างกับครูในจิตใจของเรา เพราะครูคนนี้ "รู้อยู่แก่ใจ"

เรียนรู้อยู่กับตนเองให้มาก อ่านตนเองให้มาก พิจารณาความผิดพลาดให้มากแล้วเราจะรู้จักคำว่า "ครู" ที่แท้จริง...

 

เห็นด้วยมากมายค่ะ

เคยเขียนบันทึก Error is Knowledge ค่ะ

คนที่ไม่เคยผิดผลาด คือคนที่ไม่เคยทำอะไรเลยค่ะ

ขอบคุณเรื่องราวดีดีค่ะ

ความผิดพลาดเป็นแหล่งสร้างความรู้ที่สูงค่ายิ่ง

ความผิดพลาดเป็นความรู้ของเรา เป็นความรู้ที่เราสร้างขึ้น เป็นความรู้ที่อยู่กับเรา และเป็นความรู้ที่เราจะดับไปซึ่งความผิดพลาดที่เราสร้างขึ้นนั้น

การไตร่ตรอง การพิจารณาความผิดพลาดในชีวิตของเราที่ผ่านมาจึงเป็นแนวทางที่จะนำพาชีวิตไม่ให้กลับไปยังจุดที่เคยผิดพลาดนั้น

คำคมหลายต่อหลายประโยค ล้วนมีความลึกซึ้งและกะทัดรัด อยู่ในตัว

แต่ควรที่จะตีความหมายให้ถูกต้อง เพราะถ้าตีความหมายผิดก็จะเป็นโทษได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท