เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่


"...เสภาเรื่องพระราชพงศาวดารนี้น่าจะเป็นหนังสือเรื่องหลังที่สุดที่สุนทรภู่แต่ง เข้าใจว่าแต่งเมื่อราวปีขาล พุทธศักราช ๒๓๙๗..."
 

เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่ : ภาพสะท้อนโลกทัศน์ ประวัติศาสตร์ไทย สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ 

นับแต่มีการศึกษาเกี่ยวกับสุนทรภู่ เสภาเรื่องพระราชพงศาวดารเป็นงานของสุนทรภู่ที่มีผู้คนกล่าวถึงน้อยที่สุดเรื่องหนึ่ง นักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นว่าเนื่องจากเป็นผลงานเรื่องสุดท้ายที่ไม่เด่นนักเพราะมีพงศาวดารมากำกับ สุนทรภู่จึงไม่สามารถแต่งเพิ่มความมากได้ เสภาพระราชพงศาวดารจึงเป็นงานเรื่องสุดท้ายของสุนทรภู่ที่ถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย

อย่างไรก็ตามแม้เสภาพระราชพงศาวดารจะจัดว่าเป็นผลงานของสุนทรภู่เรื่องที่ไม่โดดเด่นมากนักในทัศนะของนักวรรณคดี แต่เมื่อนำเนื้อหาของเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารมาพิจารณากลับพบว่าเสภาเรื่องนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะในฐานะความเป็นเอกสารที่แสดงให้เห็นถึงมุมมองการรับรู้ประวัติศาสตร์ของคนไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์และในช่วงที่เริ่มมีการปรับรับมุมมองความคิดทางประวัติศาสตร์แบบตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้เป็นอย่างดี

  1. สุนทรภู่กับเสภา
  2. เรื่องพระราชพงศาวดาร

      สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์อธิบายเรื่องที่มาของเสภาพระราชพงศาวดารไว้ในหนังสือ เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร สุนทรภู่แต่งถวายในรัชกาลที่ ๔ แล เรื่องประวัติของสุนทรภู่ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรดให้พิมพ์ครั้งแรกในงานฉลองพระชันษา ๖๐ ทัศ เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๖๕ ว่า

      "เสภาเรื่องพระราชพงศาวดารที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสฯ สั่งให้พระสุนทรโวหาร ซึ่งคนทั้งหลายเรียกเปนสามัญาว่า "สุนทรภู่" นั้น แต่งขึ้นสำหรับขับถวายทรงฟังในเวลาทรงเครื่องใหญ่ ตามแบบอย่างครั้งรัชกาลที่ ๒ แลต่อมาโปรดฯ ให้ใช้เปนบทสำหรับนางในขับส่งมโหรีหลวงด้วย..."

      ในท้ายพระนิพนธ์ประวัติของสุนทรภู่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสรุประยะเวลาที่แต่งเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารว่า "...เสภาเรื่องพระราชพงศาวดารนี้น่าจะเปนหนังสือเรื่องหลังที่สุดที่สุนทรภู่แต่ง เข้าใจว่าแต่งเมื่อราวปีขาล พ.ศ. ๒๓๙๗..."

      พ. ณ ประมวญมารคเคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับที่มาของเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารไว้ว่า "...มีข้อฉงนเพียงว่า พระสุนทรโวหาร (ภู่) เป็นอาลักษณ์วังหน้า เหตุไฉนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการให้แต่งได้..."

      แล้วในที่สุดท่านก็สรุปว่า "...แต่สุนทรภู่จะได้แต่งตามพระบรมราชโองการ หรือพระบวรราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แลเจ้าน้องนำถวายเจ้าพี่ไปขับเมื่อทรงเครื่องใหญ่ ก็ดูจะไม่มีความสำคัญอย่างไรเลย เพราะท่านก็เป็นพี่น้องคลานตามกันออกมาแท้ๆ"

      อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาจากตัวบทเสภา สุนทรภู่ได้แต่งบทขึ้นต้นว่า

      "๏ กราบบังคมสมเด็จบดินทร์สูร

      พระยศอย่างปางนารายณ์วายุกูล มาเพิ่มพูนภิญโญในโลกา

      ทุกประเทศเขตรขอบมานอบน้อม สะพรั่งพร้อมเป็นสุขทุกภาษา

      ของพระเดชพระคุณการุณา ด้วยเสภาถวายนิยายความฯ..."

      ข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสุนทรภู่แต่งถวายพระเจ้าแผ่นดิน คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในสมัยรัชกาลที่ ๔ ข้าราชการวังหน้าหลายคน เช่น พระยามณเฑียรบาล๕ ก็เป็นที่โปรดปรานของวังหลวง ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคุ้นเคยมาแต่ก่อน

      ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกแต่ประการใดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงโปรดให้สุนทรภู่ (ซึ่งก็น่าจะทรงคุ้นเคยอยู่ก่อน) แต่งเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารถวาย

      ปัจจุบันเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารมี ๒ ตอน คือตอนพระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยาและรบขอม กับตอนสงครามกับพม่าในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

      เหตุที่เสภาขาดออกเป็น ๒ ตอนนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเพราะเมื่อสุนทรภู่แต่งตอนต้นถวายแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าเรื่องพงศาวดารตอนนั้นแม้เอามาแต่งเป็นเสภาคงไม่น่าฟัง จึงโปรดฯ ให้ข้ามไปแต่งตอนศึกพระเจ้าหงสาวดีในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และเห็นจะเป็นด้วยสุนทรภู่ถึงแก่กรรม เสภาพระราชพงศาวดารจึงจบเพียงเท่านั้น

      แม้กระนั้นก็น่าคิดพิจารณาว่า เหตุใดจึงเลือกแต่งเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารเฉพาะ ๒ ตอนนี้เท่านั้น และเมื่อพิจารณาจะเห็นว่า ตอนหนึ่งเป็นเหตุการณ์เกี่ยวพันกับเขมร และเหตุการณ์หนึ่งเกี่ยวพันกับพม่า หรือจะมีการเมืองแฝงอยู่ในเรื่องเหล่านี้ หาไม่คงเป็นเพราะทรงใฝ่พระราชหฤทัยในเรื่องทั้งสอง

  1. สุนทรภู่ใช้พระราชพงศาวดารฉบับใด

      แต่งเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร

      เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างเนื้อความในเสภาพระราชพงศาวดารกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ เห็นได้ว่าสุนทรภู่น่าจะนำโครงเรื่องมาจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับความพิสดารที่ชำระกันในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั่นเอง

      เนื่องจากในเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารขึ้นต้นเรื่องด้วยการกล่าวถึง พระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาและมีเมืองขึ้น ๑๖ หัวเมือง ดังความที่ว่า 
 
"จะกล่าวพงศาวดารกาลแต่หลัง  เมื่อแรกตั้งอยุธยาภาษาสยาม 
ท้าวอู่ทองท่านอุตส่าห์พยายาม  ชีพ่อพราหมณ์ปโรหิตคิดพร้อมกัน 
มีจดหมายลายลักษณ์ศักราชๆ เจ็ดร้อยสิบสองคาดเปนข้อขัน 
ปีขาลโทศกตกสำคัญ  เดือนห้าวันศุกร์ขึ้นหกค่ำควร  
พลาสามนาฬิกากับเก้าบาท  ตั้งพิธีไสยศาสตร์พระอิศวร 
ได้สังข์ทักษิณาวัฏมงคลควร  ใต้ต้นหมันตามกระบวนแต่บุราณ..."

      จะเห็นได้ว่าข้อความในเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารตรงกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับความพิสดารที่ชำระในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น และพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับความพิสดารขึ้นต้นด้วยข้อความอย่างเดียวกันทุกฉบับ คือ

      "ศุภมัศดุศักราช ๗๑๒ ปีขาล โทศก วันศุกร์ เดือนห้า ขึ้นหกค่ำ เพลาสามนาฬิกาเก้าบาท สถาปนากรุงศรีอยุธยา ชีพ่อพราหมณ์ให้ตั้งพิธีกลปบาต ได้สังขทักษิณวัตรใต้ต้นหมันขอนหนึ่ง..."

      หรือในข้อความที่กล่าวถึงเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา ๑๖ หัวเมือง

      "...มีเมืองขึ้นสิบหกพระบุรี  คือเมืองตะนาวศรีนครสวรรค์

      เมืองชวามละกาพิจิตรนั้น  เมืองสวรรคโลกศุโขไทย

      เมาะลำเลิงบุรีศรีธรรมราช  ทั้งสงขลามาภิวาทไม่ขาดได้

      พิศณุโลกกำแพงเพ็ชรเมืองพิไชย  ทวายใหญ่เมาะตะมะจันทบูร..."

      พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับความพิสดารทุกฉบับบันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า

      "...ครั้งนั้นพระยาประเทศราชขึ้น ๑๖ เมือง คือ เมืองมลากา เมืองชวา เมืองตะนาวศรี เมืองนครศรีธรรมราช เมืองทวาย เมืองเมาะตะมะ เมืองเมาะลำเลิง เมืองสงขลา เมืองจันทบุรี เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิจิตร เมืองกำแพงเพชร เมืองนครสวรรค์..."

      แม้จะเรียงลำดับไม่ตรงกันเนื่องด้วยต้องนำชื่อเมืองมาเรียงกันให้ลงฉันทลักษณ์ก็ตามแต่ แสดงให้เห็นว่าพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่สุนทรภู่นำมาใช้เขียนเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร น่าจะเป็นพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับความพิสดารซึ่งก็น่าจะได้แก่ฉบับที่เรียกว่า พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนนั่นเอง

  1. ความสนใจประวัติศาสตร์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

      ที่ปรากฏในเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร

      ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์อธิบายเหตุที่สุนทรภู่เลือกแต่งเสภา เรื่องพระราชพงศาวดารว่าที่ทรงเลือกแต่งเฉพาะสองตอนนี้เนื่องจากตอนอื่นๆ ไม่สามารถนำมาแต่งได้นั้นเป็นประเด็นที่น่าสงสัย

      เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สุนทรภู่แต่งพระราชพงศาวดารทั้งสองตอนนี้ ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาตอนอื่นจะแต่งไม่ได้ ตามพระมติของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

      หากแต่น่าเป็นเพราะเหตุการณ์ทั้งสองนี้ เป็นพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาตอนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยมากกว่า

      ความสนพระราชหฤทัยในเรื่องเขมร ความสนพระราชหฤทัยในเรื่องเกี่ยวกับเขมรในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน เนื่องจากในเวลานั้นเป็นเวลาช่วงที่สมเด็จพระหริรักษรามา (พระองค์ด้วง) เริ่มติดต่อกับฝรั่งเศส สิ่งนี้น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอาจไม่ไว้วางพระราชหฤทัย ทำให้ทรงสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับประเทศเขมรมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่โปรดฯ ให้แปลพงศาวดารเขมร [ฉบับออกญาวงศสารเพชญ (นง)] เป็นภาษาไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๘๙ และทรงเป็นผู้เริ่มกำหนดว่า "เขมรแปรพักตร์" หมายถึงหัวเมืองเขมรที่ขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ อันได้แก่ เมืองพระตะบอง เมืองเสียมราบ และเมืองศรีโสภณ

      ความสนพระราชหฤทัยในเรื่องพม่า หากพิจารณาดูจะเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับประเทศพม่ามากไม่ต่างกับความสนพระราชหฤทัยในประเทศเขมร ด้วยในเวลานั้นประเทศพม่าได้เกิดสงครามกับอังกฤษ และโปรดฯ ให้คัดคำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับภาษามอญและนำมาแปลเก็บรักษาไว้ในหอหลวงเพื่อใช้ตรวจสอบในการชำระพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา นอกจากนี้ยังโปรดฯ ให้แปลพงศาวดารมอญ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๐๑๐ อีกด้วย

      แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะโปรดให้แปลพงศาวดารเขมร-มอญ และคำให้การขุนหลวงหาวัดหลังจากที่สุนทรภู่แต่งเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารแล้ว ในทางตรงกันข้ามเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารอาจจะแสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีความสนพระราชหฤทัยต่อประเทศเขมร-พม่า มาเป็นเวลานานก่อนจะมีการแปลพงศาวดารเขมร-มอญแล้วก็เป็นได้

      ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้หากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเลือกพระราชพงศาวดารทั้งสองตอนนี้ให้สุนทรภู่ใช้เป็นโครงเรื่องในการแต่งเสภาพระราชพงศาวดาร

  1. มุมมองเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไทยของสุนทรภู่

      ในเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร

      ดังได้กล่าวไปบ้างแล้วว่า เหตุที่แต่งเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารก็เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สุนทรภู่แต่งถวาย ดังนั้นนอกจากเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารจะแสดงให้เห็นถึงความรับรู้เรื่องประวัติศาสตร์ในคนรุ่นสุนทรภู่ (หรือคนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์) แล้ว ยังสะท้อนถึงแนวพระราชดำริ (และความสนพระราชหฤทัย) เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เห็นได้อีกด้วย

      จึงอาจกล่าวได้ว่า เสภาเรื่องพระราชพงศาวดารเป็นภาพสะท้อนให้เห็นคือมุมมองและความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์ของคนรัตนโกสินทร์ตอนต้น (หรือในตัวสุนทรภู่) ในภาพอดีตที่ย้อนกลับไปของกรุงศรีอยุธยา

      ๔.๑ ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบเครือญาติ ราชวงศ์อู่ทอง-สุพรรณภูมิ

      ภาพความสัมพันธ์ระบบเครือญาติระหว่างราชวงศ์อู่ทอง-สุพรรณภูมิตามที่ปรากฏในเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจของคนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ว่ามีความเข้าใจว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพ่องั่ว) เป็นพระเชษฐาร่วมพระครรภ์ของพระเจ้าอู่ทอง

      บทเสภายังกล่าวต่อไปว่า เดิมขุนหลวงพ่องั่วไม่ได้เป็นเจ้าเมืองสุพรรณภูมิ หากเพิ่งได้รับสถาปนาเป็นพระบรมราชาเจ้าเมืองสุพรรณบุรีเมื่อตั้งกรุงศรีอยุธยา

      "...ทรงรำพึงถึงองค์พระเชษฐา  ร่วมครรภาอัคเรศนรังสรรค์

      จำจะไปบำรุงกรุงสุพรรณ  ด้วยท่านนั้นสิร่วมสุริยวงศ์...

      ...ดำริพลางทางออกพระโรงรัตน์ ตั้งกระษัตริย์ขนานนามต้องตามที่

      เฉลิมเดชเชษฐาธิบดี   ให้เป็นที่พระบรมราชา..."

      ฉะนั้นตามความเข้าใจของคนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ขุนหลวงพ่องั่วจึงไม่ได้เป็นพระเชษฐาพระมเหสีของพระเจ้าอู่ทอง เหมือนกับที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งแนวความคิดในเรื่องนี้เปลี่ยนไปแล้ว ดังความที่ว่า

      "...แล้วโปรดให้ขุนหลวงพะงั่วซึ่งเป็นพี่พระมเหสี และตรัสเรียกว่าพระเชษฐานั้น เป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า ไปครองราชสมบัติ ณ เมืองสุพรรณบุรี..."

      อันเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสุนทรภู่ไม่ได้ใช้พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเป็นโครงเรื่องในการเขียนเสภา เรื่องพระราชพงศาวดาร

      ๔.๒ ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย-เขมร

      ความเข้าใจเกี่ยวกับภาพสงครามไทย-เขมรในรัชกาลพระเจ้าอู่ทองที่ปรากฏในเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร แสดงให้เห็นถึงความคิดของคนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เรื่องเขมร "คดประทษร้าย" ดังความในบทเสภา

      "...สถิตย์แท่นแสนสำราญดาลฤดี  ด้วยบุรีขอมคดประทษร้าย..."

      "...นี่แน่เจ้าเยาวยอดปิโยรส  อ้ายขอมคดดูถูกนะลูกเอ๋ย..."

      "...ซึ่งข้อขอมคดคิดจิตรพาลา  จะอาสามิให้เคืองบทมาลย์..."

      ข้อความเหล่านี้ตรงกับข้อมูลในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนที่ว่า "...แล้วให้ขึ้นไปเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระราเมศวรลงมาแต่เมืองลพบุรี ซึ่งกรุณาตรัสว่า ขอมแปรพักตร์จะให้ออกไปกระทำเสีย..."

      แม้ไม่ปรากฏคำว่า "ขอมแปรพักตร์" ในเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร แต่เสภาพระราชพงศาวดารได้ตีความคำว่า "ขอมแปรพักตร์" แล้วอธิบายว่าหมายถึง "ขอมคดประทษร้าย" ข้อความดังกล่าวเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าในสายตาของคนไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คำว่า "ขอมแปรพักตร์" ในพระราชพงศาวดารหมายถึง "ขอมคดประทษร้าย" นั่นเอง

      นอกจากนี้ในเรื่อง "เสียพระศรีสวัสดิ์" ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า สมเด็จพระราเมศวรไปแพ้และ "...เสียพระศรีสวัสดิ์แก่ชาวกัมพูชาธิบดี..." ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางท่านสันนิษฐานว่า "พระศรีสวัสดิ์" น่าจะเป็นพระโอรสในพระเจ้าอู่ทองอีกองค์หนึ่งที่ไปสิ้นพระชนม์ในสงครามนั้น

      เสภา เรื่องพระราชพงศาวดารสะท้อนความคิดของคนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ให้เห็นว่า การเสีย "พระศรีสวัสดิ์" ในเหตุการณ์นี้หมายถึงการเสีย "พระเกียรติยศ" ไม่ได้หมายถึงการเสียพระโอรสอีกพระองค์หนึ่งแต่ประการใด

      "...เอออะไรลูกเราช่างเบาจิตร  แพ้ความคิดข้าศึกนึกขายหน้า

      ทำให้เสียท่วงทีในปรีชา   ดีแต่กล้าดื้อดื้อถือทนง

      จนเสียพระศรีสวัสดิ์น่าจัดแค้น เข้าเขตแดนอรินทร์ไยมาใหลหลง

      ไม่ระวังเนื้อตัวมัวทะนง   อ้ายขอมคงเหิมฮึกนึกดูเบา..."

      ๔.๓ ความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่า

      ความเข้าใจเกี่ยวกับไทย-พม่า ในเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารแสดงให้เห็นว่าความคิดความเชื่อเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของคนไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์กับความคิดของปัจจุบันมีความแตกต่างกัน ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ความคิดเกี่ยวกับการแบ่งแยกระหว่างพม่า-มอญ, ความรู้สึกเกี่ยวกับพระเจ้าหงสาวดีลิ้นดำ (ตะเบ็งชะเวตี้) กับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง

      ความคิดเกี่ยวกับการแบ่งแยกระหว่างพม่า-มอญ ในเสภาพระราชพงศาวดารให้ภาพที่สอดคล้องกับภาพที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับความพิสดาร คือ ยังมีความสับสนระหว่างพม่ากับมอญ โดยเฉพาะในเรื่องกษัตริย์ที่เสภาพระราชพงศาวดารให้พระเจ้าหงสาวดีเป็นมอญ ดังที่กล่าวว่า

      จะกลับกล่าวถึงพระเจ้าเมืองหงษา  เปนปิ่นรามัญประเทศทุกเขตรขัณฑ์

      พม่าทวายฝ่ายลาวเมื่อคราวนั้น   อภิวันต์หงษาพึ่งบารมี

      นอกจากนี้ยังปรากฏการกล่าวว่าพระเจ้าหงสาวดีเป็นกษัตริย์มอญอีกหลายครั้ง เช่น "กับผู้ผ่านหงษาเจ้ารามัญ", "ฝ่ายพระองค์หงษาพระยามอญ" หรือ "พระเจ้ารามัญ" แสดงให้เห็นว่าสุนทรภู่มองว่าพระเจ้าหงสาวดีเป็นกษัตริย์ของมอญ ส่วนพม่า, ทวาย และลาว (เชียงใหม่) เป็นเมืองออกที่ยอมอยู่ใต้อำนาจ ซึ่งตามความจริงพระเจ้าหงสาวดี (ขณะนั้นคือบุเรงนอง) เป็นพม่าแต่สามารถรบชนะมอญและตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองหลวงเก่าของมอญคือหงสาวดี

      ส่วนทัพที่ยกมารบกับกรุงศรีอยุธยาก็กล่าวว่าเป็นทัพรามัญ (แท้จริงทัพใหญ่คือพม่า) เช่น "ว่ากองทัพมอญตั้งนครสวรรค์" แสดงให้เห็นว่าความคิดของคนไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมองเกี่ยวกับสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพม่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นว่าเป็นสงครามระหว่างไทย-มอญ มิได้ให้ความสำคัญกับพม่ามากนัก

      ความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าหงสาวดีลิ้นดำกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เสภาพระราชพงศาวดารให้ภาพที่สับสน โดยรวมพระเจ้าหงสาวดีลิ้นดำ (ตะเบ็งชะเวตี้) เป็นองค์เดียวกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ดังนั้นจึงปรากฏว่าแม้ในสงครามช้างเผือก ที่พระเจ้าแผ่นดินพม่าเวลานั้นคือบุเรงนอง แต่ในเสภาพระราชพงศาวดารก็ยังคงเรียกว่า "พระเจ้าหงสาวดีลิ้นดำ" อยู่ ดังความในเรื่อง

      "...ฝ่ายปิ่นปักนัคเรศประเทศถิ่น พระเจ้าลิ้นดำดำรงเมืองหงษา..."

      ซึ่งสอดคล้องกันกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับความพิสดาร ว่าพระเจ้าหงสาวดีในสงครามช้างเผือกคือพระเจ้าหงสาวดีลิ้นดำ แสดงให้เห็นว่า ตามความเข้าใจของคนไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์พระเจ้าหงสาวดีในสงครามคราวเสียพระสุริโยทัยกับสงครามช้างเผือกเป็นพระเจ้าหงสาวดีลิ้นดำองค์เดียวกัน

      เมื่อเปรียบเทียบเนื้อหาของบทเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารในส่วนที่ว่าด้วยรบศึกพม่าตั้งแต่สงครามช้างเผือกจนกระทั่งจบ กับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับความพิสดาร (โดยเฉพาะฉบับพระพนรัตน์) แสดงให้เห็นความสอดคล้องของเอกสารทั้งสองเล่ม ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารได้โครงเรื่องมาจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับความพิสดาร อย่างไรก็ตามส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความคิดความเชื่อของคนไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย

      ๔.๔ การจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามลักษณะภาษา

      การจำแนกกลุ่มชนชาติตามภาษาเป็นวิธีการที่นิยมและแสดงให้เห็นอิทธิพลการศึกษาแบบตะวันตกอันเริ่มมีอิทธิพลต่อความคิดของปัญญาชนไทยตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา ดังจะพบได้อย่างชัดเจนในงานพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๓ เรื่องนางนพมาศ ซึ่งมีการจำแนกกลุ่มชน (ชาติพันธุ์) ตามภาษาที่ใช้

      ในงานเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ปรากฏการกล่าวถึง "ภาษา" ที่ใช้ในการจำแนกกลุ่มชนที่สำคัญประมาณ ๕ ภาษา คือ ภาษาสยาม, ภาษามอญ, ภาษาพม่า, ภาษาทวาย, ภาษาลาว (เชียงใหม่)

      อยุธยา กับ ภาษาสยาม เมื่อมีการกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยาหรือไทย เสภาพระราชพงศาวดารมักระบุว่าเป็นกลุ่มที่ใช้ "ภาษาสยาม" เช่น "...เมื่อแรกตั้งอยุธยาภาษาสยาม..." หรือ "...อยุธเยศยอดสยามภาษา..." เป็นต้น

      น่าสนใจที่สุนทรภู่ไม่ใช้คำว่า "ภาษาเขมร" หรือ "ภาษาขอม" เลย แต่กลับใช้คำว่า "พวกขอม" แทน และเมื่อจะเรียกประเทศก็จะใช้คำว่า "กัมพูชา" จะเป็นไปได้หรือไม่ที่สุนทรภู่และคนไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์มองว่าเขมรเป็นส่วนหนึ่งของไทย จึงไม่จัดแยกเป็นอีกภาษาหนึ่งต่างหาก

      อย่างไรก็ดีภาพเขมรที่ปรากฏในเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารเป็นภาพที่ค่อนข้างไม่ดีนัก ดังความที่ว่า

      "...ทำไมกับทัพเขมรเดนเขาเลือก  มีแต่เปลือกสู้ไทยจะได้ฤา..."

      แสดงให้เห็นภาพความรู้สึกนึกคิดของไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีต่อเขมรในเวลานั้นได้ชัดเจน

      ภาษาพม่า ในที่นี้ใช้ระบุว่าพวกพูดภาษาพม่าคือเมืองอังวะ ดังความที่ว่า "...พวกอังวะพม่าว่าลาแคะ..." นอกจากนี้สิ่งที่เด่นชัดอีกประการหนึ่งในเสภาพระราชพงศาวดารที่แสดงโลกทัศน์และความรู้ของสุนทรภู่ไว้คือมีการแทรกภาษาพม่าไว้ด้วยว่า "...พวกพม่าว่าเลเอระพะ พยายะชะดองรำยองย่อ..."

      ภาษามอญ เสภาพระราชพงศาวดารจัดเป็นชนอีกกลุ่มหนึ่ง และแทรกภาษามอญลงไว้ด้วย เช่น "...มอญว่าแกละอาระเคลิงเกลิงเผนาะ..." หรือ "...มอญทะแยแซ่ซ้องเสียงพองคอ โอระออระหนายเฮยเยาะเย้ยกัน..."

      ภาษาลาว ภาษาลาวที่เสภาเรื่องพระราชพงศาวดารระบุถึงหมายถึงภาษาลาวเชียงใหม่ ซึ่งในเสภาพระราชพงศาวดารกล่าวว่าในช่วงนั้นลาวเป็นเมืองขึ้นของพม่า ภาษาลาว (เชียงใหม่) สุนทรภู่ได้ยกตัวอย่างคำแทรกไว้เพื่อแสดงความหลากหลายในกองทัพพม่าไว้ด้วย สุนทรภู่แต่งว่า "...ลาวว่าเบอเจอละน้อหัวร่อเยาะ..." และกล่าวถึงการละเล่นของลาวเชียงใหม่ในกองทัพพม่าว่า "...พวกเชียงใหม่ได้แพนอ้อร้องซอลาว โอเจ้าสาวสาวเอ๊ยเจ๊ยละน้อ..."

      ภาษาทวาย ภาษาทวายเป็นอีกภาษาหนึ่งที่ระบุไว้ในเสภาพระราชพงศาวดารว่าเป็นภาษาที่มีใช้ในกองทัพพม่าด้วย สุนทรภู่ยกตัวอย่างภาษาทวายไว้วรรคเดียว และไม่มีกล่าวถึงการละเล่นของทวายเหมือนกับภาษาพม่า ภาษาลาว และภาษามอญ สุนทรภู่กล่าวถึงภาษาทวายว่า "...ทวายว่าเดาะยามะเวเฮฮากัน..."

     บทสรุป

      เสภาพระราชพงศาวดารเป็นงานเขียนเรื่องสุดท้ายของสุนทรภู่ที่แต่งขึ้นตามรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บทเสภาที่เหลืออยู่ในปัจจุบันมี ๒ ตอน เป็นเรื่องการรบเขมรสมัยพระเจ้าอู่ทอง กับการสงครามกับพม่าในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

      เหตุหนึ่งที่สุนทรภู่เลือกพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาทั้งสองตอนนี้มาแต่งไม่น่าจะเป็นเพียงเพราะพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาตอนอื่นนำมาแต่งไม่ได้ แต่น่าจะเป็นรับสั่งในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงเจาะจงให้สุนทรภู่แต่งบทเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารสองตอนนี้ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องที่ทรงสนพระราชหฤทัย

      ดังนั้นนอกจากเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารจะสะท้อนความรับรู้ทางประวัติศาสตร์ของสุนทรภู่และคนไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ยังน่าจะสะท้อนให้เห็นถึงความสนพระราชหฤทัยในเรื่องเขมร-พม่า ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย

      ความรับรู้ทางประวัติศาสตร์ของคนไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์หลายเรื่องแตกต่างกับผลการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในปัจจุบัน แต่นั่นมิได้หมายความว่าความรู้ในสมัยนั้นเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้ หากเป็นสิ่งสะท้อนวิวัฒนาการความรับรู้ทางประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (โดยผ่านสายตากวี) นอกเหนือจากมุมมองของนักพงศาวดารโดยตรง

      สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดถึงความแตกต่างในประเด็นนี้คือ การที่กวีให้ความสนใจกับกลุ่มชนชาติ หรือกลุ่มชาติพันธุ์โดยใช้ภาษามาเป็นเครื่องกำหนด ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารหรือวรรณคดีเรื่องอื่นซึ่งมีอายุร่วมสมัย (คือแต่งในยุครัชกาลที่ ๒-๔) ที่ให้ความสนใจกับเรื่อง "ภาษา" เช่นเดียวกัน อันแสดงถึงวิธีคิดแบบตะวันตกที่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อปัญญาชนไทยสมัยนั้น

      แม้เสภาเรื่องพระราชพงศาวดารผลงานเรื่องสุดท้ายของสุนทรภู่จะไม่โดดเด่นนักในคุณค่าด้านวรรณคดี แต่ด้วยคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ที่ปรากฏ เสภาเรื่องนี้ก็มีคุณค่าควรแก่การศึกษาเช่นกัน บทความเรื่องนี้เป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้นอันควรมีการศึกษาในระดับลึกต่อไป

 

 

อ้างอิง

ศาน ภักดีคำ. (ม.ป.ป.). เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่ : ภาพสะท้อนโลกทัศน์ ประวัติศาสตร์ไทย

        สมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

 

 

หมายเลขบันทึก: 337117เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2010 19:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 18:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท