ค่านิยมที่พึงประสงค์และลักษณะคนไทยที่ดี


คนดี คนเก่ง และมีความสุข ความหมายของคนดีที่ได้จากข้อสรุปของผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา“คนดี” คือ คนที่ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีจิตใจที่ดีงาม มีคุณธรรม จริยธรรม

                สังคมมนุษย์นั้นเรามีความเชื่อว่าค่านิยมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดพฤติกรรมของบุคคล เพราะค่านิยมจะเป็นเครื่องตัดสิน กำหนดหรือผลักดันให้บุคคลแสดงพฤติกรรมไปทางใดทางหนึ่ง ดังนั้นค่านิยมจึงเป็นพลังที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้พฤติกรรมทางสังคมส่วนใหญ่ของมนุษย์ (สมาน ชาลีเครือ, 2523 )

                นอกจากนี้ค่านิยมยังเป็นเครื่องชี้แนวทางและลักษณะความประพฤติของคนในสังคมดังนั้นการปลูกฝังและพัฒนาค่านิยมอันดีงามให้เกิดขึ้นแก่คนในชาติจึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องกระทำโดยไม่ชักช้า และจะต้องมีการกระทำที่ต่อเนื่องในทุกระดับการศึกษา (พนัส หันนาคินทร์, 2520 ) เพราะพลังอำนาจแห่งชาติจะมั่นคงเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับคนภาพของคนในชาติ ซึ่งย่อมจะประพฤติและปฏิบัติตามค่านิยมที่ตนยอมรับนับถืออยู่ หรืออาจจะกล่าวได้ว่าสังคมจะเจริญก้าวหน้าหรือเสื่อมไปในทิศทางใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับค่านิยมของสังคมเป็นสำคัญเพราะฉะนั้นการสร้างค่านิยมที่ถูกต้องและเหมาะสมจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าให้เกิดขึ้นในสังคม (อานนท์ อาภาภิรมย์ ,2517 ) ค่านิยมของสังคมจึงมีความสำคัญต่อการแสดงพฤติกรรมของคนในสังคม เนื่องจากค่านิยมเป็นตัวควบคุมการตัดสินใจของคนในสังคม จึงมีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพและอุปนิสัยใจคอของคนส่วนมาก (อารง สุทธาศาสน์และคณะ ,2525 )

  1. ความหมาย  

ค่านิยม (หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา,2529) หมายถึง ความเชื่อของบุคคลส่วนใหญ่ที่เชื่อว่าสิ่งใดมีค่า มีความสำคัญ และเป็นที่ปรารถนาในขณะที่สิ่งอื่นมีค่า มีความสำคัญน้อยกว่า หรือไม่เป็นที่ต้องการ ในลักษณะดังกล่าวค่านิยมจึงเป็นมาตรฐานในการรับรู้ การประเมิน การเลือก และการตัดสินใจของบุคคลว่าควรทำหรือไม่ควรทำ มีค่าหรือไม่มีค่า สำคัญหรือไม่สำคัญ นอกจากนี้ค่านิยมยังทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดเป้าหมาย และสร้างแรงจูงใจ ผลักดันให้บุคคลมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ โดยไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องก่อให้เกิดความดีแก่สังคมด้วยหรือไม่

                ไพฑูรย์ เครือแก้ว (ไพฑูรย์ เครือ แก้ว, 2518 ) กล่าวว่า “ค่านิยมของสังคมหมายถึงสิ่งที่คนสนใจ สิ่งที่คนปรารถนาจะได้ ปรารถนาจะเป็นหรือกลับกลายมาเป็นสิ่งที่คนถือว่าเป็นสิ่งบังคับ ต้องทำปฏิบัติ เป็นสิ่งที่คนบูชายกย่องและมีความหมายต่อบุคคลและเป็นแบบฉบับความคิดที่ฝังแน่นสำหรับยึดถือในการปฏิบัติตัวของคนในสังคม”

                พอสรุปได้ว่า “ค่านิยม” หมายถึงความรู้สึก ซึ่งประกอบไปด้วยความนิยมชมชอบ พอใจ ยกย่องบูชา ต้องการและการตีค่าสิ่งต่างๆ โดยพิจารณาคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของสิ่งนั้นในเชิงจิตวิทยา สังคม จริยศาสตร์ ศาสนาและสุนทรียศาสตร์ เมื่อบุคคลพิจารณาตัดสินแล้วบุคคลจะยึดถือตามคุณลักษณะนั้นต่อไป เช่น เมื่อบุคคลใดมีค่านิยมต่ำในสิ่งใดก็จะแสดงออกในการยอมรับนับถือในสิ่งนั้นในอันดับต่ำ ค่านิยมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดแบบฉบับบุคลิกภาพ หรือลักษณะของการประพฤติปฏิบัติของบุคคลในสังคม และจะส่งผลต่อคุณภาพของสังคมที่บุคคลเป็นสมาชิกอยู่

  1. ประเภทของค่านิยม

                 สาโรธ บัวศรี (2527 ) กล่าวว่า การแบ่งประเภทของค่านิยมกระทำได้หลายวิธี แล้วแต่ว่าผู้แบ่งจะยึดอะไรเป็นพื้นฐานในการการแบ่ง ไม่มีการแบ่งที่เป็นการตายตัวอย่างเพียงอย่างเดียว ถ้าผู้แบ่งยึดถือพระผู้เป็นเจ้าหรือพระศาสดาเป็นหลักสำคัญ ก็อาจจะแบ่งค่านิยมออกได้ เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้ดังนี้

  1. ค่านิยมที่เป็นศีลธรรม (Morality) หมายถึงค่านิยมที่เป็นศีล และธรรมโดยเฉพาะหรือได้แก่ Moral Values และ Ethical Values โดยเฉพาะ ซึ่ง ถือเอาพระศาสดาหรือพระผู้เป็นจ้าได้กำหนดไว้ให้แล้ว
  2. ค่านิยมที่เป็นข้อตกลง (Convention) หมายถึงค่านิยมที่ประชาชนในชาติได้ตกลงเห็นชอบกำหนดกันขึ้นเองไม่ว่าจะเป็นโดยทางตรงหรือทางอ้อม ตามยุคตามสมัย ได้แก่ธรรมเนียมประเพณีอุดมการณ์ วินัย กฎหมาย ฯลฯ

                 แต่ถ้าแบ่งยึดถือเอาวิชาชีพ (Profession) เป็นหลักสำคัญก็อาจจะแบ่งค่านิยมออกเป็น 2 ประเภท เช่นกัน คือ

  1. ค่านิยมพื้นฐาน (Basic Values) ประกอบด้วยค่านิยมดังต่อไปนี้

                        ศีลธรรม (Moral Values)

                        คุณธรรม (Ethical Values)

                        ธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม (Cultural Values)

                        กฎหมาย (Legal Values)

  1. ค่านิยมวิชาชีพ ประกอบด้วยค่านิยมต่อไปนี้

                        อุดมการณ์ประจำวิชาชีพของตน เช่น นักการศึกษา อาจมีอุดมการณ์ 3 ประการ คือวิชาการ วิจัย การใช้ความคิดใหม่

                        วินัยประจำวิชาอาชีพของตน

                        มารยาทประจำวิชาชีพของตน

                        พระราชบัญญัติประจำวิชาชีพของตนโดยเฉพาะ

                 ในการแบ่งประเภทของค่านิยมทั้งสองประการดังกล่าวมาแล้วจะเห็นว่า เนื้อหานั้นเหมือนกัน แต่วิธีการแบ่งนั้นต่างกัน ทั้งนี้อาจจะยังมีวิธีอื่นๆ อีกแล้วแต่จุดประสงค์ของผู้แบ่ง เช่น อี.สแปรนเจอร์ (E. Spranger) ได้จำแนกลักษณะของค่านิยม โดยการพิจารณาตามลักษณะการดำรงชีวิตของมนุษย์ในสังคมด้านต่างๆ ออกเป็น 6 ประเภท คือ

  1. ค่านิยมทางทฤษฎีหรือวิชาการ (Theoretical Value) ได้แก่ ค่านิยมที่จะศึกษาหาความรู้ความจริง เหตุผล และการรวบรวมจัดระบบความรู้
  2. ค่านิยมทางเศรษฐกิจ (Economic Value) เป็นค่านิยมที่ทำให้บุคคลแสวงหาประโยชน์ทรัพย์สิน และความมั่นคง
  3. ค่านิยมทางสุนทรียภาพ (Aesthetic Value) เกี่ยวข้องกับความชื่นชม พึงพอในในความงามความเหมาะสม และความกลมกลืนกันในลักษณะต่างๆ
  4. ค่านิยมทางสังคม (Social Value)ได้แก่ความรักเพื่อนมนุษย์ ความต้องการที่จะทำประโยชน์ให้เพื่อมนุษย์
  5. ค่านิยมทางการเมือง (Political Value) คือ ความนิยมอำนาจอิทธิพลและชื่อเสียง
  6. ค่านิยมทางศาสนา (Religious Value) ได้แก่ ความเชื่อและความยึดถือในศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือจุดมุ่งหมายอันสูงสุดในจักรวาล

                   นอกจากนี้ยังมีนักสังคมวิทยาได้จำแนกลักษณะของค่านิยมตามกลุ่มคน โดยพิจารณาจำแนกเป็นระดับบุคคล กลุ่มคน และสังคม หรือถ้าผู้จำแนกยึดถือลักษณะของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงเสมออาจจำแนกลักษณะของค่านิยมออกเป็นค่านิยมที่มีลักษณะยืนยงถาวรหรือเปลี่ยนแปลงกับค่านิยมที่มีลักษณะระดับของความสำคัญมากน้อย หรือลักษณะของค่านิยมที่เป็นความเชื่อ

  1. 3.              ค่านิยมพื้นฐาน 5 ประการ

                  ค่านิยมพื้นฐาน 5 ประการ ที่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้เชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันส่งเสริมปลูกฝังและปฏิบัติตาม คือ

  1. การพึ่งตนเอง ขยันมั่นเพียร และมีความรับผิดชอบ
  2. การประหยัดและออม
  3. การมีระเบียบวินัย และเคารพกฎหมาย
  4. การปฏิบัติตามคุณธรรมของศาสนา
  5. ความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์

                  จากค่านิยมพื้นฐาน 5 ประการ แบ่งออกได้ 3 ประเภท ตามผลที่เกิดขึ้นหรือจุดหมายปลายทางที่ต้องการสำหรับส่วนบุคคล (ตนเอง) ส่วนสังคม และประเทศชาติ คือ

                1.ค่านิยมเกี่ยวกับตนเอง ได้แก่ ค่านิยมการพึ่งตนเอง ขยันหมั่นเพียร และมีความรับผิดชอบกับค่านิยมการ ประหยัดและออม

                2.ค่านิยมเกี่ยวกับสังคมได้แก่ ค่านิยมการมีระเบียบวินัยและเคารพกฎหมาย กับค่านิยมการปฏิบัติตาม         คุณธรรมของศาสนา

                3.ค่านิยมเกี่ยวกับชาติ ได้แก่ ค่านิยมความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์

                4.  ความสำคัญของค่านิยม

                ค่านิยม เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากว่าค่านิยมที่มนุษย์เรามีอยู่นั้นทำหน้าที่มากมายหลายอย่างที่เกี่ยวกับชีวิตของเราที่สำคัญ คือ

  1. ค่านิยมทำหน้าที่เป็นบรรทัดฐานหรือมาตรฐานของพฤติกรรมทั้งหลายของเรากล่าวคือค่านิยม จะเป็นตัวกำหนดการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมของเราว่า เราควรจะทำหรือไม่ ควรจะทำในสิ่งใด ค่านิยมจะช่วยกำหนดจุดยืนในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ฯลฯ และค่านิยมจะช่วยทำหน้าที่ประเมินการปฏิบัติการต่างๆ ทั้งของตัวเราเองและของผู้อื่น
  2. ค่านิยมทำหน้าที่เป็นแบบแผนสำหรับการตัดสินใจการแก้ไขข้อขัดแย้งต่างๆในบางกรณีบุคคลต้องเผชิญกับสถานการณ์บางอย่างที่ขัดแย้งกัน ทำให้เขาต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง เช่น การปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา อย่างเคร่งครัด กับความเป็นตัวของเอง หรือการรักษาความเป็นอิสรเสรีของตน การปฏิบัติงานด้วยความชื่อสัตย์ สุจริตแต่ยากจน กับการปฏิบัติงานในทางที่ไม่สุจริต แต่ทำให้ร่ำรวย บุคคลจะเลือกเดินทางไหนนั้น ค่านิยม หรือระบบค่านิยมที่บุคคลมีอยู่จะช่วยกำหนดทางเลือกให้เขา
  3. ค่านิยมทำหน้าที่เป็นแรงจูงใจ หรือผลักดันของบุคคล เช่น บุคคลที่มีค่านิยมชมชองในการมีอายุนาน หรือสุขภาพดี ก็จะมีแรงผลักดันให้อยากออกำลังกายอยู่สม่ำเสมอ ตลอดจนมีความรอบคอบในการบริโภคอาหารบุคคลที่ทีค่านิยมเกี่ยวกับวัตถุนิยมสูง ก็มักจะมีความขยันขันแข็ง และเพียรพยายามในการทำงานเพื่อให้มาซึ่งเงินทองและสิ่งที่ตนพึงปรารถนาเหล่านี้ เป็นต้น

                      ด้วยเหตุที่ค่านิยมเป็นตัวกำหนดความประพฤติและการปฏิบัติของตน และการประพฤติการปฏิบัติของตนเป็นตัวการทำให้สังคมเปลี่ยนไป เราจึงอาจจะกล่าวได้ว่าค่านิยม มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ก็มีส่วนทำให้ค่านิยมใหม่ๆ เกิดขึ้นได้เหมือนกัน พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ค่านิยมเป็นได้ทั้งเหตุและผลของการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นค่านิยมจึงมีความสำคัญมาก เพราะส่งผลกระทบกระเทือนถึงความเจริญ ความเสื่อมของสังคม และความมั่งคงของชาติ กล่าวคือ สังคมที่มีค่านิยมที่เหมาะสม ถูกต้อง เช่น ความซื่อสัตว์ ความขยันหมั่นเพียร ความเสียสละ ความมีระเบียบวินัย ความสามัคคี เป็นต้น สังคมนั้นย่อมจะเจริญก้าวหน้าอย่างแน่นอน สังคมใดมีค่านิยมไม่เหมาะสม เช่น ขาดระเบียบวินัย ไร้ความสามัคคี เกียจคร้าน ฯลฯ สังคมนั้นจะเสื่อมลงและขาด ชความมั่นคงภายในชาติ จึงจำเป็นอย่างยิงที่สังคมจะต้องสร้างค่านิยมที่เหมาะสมและเป็นค่านิยมที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่พึงปรารถนามากที่สุด

ค่านิยมเกิดขึ้นจากผลผลิตของวัฒนธรรม สังคม สถาบัน รวมทั้งแรงผลักดันส่วนบุคคล ซึ่งต่างก็มีอิทธิพลในการปั้นแต่งค่านิยมขึ้นมาทั้งนั้น แต่ค่านิยมที่จะเกิดขึ้นมาและเจริญงอกงามได้ดีเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจของแต่ละบุคคลอีกด้วย ทั้งนี้มีปัจจัยสำคัญ อยู่ 2 ประการ (สมบูรณ์  ตันยะ,2542)ได้แก่

  1. สภาพจิตใจและร่างกาย ซึ่งได้มาโดยธรรมชาติที่เรียกว่า อุปนิสัย พรสวรรค์ เพศ วัย และพันธุกรรม เป็นต้น
  2. การเลี้ยงดู การจูงใจ การให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมของสังคมและธรรมชาติ การให้การศึกษาอบรมที่เรียกว่า การปลูกฝัง หรือวัฒนธรรมด้านต่างๆ

                 หากปัจจัย 1 และ 2  แปรเปลี่ยนไป ค่านิยมย่อมแปรเปลี่ยนไปด้วยในทิศทางเดียวกันกับปัจจัยนั้นๆ ในเรื่องนี้ พนัส หันนาคินทร์ (พนัส หันนาคินทร์, 2520 ) ได้สรุปแนวคิดเกี่ยวกับค่านิยม ที่สนับสนุนเรื่องนี้ว่า ค่านิยมของแต่ละคนนั้น  เกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่ได้รับการตรวจสอบแล้วของเขา และเนื่องจากประสบการณ์ที่แตกต่างกันของแต่ลุบุคคล จึงทำให้ค่านิยมของแต่ละบุคคลผิดแผนแตกต่างกันออกไป ถึงแม้ว่าจะอยู่ในวัฒนธรรม หรือสังคมเดียวกันก็ตาม เมื่อประสบการณ์ของแต่ละบุคคลมีเพิ่มมากขึ้น ก็จะมีผลกระทบกระเทือนทำให้เขาเปลี่ยนแปลงและวุฒิภาวะของประสบการณ์ของบุคคลนั้นๆ

                ดังนั้นกล่าวได้ว่า ค่านิยมเกิดขึ้นเพราะพื้นฐานความต้องการโดยธรรมชาติของมนุษย์ ด้วยการเรียนรู้ แล้วกลายเป็นค่านิยมขึ้นมา ค่านิยมที่ก่อตัวและฝังรากลึกนานเข้าก็จะมีอิทธิพลต่อทัศนคติและพฤติกรรมของบุคคลที่แสดงออกในช่วยระยะเวลาหนึ่ง และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลสมัย สภาพแวดล้อมและบุคคลในสังคม

                5.ระบบค่านิยม

                สุนทรี โคมิน และสนิท สมัครการ (สุนทรี โคมิน และสนิท สมัครการ, 2522   ) ได้กล่าวถึงระบบค่านิยมและหน้าที่ของค่านิยมไว้ว่า ค่านิยมคือความเชื่ออย่างหนึ่งซึ่งมีลักษณะถาวรที่เชื่อว่า “วิถีปฏิบัติ” บางอย่าง หรือ “เป้าหมายของชีวิต” บางอย่างนั้นเป็นสิ่งที่ตังเองหรือสังคมเห็นดีเห็นชอบ สมควรที่จะยึดถือหรือปฏิบัติมากกว่า “วิถีปฏิบัติ” หรือ “เป้าหมาย”  อย่างอื่น ด้วยเหตุนี้ระบบค่านิยม จึงหมายถึง การรวมกันของความเชื่อดังกล่าวให้เข้าเป็นระบบความเชื่อที่มีลักษณะถาวรลดหลั่นกันตามลำดับความสำคัญ นอกจากนี้ระบบค่านิยมของคนๆ หนึ่ง หรือคนกลุ่มหนึ่ง ก็คือภาพรวมที่ได้มาจากแสดงออกซึ่งค่านิยมต่างๆ ที่บุคคลนั้นหรือกลุ่มได้เลือกแล้ว

                6.หน้าที่ของค่านิยม

                สำหรับหน้าที่ของค่านิยมนั้น จำแนกได้ 3 ประการ คือ

                ประการแรก ค่านิยมทำหน้าที่เป็นเกณฑ์ (Criteria) หรือมาตรฐาน (standards) ที่ใช้นำการกระทำ พฤติกรรมการปฏิบัติหลายทาง คือ

        1.ค่านิยมชักจูงบุคคลให้แสดงจุดยืนของเขาในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับสังคมออกมาเห็นได้ชัด

        2.ค่านิยมเป็นตัวช่วยกำหนดให้บุคคลเลือกอุดมการณ์ทางการเมือง บางอุดมการณ์มากกว่าอุดมการณ์อื่นๆ

        3.ค่านิยมเป็นปทัสถาน ที่ช่วยนำการกระทำให้บุคคลประพฤติและแสดงตัวต่อผู้อื่นตามที่ประพฤติเป็นปกติอยู่ทุกวัน

        4.ค่านิยมเป็นปทัสถานที่ใช้ในการประเมิน ตัดสิน ชื่นขม ยกย่องหรือตำหนิติเตียนตัวเอง หรือการกระทำของคนอื่น

        5.ค่านิยมเป็นจุดศูนย์กลางของการศึกษากระบวนการเรียบเทียบ คือใช้ค่านิยมเป็นปทัสถานในการเปรียบเทียบว่า บุคคลมีค่านิยม ความสามารถเท่ากับผู้อื่นมากน้อยแค่ไหน

        6.ค่านิยมเป็นปทัสถานที่ถูกใช้เป็นฐานสำหรับกระบวนการให้เหตุผลต่อความนึกคิด และการกระทำของตน เพื่อธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของตน

        ประการที่ 2  ค่านิยมทำหน้าที่เป็นที่รวมของหลักการและเกณฑ์ ต่างๆ ที่เรียนรู้มา เพื่อช่วยให้ตัดสินใจเลือกระหว่างทางเลือกต่างๆ และเป็นการช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

        ประการที่ 3 ค่านิยมทำหน้าที่เป็นตัวบ่งชี้ความต้องการของมนุษย์โดยถือว่า ค่านิยมเป็นองค์ประกอบของแรงจูงใจในตัวเช่นเดียวกับองค์ประกอบทางด้านความรู้สึก อารมณ์และพฤติกรรมค่านิยม “วิถีปฏิบัติ” เป็นแรงจูงใจก็เพราะวิถีปฏิบัติที่คิดว่าดีที่สุด (idealized) เป็นวิถีทางหรือเป็นเครื่องมือที่ช่วยนำไปสู่เป้าหมายปลายทางที่ปรารถนาในทาง “ค่านิยมจุดหมายปลายทาง” ส่วนค่านิยมจุดหมายปลายทาง เป็นแรงจูงใจที่เป็นเป้าหมายที่เหนือกว่า (Super goal) เป้าหมายเร่งด่วนเฉพาะหน้า (Urgent Immediate goal)

                6.เกณฑ์สำหรับพิจารณาค่านิยม

                การที่จะพิจารณาว่า คุณลักษณะใดเป็นค่านิยมหรือไม่นั้น ควรได้พิจารณาตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้ คือ (พนัส หันนาคินทร์ , 2520 )

  1. ค่านิยมนั้นเกิดจากการเลือกอย่างเสรีของบุคคลผู้นั้นหรือไม่ หากมีการบังคับให้เราจำต้องเลือกค่านิยมใด ค่านิยมหนึ่งแล้ว จะเรียกว่าเป็นค่านิยมที่แท้จริงไม่ได้ เพราะสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่พอกจากภายนอก ไม่ได้เกิดขึ้นจากความยินยอมพร้อมใจเห็นคุณค่าของสิ่งนั้นอย่างแท้จริงและสิ่งที่มีลักษณะพอกจากข้างหน้าเช่นนี้ ในระยะเวลาไม่นานนักจะสูญสิ้นไป ไม่ได้คงอยู่เป็นคุณสมบัติประจำตัวของเรา
  2. เรามีทางเลือกค่านิยมอื่นอีกหรือไม่(Choice among alternatives) ถ้ามีค่านิยมให้เราพิจารณาเพียงอย่างเดียว ก็หมายความว่าเราไม่มีทางหรือโอการสที่จะเลือกคุณค่าด้วยการเปรียบเทียบ หนทางเดียวที่พอจะเรียกว่าเลือกก็คือ การตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับเท่านั้น เมื่อไม่มีทางเลือก การที่จะพิจารณาถึงข้อดีหรือข้อเสีย หรือความเหมาะสมหรือไม่ก็หมดไป ดังนั้นค่านิยมที่เราจะยึดถือนั้นจะต้องได้มาจากการเลือกจากค่านิยมหลายอย่างที่มีอยู่ เพื่อจะได้มีโอกาสเปรียบเทียบคุณสมบัติในแง่มุมต่างๆ ได้
  3. การเลือกค่านิยมนั้น กระทำหลังจากที่เราได้พิจารณาถึงข้อดีข้อเสียและผลที่จะตามมาจากการรับนับถือค่านิยมต่างๆ ที่มีให้เราเลือกหรือไม่ การถูกบังคับให้เลือกหรือเลือกโดยไม่ได้คิดให้รอบคอบทะลุถ่องแท้แล้วนั้น จะถือว่าเป็นค่านิยมยังไม่ได้ การเลือกค่านิยมนั้นต้อองไม่กระทำไปด้วยอารมณ์ แต่จะต้องเป็นไปด้วยการใช้สติปัญญา ไตร่ตรองโดยละเอียด เช่นด้วยการใช้ขบวนการคิดเชิงปรัชญา เป็นต้น
  4. เราเทิดทูนและรักษาค่านิยมที่เราเลือกไว้แล้วนั้นอย่างมั่นคงหรือไม่ ถึงแม้ว่าในตอนแรกเราอาจจะไม่สบายใจนักที่จะทำ แต่เราก็จะพยายามทำด้วยคามสำนึกในคุณค่าและมีความภูมิใจที่จะได้กระทำ เช่น การตัดสานใจที่เข้าทำการปราบเสี้ยนหนามของแผ่นดิน ถึงแม้ว่าจะต้องเสี่ยงชีวิต แต่เราก็จะภูมิใจมากกว่าที่จะอยู่อย่างเป็นทาส
  5. เราจะยืนหยัดในค่านิยมที่เราได้เลือกไว้แล้วอย่างเด็ดเดี่ยวและเหนี่ยวแน่น ถ้าเรายังไม่แนะใจในค่านิยมที่เรายึดถือ เราก็อาจจะละอายต่อการแสดงว่าเราย่อมรับนับถือในค่านิยมนั้นและไม่กล้าที่จะยืนยันถึงความดีแห่งค่านิยมนั้นบุคคลอื่น โดยเฉพาะที่จะยืนยันต่อการโจมตีจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยในค่านิยมนั้น
  6. เราสามารถแสดงออกด้วยการกระทำเพื่อชี้ให้เห็นว่าเรายอมรับนับถือในค่านิยมนั้นหรือไม่ เช่น เรายินดีที่จะเสียสละกำลังกาย กำลังทรัพย์หรือเวลา เพื่อที่จะปฏิบัติตัวให้เป็นไปตามค่านิยมที่เรายกย่องนับถือ ทั้งนี้เพราะสิ่งที่เราเรียกว่าค่านิยมนั้นจะเป็นสิ่งที่นำทางในการดำเนินชีวิตตามปกติของเรา หากว่าเราแสดงความนิยมนับถือในค่านิยมชัดๆ แต่ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามค่านิยมนั้นแล้ว เห็นจะเรียกว่าเป็นค่านิยมของเราไม่ได้
  7. มีการกระทำซ้ำในสิ่งที่เรายึดถือเป็นค่านิยมหรือไม่ อาจจะมีการกระทำซ้ำๆ จนเป็นกิจประจำวันก็ได้ ค่านิยมเหล่านี้จะแสดงตัวออกในการกระทำต่างๆ ของเขา ภายใต้ภาวะและเวลาที่แตกต่างกันออกไป สิ่งที่ปรากฏขึ้นเพียงครั้งเดียวแล้วหายไปนั้น เราเรียกกว่าค่านิยมไม่ได้ค่านิยมจะต้องมีความคงทน และเป็นแบบฉบับในการดำเนินชีวิตของเราอย่างน้อยก็ในช่วงเวลานานพอสมควร

                    แนวคิด อุดมคติหรือคุณลักษณะใดหากขาดคุณสมบัติทั้ง 7 ประการนี้ ไม่ว่าจะขาดคุณสมบัติใดคุณสมบัติหนึ่ง ย่อมน่าจะสงสัยว่าจะเป็นค่านิยมได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามอาจจะมีค่านิยมบางอย่างที่เป็นที่ยอมรับนับถือและถ่ายทอดกันมาเป็นมาดกทางวัฒนธรรม จนถือได้ว่าเป็นค่านิยมที่มีลักษณะคงตัวเป็นค่านิยมหรือลักษณะนิสัยประจำชาติ ค่านิยมเหล่านี้เป็นเรื่องที่จะต้องปลูกฝังให้แก่เยาวชนโดยไม่มีข้อยกเว้น โดยไม่มีทางเลือกและโดยรีบเร่ง เพื่อให้บังเกิดผลเป็นค่านิยมประจำตัวเยาวชนได้ทันกาล เช่น ค่านิยมเรื่องความรักชาติ ความเป็นชาตินิยมความนิยมไทย ความสำนึกในหน้าที่ ความกตัญญูกตเวทีและความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ เป็นต้น

                7. ค่านิยมในสังคมไทย

                ในแต่ละสังคมมีลักษณะภายในที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัย ความคิด ความเชื่อ แบบแผนในการดำเนินชีวิต ตลอดจนค่านิยมที่บุคคลภายในสังคมยึดถือ ในขณะเดียวกันเมื่อสภาพแวดล้อม สังคมภายนอกมีการเปลี่ยนแปลงไปก็มีผลให้ค่านิยมของบุคคลในสังคมนั้นๆ  เปลี่ยนแปลงไปได้ เช่น เดียวกัน สังคมไทยดั้งเดิมเป็นสังคมแบบเกษตรกรรม คนในสังคมส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ บรรทัดฐานทางสังคม และค่านิยมส่วนใหญ่จะมีพื้นฐานมาจากศาสนาพุทธนอกจากนี้ยังมีที่มาจากพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์ ระบบศักดินา ระบบเกษตรกรรม ความเชื่อในอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความกลัวที่ไม่มีค่านิยมที่เด่นๆ ดังต่อไปนี้

  1. การทำความดี ความดีที่คนไทยนิยมยกย่องได้แก่ ความกตัญญูกตเวที ความซื่อสัตย์สุจริต ความขยันขันแข็งไม่ดูดาย ความเมตตากรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นต้น
  2. การเคารพผู้อาวุโส คนไทยมีความเคารพนับถือผู้มีอาวุโสกว่า เห็นได้จากขนบธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติกันมา ผู้อ่อนอาวุโสต้องเคารพนับถือและแสดงกริยามารยาทอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้มีอาวุโสมากกว่า
  3. ยกย่องผู้มีความรู้ คนไทยยกย่องผู้มีวิชาความรู้หรือมีการศึกษาสูง ทั้งนี้เพราะเห็นว่าเมื่อมีความรู้แล้วจะเป็นที่เชื่อถือและยกย่องในสังคม หางานสบายๆ ทำได้ อีกทั้งยังอาจได้เป็นใหญ่เป็นโต มีคนนับหน้าถือตา หรือที่เรียกว่า  “เป็นเจ้าคนนายคน” อีกด้วย
  4. การรักษาหน้า คนไทยมักทำอะไรๆ โดยคำนึงถึงหน้าตา หรือศักดิ์ศรีของตนเองตลอด จนครอบครัวหรือวงศ์ตระกูล

                 ต่อมาเมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป ความเชื่อเกี่ยวกับชีวิต สังคมและการศึกษาของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปในบางส่วนโดยมีค่านิยมที่สรุปได้ดังนี้ (กีรติ ศรีวิเชียร และคณะ , 2523 )

  1. เงิน คนไทยเชื่อว่า “เงิน” หรือความมั่งคั่งของบุคคลเป็นของสำคัญ เงินมีอิทธิพล เป็นตัวกำหนดแนวทางและรูปแบบของพฤติกรรมของคนไทย
  2. อำนาจ เป็นสิ่งที่คนทั่วๆ ไปมักปรารถนากันทั้งนั้น เพราะอำนาจจะนำมาซึ่งเงินทอง ทรัพย์สิน สิ่งของทาง วัตถุ การยอมรับ การยกย่องนับถือ ความรักความเข้าใจซึ่งเป็นสิ่งสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ทั้งทางกายและทางใจ
  3. ความเป็นผู้อาวุโส ความเป็นผู้อาวุโสที่เป็นค่านิยมของสังคมไทยพอจะแบ่งออกได้เป็นผู้มีตำแหน่งและฐานะทางสังคม หรือราชการสูง ผู้ที่สูงอายุและผู้อายุราชการหรืออายุการทำงานเฉพาะอย่างมานานๆ คนทั่วๆ ไปนับถือและยกย่องผู้อาวุโส ถือว่าเป็นผู้มีอายุมาก ทำงานมานานมีประสบการณ์ในชีวิต เป็นผู้รอบรู้และเข้าใจโลก
  4. ความมีใจกว้าง ความมีใจกว้างในที่นี้หมายถึงมีจิตใจเป็นนักกีฬา ไม่ตระหนี่เหนียวแน่น มีลักษณะเป็นชายแท้ เป็นคนกว้างขวาง มีใจบุญสุนทาน เป็นต้น
  5. การเป็นเจ้านาย เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคม “มีชนชั้น’ซึ่งเป็นมรดกตกทอดกันมากว่าเจ็ดร้อยปี จึงนิยมการเป็นเจ้านายอันได้แก่ การได้รับแต่งตั้งให้มีเกียรติและตำแหน่งในสังคมการทำงานเบาหรือมีอาชีพที่ต้องนั่งโต๊ะและการมียศถาบรรดาศักดิ์ มีอำนาจหน้าที่
  6. ความกตัญญูรู้คุณ คนที่กตัญญูรู้คุณคนเป็นคนที่ได้รับความรักและยกย่องว่าเป็นคนดีในสังคม
  7. ผู้มีความรู้ การเป็นผู้มีความรู้ มีการศึกษาสูง มีปริญญาสูงๆ เป็นเรื่องที่คนไทยถือว่าเป็นของมีเกียรติมาก สังคมยอมรับ ให้เกียรติ ให้ตำแหน่งสูงทำให้มีฐานะทางสังคมเหนือคนอื่นป้องกันไม่ให้เกิดปมด้อยแก่ตนเอง

                   เพ็ญแข วัจนสุนทร (เพ็ญแข วัจนสุนทร 2523) ได้รวบรวมค่านิยมของคนไทยจากากรศึกษาในสำนวนภาษิต และคำพังเพยที่พูดสืบต่อกันมาแต่โบราณ กาล มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. ยึดหลักจริยธรรมและคุณธรรมคำสอนตามแนวปรัชญาของพระพุทธศาสนา คนไทยรับเอาปรัชญา คำสอนในพระพุทธศาสนาเข้าไว้ในจิตใจชนิดที่เรียกว่า ฝังลึกลงไปอย่างแน่นแฟ้น
  2. ยกย่องอำนาจ ยศศักดิ์ ตำแหน่ง ฐานานุรูปและเผ่าพันธุ์ คนไทยยึดถือ “เชื้อแถว” “เลือด” หมายถึงชาติวุฒิ ตำแหน่ง ฐานะ และอำนาจอยู่มาก แทบจะกล่าวได้ว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่แบ่งชั้นวรรณะ
  3. ยกย่องผู้มีอาวุโส ครูบาอาจารย์ นักปราชญ์ ผู้รู้ และสนับสนุนการเล่าเรียน วิชาการศึกษาอบรมของกุลบุตร สังคมไทยเคารพผู้ใหญ่และนับถือยกย่องครูบาอาจารย์เสมอบิดา มารดายกย่องคนมีอายุ หรือ ”ผู้เฒ่าผู้แก่” เคารพวัยวุฒิและคุณวุฒิ
  4. นิยมความสุภาพอ่อนโยน ไม่ชอบความก้าวร้าวมุทะลุ ไม่ตัดรอนหักหาญน้ำใจกันมีความเมตตากรุณาและเอื้อเฟื้อ ค่านิยมอันหนึ่งของคนไทยที่เห็นได้ชัดคือ ความเป็นผู้ดี คนไทยส่วนมากมักเป็นคนสุภาพอ่อนโยน มีมารยาทดี ไม่ชอบความก้าวร้าวมุทะลุ
  5. ชอบชีวิตง่ายๆ รักความสันโดษ มักน้อยหาความสุขจากการกลมกลืน  คนไทยไม่ค่อยกระตือรือร้นที่จะแข่งขันกันในการทำงานหนัก เพราะคือว่ามีเท่าไรก็ใช้เท่านั้น มีบ้านเล็กๆ ก็พอใจแล้วเพราะถือสันโดษ ถือว่าความสุขอยู่ที่ความพอใจ
  6. รักหน้าที่ รักเกียรติ ชอบความมีหน้ามีตา เรื่องการรักหน้ารักเกียรติยก เกียรติศักดิ์นี้คนไทยถือเป็นเรื่องสำคัญมาก จะไม่ยอมให้ใครมาดูถูกดูหมิ่นได้ ยอมตายเพื่อเกียรติศักดิ์ได้หรือยอมหมดเปลืองขายเนื้อขายตัวเพื่อ “กู้หน้า”ก็มีอยู่มาก
  7. กตัญญูกตเวที คนไทยถือว่าผู้ใดมีบุญคุณเราต้องมีหน้าที่ตอบแทน หากตอบแทนไม่ได้ก็ต้องจงรักภักดีมีน้ำใจไมตรีตอบ คนไม่กตัญญูถือว่าเป็นคนไม่ดีไม่มีผู้อยากคบหาสมาคมด้วย
  8. เทิดทูนสถาบันกษัตริย์ สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันสูงยิ่งในความรู้สึกคนไทยอาจจะเป็นเพราะว่ากษัตริย์ไทยนั้น “ผู้นำ” ในทุกทาง ในอดีตก็เป็นแม่ทัพออกหน้าทหารทั้งหลาย ทำหน้าที่เป็นทั้งพ่อและเป็นผู้ปกครองลูกคือไพร่ฟ้าประชากร คนไทยจึงรักและเทิดทูนกษัตริย์ฝังแน่นลงไปในสายเลือด
  9. รักพวกพ้องใจนักเลง คนไทยเป็นคนรักพวกพ้อง น้องพี่ ทำอะไรต้องนึกว่าเป็น “พวกเดียวกัน”ก่อนเสมอตั้งแต่ความสัมพันธ์ในครอบครัวไปถึงวงการงานและระดับสังคมใหญ่
  10. รู้จักที่ต่ำที่สูง ความเกรงใจ ความอดกลั้น คนไทยมักจะเจียมตน ระวังตัวไม่อาจเอื้อมในที่สูงเกินศักดิ์ ยอมรับสภาพของตนโดยดีและไม่มีความขัดแย้งมากนัก นอกจากนี้ก็จะมีความเกรงใจผู้อื่น ไม่อาจร้องขอให้ผื่นทำสิ่งนั้น สิ่งนี้เพื่อตน หากเขาไม่เต็มใจทำให้เอง และเมื่อมีอะไรเกินเลย คนไทยมักอดกลั้นได้โดยถือว่า “ไม่เป็นไร” หรือ “หวานอมขมกลืน” ได้เสมอไม่มีปฏิกิริยารุนแรง
  11. รู้จักประสานประโยชน์ ประนีประนอม คนไทยจะรู้จักว่าเมื่อไหร่ควรทำอย่างไรได้ดีที่สุด เกือบจะเป็นธรรมชาติ การจะทำสิ่งใดนั้น ต้องรู้จักจังหวะและโอกาส มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายได้ ด้วยค่านิยมอันนี้ชาติไทยจึงอยู่รอดมาเสมอ เพราะบรรพบุรุษของเรารู้จักประนีประนอมประสานประโยชน์ รู้จักพึ่งพาอาศัยกันและกัน
  12. ให้ความสำคัญแก่บุรุษมากกว่าสตรี สังคมไทยก็เช่นเดียวกับประเทศโลกตะวันออกหลายๆ ประเทศ ซึ่งค่านิยมเชิดชูยกย่องบุรุษกว่าสตรี จะเห็นได้จากตำแหน่งหน้าที่สำคัญๆ คนไทยยังไม่ยอมให้สตรีได้เป็น
  13. ยอมรับธรรมชาติหรือเคราะห์กรรม คนไทยเชื่อว่า ใครประกอบกรรมดีย่อมได้รับผลดีตอบแทน ใครทำกรรมชั่วก็ได้ผลชั่วตอบสนอง ทำให้คนไทยยอมรบสภาพ “ฟ้าดิน” หรือ “ธรรมชาติ” หรือ “เคราะห์กรรม” อย่างไม่โต้แย้ง
  14. เห็นความสำคัญของการพูด คนไทยเห็นว่าการพูดเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าพูดไม่เป็นอาจทำให้คนพูดเสียคนหรือไม่ประสพความสำเร็จในชีวิตได้
  15. ชอบความสนุกสนาน หรูหรา โอ่อ่า ทำอะไรใหญ่โต ใจกว้าง การชอบความโอ่อ่าและใจกว้างนี้ เป็นลักษณะของคนไทยทั่วไปๆ เพราะคนไทยเชื่อมั่นและหยิ่งในเกียรติของตนไม่ว่าจะเป็นใครฐานะต่ำต้อยเพียงไร คนไทยจะไม่ยอมให้ใครดูถูกเหยียดหยามได้ง่ายๆ
  16. ยกย่องเงินและความมั่งคั่ง ข้อนี้ผู้เขียนไม่กล้าปักใจว่าเป็น “ค่านิยม” ของคนไทยเท่าใด
หมายเลขบันทึก: 336897เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2010 23:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณสำหรับคำติ ชมที่สร้างสรรค์ แต่สำหรับผู้ที่มีเจตนาร้าย ถ้าเว็บไซต์นี้ไม่ดีแล้วคุณจะเข้ามาเพื่อไร เข้ามาระบายอารมณ์ ส่งภาษาที่แสดงถึงสกุลของคุณว่าต่ำอย่างยิ่ง คนมีการศึกษาเข้าไม่ทำกันเยี่ยงนี้ ไร้มารยาท...

อยากได้ที่มาของ อ้างอิง จังเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท