สัญญาประชาคมกับประชาธิปไตยประเทศไทย


ตลอดระยะเวลา 78 ปี ที่ผ่านมาสังคมไทยไม่เคยได้รับสิ่งเหล่านี้อย่างแท้จริงเลย ด้วยเหตุผลที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ “ชนชั้นผู้ที่มีอำนาจเข้ามาปกครองบ้านเมืองนั้น ส่วนใหญ่มิได้มุ่งเน้นการทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง หากแต่มุ่งประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง เครือญาติเป็นที่ตั้ง”

ทศพนธ์  นรทัศน์
[email protected]

บทนำ 

        จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านหนังสือ เรื่อง “สัญญาประชาคม หลักสิทธิทางการเมือง” หรือ Du Contrat Social (1762) ของ ฌอง ฌากส์ รูสโซ (Jean Jacques Rousseau) ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดย วิภาดา กิตติโกวิท ทำให้ผู้เขียนได้หันมามองประชาธิปไตยของประเทศไทย ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมานับตั้งแต่คณะราษฎร ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามประเทศ
จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยหวังว่าจะก่อให้เกิดความเสมอภาค เสรีภาพ และภราดรภาพ ตามหลักสัญญาประชาคม หรือหลักแห่งสิทธิทางการเมือง แต่ดูเหมือนว่าตลอดระยะเวลา 78 ปี ที่ผ่านมาสังคมไทยไม่เคยได้รับสิ่งเหล่านี้อย่างแท้จริงเลย ด้วยเหตุผลที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ “ชนชั้นผู้ที่มีอำนาจเข้ามาปกครองบ้านเมืองนั้น ส่วนใหญ่มิได้มุ่งเน้นการทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง หากแต่มุ่งประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง เครือญาติเป็นที่ตั้ง

 

สัญญาประชาคม (Social Contract)

สัญญาประชาคม (ในความหมายที่นำมาใช้ในการเมืองไทยปัจจุบัน) หมายถึง ความตกลงร่วมกันของประชาชน กลุ่มผลประโยชน์ร่วมกันหรือกลุ่มคนที่มีแนวความคิดเดียวกัน กับฝ่ายตรงข้าม เพื่อเป็นการแสวงความตกลงและทางออกของปัญหาซึ่งเป็นปัญหาที่มีผลกระทบในวงกว้างซึ่งหากปล่อยไว้อาจจะก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม[1]

ความหมายที่แท้จริงนั้น "สัญญาประชาคม" หมายถึง ทฤษฎีสัญญาประชาคม อันเป็นนัยตามหลักกฎหมายธรรมชาติ มีลักษณะเป็น สำนึกของจริยธรรม ที่ผู้ปกครองควรตระหนักถึง สิทธิบางประการที่ผู้อยู่ใต้ปกครอง(ประชาคม)ได้ยอมสละไป(อาจเรียกได้ว่ายอมอยู่ใต้อำนาจของผู้ปกครอง) เพื่อความปลอดภัยของตนในสิทธิและเสรีภาพที่ยังคงเหลืออยู่ แนวคิดเช่นนี้เองที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย โดยตรรกกะจากสำนึกจริยธรรมดังกล่าว หากมองในมุมกลับกันก็หมายความว่า อำนาจแท้จริงของผู้ปกครองนั้นมาจากประชาชนนั่นเอง ดังนั้น ประชาชนควรจะเป็นผู้ที่ใช้สิทธิของตนเลือกผู้ปกครองขึ้นมา และในการนี้วิธีที่เหมาะสมก็คือการใช้เสียงข้างมากในการตัดสิน

นักคิดหลายคนที่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนในการริเริ่มแนวคิดเรื่องสัญญาประชาคม เช่น โทมัส ฮอบบ์ - Thomas Hobbes ปรากฏอยู่ในหนังสือ Leviathan (1651) อย่างไรก็ตามจุดริเริ่มแนวคิดนี้ในหนังสือ Leviathan(The Matter,Forme and Power of a Common Wealth Ecclesiasticall and Civil)นั้น ฮอบบ์ไม่ได้เขียนเพื่อมุ่งกล่าวถึงสัญญาประชาคมโดยเฉพาะเจาะจง แต่มุ่งอธิบายถึงธรรมชาติของมนุษย์และโครงสร้างสังคม และแนวทางการใช้อำนาจที่เหมาะสม ส่วนผลงานเกี่ยวกับสัญญาประชาคมของ จอห์น ลอค - John Locke ปรากฏในหนังสือ Two Treatises of Government (1689) ฌองค์ ยาร์ค รุสโซ่ - Jean Jacques Rousseau ปรากฏอยู่ในหนังสือ Du Contrat social (1762)

 

ประชาธิปไตยในสังคมไทย

จุดเปลี่ยนของการปกครองระบอบประชาธิปไตยของสังคมไทย เกิดขึ้นเมื่อคณะราษฎร (อ่านว่า คะ-นะ-ราด-สะ-ดอน) ซึ่งกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการปฏิวัติยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามประเทศ (ชื่อของประเทศไทยในสมัยนั้น) จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475[2]

กลุ่มผู้ต้องการเห็นบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนและนักเรียนทหารที่ศึกษาและทำงานอยู่ในทวีปยุโรป ได้ทำการประชุมครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ณ หอพัก Rue du summerard ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้ตกลงที่จะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย โดยตกลงที่ใช้วิธีการ "ยึดอำนาจโดยฉับพลัน" รวมทั้งพยายามหลีกเลี่ยงการนองเลือด ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการถือโอกาสเข้ามาแทรกแซงจากมหาอำนาจที่มีอาณานิคมอยู่ล้อมรอบสยามในสมัยนั้น คือ อังกฤษและฝรั่งเศส

ในการประชุมครั้งนั้น กลุ่มผู้ก่อการได้ตั้งปณิธานในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อให้สยามบรรลุเป้าหมาย 6 ประการ ซึ่งต่อมาหลังจากปฏิวัติยึดอำนาจได้แล้ว ก็ได้ประกาศเป้าหมาย 6 ประการนี้ไว้ในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 และต่อมาได้เรียกว่าเป็น "หลัก 6 ประการของคณะราษฎร" โดยหลัก 6 ประการนั้นคือ

1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง

2. จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

3. จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาลใหม่ จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4. จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)

5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้น

6. จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

หลังจากการประชุมนั้น เมื่อคณะผู้ก่อการได้กลับมาประเทศสยาม ก็ได้พยายามหาสมาชิกเพื่อเข้าร่วมการก่อการปฏิวัติ โดยได้ติดต่อประชาชนทุกอาชีพ ทั้งพ่อค้า ข้าราชการพลเรือน และทหาร จนได้สมาชิกทั้งสิ้น 102 คน แบ่งเป็นสาย คือ สายพลเรือน นำโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) สายทหารเรือ นำโดย น.ต. หลวงสินธุสงครามชัย สายทหารบกชั้นยศน้อย นำโดย พ.ต. หลวงพิบูลสงคราม และสายนายทหารชั้นยศสูง นำโดย พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา

 

สัญญาประชาคม กับประชาธิปไตยประเทศไทย

          สัญญาประชาคม หรือหลักแห่งสิทธิทางการเมือง ว่าด้วยบ่อเกิดและพื้นฐานระบอบประชาธิปไตย สามารถวิเคราะห์ภายใต้บริบทของประเทศไทยได้ดังนี้

          1. ความเสมอภาค (Equality)

                        ความเสมอภาคเป็นธงนำที่คณะราษฎรนำมาเป็นหนึ่งในเหตุผลและเป้าหมายที่จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอกัน และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับก็ได้บัญญัติว่าความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใดย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน

                   รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ 2 ความเสมอภาค มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน  ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้ มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ส่วนมาตรา 31 บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐและพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรของรัฐ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จำกัดไว้ในกฎหมายหรือกฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรม

แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติรับรองความเสมอภาคไว้ดังกล่าวข้างต้น หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเสมอภาคหาได้เกิดขึ้นจริง 100 เปอร์เซ็นต์ในสังคมไทยไม่ ความเหลื่อมล้ำในการใช้สิทธิเสรีภาพ การเข้าถึงบริการจากรัฐระหว่างคนรวย คนจน คนมีอำนาจรัฐ คนที่ไม่มีอำนาจรัฐ คนมีการศึกษา คนไร้การศึกษา การแบ่งแยกชนชั้นทางสังคมทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพราะธรรมชาติของคนไทยส่วนใหญ่ยังมีความต้องการที่จะทำตนให้สูงกว่าคนอื่น เช่น คนที่มีฐานะร่ำรวยก็จะมองคนที่มีฐานะยากจนว่าต่ำต้อยกว่า ผู้เขียนเห็นว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วประชาชนจะให้ความสำคัญในเรื่องความเสมอภาค ทุกคนต่างตระหนักว่าตนเองมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ส่งผลให้ความสุขมวลรวมของประชาชนสูง และวัฒนธรรมประชาธิปไตยมีความเข้มแข็ง ไม่สามารถใช้เงินซื้อเสียงในการเลือกตั้งได้ เช่นในประเทศกำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนา

 

 

            2. เสรีภาพ (Liberty)

                      เสรีภาพเป็นอีกหนึ่งธงนำที่คณะราษฎรนำมาเป็นหนึ่งในเหตุผลและเป้าหมายที่จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลักข้อที่ 1- 5 ของหลัก 6 ประการของคณะราษฎร และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับก็ได้บัญญัติว่าเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ได้บัญญัติถึงสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยไว้ ดังนี้ ส่วนที่ 3 สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล  ส่วนที่ 4 สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ส่วนที่ 5 สิทธิในทรัพย์สิน ส่วนที่ 6 สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ส่วนที่ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน  ส่วนที่ 8 สิทธิและเสรีภาพในการศึกษา ส่วนที่ 9 สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ ส่วนที่ 10 สิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน ส่วนที่ 11 เสรีภาพในการชุมชนและการสมาคม ส่วนที่ 12 สิทธิชุมชน และส่วนที่ 13 สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

                        ซึ่งถือว่ามีความครอบคลุมดีมาก หากแต่การนำไปปฏิบัติจริงจะบังเกิดผลสำเร็จมากน้อยเพียงใดก็คงจะต้องติดตามกันต่อไป อย่างไรก็ตามในการสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนั้น ก็พึงระลึกไว้ด้วยว่าจะต้องไม่ไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย

            3. ภราดรภาพ (Fraternity)

                   ภราดรภาพ (Fraternité ในภาษาฝรั่งเศส) คือ  ความเป็นพี่เป็นน้องกัน มนุษย์ทุกคนจะต้องมีความเท่าเทียมกันและปฏิบัติต่อกันดุจพี่น้อง ความเป็นพี่เป็นน้อง เป็นสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้มนุษย์ คือ การไม่เน้นผิวพรรณ หรือ เผ่าพันธุ์[3] ส่วนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายของคำว่า “ภราดรภาพ” หมายถึง “ความเป็นฉันพี่น้องกัน” แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญของบางประเทศ เช่น สาธารณรัฐฝรั่งเศส การที่ภราดรภาพจะบังเกิดขึ้นได้นั้น สังคมจะต้องมีความเสมอภาค มีสิทธิ เสรีภาพ มีความเมตตา เห็นอกเห็นใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารีกันฉันพี่ฉันน้อง ซึ่งสอดคล้องกับพุทธพจน์ที่ว่า “โลโกปตฺถมฺภิกา เมตฺตา - เมตตาธรรมเป็นเครื่องค้ำจุนโลก” กล่าวคือ ทุกคนล้วนเป็นเพื่อนร่วมชาติ ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น การที่จะอยู่ด้วยกันให้ร่มเย็นเป็นสุขต้องมีความรักกัน สมานสามัคคีกันในการที่จะทำอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง...ในประเทศเรานี้ก็ดี ถ้าหากมีเมตตาต่อกันแล้ว งานทั้งหลายเหล่านั้นคงจะสำเร็จไปอย่างราบรื่น เพราะทำงานด้วยกันอย่างฉันพี่น้อง ไม่กระทบกระเทือนกัน เราก็จะมีความสุขอยู่ด้วยกันได้ (พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป, 2537:2-3)[4]

          ศาสตราจารย์ระพี สาคริก[5] ได้วิเคราะห์ประชาธิปไตยในสังคมไทยไว้อย่างน่าสนใจว่า “…คนกลุ่มหนึ่งจำนวนไม่ถึง 300 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ผ่านการไปศึกษาจากเมืองฝรั่งมาแล้วร่วมกับคณะทหารทำการปฎิวัติบุกเข้ายึดราชบัลลังก์ขององค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และอ้างว่า “ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย”...ถัดจากนั้นมาอีกไม่เกิน 2 ปี คนกลุ่มนี้ก็ได้เกิดการแตกแยกกันจนกระทั่งคิดฆ่ากันเอง ทำให้นึกถึงสัจธรรมบทหนึ่งที่กล่าวฝากไว้อย่างสำคัญว่า “มีเงินมีอำนาจที่ไหนก็ย่อมมีความแตกแยกเกิดขึ้นที่นั่น”…ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า “เหตุการณ์ครั้งนั้นบุคคลกลุ่มดังกล่าวต้องการประชาธิปไตย หรือต้องการอำนาจกันแน่”...ยิ่งต้องการประชาธิปไตยก็ยิ่งทำให้สังคมไทยจำต้องได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากสูญเสียรากฐานประชาธิปไตยเพิ่มมาก”

บทเรียนจากประวัติศาสตร์สอนมนุษยชาติว่า[6]  กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยที่แท้จริงในโลก  มิสามารถเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่นักการเมืองยังคิดผูกขาดอำนาจอยู่ที่ตน หรืออำนาจพรรคเสียงข้างมาก ยังงมงายในระบบการปกครองที่ปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน   และประชาชนมิได้เป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง การที่จะแยกแยะว่าประเทศใดเป็นประชาธิปไตยแท้จริงหรือไม่ มีเส้นแบ่งที่ชี้ว่าสิ่งใดเป็นอำนาจอธิปไตย หรือประชาธิปไตยจากจุดยืนในการปกครอง นั่นคือจุดยืนเพื่อตนเอง  พรรค หรือจุดยืนเพื่อประชาชน ซึ่งจะพิสูจน์ได้จากการกระทำ หรือปฏิบัติการทางสังคม  รวมถึงการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองทั้งทางตรงและทางอ้อม  ไม่ใช่นโยบายที่สวยหรู ปากพร่ำแต่ประชาชน อ้างประชาชนทำโน่นทำนี่ อันเป็นเหตุให้นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่อ้างกันในปัจจุบัน กลายเป็นนักตลบตะแลงปลิ้นปล้อนทั่วโลก

          ในทางพระพุทธศาสนา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ว่า “สมภาพ” คือ ความเสมอกันของสิ่งที่สามารถเทียบเคียงกันได้ ทำให้เท่ากันได้ ที่ทำไม่ได้ก็เช่น เพศชาย-เพศหญิง ความสูง-ต่ำ-ดำ-ขาว นิ้วทั้งห้าของคนยังยาวไม่เท่ากัน เป็นต้น จะทำอย่างไรก็คงไม่เสมอกันได้อย่างแน่นอน เพราะเป็นคนละเรื่องกันเลย หากฝืนจะไปพยายามทำให้เท่ากันก็ไม่พ้นเปรตในนิทานข้างต้น 

          แนวทางปฏิบัติให้เกิดสมภาพ หรือความเสมอภาพ ก็คือ

  • การมองตัวเราเองกับผู้อื่นหรือ ผู้อื่นกับตัวเองเสมอกัน 
  • เมื่อเรารักสุขเกลียดทุกข์ ผู้อื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกัน
  • ตัวเราไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นมามาก่อกรรมไม่ดีแก่เรา พอใจแต่ที่จะให้เขามาก่อกรรมที่ดีแก่เราทั้งสิ้น ถึงผู้อื่นก็เหมือนกัน เขาก็ไม่ประสงค์ให้เราไปก่อกรรมที่ชั่วร้ายแก่เขา ประสงค์แต่จะให้เราไปประกอบกรรมที่ดีแก่เขาเท่านั้น

เมื่อทั้งเรา ทั้งเขาต่างมีความชอบและไม่ชอบเสมอกันอยู่เช่นนี้ ทางที่จะให้เกิดสมภาพได้โดยตรงก็คือการดำเนินเข้าหาจุดที่เสมอกันนี้ คือ การงดเว้นจากทางกรรมที่ชั่วร้าย ซึ่งต่างก็ไม่ชอบให้ใครมาทำแก่ตนด้วยกัน และดำเนินไปในทางกรรมที่ดีซึ่งเกื้อกูลกัน ที่ต่างก็ชอบจะให้ใครมาทำแก่ตนด้วยกัน เมื่อประพฤติดังนี้ สมภาพที่ถูกต้องก็เกิดขึ้น และเป็นสมภาพ คือเป็นความเสมอกันจริงๆ และ เมื่อมี สมภาพดังนี้ ภราดรภาพ คือ ความเป็นพี่น้องกันหรือเป็นญาติที่คุ้นเคยไว้วางใจกันได้ก็เกิดขึ้น เสรีภาพ คือ ความมีเสรีในอันที่จะไปไหนๆ ได้ ทำอะไรได้โดยที่ไม่ถูกใครเบียดเบียน และก็ไม่เบียดเบียนใครด้วยก็เกิดขึ้น[7]

         

บทส่งท้าย

          สัญญาประชาคมอันเป็นบ่อเกิดของประชาธิปไตยที่ประเทศไทยนำเข้ามาใช้อย่างเด่นชัด คณะราษฎร ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 หากแต่ก็ยังไม่อาจเกิดขึ้นเต็มใบเสียที เพราะกลุ่มผู้มีอำนาจรัฐ นักการเมืองยังใช้คำว่าประชาธิปไตยและพี่น้องประชาชนเพียงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตนเองได้เข้าสู่อำนาจทางการเมือง หรืออำนาจรัฐเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องมากกว่าประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง หนทางที่จะไปสู่ “เสมอภาค เสรีภาพ ภราดรภาพ” ที่แท้จริงก็เห็นจะมีแต่แนวทางที่พุทธองค์ได้วางไว้ว่า “สมจริยาขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า อันยังให้เกิดสมภาพ ภราดรภาพ เสรีภาพ ดังกล่าวมานี้ เป็นธรรมจรรยา เป็นหลักแม่บทของหลักทั้งหลายแห่งความสงบสุขของชุมชนทั่วไปนั่นเอง หากปราศจากแม่บทนี้แล้ว ความสงบ ความสุขก็จะมีขึ้นไม่ได้ จะมีได้ก็เช่น เสรีภาพของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกับผู้ที่ไปจัดทำนอกแม่บทก็จะเป็นเหมือนเปรตจัดระเบียบนั่นเอง ทั้งเป็นการก่อภัย ก่อศัตรู และสร้างความวุ่นวายเดือดร้อน[8]

 


[1] วิกิพีเดีย.(2551).สัญญาประชาคม. http://th.wikipedia.org/สัญญาประชาคม, ค้นคืนเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2551.

[2] วิกิพีเดีย. (2553). คณะราษฎร. http://th.wikipedia.org/wiki/คณะราษฎร, ค้นคืนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553.

[3] วิกิพีเดีย.(2553). เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ. http://th.wikipedia.org/wiki/เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ, ค้นคืนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553.

[4] พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป. (2537). เมตตาธรรมค้ำจุนโลก. เชียงใหม่: วัดอรัญญวิเวก (บ้านปง).

[5] ระพี สาคริก.(2553, กุมภาพันธ์). ประชาธิปไตย?. เราคิดอะไร, 16(235), หน้า 54-57.

[6] กองบรรณาธิการไทยโพสต์.(2547). http://www.thaipost.net/print.asp?news_id=87097&cat_id=500&post_date=19/Apr/2547, ค้นคืนวันที่ 28 มกราคม 2551.

[7] จะให้สังคมมีสมภาพ ภราดรภาพ เสรีภาพ ต้องพิจารณา 'หลักกรรม' กับ อ่านนิทาน 'เปรตจัดระเบียบ'. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=55499, ค้นคืนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553.

[8] จะให้สังคมมีสมภาพ ภราดรภาพ เสรีภาพ ต้องพิจารณา 'หลักกรรม' กับ อ่านนิทาน 'เปรตจัดระเบียบ'. อ้างแล้ว.

หมายเลขบันทึก: 336702เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2010 13:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 09:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สัญญาประชาคมเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์เห็นว่าสังคมธรรมชาติไม่ปลอดภัย จึงมาอยู่ร่วมกันเป็นสังคม และเมื่อมาอยู่ร่วมกันของคนหมู่มาก ต้องมีกฏกติกาการอยู่ร่วมกัน และกำหนดให้คนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ปกครอง ในความเห็นของ Hobbes มอบอำนาจให้ผู้ปกครอง ผู้ปกครองสามารถทำอะไรก็ได้ตามที่เห็นสมควร เพื่อให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ทุกอย่างที่ผู้ปกครองทำแม้ผู้ใต้ปกครองก็ไม่สามารถโต้แย้งได้ เพราะเขาทำเพื่อประชาชน สิ่งที่ทำนั้นเป็นสิ่งถูกต้อง ซึ่งถ้าย้อนไปดูการเมืองไทยยุคอดีตนายกฯ ที่เร่ร่อนอยู่ต่างประเทศก็ไม่ต่างกัน ทุกอย่างที่เขาทำเขาถือว่าถูกอย่างเดียว ประชาชนเลือกผมมา ใครจะวิจารย์ก็ไม่ได้ คำตอบที่ได้คือ 19 ล้านเสียง เลือกผมมา ถ้าไม่พอใจให้รอการเลือกตั้งครั้งหน้า ประชาธิปไตยของอดีตนายกฯ ท่านนี้ คือแค่การเลือกตั้ง 4 วินาทีเท่านั้น แล้วมาเรียกร้องประชาธิปไตยในยุคนี้ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองเป็นเผด็จการในระบอบประชาธิปไตย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท