กิจกรรม KM ผลิตปุ๋ยหมักระบบกองเติมอากาศบ้านมะขามเรียง


กิจกรรมการเรียนรู้ของกลุ่มเกษตรกร เป็นเรื่องน่าสนใจมาก ต้องลงมือเรียนรู้และทำด้วยตนเองครับ 

คุณสมวิศว์ จู้พันธ์ หรือน้องติ่ง เลขานุการกลุ่มเกษตรชุมชนพัฒนา บ้านมะขามเรียง ตั้งอยู่ที่เลขที่ 36 ม.1 ต.บางจาก อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โทรศัพท์ 0-7532-3687 ส่งเอกสารผลการทดลองการผลิตปุ๋ยหมักจากเศษพืชด้วยระบบกองเติมอากาศ มาให้ศึกษานานแล้ว แต่ยังไม่ได้อ่านสักที วันนี้เลยหยิบขึ้นมาอ่าน และเห็นว่าเป็นประโยชน์มาก เลยโทรศัพท์บอกน้องติ่งว่าให้นำผลการทดลองนี้บอกกล่าวชาวเครือข่ายเกษตรอินทรีย์อำเภอเมืองนครศรีฯซึ่งจะมีการประชุมครั้งที่ 6 ประจำเดือนมิถุนายน 2549 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 28 ซึ่งจะสัญจรไปประชุมกันที่กลุ่มปุ๋ยหมักบ้านในไร่ ต.ปากพูน อ.เมืองฯ

 

น้องติ่งได้ค้นพบจากการทดลองของเขา 9 ประการ ลองอ่านและพินิจพิจารณาแต่ละข้อดูดีๆนะครับ

1.สามารถทำการหมักปุ๋ยได้เสร็จภายในระยะเวลา 1 เดือน (30วัน) ไม่มีความร้อนอยู่ภายในกอง นำไปใส่ต้นไม้ได้เลย

2.ได้ปุ๋ยหมักที่มีคุณภาพดีโดยไม่ต้องพลิกกลับกอง

3.มีค่าธาตุอาหารตามมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรกำหนด

4.สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตได้มากถึงเดือนละ 15 ตัน หรือมากกว่า

5.ผลิตได้ทุกฤดูกาล โดยไม่ต้องสร้างโรงเรือน (ฤดูฝนระยะเวลาอาจขยายเป็น 40-45 วัน)

6.ใช้พลังงานต่ำ ลงทุนไม่สูง สามารถผิตในเชิงพาณิชย์ สร้างรายได้เดือนละ 20,000 บาท

7.สามารถใช้เศษพืชที่เหลือใช้จากการเกษตรและวัชพืชในแม่น้ำลำคลอง โดยนำมาผ่านเครื่องย่อยวัตถุดิบในการทำปุ๋ยหมัก ก่อนนำมาหมัก (ย่อยให้มีขนาดเล็กลง)

8.ไม่จำเป็นต้องเติมอีเอ็ม น้ำปุ๋ยหมักชีวภาพ หรือกากน้ำตาล9.มีปัจจัยและหลักการทำงานที่ง่าย มีส่วนผสมโดยปริมาตรในอัตราส่วนเศษพืช 3 ส่วน ต่อมูลสัตว์ 1 ส่วน ก็จะได้ปุ๋ยหมักที่มีคุณภาพ 

ผมอยากให้น้องติ่งได้ขยายความแต่ละข้อเพิ่มเติมจากที่เขียนไว้ในเอกสารในวันประชุมเครือข่ายฯนะครับ และตอบคำถามหรือข้อเสนอแนะหากจะมีขึ้น แล้วบรรยากาศของการประชุมเสวนาจะออกรสออกชาติมาก อาจจะพบกิจกรรมการทำงานร่วมกันในลักษณะของวิสาหกิจของเครือข่ายฯก็ได้



ความเห็น (10)

อ่านจากประโยชน์และผลลัพท์ที่ได้น่าสนใจมากครับ ไม่ทราบว่ามีกระบวนการหมักอย่างไรครับ

 อ.ภีม ครับ เป็นผลงานวิจัย ของ รศ.ดร ธีระพงษ์ สว่างปัญญางกูร ภาควิชาวิศวกรรมเกษตรและอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่กลุ่มเกษตรกรบ้านมะขามเรียง ม.1 ตำบลบางจาก ได้ศึกษาและทดลองทำจนได้ผลดี หลักการก็คือใช้ออกซิเจนเร่งการเจิญเติบโตของจุลินทรีย์ ในฟางข้าว เศษพืชต่างๆ มูลสัตว์ ฯลฯ หมักธรรมชาติ ไม่ใช้กากนำตาล อีเอ็ม หรือหัวเชื้อใดๆ ถ้าจะให้ดี อาจารย์โทรถาม คนทำกับมือ คือคุณสมวิศว์ จู้พันธ์ ชื่อเล่น น้องติ่ง เลขานุการกลุ่มเกษตรชุมชนพัฒนาบ้านมะขามเรียง โทรศัพท์ 0-7532-3687หรือเข้าร่วมเวทีประชุมเครือข่ายเกษตรอินทรีย์อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งที่ 6 ซึ่งจะสัญจรไปประชุมเสวนากันที่กลุ่มปุ๋ยหมักบ้านในไร่ ตำบลปากพูน อ.เมืองฯ ทราบข่าวจาก อ.อาทิตย์ ลมูลปลั่ง (อ.แขก) จาก สคส.จะมาร่วมเวทีด้วยครับ

 

เรียน อ.ภีม ภคเมธาวี

ลืมบอกอาจารย์ถึงวันประชุมเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ อ.เมืองนครศรีฯ ครับ ประชุมวันที่ 28 มิถุนายน 2549 เวลา 13.00 น.ครับ ณ ที่ทำการกลุ่มทำปุ๋ยหมักบ้านในไร่ ติดต่อคุณ กมลทิพย์ มาลากาญจน์ หรือน้องวิน ประธานกลุ่ม เบอร์โทร.016665799

ผศ.ธีระพงษ์ สว่างปัญญางกูร

เรียน อ.จำนง หนูนิล และผู้ที่สนใจ

ได้มีโอกาสผ่านมาเลยแวะมาช่วยตอบครับ คือว่า หากท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับกระบวนการหมักระบบนี้ก็สามารถโทรคุยกับผมได้ครับ โทร 06 917 4846 หรือจะอีเมล์มาคุยกันก็ได้ครับ

ผมมีเว็บไซต์ที่ท่านสามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่ www.compost.mju.ac.th ครับ (ให้ดูด้านซ้ายสุดและล่างสุดของหน้าแรก)

ท่านที่มีโอกาสมาเชียงใหม่ ขอเชิญชมการสาธิต ณ ศูนย์สาธิตการผลิตปุ๋ยหมักระบบกองเติมอากาศ แม่โจ้ 70 ปี คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ครับ มาพบกับเจ้าของเทคโนโลยีตัวจริงเสียงจริงได้ครับ

 หากท่านใดต้องการเอกสารหรือ Power Point ผมก็ยินดีส่งให้ครับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ยินดีรับใช้ครับ

ขอบคุณครับ 

 ปล. ผมยังเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) ครับ ยังไม่เป็น รศ. และไม่ได้เป็น ดร. ด้วยครับ

ขอบคุณอีกครั้งครับ

เรียน ผศ.ธีระพงศ์ สว่างปัญญางกูร ที่เคารพ

  • ผมต้องขออภัยในตำแหน่งทางวิชาการและวุฒิการศึกษานะครับที่ผมเขียนไม่ถูกต้อง
  • ผมขอเรียนอาจารย์ว่าเทคโนโลยีของอาจารย์ได้รับความสนใจมาก เอกสารและเพาเวอร์พอยต์ของอาจารย์ผมเห็นว่ามีประโยชน์ ผมมอบให้ผู้ว่าฯวิชม ทองสงค์ ผู้ว่าฯนครศรีฯ ชุดหนึ่ง พร้อมกับรายงานผลการทดลองทำปุ๋ยระบบนี้ของกลุ่มเกษตรชุมชนมะขามเรียง ชุดหนึ่งด้วยครับ
  • ผมสนับสนุนให้เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ของอำเภอเมืองนครศรีฯ ซึ่งมีกลุ่มสมาชิก 10 กลุ่ม ศึกษาเรียนรู้เรื่องนี้ โดยให้กลุ่มเกษตรชุมชนมะขามเรียง เป็นผูให้ข้อมูล อาจจะทำเป็นวิสาหกิจของเครือข่ายต่อไปก็ไม่แน่นะครับ คืบหน้าอย่างไรแล้วผมค่อยเรียนให้อาจารย์ทราบ
  • สดๆร้อนๆวันนี้เอง  ผมได้พาคณะจาก สคส.2 ท่าน คือคุณธวัช และคุณศศิธร ที่มาจับภาพ KM แก้จนเมืองนครฯ และ ผอ.กศน.อำเภอ 3 อำเภอ ของจังหวัดนครฯไปดูมา ฟังน้องติ่งตัวแทนกลุ่มเล่าให้ฟังแล้ว เป็นที่สนใจของคณะที่ไปดูมากครับ
  • ขอบคุณอาจารย์มากครับที่ให้เบอร์โทร.และเวบไซต์ ผู้สนใจจะได้เข้าถึงข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เป็นตัวจริงเสียงจริง ส่วนตัวผมเองจะหาโอกาสไปดูที่เชียงใหม่สักครั้งหนึ่งครับ
  • ขออภัยและขอบคุณอีกครั้งหนึ่งครับ

 

 

ผศ.ธีระพงศ์ สว่างปัญญางกูร

เรียน อ.จำนง หนูนิล

ขออนุญาตเพิ่มอีเมล์ของผมนะครับ เผื่อจะได้มีหนทางขยายผลสู่ชุมชนได้กว้างขึ้นครับ อีเมล์ : [email protected]

สวัสดีครับ

ผศ.ธีระพงศ์ ครับ ขอบคุณที่ให้อีเมล์นะครับ ผมจะได้เข้าถึงข้อมูลได้สะดวกยิ่งขึ้น ส่วนของผม [email protected] ครับ

- ขออนุญาตแจ้งอีเมล์ของผมนะครับ เผื่อจะได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน [email protected] ครับ

ผศ.ธีระพงษ์ สว่างปัญญางกูร

มีข่าวดีมาฝากครับ คือเทคโนโลยีระบบกองเติมอากาศ ชนะการประกวดนวัตกรรมแห่งชาติ ปี 2549 ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านสังคม โดยได้รับรางวัลอันดับ 3 ซึ่งจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ณ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม ในวันที่ 22 กันยายน 2549 และพิธีมอบรางวัลในวันที่ 5 ตุลาคม 2549 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต ซึ่งเป็นวันนวัตกรรมแห่งชาติ ครับ

หวังว่ารางวัลนี้คงมีส่วนช่วยให้การทำงานเพื่อชุมชนส่วนรวมของพวกเรามีความง่ายขึ้นและมีสีสันมากขึ้นครับ

แนะนำอาชีพใหม่ สำหรับชาวเกษตรกร

สวัสดีค่ะ
เรามีความยินดีอย่างยิ่ง ที่จะแนะนำการเพาะเลี้ยงไส้เดือนดินเพื่อเป็นอาชีพเสริม กลุ่มเพาะเลี้ยงไส้เดือนดิน จาก ม.เกษตร รุ่นที่ 8 จำหน่ายไส้เดือนดินสายพันธุ์ African Night Corwler และสายพันธุ์ขี้ตาแร่เหมาะสำหรับตกปลา (สำหรับเกี่ยวเบ็ด)และพันธุ์ Blue worm (ไส้เดือนสีน้ำเงิน) ทั้ง 3 ชนิด เหมาะเป็นอาหารหลักหรือเสริมสำหรับเลี้ยง ปลาทุกชนิด ปลาตู้ ปลาสวยงาม หรือไก่ ไก่ชน กบ และเขียด ไส้เดือนเลี้ยงด้วยพืชผักสด กากถั่วเหลือง จึงมีโปรตีนสูงถึง 62-67 % ไส้เดือนของเราเลี้ยงถูกต้องตามหลักวิชาการของคณะสัตวบาล มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ไส้เดือนทั้ง 3 ชนิดไม่มีกลิ่นคาว สะอาด เพราะไม่ได้ใช้ดินในการเพาะเลี้ยงไส้เดือนไม่มีดินอยู่ในตัว เมื่อสัตว์เลี้ยงขับถ่ายออกมาจะไม่มีดินตกค้างในภาชนะที่เลี้ยง จึงมั่นใจได้ว่าสัตว์เลี้ยงของท่านได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าในกการเจริญเติบโตเร็ซขึ้น สำหรับท่านที่ต้องการซื้อชุดสำหรับทดลองเลี้ยง หรือย่อยสลายขยะในครัว ทางเราก็มีจำหน่ายในราคาไม่แพง พร้อมคำแนะนำในการเลี้ยงไส้เดือน และกลุ่มของเรายังยินดีรับซื้อคืน ไส้เดือนดิน รับประกันสายพันธุ์แท้ สนใจติดต่อกลุ่มเพาะเลี้ยงไส้เดือนดินจาก ม.เกษตร รุ่นที่ 8 กรุงเทพฯ เขตบางนา คุณวรรณกร 081 354-0267 E-mail : [email protected] ,เขตดอนเมืองคุณสุชาติ 086 397-1809 E-mail : [email protected] ,เขตนนทบุรี คุณศุภโชติ 089 143-0928
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท