สิทธิชุมชนที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ


วิธีการที่จะกลั่นกรองแบบแผนความประพฤติในลักษณะที่เป็นจารีตประเพณีทั้งหลายให้เข้ามาสู่แดนการศึกษาในทางนิติศาสตร์

“โลกอยู่ในมือของสถาปนิก นักกฎหมายและคนออกกฎหมาย” ผมจำไม่ได้แล้วว่าวลีนี้ผมอ่านพบจากที่ไหน แต่มันมีความจริงอยู่หลายส่วน หรือคุณเห็นว่าอย่างไร มนุษย์นั้นมีองค์ประกอบที่สำคัญ กล่าวคือ มีความสัมพันธ์กันเองระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ โดยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์มีกฎเกณฑ์ของความสัมพันธ์ คือ ระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคมเป็นฐานรองรับ โดยพฤติกรรมมนุษย์ในการอยู่ร่วมกันจะอยู่ภายใต้กติกาเดียวกันคือกฎหมาย ส่วนมนุษย์กับธรรมชาติมีกฎเกณฑ์ของความสัมพันธ์ คือ จารีตประเพณี วัฒนธรรมและภูมิปัญญาแห่งท้องถิ่น

ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ ที่ประเทศไทยได้ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิของชุมชน ไว้ในรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งรัฐธรรมนูญในฉบับปัจจุบัน ๒๕๕๐ ก็ยังคงดำรงไว้ซึ่งการรับรองสิทธิของชุมชน โดยทิ้งความสงสัยในหลายประเด็นในปัญหาของสิทธิชุมชน เช่น ขนาดของสิทธิ ผู้ทรงสิทธิ และอีกหลากหลายมุมมองของสิทธิชุมชน แต่ด้วยวัตถุเพียงชิ้นเดียวที่นักกฎหมายสร้างขึ้นเพื่อการคุ้มครองการดำเนินชีวิตของชุมชนเพื่อให้ทรงความอยู่รอด แต่ทุกวันที่มีการับรองผ่านมายังมิสามารถจับต้องหรือตอบข้อสงสัยหลากหลายประการใด

เนื่องจากสิทธิชุมชนที่เป็นวัตถุสำคัญนั้น มิได้เป็นวัตถุที่สามารถจับต้องได้อย่างสิทธิทั่วไป สิทธิชุมชนในทัศนะนี้ผู้เขียนมีแนวคิดว่าสามารถพิสูจน์ได้จากสิ่งที่กำหนดไม่ได้ โดยเริ่มนับจากที่จุดเริ่มต้นที่เป็นความรู้สึกสำนึก ที่กำหนดไว้ด้วยภาษาทั่วไปว่า “ศีลธรรม” ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี ที่มีอยู่ในจิตใจของมนุษย์รวมทั้งความรู้สึกชื่นชมสรรเสริญในสิ่งที่ดีงาม ความเกลียดชัง และการตำหนิสิ่งที่ชั่วร้ายของคนในสังคม โดยลายละเอียดเนื้อหาของศีลธรรมนั้น แต่ละสังคมย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปตามยุคสมัย

ศีลธรรมที่มีเนื้อหาเป็นเรื่องๆนั้น เมื่อเรื่องใดปฏิบัติซ้ำๆ กันหลายครั้งเป็นประจำเป็นระยะเวลานมนานก็จะเกิดความเคยชินขึ้นในสังคมว่าจะต้องประพฤติเช่นนั้น มิฉะนั้นจะรู้สึกผิดอยู่ในใจลักษณะการประพฤติปฏิบัติดังกล่าวจะกลายเป็นกฎเกณฑ์ทางสังคมที่เรียกว่า “ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี” เมื่อจารีตประเพณีที่สังคมยึดถือนั้นถ้าผู้หนึ่งผู้ใดฝ่าฝืนหรืองดเว้นไม่กระทำตาม จะเกิดเป็นความผิดรุนแรง เพราะอาจมีผลทำให้เกิดความเดือดร้อนมาสู่บุคล ครอบครัว และชุมชนได้ ทางล้านนาเรียกกันว่า ขึด ซึ่งมี ๓ สถานคือ ขึดตกตัว คือ ขึดตกต้องแก่บุคคลผู้เดียว ขึดตกบ้าน คือขึดตกต้องแก่บุคคลในครอบครัวหรือสถานที่นั้นทุกคน และขึดตกเมือง คือขึดตกต้องแก่คนในเมืองทั้งหมด ทั้งนี้มักมีความเกี่ยวข้องกับศีลธรรม และสิ่งที่ดีงามของสังคมที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาและถ่ายทอดจากอดีตมาสู่ปัจจุบันและนำไปสู่อนาคต เหล่านี้จึงเกิดขึ้นซึ่ง “วัฒนธรรม” ดังกล่าวศีลธรรมจึงเป็นเหมือนสิ่งที่อยู่ภายใต้จิตใจของคน ที่เป็นตัวส่งผ่านซึ่งสำนึกของชุมชนหรือสังคม จนสามารถที่จะก่อให้เกิด จารีตประเพณี วัฒนธรรม ได้โดยขั้นตอนต่างๆ ของแต่ละสังคม ดังนั้นสิทธิหรือสิทธิชุมชนไม่มาจากว่าชนชาติใดหรือวัฒนธรรมใดในโลกก็ตาม ในช่วงระยะเวลาแรกย่อมอุบัติขึ้นและพัฒนามาจากรูปของ ศีลธรรมและกฎหมายจารีตประเพณีทั้งสิ้น

หากจะถามว่าสิทธิชุมชนคืออะไรบทความนี้คงตอบวัตถุชิ้นนี้ไม่ได้ชัดเจนเพียงใด แต่ผู้เขียนมีแนวคิดที่เห็นควรว่า การหาที่มาของสิทธิชุมชนนั้นมีความสำคัญเป็นประการหลัก ซึ่งโดยวิธีการที่จะกลั่นกรองแบบแผนความประพฤติในลักษณะที่เป็นจารีตประเพณีทั้งหลายให้เข้ามาสู่แดนการศึกษาในทางนิติศาสตร์ มุมมองใหม่ที่ผู้เขียนนำเสนอนี้เป็นแนวคิดใหม่ที่น่าจะสามรถตอบได้ว่า สิทธิชุมชนที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญนั้นมีความสัมพันธ์อันเป็นเอกลักษณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของชาติได้มากน้อยเพียงใด

ติดตามสรุปวิทยานิพนธ์ ต่อได้ตอนต่อไปครับ

IN the coming decades the survival of humanity will depend on our ecological literacy-our ability to understand the basic principles of ecology and to live accordingly.

“ในทศวรรษที่กำลังมาถึง ความอยู่รอดของมนุษยชาติจะขึ้นอยู่กับ การรู้ภาษานิเวศ-ความสามารถในการทำความเข้าใจหลักการทางนิเวศวิทยาและใช้ชีวิตอย่างสอดคล้อง”

ฟริตจอฟ คาปรา นักวิทยาศาสตร์ ชาวออสเตรีย

คำสำคัญ (Tags): #สิทธิชุมชน
หมายเลขบันทึก: 336067เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2010 00:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 16:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท