โรงเรียนบ้านกันตรง มุ่งดำรงวัฒนธรรมกูยและวิถีพอเพียง


คนกูย

โรงเรียนบ้านกันตรง 

มุ่งดำรงวัฒนธรรมกูยและวิถีพอเพียง

 

          นักเรียนน้อยและชาวบ้านชาติพันธุ์กูยทั้งหญิงชายนับร้อยคน แต่งกายด้วย       ผ้าไหมทอมือ ใบหน้ายิ้มแย้ม ต้อนรับคณะกรรมการคัดเลือก รางวัลลูกโลก          สีเขียว พาร่วมพิธีไหว้ศาลผีหมู่บ้าน แล้วพาชมกิจกรรมของกลุ่มเยาวชนรักษ์บ้านเกิด รักษ์ท้องนา รักษาสิ่งแวดล้อม โรงเรียนบ้านกันตรง ตำบลบึง อำเภอ               เขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

            นักเรียนน้อยแบ่งกลุ่มประจำฐาน นำกรรมการแยกย้ายกันศึกษางานของกลุ่มเลี้ยงกบ กลุ่มทำนา กลุ่มทำปุ๋ยอินทรีย์ และอาหารปลา กลุ่มคัดแยกขยะ กลุ่มเพาะพันธุ์กล้ายางนา

            ผู้ใหญ่และผู้เฒ่าพากันมาเกือบทั้งหมู่บ้าน มีฐานสานหมวกใบตาล ฐานจักสานไม้ไผ่ ฐานเลี้ยงไหม ฐานต้มแด้ไหม สาวไหม ฐานทอผ้า ฐานทำขนมพื้นบ้าน มีข้าวต้มมัดชนิดต่าง ๆ ขนมเทียนไส้ถั่ว ฐานอาหารคาว พืช ผัก สมุนไพร พื้นบ้าน คุณยายอายุมากที่สุดถึง 104 ปี กรุณามาสาธิตการสาวไหมด้วย ได้ของขวัญเป็นหมวกใบตาลทุกคน

            คณะกรรมการคัดเลือก นำโดย รศ.ดร.บุญยงค์ เกศเทศ ประทับใจในความรู้จริง ทำจริง ด้วยการอธิบายอย่างมั่นใจ มีรอยยิ้มแจ่มใส ของนักเรียนตัวน้อย รวมทั้งความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกันตรง นายพิณี หาสุข ซึ่งเป็นคนบ้านกันตรงโดยกำเนิด ที่มุ่งหวังให้ความภูมิใจในวิถีวัฒนธรรมชาติพันธุ์กูย ได้กลับคืนมาสู่ทุกคนในท้องถิ่น

            ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. และหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุนความตั้งใจของ      ผอ.พิณี  ด้วยดี ช่วงเวลาทานอาหารกลางวัน ซึ่งกลุ่มแม่บ้าน เตรียมนึ่งข้าวเหนียว น้ำพริก ผักลวก  ผักสดจากป่า จากทุ่งนา และแกงพื้นบ้าน จึงได้คุยกันด้วยความเจริญอาหารยิ่งนัก

            ดิฉันได้คุยกับ ผอ.พิณี ว่า สนใจจะมาศึกษาวิถีชีวิตของชาวกูยบ้านกันตรง โดยจะมานอน 1 คืน

            เมื่อคณะกรรมการ “รางวัลสิปปนนท์ เกตุทัด 5 ปี แห่งความยั่งยืน” นำโดย ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ มาศึกษาผลงานป่าชุมชนบ้านอาลอ - โดนแบน ที่ตำบลนาดี อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ในวันที่ 8 กันยายน 2552 ผอ.พิณี หาสุข จึงกรุณามารับดิฉันไปบ้านกันตรง

            นางกุหลาบ วัย 55 ปี คือ เจ้าของบ้านที่กรุณาให้ดิฉันพักอยู่ด้วย เธอเป็นแม่หม้าย ลูกแยกครอบครัวไปแล้ว จึงอยู่คนเดียว บ้านเธอเพิ่งปรับปรุงใหม่ มีห้องนอนและห้องพระอยู่ชั้นบน ห้องครัวกับห้องน้ำห้องส้วมอยู่ด้านหลัง สะอาดสะอ้านดี

            ผอ.พิณี พาเดินเยี่ยมบ้านที่เลี้ยงไหม มีไหมตัวอ่อนอยู่ในกระด้งที่รองด้วยใบหม่อนหั่นละเอียด คลุมด้วยผ้าซิ่นเก่า กระด้งถัดไปเป็นตัวไหมที่อายุมากขึ้น ใบหม่อนที่ใช้เลี้ยงก็หั่นหยาบขึ้นตามลำดับ

            บ้านนี้เลี้ยงไหมหลายกระด้ง เจ้าของกำลังต้มแด้ไหม แล้วสาวออกเป็นเส้น ดูมีความสุขกับการสืบทอดภูมิปัญญาการเลี้ยงไหมและทอผ้า มีเครื่องทอผ้าตั้งไว้ที่ใต้ถุน

            เรือนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านนี้ ทำด้วยไม้ ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติและอบอุ่น ร่มเย็น ทุกบ้านปลูกพืชไว้เป็นอาหาร เช่น ต้นแคกำลังออกดอกสีขาว มะรุม ถั่วพู ถั่วฝักยาว กระถิน ผักบุ้ง กระเจี๊ยบ มะขาม เป็นต้น

            คุณป้าตัวเล็ก ท่าทางอารมณ์ดี ทัดหูด้วยดอกสะเลเตสีขาว หอมเย็น เธอกำลังนึ่งขนมเทียน ซึ่งทำขายเป็นประจำ เห็น ผอ.พิณี พาดิฉันมาเยี่ยม จึงยกขนมเทียนมาให้ชิมดู เธอบอกว่าหลังบ้านปลูกดอกสะเลเต (ว่านมหาหงส์)เป็นกอ จึงเด็ดมาให้ดิฉันทัดหูด้วย

            ยามเย็นที่บ้านกันตรง อากาศกำลังดี  ลมพัดโชยมาเย็นสบาย มองไปหลังบ้านเห็นทุ่งนาเขียวชอุ่ม ฝูงควายตัวอ้วนอวบแข็งแรง ถูกต้อนกลับบ้าน เป็นชุมชนเกษตรที่ผูกพันพึ่งพาธรรมชาติมายาวนาน

            ที่ท้ายหมู่บ้านมีแม่หญิงกำลังทอไหม เธอบอกว่าลวดลายที่นิยมทอกันมีหลายชื่อ ผ้าโสร่งของผู้ใหญ่ใช้ตาสี่เหลี่ยมใหญ่สลับสีแดง  ส้ม แสด  เหลือง เขียว ส่วนซิ่นของแม่หญิงลวดลายละเอียด ส่วนใหญ่เป็นสีแสดเข้ม เป็นลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวกูย และมีผ้าพาดไหล่เป็นสีธรรมชาติ สีนวลอ่อน ๆ ของเส้นไหมแท้ ๆ โดยไม่ได้ย้อม

            นักเรียนของโรงเรียนบ้านกันตรงมาจาก 3 หมู่บ้าน คือ บ้านกันตรง บ้านระโงนกรอย และบ้านแดง ผอ.พิณี จึงพาดิฉันไปเยี่ยมบ้านระโงนกรอย ซึ่งเป็นชาวกูย

            รถแล่นผ่านทุ่งนาที่เขียวขจี ผอ.บอกว่าชาวบ้านดีใจ ที่ข้าวนางามมาก ปีนี้คงลืมตาอ้าปากได้

            ผู้ใหญ่บ้านกันตรง เป็นคนหนุ่มที่ใส่เสื้อผ้าไหมทอมือเป็นเอกลักษณ์ ให้ความร่วมมือกับ ผอ.โรงเรียนด้วยดีเสมอ ทั้งงานกลุ่มเยาวชน การรักษาป่า การตั้งเป้าเป็นหมู่บ้านจัดการขยะ

            วันนี่ที่บ้านระโงนกรอยจะมีการฝึกซ้อมการเต้นแอโรบิค เพื่อแข่งขันในโครงการ TO BE NUMBER ONE ของทูลกระหม่อมอุบลรัตน์ ทั้งนักเรียน และวัยรุ่น ต่างตื่นเต้น ตั้งใจที่จะฝึกซ้อมด้วยดี

            นายก อบต.ของตำบลบึง ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งหมาด ๆ เป็นผู้นำของบ้านระโงนกรอย จึงมีผู้มาแสดงความยินดีกันมาก

            กลับมาที่บ้านแม่กุหลาบ ก็เป็นเวลาอาหารเย็น ผอ.พิณี มีเครือญาติอยู่ที่นี่เป็นส่วนใหญ่ จึงมีผู้นำอาหารนานาชนิดมาทานด้วยกัน เป็นอาหารพื้นบ้านที่อร่อยด้วยความสดใหม่ และน้ำใจของทุกคน

            สักทุ่มนึงมีการประชุมแม่หม้าย ซึ่งน่าแปลกที่บ้านกันตรงมีแม่หม้ายถึง 32 คน สามีตายด้วยเหตุต่าง ๆ เช่น ไหลตาย เมายา (สารเคมีทางการเกษตร)ป่วย อุบัติเหตุ แต่แม่หม้ายทุกคนก็ไม่มีใครแต่งงานใหม่ เลี้ยงลูกเองด้วยความเข้มแข็ง หนักเอา เบาสู้

            คุยกับแม่ม่ายเสร็จแล้ว ผอ.พิณี เชิญร่วมประชุมชาวบ้าน เพื่อปรึกษาเรื่องแนวทางการพัฒนาหมู่บ้านอย่างยั่งยืน มีความสามัคคี ด้วยวิถีวัฒนธรรมชาวกูย รณรงค์ให้เด็กรุ่นใหม่ภูมิใจในรากเหง้า ภูมิใจที่จะพูดภาษากูย ยืดอกบอกว่า “ ฉันเป็นชาวกูย” โดยไม่หวั่นว่าใครจะดูถูก ว่าเป็นชนที่ล้าหลัง จะฟื้นฟูวิถีพอเพียง การเคารพศาสนาและธรรมชาติ มีการแบ่งปัน เกื้อกูล ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยโรงเรียนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาชุมชนผ่านกลุ่มเยาวชน

            ผอ.พิณี มีบ้านอยู่ในชุมชน การสื่อสาร พบปะ ประชุม จึงเกิดขึ้นเป็นประจำ สร้างแรงกระตุ้น การมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ

            ประชุมเสร็จแล้ว ดิฉันหลับสนิทตลอดคืน ตื่นเช้าเมื่อตะวันส่องตา เสียงไก่ขันปลุกโสตประสาท แม่หญิงที่มานอนเป็นเพื่อน กลับบ้านไปเตรียมตัวพาไปเดินชมป่าปะกัง ดังที่นัดหมาย

            ป่าปะกัง แม้มีขนาดย่อมแค่ 80 กว่าไร่ แต่ก็เป็นป่าสมบูรณ์ มีพืชพันธุ์หลากหลาย ใช้ประโยชน์ ทั้งเป็นอาหาร สมุนไพร และประโยชน์อื่น ๆ มีดอกไม้แปลกตา สวยงาม มีผลไม้เป็นอาหารของคนและสัตว์ ดิฉันได้กินฝรั่งขี้นกเก็บสด ๆ จากต้น อร่อยจัง

            เดินชมป่ากว่าชั่วโมงด้วยความชื่นใจ แล้วกลับมากราบคุณแม่ของ ผอ.พิณี ที่บ้าน ชาวบ้านหลานคนกรุณามอบผ้าไหมให้ ด้วยใจแห่งมิตรไมตรี แล้วยังพากันนั่งรถมาส่งดิฉันถึงสนามบินอุบลราชธานี

            ขอแสดงความชื่นชมกิจกรรมของกลุ่มเยาวชนรักษ์บ้านเกิด รักษ์ท้องนา รักษาสิ่งแวดล้อม โรงเรียนบ้านกันตรง ซึ่งได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประจำปี 2552 ประเภทกลุ่มเยาวชน ซึ่งมีกิจกรรมดังนี้

โครงการโรงเรียน ชุมชน และวัด ปลอดขยะอย่างยั่งยืน

เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 โดยนายพิณี หาสุข ผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นกิจกรรมที่เน้นให้โรงเรียน ชุมชน และวัด ตระหนักถึงปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในชุมชน รวมทั้งจัดการขยะอย่างถูกวิธี นักเรียน ผู้ปกครอง และประชาชนในเขตบริการของโรงเรียน มีจิตอาสาที่จะดูแลชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ให้ปราศจากขยะและมีการทิ้งขยะในที่ที่จัดไว้ให้จนเกิดเป็นนิสัย

กิจกรรมคัดแยกขยะ ทำทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียน รวมทั้งในครัวเรือนด้วย โดยเมื่อเก็บขยะได้จำนวนหนึ่งแล้วก็จะติดต่อร้านรับซื้อของเก่าจากจังหวัดสุรินทร์ให้ไปรับซื้อขยะที่โรงเรียน ส่วนขยะประเภทที่ย่อยสลายได้ โรงเรียนจะนำไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพใส่ในแปลงเกษตรและแปลงนาข้าวของโรงเรียน

 

ธนาคารขยะรีไซเคิลในโรงเรียน

บริการรับฝากขยะจากนักเรียนและรับบริจาคขยะจากชุมชน เพื่อนำรายได้จากการขายขยะไปตั้งเป็น “กองทุนขยะเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อม” ปัจจุบันมีเงินในกองทุน จำนวน 13,305 บาท

การสำรวจและศึกษาเรียนรู้ในป่าปะกัง

ป่าปะกัง เป็นป่าสาธารณประโยชน์ของบ้านกันตรง ชาวบ้านใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงสัตว์ และเคยเป็นป่าช้าเดิม เป็นแหล่งหาของป่า เช่น เห็ด หน่อไม้ เพื่อเป็นอาหาร กลุ่มเยาวชนมีแนวคิดจะนำต้นยางนา ไปปลูกในพื้นที่ป่าปะกัง เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับป่า

การทำนาดำ

เริ่มตั้งแต่ปี 2551 โดยคณะครู ชุมชน และศิษย์เก่า ได้หาเงินจำนวน 350,000 บาท ซื้อที่นาบริเวณด้านหลังโรงเรียน 2 แปลง เพื่อทำนาดำ ผลผลิตที่ได้จากการทำนา โรงเรียนแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ สำหรับเข้าโครงการอาหารกลางวัน เป็นข้าวพันธุ์ในฤดู    ทำนาปีต่อไป และจำหน่ายเพื่อนำรายได้มาพัฒนาโรงเรียน

การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ

โดยการนำเศษใบไม้และเศษขยะประเภทที่ย่อยสลายได้ ผสมกับมูลวัว ควาย มาทำปุ๋ยหมัก  เพื่อเพิ่มคุณค่าแร่ธาตุอาหารให้แก่ดินตามหลักวิชาการ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

การเลี้ยงปลาในนาข้าว

การเลี้ยงปลาดุกอุย ปลานิล และปลาตะเพียน ในแปลงนาข้าวของโรงเรียน

การเพาะกล้าต้นยางนา

กลุ่มเยาวชนเพาะยางนาสำหรับใช้ในโครงการยางนาแลกขยะ มีเป้าหมายที่จะปลูก   ยางนา ในที่ดินสาธารณประโยชน์ของบ้านกันตรง และโครงการยางนาคืนถิ่นเพื่อนำไปปลูกที่ป่าปะกัง เป็นกิจกรรมเพื่อหาแนวทางในการอนุรักษ์ป่าไม้ในชุมชน

กิจกรรมเกษตรอินทรีย์วิถีชีวิตพอเพียง

การปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ การทำเกษตรแบบผสมผสานบนแปลงนาของโรงเรียน และการเพิ่มผลผลิตในการทำนาโดยการปรับปรุงดิน ใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยวิทยาศาสตร์

การพัฒนาโรงเรียนและชุมชน เพื่อให้โรงเรียน วัด และชุมชนสะอาด สวยงามน่าอยู่

หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนโรงเรียนบ้านกันตรง ได้แก่ เกษตรตำบลบ้านบึง ศูนย์เพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์ อบต.บึง  สรรพากรเขตพื้นที่สุรินทร์  สถานีอนามัยตำบลบึง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ)

ผลสำเร็จที่โรงเรียนได้รับ คือ เกิดแหล่งอาหารของโรงเรียน เกิดการแลกเปลี่ยน  เรียนรู้ระหว่างเยาวชนในโรงเรียนและชุมชน เกิดความภูมิใจในชาติพันธุ์และความสามัคคี  และสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงามต่อไป

แม้ว่าโรงเรียนบ้านกันตรง จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก แต่มีผู้อำนวยการที่มีสำนึกรัก    บ้านเกิด

จึงนำหลัก บ้าน วัด โรงเรียน เป็นแกนในการพัฒนา นับว่าเป็นแบบอย่างที่ดีของโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในชุมชนชนบท ขอให้กระทรวงศึกษาธิการนำไปเป็นโรงเรียน ต้นแบบ เพื่อขยายผลต่อไป

 

เตือนใจ (กุญชร ณ อยุธยา) ดีเทศน์

 

*หมายเหตุ ขอขอบคุณ ผอ.พิณี หาสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกันตรง และคณะ  ทำงานภูมิภาคอีสาน รางวัลลูกโลกสีเขียว ที่ให้ข้อมูลและอำนวยความสะดวกในการศึกษาเรียนรู้

  

                          กลุ่มเยาวชนรักษ์บ้านเกิด รักษ์ท้องนา รักษาสิ่งแวดล้อม รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 11  ประจำปี 2552  จาก นายอานันท์  ปันยารชุน  ประธานสถาบันลูกโลกสีเขียว ณ อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เมื่อ 24  พฤศจิกายน  2552                  

คำสำคัญ (Tags): #คนกูย
หมายเลขบันทึก: 335907เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2010 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เรื่องราวของบ้านกันตรงน่าสนใจโดยเฉพาะธนาคารขยะรีไซเคิลในโรงเรียน อย่างไรรบกวนท่านได้นำเสนอแนวทางการปฏิบัติด้วยนะครับ ขอบคุณครับ และจะติดตามงานเขียนของท่านอาจารย์ครับ

จะพยายามค่ะ หากมีปัญหาคงต้องรบกวนปรึกษาอาจารย์นะคะ

  • เก่งจังเลยครับ
  • ขอเป็นกำลังใจให้นะครับ

ยินดีครับ ท่านอาจารย์ ตอนนี้ผมลงข้อมูลข่าวอาจารย์ในเวบุชมชนเสียงสินรินทร์ แล้ว วันหลังอาจารย์ลองเข้าสมัครสมาชิกที่เวบ ชุมชนเขวาสินรินทร์  แล้วแจ้งผมจะได้ให้สิทธิ์สมาชิกในการอัพข้อมูลในเวบนะครับ   หาอาจารย์ไม่เข้าก็ดูข้อมูลด้านซ้ายมือในเวบ  คู่มือการอัพเวบสำหรับสมาชิก ถ้าไม่ได้อย่างไรค่อยพูดคุยอีกครั้งหนึ่งครับ   ขอบคุณอาจารย์ที่ได้ต่อยอดการเรียนรู้  โอกาสหน้าจะได้เผยแพร่ให้ท่านอื่นๆและลูกศิษย์อีก  เขวาสินรินทร์เราจะได้มีคนใช้ iT เยอะ  และศูนย์การเรียนรู้ ict ชุมชน ที่นี่เป็นของทุกท่านที่สามารถมาใช้บริการได้   ตามวัตถุประสงค์ของกระทรวง ict  ข่าวที่อบรมก็ได้ลงที่เวบของ ศูนย์การเรียนรู้ ict ชุมชนแห่งประเทศไทย  ของกระทรวง ict แล้วนะครับ  อาจารย์สามารถเข้าไปดูได้ คลิกที่นี่  ขอบคุณครับ

ขอแสดงความยินดี กับ บ้านกันตรง จากชาวกูยโซะบู่(บ้านโชคตากูก)อำเภอเขวาสินรินทร์

ภูมิใจในโรงเรียน วัด ชุมชน บ้านกันตรง ภูมิลำเนา บ้านเกิดผมครับ.. ขอเป็นแรงใจให้รักษาความดีนี้ไว้ ตลอดไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท