คุณภาพอุดมศึกษาขึ้นอยู่กับ “อาจารย์...”


เครื่องจักรที่เราเคยเห็นว่าวิเศษณ์ มหัศจรรย์สักแค่ไหนแต่อย่างไรก็ถูกสร้างขึ้นมาจากฝีมือของมนุษย์
นักศึกษาที่กำลังจะเป็นบัณฑิตก็เช่นเดียวกัน การที่จะพัฒนาคนให้มีคุณภาพนั้นจึงขึ้นอยู่กับฝีมือของ “อาจารย์...”

อาจารย์ที่ทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นั้น นับได้ว่าเป็นฟันเฟืองอันสำคัญที่สุดที่จะสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ เพราะอาจารย์ที่ทำงานอยู่ในสถาบันการศึกษานอกจากมีหน้าที่หลักในการสอนนั้น อาจารย์เองก็ยังได้รับโอกาสมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมทุก ๆ อย่างในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางด้านบริหารรวมทั้งกิจกรรมทางวิชาการ

นับตั้งแต่การการมีส่วนร่วมในการเลือกผู้บริหาร อธิการบดี คณบดี คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย การมีปาก มีเสียงมีส่วนร่วมในการร่างนโยบาย กฎ ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงการกำหนดหลักสูตร การวิพากษ์หลักสูตร การจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอน อาคาร สถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ สมุด หนังสือ เครื่องแต่งกาย ทุก ๆ อย่างล้วนอยู่ในกำมือของ “อาจารย์”

เมื่ออาจารย์มีสิทธิ มีเสียง มีอำนาจในการกำหนดนโยบายทางการบริหาร และนโยบายทางวิชาการ อาจารย์จึงต้องเป็นบุคคลที่มี “ประสิทธิภาพ” ซึ่งประสิทธิภาพในที่นี้ต้องพิเศษกว่า เก่งกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ดีกว่า...”

คนที่จะเป็นคนที่ดีกว่าคนอื่นได้นั้นจะต้องวัดกันด้วย “คุณธรรม” หลักธรรมที่จะต้องน้อมนำมาเคียงคู่กับจิตกับใจทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย
คุณธรรมในชีวิต ครอบครัว หน้าที่ การงานจะต้อง “ดี” เพราะหน้าคนของประเทศนี้ของในมือของ “อาจารย์”

นักการเมืองก็ต้องมีครู ครูที่เป็น “อาจารย์” เพราะนักการเมืองสมัยนี้อย่างน้อยก็ต้องเรียนจบปริญญาตรี

การพุ่งเป้าในการสร้างคุณธรรมให้เกิดได้ เกิดมีในตัวของอาจารย์จึงเป็นการแก้ไขปัญหาที่รากฐานของสังคม
คุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม จักต้องมีเพียงพร้อมในตัวของ “ครูบา อาจารย์”
การคัดเลือก การประเมิน การเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ก็พึงจักต้องมีคะแนนทางด้านคุณธรรมประกอบเข้าไปด้วยเสมอ ซึ่งน่าจะเกินกว่ากึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับคะแนนความสามารถหรือ “ความเก่ง”
คะแนนความดีต้องสร้างให้เกิดขึ้นและเกิดมีให้มาก ๆ
การที่จะเป็นอาจารย์ที่ดีได้ต้องรู้จักรับผิดชอบ “หน้าที่” ของตนเองให้ดีในทุก ๆ หัวโขนที่ถูกสมมติให้สวมใส่
เป็นอาจารย์ก็เป็นอาจารย์ที่ดี เป็นผู้บริหารก็เป็นผู้บริหารที่ดี เป็นผู้ร่างหลักสูตร ก็ร่างหลักสูตรให้ดี กลับบ้านเป็นพ่อ เป็นแม่ ก็เป็นพ่อ เป็นแม่ที่ดี เป็นลูกที่ดี เป็นพี่ เป็นน้องที่ดี เป็นมิตรที่ดีของทุก ๆ คนในสังคม

อุปนิสัยที่ดี ๆ ต่อทุก ๆ หน้าที่นั้นจักเป็นหลัก เป็นฐานสร้างคุณธรรมในจิตใจของอาจารย์ให้มีเมื่อต้องรับหน้าที่ทุก ๆ หน้าที่ทั้งในและนอก “มหาวิทยาลัย...”

 

หมายเลขบันทึก: 335474เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2010 08:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เห็นด้วยครับท่านอาจารย์ คุณภาพอาจารย์เป็นอย่าวไร ลูกศิษย์ ก็ เป็นเช่นนั้นครับ

ขอบพระคุณครับท่านอาจารย์หมอ JJ ที่ช่วยเติมเต็มความมั่นใจในแนวคิดครับ

แต่ทว่าเรื่องการพัฒนาอาจารย์นี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจะทำให้จริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมให้ได้ผลแล้วก็จะต้องลืม KPI ดัชนีชี้วัด เกณฑ์มาตรฐาน ข้อมูลต่าง ๆ ทางสถิติในที่สามารถนำมาทำเอกสารซึ่งจะเห็นได้ในรูปธรรมทั้งหมดก็ได้ว่าครับ

เพราะว่าศัตรูตัวฉกาจของ "คนเก่ง" ซึ่งพยายามเปลี่ยนแปลงหรือการพยายามพัฒนาตนเองให้กลายเป็น "คนดี" นั่นก็คือเรื่องของทิฏฐิ มานะ อัตตา และตัวตน ถ้าหากทำแล้วต้องให้ใครมาคอยประเมิน คนเก่ง ก็จะไม่ทำ เพราะอายบ้าง รู้สึกเสียบเปรียบบ้าง หรือบางครั้งอยากจะทำอยู่แต่พอมีใครรู้ก็อาจจะหยุดไปทำเสียดื้อ ๆ

ดังนั้น ถ้าหากเราจะพุ่งเป้าไปที่คุณภาพของนักศึกษาที่แท้จริงแล้ว เราก็ต้องทำเป็นลืมเรื่องรายงานหรือเอกสารทั้งหมดเสีย เพราะอย่างน้อย อาจารย์ก็จะมีเวลามากขึ้นอีกนิดหน่อย จากการที่จะต้องนำเวลาไปทำเอกสาร ซึ่งสามารถนำเวลาที่ได้เพิ่มขึ้นนั้นไปทำความดีตามหน้าที่ที่ตนเองได้ถูกสมมติให้รับผิดชอบ

เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องขัดใจของนักบริหารการศึกษาที่มักหวังพึ่งพาข้อมูลทางสถิติเพื่อวัด เพื่อ "ประเมิน" แต่ถ้าหากเรารักเด็กนักศึกษาจริง ๆ แล้ว ผมคิดว่าในจิตใต้สำนึกทุก ๆ รู้ว่าข้อมูลทางสถิตินั้นมิสามารถวัดหรือแทนค่าอะไรได้เลยเมื่อต้องนำไปเล่นกับการพัฒนาทางด้าน "คุณธรรม"

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาคุณธรรมในตัวคนนั้น ไม่สามารถพัฒนาในห้องประชุม อบรม หรือการสัมมนาใด ๆ อย่างเช่นการพัฒนาความเก่ง หรือ IQ ที่สามารถเรียนและสอนได้ในสถานที่ต่าง ๆ

เพราะการพัฒนาคุณธรรมในตัวคนนั้นจักต้องใช้ การกระทำและการปฏิบัติที่เป็นประจำ สม่ำเสมอ และที่สำคัญคือจะต้อง "เนียน" เข้าไปในชีวิตประจำวัน

ผมมั่นใจว่าทุก ๆ คนรู้ว่า คุณธรรมคืออะไร ทุก ๆ คนรู้จักศีล รู้จักปฏิบัติที่จะทำให้ชีวิตของตนเองเดินไปในทางที่ดี มีจิตสำนึกที่จะทำหน้าที่ทุกหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ด้วยจิตใจที่ดีและเสียสละ

ดังนั้นผู้บริหารการศึกษา หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการวัดหรือประเมินสถานศึกษาไม่ว่าจะในระดับใด ก็ควรที่จะ "เสียสละ" ข้อมูลทางสถิติทางคุณธรรมเหล่านี้ให้เป็นตัวอย่าง เพราะแสดงให้เห็นจริยธรรมข้อแรกที่จะเกิดขึ้นให้เกิดมีในวงการการศึกษาไทย...

ถ้าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมีคุณภาพ ลูกศิษย์ก็ย่อมมีคุณภาพ

ถ้าเราขีดเส้นแบ่งคุณภาพของอาจารย์ในวันนี้แล้วลองวิเคราะห์คุณภาพของคนในทศวรรษที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับการพยากรณ์คุณภาพของคนที่จะถูกสร้างจากอาจารย์ที่ควบคุมด้วยกรองมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา (TQF) ที่จะจบออกมาและทำงานในอนาคต ก็น่าจะเป็นการจำลองภาพได้คร่าว ๆ ถึงคณภาพของคนที่จะจบการศึกษาในมือของ "อาจารย์" ที่ถูกควบคุมโดยการประกันคุณภาพการศึกษาที่ต่างกัน

หรือถ้าย้อนกลับไปให้ลึกหน่อย เราอาจจะวิเคราะห์คุณภาพของคนเปรียบเทียบกันระหว่างก่อนและหลังมีการ "ประกันคุณภาพ" สถาบันการศึกษา ว่าก่อนหรือหลัง "บัณฑิต" ที่จบออกมาทำงานแบบมีระบบประกันคุณภาพ พวก KPI ต่าง ๆ นั้น แบบมีหรือไม่มีแตกต่างกันมากมายสักเพียงไหน...?

ซึ่งจะสามารถเป็นฐานข้อมูลที่จะใช้ประเมินความสำเร็จของ TQF ที่กำลังปรับปรุง แก้ไขและใช้อยู่ในปัจจุบันว่าการศึกษาไทยดีขึ้น แย่ลง เทียบเท่ากับความหวังและเงินภาษีที่สูญเสียไปหรือไม่...?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท