นวดสัมผัส


นวดสัมผัส

               ลูกเปรียบเสมือนแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ทุกคน หลายคนคงได้ยินหรือยึดถือลูกเป็นโซ่ทองคล้องใจของสามีภรรยาครอบครัวที่มี บุตรไว้สืบสกุล การดูแลเด็กจึงถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งใหญ่ที่จำเป็นต้องเรียนรู้พัฒนาเพื่อ ประโยชน์ของเด็กและครอบครัวเพื่อสังคม เป็นที่ยอมรับว่าหากบิดามารดาทราบว่ามีวิธีการใดที่ทำให้บุตรของตนได้รัร บการพัฒนาให้เป็นคนดีมีความสุข ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง เชื่อว่าไม่มีพ่อแม่คนใดจะปฏิเสธที่จะให้บุตรของตนพัฒนาในทุกๆ ด้าน การนวดสัมผัสเป็นวิธีการหนึ่งในการดูแลเลี้ยงดูเด็กอย่างใกล้ชิด นอกเหนือจากการโอบกอดแบบปกติ การนวดสัมผัสเด็กมีส่วนช่วยให้เด็กได้รับความรัก ความปรารถนาดีจากบิดามารดา การพูดคุยสบตากันอย่างใกล้ชิด เกิดความรัก ความอบอุ่น ช่วยให้เด็กผ่อนคลายกันได้ นอนหลับดี ร่างกายแข็งแรง สมความปรารถนาของการดูแลเลี้ยงดูเด็กของพ่อแม่ทุกคน หากเด็กสุขภาพจิตดีได้รับความรัก ความอบอุ่นอย่างเพียงพอ ส่งผลให้เด็กแข็งแรงปลอดภัย มีภูมิคุ้มกันที่ดี การนวดสัมผัสจึงเปรียบเสมือนวัคซีนทางสุขภาพจิต สุขภาพกายอย่างหนึ่งที่นำไปสู่การเป็นคนดีมีคุณภาพเพื่อพัฒนาสังคมต่อไป จะเห็นว่าการนวดสัมผัสเป็นประโยชน์ต่อสังคมที่จะเผยแพร่ให้นำไปใช้ เผยแพร่ให้บิดามารดาได้นำไปใช้หรือประยุกต์ใช้กับบุตรหลานของตัวเองในครอบ ครัวต่อไป

การนวดสัมผัสเด็ก การนวดสัมผัส เป็นการดูแลเด็กให้ใกล้ชิดอบอุ่นเป็นไปตามพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก เป็นการกระตุ้นระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาทไหลเวียนของโลหิตและระบบการย่อยของลำไส้ กระเพาะอาหาร อีกทั้งทำให้เด็กได้รับการสัมผัสและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ มีอารมณ์จิตใจแจ่มใส ร่าเริง นอนหลับพักผ่อนได้ดี ผิวหนังถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาทสัมผัสที่สำคัญของร่างกายที่ไว ต่อการรับรู้ มีความสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมการทำหน้าที่ต่างๆ ของร่างกายและพัฒนาการทางจิตใจ เพราะการสัมผัสเป็นจุดเริ่มต้นในการสื่อสาร ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเด็กทารกคือความรักและความอบอุ่นที่ได้จากแม่ และพ่อ ที่จะทำให้เด็กรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย ซึ่งเด็กจะสื่อสารจากการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทางผิวหนังนั่นเอง สัมผัสรักจากแม่จึงเป็นเครื่องมืออันวิเศษในการสร้างความสัมพันธ์ทางครอบ ครัว ประโยชน์ของการนวดสัมผัสเด็ก

ด้านร่างกาย 1. ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ (เด็กมีกล้ามเนื้อแขนและขาเกร็ง)

2. กระตุ้นการทำงานของระบบหัวใจและการไหลเวียนของโลหิต รวมทั้งระบบทางเดินหายใจ ให้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

3. กระตุ้นการทำงานของระบบประสาท ส่งเสริมการสร้างใยประสาทและการเชื่อมโยงของเซลล์ประสาท ซึ่งส่งผลต่อการทำงานประสานกันของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ 4. ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงทั่วตัว ข้อต่อต่างๆ สามารถรับน้ำหนักและเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น เตรียมพร้อมที่จะคลาน นั่ง ยืน เดิน นอกจากนั้นยังช่วยกระตุ้นการดูดกลืนได้ดีขึ้น

5. ช่วยทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเด็กที่มีอาการท้องอืดบ่อยจะดีมากเลย 6. ในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด ระบบต่างๆ ของร่างกายยังทำงายไม่ปกติและอาจมีอาการปวดของกล้ามเนื้อและส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งการนวดจะช่วยลดความเจ็บปวดได้และยังส่งเสริมการทำงานของระบบต่างๆ ได้ ด้านจิตใจ การนวดส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ ดังนี้

1. ช่วยให้เด็กนอนหลับสบายมากขึ้น ทำให้สมองได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ ส่งเสริมการพัฒนาสมองอย่างเต็มที่

2. การสัมผัสทำให้เด็กเกิดความมั่นคงและอบอุ่น ช่วยผ่อนคลายความเครียดจากการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ดี

3. ช่วยสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างพ่อ-แม่-ลูก มีโอกาสใกล้ชิดกับลูกมากขึ้น ซึ่งลูกจะได้รับรู้ว่านี่เป็นช่วงเวลาพิเศษที่สุดที่จะได้รับความรัก ความอบอุ่นจากพ่อแม่ และช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสด้านอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การมองเห็น การได้ยินจากการจ้องมอง สบตา และการพูดคุยของแม่ระหว่างการนวด

4. เด็กจะรู้จักจดจำและแยกแยะใบหน้า รวมทั้งน้ำเสียงต่างๆ ของผู้นวด ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะทางการเล่นร่วมกับการพัฒนาระบบประสาทสัมผัส

ขั้นตอนการนวดสัมผัสเด็ก

1. การเตรียมเด็ก เด็กจะต้องไม่หิวหรืออิ่มจนเกินไป ในขณะนำเด็กมานวดต้องเป็นช่วงพักผ่อน หลังรับประทานอาหารหรือนมแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง เด็กมีจิตใจร่าเริงแจ่มใสไม่เจ็บป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพใดๆ รวมทั้งมารดาหรือบิดาที่นวดเด็กมีเวลาที่จะพักผ่อนไปได้ด้วยกัน ไม่วิตกกังวลเรื่องใดๆ จิตใจจดจ่ออยู่กับการนวดเพียงอย่างเดียว

2. เตรียมสถานที่และอุปกรณ์ มีอุณหภูมิพอเหมาะ ไม่ร้อนหรือไม่เย็นเกินไป เนื่องจากขณะนวดต้องถอดเสื้อผ้าเด็ก ห้องสะอาด มีอากาศถ่ายเทสะดวก ที่สำคัญต้องมีความเงียบด้วย เนื่องจากขณะนวดต้องใช้สมาธิต่อการนวด หรืออาจเปิดเพลงบรรเลงเบาๆ จะเป็นเพลงพื้นบ้านหรือเพลงคลาสสิก ไทยหรือต่างประเทศก็ได้ที่มีท่วงทำนองผ่อนคลายเบาๆ สบายๆ น้ำมัน สมุนไพรจะช่วยลดแรงเสียดทานในขณะนวด ทำให้การนวดเป็นไปอย่างลื่นไหล อีกทั้งทำให้ผิวของเด็กชุ่มชื่นด้วย เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกทานตะวัน หรือเบบี้โลชั่นต่างๆ สามารถนำมาใช้ได้ ขั้นเริ่มการนวดเด็ก โดยแบ่งเป็นท่าต่างๆ ตามอวัยวะที่นวดดังต่อไปนี้

ท่าที่ 1 นวดศีรษะ โดยลูบจากกลางศีรษะลงมาบริเวณแก้มจนถึงปลายคางเบาๆ ให้มือมาบรรจบกันพอดี ท่านี้ช่วยให้โลหิตในสมองไหลเวียนดี ปรอดโปร่ง เวลานวดลงน้ำหนักเบาๆ เหมือนลูบศีรษะด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากเด็กยังมีศีรษะอาจยังไม่เต็มหัว

ท่าที่ 2 นวดหน้าผาก โดยใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางทั้งสองมือวางบนกึ่งกลางหน้าผากเป็นรูปสามเหลี่ยม และลูบลงมาบริเวณขมับประมาณ 5 ครั้ง : 1 ท่า ท่านี้มีประโยชน์คือช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดบริเวณหน้า ทำให้เด็กอารมณ์ดี แจ่มใส ยิ้มง่าย

ท่าที่ 3 นวดปาก การนวดปากให้ทุกคนใช้นิ้วหัวแม่มือสองข้างวางลงบริเวณกึ่งกลางของริมฝีปากบน ลากลงมาบริเวณมุมปากประมาณ 5 ครั้ง และเปลี่ยนเป็นริมฝีปากล่างอีก 5 ครั้ง ท่านี้จะช่วยกระตุ้นริมฝีปากให้ดูดนมได้ดี และอารมณ์ดี ยิ้มง่าย ยิ้มเก่ง

ท่าที่ 4 นวดหน้าอก โดยใช้มือทั้ง 2 ข้างวางลงบริเวณกลางหน้าอกแล้วลูบลงมาบริเวณชายโครงทั้ง 2 ข้างจนถึงหน้าท้อง เป็นลักษณะของรูปหัวใจ ท่านี้ทำอย่างน้อย 5 ครั้ง แต่ในครั้งแรกๆ 5 ครั้ง หลังจากนั้นหากเด็กพึงพอใจให้ความร่วมมือ จึงเพิ่มเป็น 6-10 ครั้ง ตามลำดับ ท่านี้ช่วยให้เด็กรู้สึกสบายตัว โลหิตสูบฉีดทั้งร่างกายได้สัมผัสความอบอุ่นจากการสัมผัสและสบตากับแม่ขณะนวด อย่างอบอุ่น

ท่าที่ 5 นวดหน้าท้อง โดยท่านี้แบ่งเป็นท่าย่อยๆ 5 ท่า ดังนี้

5.1 ใช้มือลูบจากหน้าอกด้านซ้ายลงมาบริเวณหน้าท้องน้อย

5.2 ใช้มือลูบจากด้านขวาใต้ชายโครงผ่านมาด้านซ้ายของเด็ก และจากขวามาซ้ายและลากจนถึงท้องน้อย

5.3 ใช้มือลูบจากท้องน้อยด้านขวาขึ้นไปบริเวณชายโครงโค้งมาทางชายโครงด้านซ้าย แล้วลากมาถึงบริเวณท้องน้อย ท่านี้จะช่วยในการเผาผลาญอาหาร ทำให้ระบบการย่อยของเด็กดีขึ้น รวมทั้งระบบขับถ่ายและป้องกันการท้องอืด ท้องเฟ้อได้ด้วย

5.4 ใช้มือทั้งสองข้างวางบริเวณหน้าท้องใกล้ชายโครง ลูบลงมาสลับมือกันซ้ายขวาเข้าหาตัว การลงน้ำหนักแล้วแต่ตัวเด็ก ถ้าเด็กตัวเล็กก็ลงน้ำหนักน้อย เด็กตัวโตก็ลงน้ำหนักมากหน่อย โดยพิจารณาตามความรู้สึก ลูบแล้วเด็กพอพอใจสบายตัวให้ลองทำดูจะสังเกตเห็นเด็กได้ โดยย้ำว่าควรสบตาพูดคุยสังเกตเด็กอยู่ตลอดเวลา ท่านี้จะช่วยขับลมแก้ท้องอืด

5.5 นวดหน้าท้องด้วยปลายนิ้วชี้กับนิ้วกลาง ท่านี้เหมือนจั๊กกะจี้เด็ก โดยใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางสลับกัน และย่ำเหมือนเดิน โดยใช้ปลายนิ้วย่ำๆ บริเวณหน้าท้องน้อยด้านขวาไปสู่ด้านซ้าย ท่านี้จะช่วยให้เด็กอารมณ์ดีและเป็นการนวดหน้าท้องเพื่อให้เด็กผ่อนคลาย ส่งผลถึงอารมณ์ที่ดีของเด็ก

ท่าที่ 6 นวดรักแร้ โดยจับให้เด็กยกแขนขึ้นและใช้มือขวาเฉพาะนิ้วกลางกับนิ้วชี้ กดเบาๆ บริเวณรักแร้เด็กและนวดคลึงเบาๆ ประมาณ 5 ครั้ง ท่านี้จะเป็นการช่วยกระตุ้นต่อมน้ำเหลืองและเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อเด็ก

ท่าที่ 7 นวดแขน โดยให้จับมือข้างที่จะนวดและให้มืออีกข้างหมุนขึ้น-ลง ประมาณ 5 ครั้ง ไปรอบๆ แขนจนถึงข้อมือเด็กทั้งสองข้างคลึงกับมือเด็กเบาๆ ทั้งสองข้าง โดยใช้ระหว่างนวด เมื่อเราเปลี่ยนท่าหากมือเราฝืดให้ใช้โลชั่นทา ท่านี้จะช่วยให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อแขน โดยบริเวณฝ่ามือต้องคลี่และลูบปลายนิ้ว โดยใช้นิ้วหัวแม่มือ ลูบคลึงบริเวณฝ่ามือขึ้นไปจนถึงปลายนิ้วทุกๆ นิ้ว จะเป็นการกระตุ้นปลายประสาทให้เด็กได้ ผ่อนคลายความตึงเครียด

ท่าที่ 8 นวดข้อเท้า โดยให้จับข้อเท้าเด็กยกขึ้นลักษณะเดียวกับท่านวดแขน โดยหมุนจากต้นขาถึงข้อเท้าแล้วสลับขึ้น-ลง เหมือนกันทั้งสองข้าง และใช้หัวแม่มือสองข้างลูบจากส้นเท้าขึ้นมาถึงปลายเท้า และลูบไล้นิ้วทุกนิ้วจากโคนนิ้วถึงปลายนิ้วด้วยความอ่อนโยน ท่านี้เป็นการช่วยผ่อนคลายเด็กที่มีปัญหากล้ามเนื้อแขน-ขาเกร็ง

ท่าที่ 9 นวดขาเด็ก โดยให้ยกขาเด็กขึ้น ใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างประคองเด็กขึ้นมาแล้วคลึงจากโคนขาหนีบถึงปลายทั้งสอง ข้าง ท่านี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อขาลดความเกร็งลง และทำให้เดินได้มั่นคงยิ่งขึ้น

ท่าที่ 10 นวดหลัง โดยให้เด็กนอนคว่ำ เริ่มจากใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างวางบนแผ่นหลัง บริเวณไหล่ทั้งสองข้างแล้วลูบลงมาลักษณะกดมือสลับขึ้นลงเบาๆ ถึงบริเวณเอว ทำซ้ำๆ ประมาณ 5 ครั้ง แล้วแต่ความพึงพอใจของเด็ก ท่านี้ช่วยให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณแผ่นหลังและช่วยให้กล้ามเนื้อหลังและ คอแข็งแรง ทำให้เด็กชันคอได้เร็วขึ้น

1. ในการนวดครั้งแรกๆ เด็กอาจจะไม่ให้ความร่วมมือหรือไม่อยู่นิ่งเฉยนัก เนื่องจากไม่คุ้นเคย อาจทำเท่าที่จะสามารถทำได้ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป หรืออาจจูงใจโดยใช้ของเล่นดึงดูดความสนใจของเด็ก หรือพูดคุยหยอกล้อกับเด็กด้วยท่าที่อ่อนโยน

2. เป็นอันจบทุกกระบวนท่าในการนวดสัมผัสเด็ก ซึ่งเด็กอาจหลับก็ปล่อยให้เด็กหลับต่อไปได้เลย หรือแม่อาจงีบตามเป็นการพักผ่อนไปด้วยกัน เพื่อมีแรงไว้ดูแลยามตื่นนอนต่อไป

หมายเลขบันทึก: 335071เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2010 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 18:52 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท