เทคโนโลยีสารสนเทศกับการบริหารการศึกษา


เทคโนโลยีสารสนเทศกับการบริหาร
              วิทยาการก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร เป็นปัจจัยผลักดันที่ทำให้เกิดการติดต่อสื่อสารระหว่างพลโลก อย่างไร้พรหมแดน (Globalization) อย่างรวดเร็วนำไปสู่การผสมผสานความคิด ค่านิยม ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างมวลมนุษย์ชาติ ที่เรียกว่า “กระแสโลกาภิวัฒน์” เทคโนโลยีต่างๆ ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ เกิดการแข่งขันในด้านข้อมูลข่าวสาร ด้วยการนำเอาความรู้และเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพื่อมุ่ง เป้าหมายความเป็นเศรษฐกิจและสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ (Knowledge-based Economy/Society) คน เงิน วัสดุอุปกรณ์ และการจัดการที่ใช้กันอย่างได้ผลในการบริหารในยุคของการเปลี่ยนแปลงหรือที่เรียกว่า ยุคโลกาภิวัฒน์    อาจจะไม่เพียงพอหรือทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก จำเป็นต้องเพิ่มปัจจัยอีก 2 ประการเพื่อการบริหารองค์การให้ประสบผลสำเร็จและเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นนั้น คือ ระบบข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งถือว่ามีบทบาทที่สำคัญต่อการบริหารงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาหรือไปสู่เป้าหมายอันเป็นทิศทางขององค์การทุกระดับเป็นอย่างมาก (บรรเจิด สิทธิโชค, 2539 ) 
                ประเทศไทยในฐานะที่อยู่ร่วมในสังคมโลก ทำให้ได้รับผลกระทบจากกระแสของโลกาภิวัฒน์ที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว จึงได้กำหนดแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศสำคัญไว้ 5 กลุ่ม คือ เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านภาครัฐ (e-Government) เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านพาณิชย์ (e-Commerce) เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม (e-Industry) เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านการศึกษา (e-Education) และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านสังคม (e-Society)       การศึกษาในฐานะกลไกพื้นฐานของการพัฒนาคน เป็นสิ่งที่สังคมคาดหวังว่าจะเป็นเครื่องเตรียมคนและสังคมให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการศึกษาในยุคโลกาภิวัฒน์ จึงเป็นการเตรียมกำลังคนที่มีความฉลาดในการที่จะเป็นบุคลากร นักคิดและนักเลือกข่าวสารข้อมูลมาใช้ในการดำเนินชีวิต       การวางแผนเพื่อพัฒนาการศึกษาจึงต้องเน้น การวางแผนในเชิงรุก โดยวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มของกระแสโลกที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย และวิเคราะห์สถานการณ์การพัฒนาประเทศไทยโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเพื่อหาทิศทางการพัฒนา “ คุณภาพคนไทย” อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้รู้ทันโลก คนมีความสุข ครอบครัวและชุมชนมีสันติสุข การจัดการศึกษาในปัจจุบัน จึงได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษามาใช้เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อพัฒนาผู้เรียนในยุคโลกาภิวัฒน์ ให้มีความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลและข่าวสาร รูปแบบวิธีการเรียนการสอนที่เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล มากขึ้น กระบวนการเรียนการสอนเปลี่ยนบทบาทของครูจากการเป็นผู้ให้ ผู้ถ่ายทอด มาเป็นผู้ออกแบบการศึกษา เพื่อพัฒนาคนที่มีความแตกต่างกัน วิถีทางการเรียนรู้เริ่มเข้าสู่ยุคแห่งการใช้ “ เทคโนโลยีเข้มข้น” ในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ       
              นอกจากนั้นระบบข้อมูลสารสนเทศยังเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของบุคคลทุกระดับ   ยิ่งเป็นผู้มีความรับผิดชอบสูง เป็นผู้บริหารระดับสูงที่ต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ยิ่งต้องการข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน ชัดเจนเป็นปัจจุบันมากขึ้น     พัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้สร้างความท้าทายแก่ผู้บริหารเป็นอย่างมาก เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศสร้างผลกระทบในเชิงลึกต่อวัฒนธรรมความคิด และรูปแบบในการแก้ปัญหาของบุคคล ซึ่งผู้บริหารในอนาคตต้องมีทักษะโดยเฉพาะความรู้ความใจในศักยภาพ และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างถูกต้องและเกิด ประโยชน์แก่องค์กร ผู้บริหารต้องรับผิดชอบในการกำหนดกลยุทธ์การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน  จากความสำคัญที่กล่าวจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้บริหารต้องมีความรู้ความเข้าในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อนำมาใช้บริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาองค์กร
 เทคโนโลยีสารสนเทศ
                ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology : IT) นำโดยวิทยาการทางด้านคอมพิวเตอร์และการสื่อสารโทรคมนาคมนำสมัย ทำให้เกิดการประยุกต์ใช้ประโยชน์ในสาขาต่าง ๆ อย่างกว้างขวางทั้งในภาครัฐและเอกชน ทั้งในวงการธุรกิจและการพัฒนาสังคม ตลอดจนการใช้งานในระดับอุตสาหกรรมไปจนถึงครัวเรือน   นักคิดอย่าง อัลวิน ทอฟเลอร์ ได้เคยเปรียบเทียบถึงยุคสมัยแห่งการปฎิวัติระบบการพัฒนาของมนุษย์ว่าได้ก้าวมาถึง ยุคที่สามซึ่งเป็น “ยุคสารสนเทศ” จากคลื่นสองลูกแรกที่เป็น “ยุคเกษตร” และ “ยุคอุตสาหกรรม” ตามลำดับเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งเป็นฐานรากที่รองรับ “สังคมสารสนเทศ” (Information Society) ที่มี “สารสนเทศ” เป็นหัวใจสำคัญของโลกและของประเทศทั้งทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กล่าวคือ ในขณะที่เทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้ในขบวนการพัฒนาสังคมอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการศึกษา การสาธารณสุข การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการบริหารรัฐกิจ  (กิดานันท์  มลิทอง,2543)
                 เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) หมายถึง กระบวนการต่างๆ และระบบงานที่ช่วยให้ได้สารสนเทศที่ต้องการโดยจะรวมถึง  เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ หมายถึง เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้สำนักงาน อุปกรณ์คมนาคมต่างๆ รวมทั้งซอฟต์แวร์ทั้งระบบสำเร็จรูปและพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะด้าน  หรือกระบวนการในการนำอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ข้างต้นมาใช้งาน รวบรวมข้อมูล จัดเก็บประมวลผล และแสดงผลลัพธ์เป็นสารสนเทศในรูปแบบต่างๆ ทีสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้      โดยทั่วไปแล้วหลักของเทคโนโลยีสารสนเทศประกอบด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีโทรคมนาคมซึ่งนับวันจะรวมเป็นเนื้อเดียวกัน (converge) จนแยกไม่ออก นอกจากนั้นยังเป็นเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวยให้เกิดการใช้ประโยชน์ด้านการนำเสนอ หรือกระจายเสียง(broadcasting) การผสมผสานของเทคโนโลยีเหล่านี้จะเห็นได้ชัดในการประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ เช่น ตู้เบิกเงิน ATM, อินเทอร์เน็ต และเคเบิลทีวี  หากพิจารณาในเชิงกายภาพแล้วเทคโนโลยีสารสนเทศประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ส่วน คือ   ฮาร์ดแวร์ (Hardware)   ,ซอฟต์แวร์ (Software) , ฐานข้อมูล (Database) และ บุคลากร (Peopleware) ซึ่งมักจะถูกละเลยหรือมองข้ามในสังคมไทย ในส่วนประกอบทั้งสี่ดังกล่าว ยังสามารถจำแนกรายละเอียดออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้ ฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ข้างเคียง(Peripherals) ฮาร์ดแวร์โทรคมนาคม ซึ่งสามารถจัดหมวดหมู่เป็นประเภทมีสาย (Wireline) และไร้สาย(Wireless) รวมทั้งฮาร์ดแวร์ประเภทเครือข่ายซึ่งสามารถจัดประเภทเป็นเครือข่าย ท้องถิ่น (Local Area Network : LAN) และเครือข่ายระหว่างพื้นที่ (Wide Area Network : WAN) ฐานข้อมูลในรูปแบบต่างๆ เช่น Management Information System (MIS) , Executive Information System (EIS)  รวมทั้งการสร้างฐานข้อมูลจากโปรแกรมสำเร็จรูป (Canned Program) เช่น Dbase, EXCEL เป็นต้น อุปกรณ์สำนักงานอัตโนมัติ (Office Automation : OA) ซึ่งเป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการเรียนการสอน รวมถึงเครื่องโทรศัพท์, โทรสาร, scanner, bar-code, VDO และ Tele-Conferencing และการสื่อสารในระบบไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) เป็นต้น     ทั้งหมดนี้เมื่อนำมาใช้ประโยชน์เฉพาะประเภทหรือร่วมกันแล้ว ก็กลายเป็นการ ประยุกต์ใช้ (Applications)   เทคโนโลยีของระบบสารสนเทศในปัจจุบัน ประกอบด้วย ระบบย่อย 5  ส่วนคือ
                  ระบบประมวลผลข้อมูล (Transaction Processing Systems (TPS)  หรือบางครั้งเรียกว่าระบบประมวลผลรายการประจำ (Transaction Processing System หรือ TPS) หรือระบบประมวลผลข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Processing หรือ EDP) เป็นการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการจัดการข้อมูลขั้นพื้นฐาน โดยเน้นที่การประมวลผลรายการประจำวัน (Transaction) และการเก็บรักษาข้อมูล  ระบบประมวลผลข้อมูลมักจะถูกใช้งานได้ถึงระดับของผู้บริหารระดับปฏิบัติการ(Operational management) เท่านั้น เนื่องจากระบบชนิดนี้จะยืดหยุ่น และไม่สามารถสนองความต้องการข้อมูลหรือสารสนเทศที่ไม่ได้จัดเก็บอยู่ในระบบได้ อย่างไรก็ดี ข้อมูลในระบบประมวลผลข้อมูลจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับนำไปประมวลผลในระบบระดับสูงอื่นๆ ซึ่งมีความยืดหยุ่นพอที่จะให้สารสนเทศเพื่อช่วยให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจในสภาวะแวดล้อมที่มักมีการเปลี่ยนแปลงได้ นั่นคือ ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร (Management Information System)
                  สารสนเทศเพื่อการบริหาร (Management Information System (MIS)   คือ ระบบบริหารที่ให้สารสนเทศที่ผู้บริหารต้องการ  เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะรวมทั้งสารสนเทศจากภายในและภายนอก สารสนเทศที่เกี่ยวพันกับองค์กรในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งที่คาดว่าจะเป็นอนาคตนอกจากนี้ระบบ MIS จะต้องให้สารสนเทศภายในช่วงเวลาที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจในการวางแผนการควบคุม และการปฏิบัติการขององค์กรได้อย่างถูกต้อง แม้ว่าผู้บริหารที่ได้รับประโยชน์จากระบบเอ็มไอเอสสูงสุดคือผู้บริหารระดับกลาง แต่โดยพื้นฐานของระบบ  MIS   แล้ว จะเป็นระบบที่สามารถสนับสนุนข้อมูลให้ผู้บริหารทั้ง 3 ระดับ คือทั้งผู้บริหารระดับต้น ผู้บริหารระดับกลาง และผู้บริหารระดับสูง โดยจะเน้นให้ผู้บริหารสามารถมองเห็นแนวโน้มและภาพรวมขององค์กรในปัจจุบัน รวมทั้งสามารถควบคุมและตรวจสอบผลงานของระดับปฏิบัติการ  ลักษณะของระบบ MIS ที่ดี  จะสนับสนุนการทำงานของระบบประมวลผลข้อมูลและการจัดเก็บข้อมูลรายวัน  ระบบ MIS จะใช้ฐานข้อมูลที่ถูกรวมเข้าด้วยกันและสนับสนุนการทำงานของฝ่ายต่างๆ ในองค์กร  ช่วยให้ผู้บริหารระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง เรียกใช้ข้อมูลที่เป็นโครงสร้างได้ตามเวลาที่ต้องการ   มีความยืดหยุ่นและสามารถรองรับความต้องการข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไปขององค์กร   ระบบ MIS ต้องมีระบบรักษาความลับของข้อมูล และจำกัดการใช้งานของบุคคลเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น 
                  ระบบการสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support Systems (DSS)  เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นจากระบบ MIS อีกระดับหนึ่ง   ถึงแม้ว่าผู้มีหน้าที่ในการตัดสินใจจะสามารถใช้ประสบการณ์หรือใช้ข้อมูลที่มีอยู่แล้วในระบบ MIS สำหรับทำการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพในงาน แต่บ่อยครั้งที่ผู้ที่จะตัดสินใจโดยเฉพาะผู้บริหารในระดับวางแผนบริหารและวางแผนยุทศาสตร์ จะเผชิญกับการตัดสินใจ ซึ่งเป็นระบบที่สนับสนุนความต้องการเฉพาะของผู้บริหารแต่ละคน (made by order) ระบบสนับสนุนการตัดสินใจมีหน้าที่ช่วยให้การตัดสินใจเป็นไปได้อย่างสะดวก โดยอาจจะช่วยผู้ตัดสินใจในการเลือกทางเลือก หรืออาจมีการจัดอันดับให้ทางเลือกต่างๆตามวิธีที่ ผู้ตัดสินใจกำหนด นอกจากนี้ ระบบสนับสนุนการตัดสินใจจะเป็นระบบสารสนเทศแบบตอบโต้ได้ ซึ่งจะใช้ชุดเครื่องมือที่ประกอบขึ้นจากทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เพื่อช่วยให้ผู้ตัดสินใจให้สามารถใช้งานได้ง่ายที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ
                 ระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหารระดับสูง  (Executive Information Systems (EIS) เป็นระบบที่สร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนสารสนเทศและการตัดสินใจสำหรับผู้บริหารระดับสูงโดยเฉพาะ หรือสามารถกล่าวได้ว่าระบบ EIS ก็คือส่วนหนึ่งของระบบ DSS ที่แยกออกมาเพื่อเน้นในการให้สารสนเทศที่สำคัญต่อการบริหารแก่ผู้บริหารระดับสูงสุด ระบบ EIS จะใช้ข้อมูลทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร (เช่น รายงานจากหน่วยงานของรัฐบาล หรือข้อมูลประชากร) นำมาสรุปอยู่ในรูปแบบที่สามารถตรวจสอบ และใช้ในการตัดสินใจโดยผู้บริหารได้ง่าย นอกจากนี้ ยังช่วยให้ผู้บริหารดูในรายละเอียดที่ต้องการในจุดต่างๆ ได้อีกด้วย
                  ระบบผู้เชียวชาญ  (Expert Systems (ES)  คือเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่ช่วยผู้บริหาร แก้ไขปัญหา หรือทำการตัดสินใจได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ระบบผู้เชี่ยวชาญจะแตกต่างจากระบบอื่นๆ อยู่มาก เนื่องจาก ระบบผู้เชี่ยวชาญจะเกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้(Knowledge) มากกว่าสารสนเทศ และถูกออกแบบมาให้ช่วยในการตัดสินใจโดยใช้วิธีเดียวกับผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมนุษย์ โดยใช้หลักการทำงานด้วยระบบ ปัญญาประดิษฐ์ (Artifitial Intelligence)  ระบบผู้เชี่ยวชาญจะทำการโต้ตอบกับมนุษย์ โดยมีการถามข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อความกระจ่าง ให้ข้อแนะนำ และช่วยเหลือในกระบวนการตัดสินใจ นั่นคือ การทำงานคล้ายกับเป็นมนุษย์ผู้เชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหานั้นๆ เนื่องจากระบบนี้ก็คือ การจำลองความรู้ของผู้เชี่ยวชาญจริงๆ มานั่นเอง
                  การบริหารงานในปัจจุบันจึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่บุคคลในแต่ละระดับต้องอาศัยแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้มีความทันสมัย เพื่อเป็นองค์ประกอบสำคัญในการตัดสินใจ การได้มาถึงแหล่งข้อมูลที่มีประสิทธิภาพจะสามารถทำให้ผู้บริหารหรือบุคลากรทุกส่วนมีเป้าหมายที่ชัดเจน ดังนั้นระบบสารสนเทศขององค์กรจึงเป็นตัวหล่อเลี้ยงที่จะทำให้องค์กรมีความมั่นใจ กล้าที่จะตัดสินใจเพื่อสู่เป้าหมายที่ชัดเจน
"รบร้อยครั้งชนะ ร้อยหนึ่งครั้ง เพราะเรารู้ว่าวันพรุ้งนี้จะเกิดอะไรขึ้น"
สิทธิพล พหลทัพ
------------------------------------------------------------------------------------------------------
กิดานันท์  มลิทอง. (2543). เทคโนโลยีการศึกษาและนวัตกรรม.  พิมพ์ครั้งที่  2. กรุงเทพฯ  :          
                อรุณการพิมพ์.
กรมวิชาการ.(2544). รายงานสรุปผลวิจัย เรื่อง สภาพการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศการศึกษา
                เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา. กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ.
บรรเจิด สิทธิโชค. (2539). ระบบข้อมูลสารสนเทศในโรงเรียน สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอ
                พร้าว จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ มหาบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา
                บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สุพรรณิการ์ พงศ์ผาสุก. (2550). กระบวนการจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารของสถาน
                ศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดเทศบาล จังหวัดนนทบุรี. วิทยานิพนธ์ คุรุศาสตร์มหาบัญฑิต         
                สาขา  การบริหารการศึกษา บัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร.

 

หมายเลขบันทึก: 334871เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2010 21:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท