SWIT
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ .

๗ >> ผู้มีปัญหาสถานะบุคคลที่ตำบลเสาหิน และตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน สูงร่วม ๘๐๐ คน


สรุปสถานการณ์ด้านสถานะบุคคลและสิทธิของคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติประจำปี ๒๕๕๒

สถานการณ์คนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า(จังหวัดแม่ฮ่องสอน) 

 

๗ >> ผู้มีปัญหาสถานะบุคคลที่ตำบลเสาหิน และตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน สูงร่วม ๘๐๐  คน 

 

ช่วง ๒ ปีที่ผ่านมาที่ทาง SWIT ได้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย คือคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม แผนกชาติพันธุ์ สังฆมณฑลเชียงใหม่, สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในพื้นที่ตำบลแม่คงและตำบลเสาหิน อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เราพบว่า[๑]

 

กรณีในพื้นที่ตำบลเสาหิน (ได้แก่หมู่ ๒ แม่เหลอ, หมู่ ๖ สล่าเจียงตอง (หย่อมบ้านนาป่าแป๋ บ้านแพะ), หมู่ ๕ โพซอ (หย่อมบ้านแม่ต๊อบ บ้านแม่เจ)[๒]

 

สภาพปัญหาด้านสถานะบุคคล 

๑)   พบคนที่ไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ ในพื้นที่บ้านนาป่าแป๋ กับบ้านแม่แพะจำนวนประมาณ ๑๕๐ คน (ซึ่งคนกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มคนที่เป็นลูกหลานผู้มีสัญชาติไทย แต่ตกหล่นทางทะเบียนบ้านรวมอยู่ด้วย) 

๒)   มีเด็กที่ไม่ได้รับเอกสารการเกิด ในพื้นที่บ้านนาป่าแป๋ โดยผู้ใหญ่บ้านไม่ดำเนินการออก ท.ร. ๑ ตอนหน้าให้ รวมถึงกรณีที่พ่อแม่เด็กไม่ได้ไปดำเนินการแจ้งการเกิด หรือเมื่อไปดำเนินการแล้ว เจ้าหน้าที่ตอบว่าเด็กที่พ่อแม่ถือ ท.ร.๑๓ ไม่สามารถแจ้งการเกิดได้, นอกจากนี้ ในพื้นที่บ้านสล่าเจียงตอง เพิ่งจะมีอนามัยในปี ๒๕๔๘ ทำให้เด็กที่เกิดก่อนปีดังกล่าว ไม่มีเอกสารการเกิดจากสถานีอนามัย (ท.ร.๑/๑)

๓)  การรับฟังพยานหลักฐาน ทางอำเภอเห็นว่าพยานบุคคลไม่มีน้ำหนัก และพยายามเรียกพยานเอกสารเพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างบิดา-มารดา กับบุตร ซึ่งบิดา-มารดาและบุตร ไม่มีหลักฐานอื่นใดอีก หรือโดยนัยก็คือต้องการให้ชาวบ้านในกรณีเช่นนี้ไปดำเนินการตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นภาระที่สูงสำหรับชาวบ้าน

๔)  กรณีความไม่ชัดเจนต่อสถานะบุคคลของผู้ถือบัตรเลข ๐ (บัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน) ในพื้นที่นาป่าแป๋ ชาวบ้านเข้าใจว่า บุคคลที่ถือบัตรเลข ๐ เมื่อครบระยะเวลา ๑๐ ปี จะต้องถูกผลักดันออกนอกประเทศ

ด้านสิทธิขั้นพื้นฐานด้านต่างๆ/สิทธิมนุษยชน

(๕)  การไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ ทำให้ชาวบ้านไม่กล้า ไม่มั่นใจที่จะเดินทางออกนอกหมู่บ้าน หรือเมื่อเดินทางออกนอกพื้นที่ มักถูกเจ้าหน้าที่ตรวจและเรียกให้แสดงบัตร ซึ่งชาวบ้านไม่สามารถแสดงบัตรได้

(๖) ชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินทำกินของตนเอง ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ทั้งๆ ที่ชาวบ้านอาศัยอยู่และครอบครองพื้นที่ดังกล่าวมาก่อนที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ จะประกาศทับที่ทำกินชาวบ้านในปี ๒๕๒๗

 

กรณีในพื้นที่ตำบลแม่คง ได้แก่ บ้านอูนุ, หมู่ ๔ ห้วยเหี๊ยะ (ขุนห้วยเหี๊ยะ, อูนุ, จอซิเดอร์เหนือ, จอซิเดอร์ใต้), หมู่ ๙ ปอหมื้อ (หย่อมบ้านจอปร่าคี, จอกอครี)[๓]

สภาพปัญหาด้านสถานะบุคคล

๑)       มีบุคคลที่ไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ เลย

ในพื้นที่หย่อมบ้านปอหมื้อ, บ้านจอปราคี จอกอครี พบว่า มีประชากรประมาณ ๔๐๐ คน แบ่งเป็น ผู้มีสัญชาติไทย จำนวน ๑๐๐ คน, บุคคลที่ไม่มีเอกสารใดๆ เลยประมาณ ๓๐๐ คน (โดยประเมินว่า ในจำนวน ๓๐๐ คนนี้ มีบุคคลที่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎรไทยประมาณ ๗๐ คน)

ในพื้นที่บ้านอุนุ พบว่ามี ประชากรประมาณ ๒๐ ครอบครัว แบ่งเป็น ผู้มีผู้มีสัญชาติไทย ประมาณ ๒ ครอบครัว ที่เหลือคือบุคคลที่ไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ

ในพื้นที่บ้านจอสิเดอร์ ซึ่งประกอบไปด้วย ๒ หย่อมบ้านคือ จอสิเดอร์เหนือและจอสิเดอร์ใต้ มีประชากรประมาณ ๔๐๐ กว่าคน แบ่งเป็น ผู้มีสัญชาติไทยประมาณ ๓๐๐ กว่าคน, ที่เหลือประกอบไปด้วยบุคคลผู้ถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย ประมาณ ๒-๓ คน, บุคคลที่ไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ และคนที่สันนิษฐานว่าตกหล่นจากทะเบียนราษฎรประเภท ๑๔

ในพื้นที่บ้านห้วยเหี๊ยะ มีประชากรประมาณ ๒๐๐ กว่าคน แบ่งเป็น ผู้มีสัญชาติไทยประมาณ ๑๕๐ คน, บุคคลที่ไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ และคนที่สันนิษฐานว่าตกหล่นจากทะเบียนราษฎรประเภท ๑๔

 

๒)    ข้อจำกัดในการมีเอกสารการเกิดของเด็ก/บุคคล ทั้งกรณีของ ท.ร.๑/๑ และสูติบัตร

กรณีเด็กไม่มี ท.ร.๑/๑ พบว่า ชาวบ้านมักไม่ฝากท้องกับสถานีอนามัยสล่าเจียงตอง (กรณีตำบลเสาหิน) และสถานีอนามัยจอสิเดอร์ (กรณีตำบลแม่คง) เพราะว่าต้องเดินทางไกล อีกทั้งกรณีสถานีอนามัยจอสิเดอร์ พบว่าไม่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำอยู่โดยตลอด

กรณีเด็กไม่มีสูติบัตร หรือเอกสารการเกิดที่ออกโดยอำเภอแม่สะเรียง พบว่า เดิมนั้น ผู้ใหญ่บ้านสามารถนำท.ร.๑/๑ และท.ร.๑ ตอนหน้าของเด็ก ไปแจ้งเกิดแทนบิดา-มารดา ต่ออำเภอ แต่ปัจจุบัน ทางอำเภอระบุว่าบิดา-มารดาจะต้องมาแจ้งเกิดบุตรด้วยตนเอง ซึ่งในทางข้อเท็จจริงแล้ว เป็นไปได้ยากสำหรับชาวบ้าน เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทางจากหมู่บ้านมายังอำเภอแม่สะเรียง

 

ข้อจำกัดในการเดินทางมายังอำเภอแม่สะเรียงของชาวบ้านเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห่างไกล

  • กรณีของบ้านจอสิเดอร์ การเดินทางใช้เวลาเดินเท้าจากบ้านจอสิเดอร์ไปยังบ้านโพซอ ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๑ วัน (หรือหากใช้รถจักรยานยนต์ ใช้เวลาประมาณ ๔ ชั่วโมง) เพื่อรอติดรถขนส่งสินค้าเข้าอำเภอ ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๕ ชั่วโมง
  • กรณีบ้านจอปราครี จะต้องเดินทางโดยเรือ มายังท่าเรือแม่สามแล่บ ซึ่งชาวบ้าน ๑๗ คน เคยเสียค่าเรือ ๒๗,๐๐๐ บาท (ขาเดียว) และเสียค่ารถโดยสารจากแม่สามแล่บ-อำเภอแม่สะเรียง คนละ ๑๐๐ บาท[๔]
  • กรณีบ้านอูนุ การเดินทางจะต้องเดินเท้าจากบ้านอูนุ มายังบ้านห้วยเหี๊ยะ ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๕ ชั่วโมง และเดินต่อมายังบ้านนาป่าแป๋ อีก ๕ ชั่วโมง เพื่อรอติดรถขนส่งสินค้ามายังอำเภอ
  • กรณีบ้านปอหมื้อ การเดินทางต้องเดินเท้าจากบ้านปอหมื้อมายังบ้านนาป่าแป๋ ซึ่งใช้เวลาถึง ๒ วัน เพื่อรอติดรถขนส่งสินค้ามายังอำเภอ

 

ด้านสิทธิขั้นพื้นฐานด้านต่างๆ/สิทธิมนุษยชน

๓)     พบว่า ชาวบ้านทุกหมู่บ้าน ต้องการให้มีการพัฒนาเส้นทางสำหรับรถจักรยานยนต์

๔)     พบว่า กรณีบ้านห้วยเหี๊ยะ ต้องการให้มีการซ่อมเส้นทางรถจักรยายนต์ แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่อนุญาต

๕)     พบว่า ชาวบ้านทุกหมู่บ้าน ต้องการให้มีการพัฒนาระบบประปาภูเขา

๖)      พบว่า เนื่องจากเด็กต้องเดินไปเรียนที่ห้วยเหี๊ยะ หรือที่บ้านจอสิเดอร์ ชาวบ้านอูนุ จึงต้องการให้มีศูนย์การเรียนแม่ฟ้าหลวง

๗)     พบว่า ในช่วงฤดูหนาวของทุกปี ชาวบ้านจำนวนประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของทั้ง ๒ ตำบลจะป่วยเป็นโรคมาลาเรีย

 

 


[๑] อ่านฉบับเต็ม: รายงานการประชุมกลุ่มย่อยร่วมกับตัวแทนชาวบ้านตำบลเสาหินและตำบลแม่คงเพื่อรับฟังสถานการณ์ปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิ โดยคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหากรณีชาวบ้านที่ประสบปัญหาความไร้รัฐ ไร้สัญชาติ คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม แผนกชาติพันธุ์ สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ(SWIT) และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ณ บ้านนาป่าแป๋ ตำบลเสาหิน อำเภอแม่สะเรียง  จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปี ๒๕๕๒

[๒] จากบ้านและหย่อมบ้านในตำบลเสาหินทั้งหมด คือ หมู่ ๑ เสาหิน (บ้านใหม่,บ้านกิ่ว,ห้วยเดื่อ,ห้วยปู), หมู่ ๒ แม่เหลอ (ขุนแม่เหลอ,มอโกจอ), หมู่ ๓  แม่สอง (แม่โป่,วาทู,พะโป่แฮ,ขุนแม่สอง), หมู่ ๔ แม่เจ (ห้วยอี่หลู่), หมู่ ๕ โพซอ,  หมู่ ๖ สล่าเจียงตอง (แม่ต๊อบ,นาป๋าแป๋,บ้านแพะ)

[๓] ตำบลแม่คง ประกอบไปด้วย หมู่ ๔ ห้วยเหี้ยะ (ขุนห้วยเหี๊ยะ,อุนุ,จอซิเดอร์เหนือ,จอซิเดอร์ใต้), หมู่ ๕ กองสุน, และหมู่ ๙  ปอหมื้อ (จอปร่าคี,จอกลอคี), อูน

[๔] กรณีดังกล่าว ชาวบ้านต้องเร่งเดินทางมายังอำเภอ ตามที่อำเภอนัดหมายเพื่อรับการสำรวจบัตรเลข ๐ ส่วนขากลับ ชาวบ้านกลับบ้านโดยการเดินเท้า

 

หมายเลขบันทึก: 334849เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2010 19:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท