SWIT
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ .

๑ >> ๔ ปียุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล


สรุปสถานการณ์ด้านสถานะบุคคลและสิทธิของคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติประจำปี ๒๕๕๒

ด้านสถานะบุคคล 

 

๑ >> ๔  ปียุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล 

 

แม้จะมีบางประเด็นที่มองจากข้อห่วงใย แต่ไม่เกินเลยไปแน่นอนที่จะกล่าวว่า ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล (มติคณะรัฐมนตรี ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘) ได้วางตัวลงในสังคมไทยอย่างมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ ภายใต้แนวคิดและกรอบของตัวเองที่ว่า “เป็นการใช้แนวคิดการจัดการปัญหาความมั่นคงในมิติใหม่ คือคำนึงถึงความสมดุลของสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์และความมั่นคงของชาติควบคู่กัน”

ในแง่ของการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐ คีย์เวิร์ดสำคัญได้แก่ การสำรวจ กำหนดและพัฒนาสถานะบุคคล โดยเริ่มจากคนไร้รัฐจะต้องได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติ กำหนดเลขประจำตัว ๑๓ หลัก กำหนดสถานะบุคคลเป็น “บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน” (ถือบัตรประจำตัว ขึ้นต้นด้วยเลข ๐) นัยอย่างเป็นทางการของการบันทึกรายการบุคคลในฐานข้อมูลของกรมการปกครองก็คือ คนกลุ่มนี้จะไม่ใช่คนไร้รัฐอีกต่อไป แต่เป็น ‘ราษฎรต่างด้าว’ ของประเทศไทย 

 

๑.๑  ๔ ปี บนเส้นทาง ...การขจัดความไร้รัฐไร้สัญชาติ       

๒๒๐,๖๒๖ คน คือคนไร้รัฐ ๖ กลุ่มภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ ที่ได้รับการสำรวจฯ หรือถือบัตรเลข ๐

ประกอบไปด้วย กลุ่มที่ ๑ บุคคลที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยที่มีความเกี่ยวพันกับผู้ที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติชนกลุ่มน้อยไว้เดิมแต่ตกสำรวจ จำนวน ๑๕๐,๑๑๓ คน กลุ่มที่ ๒ นักเรียนที่อยู่ในสถานศึกษา จำนวน ๖๖,๙๓๗ คน  กลุ่มที่ ๓ คนไร้รากเหง้า จำนวน ๓,๕๕๓ คน กลุ่มที่ ๔ บุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ จำนวน ๒๓ คน  กลุ่มที่ ๕  แรงงานต่างด้าวและกลุ่มที่ ๖  ต่างด้าวอื่น ๆ ยังไม่ได้ดำเนินการสำรวจ (ข้อมูล ณ วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๒, สำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย)

อาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวเลขที่ไม่มาก เมื่อเทียบกับจำนวนบุคคลผู้มีปัญหาสถานะร่วม ๒ ล้านที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติประเมินไว้ในปีเริ่มต้นของยุทธศาสตร์ฯ  จากข้อมูลภาคสนาม เราพบว่า การดำเนินการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติฯ ยังคงมีความล่าช้า เช่น กรณีพื้นที่อำเภอสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบว่าทางอำเภอได้ดำเนินการสำรวจทั้งหมดรวม ๓ ครั้ง ระหว่างวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๙- สิงหาคม ๒๕๕๑ ซึ่งเกินกว่า ๙๐ วัน ก็ยังไม่มีการดำเนินการให้ประชาคมหมู่บ้าน/ชุมชน ตรวจสอบรับรองบุคคล ในกรณีของกลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยที่มีความเกี่ยวพันกับชนกลุ่มน้อยเดิม แต่ตกสำรวจ รวมทั้งไม่มีการบันทึกข้อมูลเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติและจัดทำบัตรประจำตัว ในกรณีของกลุ่มเด็กในสถาบันศึกษาแต่อย่างใด ซึ่งการสำรวจถึง ๓ ครั้งในช่วงเวลาร่วม ๒ ปี ได้สร้างความสับสนให้กับกลุ่มคนเป้าหมายของยุทธศาสตร์ฯ และระเบียบฯ ดังกล่าว , ในพื้นที่ทำงานของคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม แผนกชาติพันธุ์ ที่เป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกับ SWIT ยังคงมีคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล อาทิ ในพื้นที่ ตำบลแม่คง และตำบลเสาหิน อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่อ่องสอน ร่วม ๘๐๐ คน ด้วยปัญหาข้อจำกัดในแง่ภูมิศาสตร์ หลายสิบหย่อมบ้านและหมู่บ้านอยู่ในพื้นที่ห่างไกล

 

ในด้านของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ได้ให้ภาพสะท้อนต่อข้อสังเกตของเราว่า[1]

(๑)       กรณีการสำรวจคนกลุ่มที่หนึ่ง หรือคนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว

(๑.๑) สืบเนื่องจากหลักเกณฑ์การสำรวจตามยุทธศาสตร์ฯ กรณีบุคคลกลุ่มที่ ๑ ที่กำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นคนที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย ก่อน ๑๘ มกราคม ๒๕๓๘ (เข้ามาในช่วง ๑๐ ปีก่อนหน้าการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ฯ) ขณะที่การสำรวจครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายคือเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๒ (ภายใต้โครงการมิยาซาวา หรือการสำรวจบัตรเขียวขอบแดง) ดังนั้น เมื่อกำหนดว่าจะสำรวจเฉพาะคนที่อพยพเข้ามาในเมืองไทยก่อนปี ๒๕๓๘ ทำให้คนจำนวนหนึ่งตกหล่นไปจากกลุ่มเป้าหมาย คือ คนที่อพยพเข้ามาช่วง ๑๘ มกราคม ๒๕๓๘ - ๒๙ กันยายน ๒๕๔๒ อันจะทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล กรณีนี้ ทางกรมการปกครองเห็นว่า อาจจะต้องมีการปรับแก้หลักเกณฑ์ดังกล่าวในการสำรวจครั้งใหม่นี้

(๑.๒) พบว่ามีการทุจริตคอรัปชั่นอย่างหนักในหลายพื้นที่ ได้แก่ อ.แม่สอด จ.ตาก อ.เวียงแหง จ.เชียงราย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทำให้กลุ่มเป้าหมายไม่ได้รับการสำรวจ และพบว่าส่วนหนึ่งของผู้ได้รับการสำรวจก็กลับไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งพบว่ามีกระบวนการต่อรองเรียกรับผลประโยชน์จากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยมีการสำรวจแล้วไม่ส่งข้อมูลให้อำเภอ ทำให้การทำงานในภาพรวมต้องสะดุด เนื่องจากมีการปิดระบบหลังพบการทุจริตดังกล่าว

 

(๒) กรณีคนกลุ่มที่ ๒ หรือนักเรียนที่อยู่ในสถานศึกษา

การสำรวจคนกลุ่มนี้ นอกจากจะเป็นการสำรวจภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ แล้ว ยังเป็นการสำรวจภายใต้มติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ เรื่อง ร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐาน วัน เดือน ปีเกิด ในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา  พ.ศ. ….. (การจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย) ซึ่งได้กำหนดบทบาทให้กรมการปกครองในการสำรวจ แต่เนื่องจากขาดการจัดสรรงบประมาณ จึงสร้างความยุ่งยากให้พอสมควรในการดำเนินการสำรวจ

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดให้สำรวจให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา ๒ เดือน จึงทำให้ไม่มีกระบวนการในการทำความเข้าใจกับครูอาจารย์ที่ทำการสำรวจในเรื่องกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง ดังนั้นในช่วงแรกจึงพบว่ามีการสำรวจเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งมีเลขประจำตัวอยู่แล้วปะปนมาด้วย โดยคาดว่าในตัวเลขที่มีการสำรวจในปัจจุบันก็ยังมีกลุ่มที่ซ้ำซ้อนกันอยู่

และในส่วนการขั้นตอนการกำหนดสถานะบุคคล อาจจะมีปัญหาในเรื่องหลักเกณฑ์ โดยเฉพาะกลุ่มที่ออกจากสถานศึกษากลางคันนั้นจะรวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วยหรือไม่

 

(๓) กรณีคนกลุ่มที่ ๓ หรือคนไร้รากเหง้า

เป็นการดำเนินการภายใต้การออกแบบให้การสำรวจอยู่ในความดูแลของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) การสำรวจในรอบแรกที่ผ่านมาพบว่า ยังมีจำนวนตัวเลขที่ค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีการสำรวจเฉพาะเด็กในสถานสงเคราะห์ที่อยู่ในความดูแลของพม. ผู้ที่อยู่ในความดูแลของกรมราชฑัณฑ์ และอยู่ในความดูแลของกรมพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน คาดว่ายังคงมีผู้ที่ตกหล่นอีกจำนวนหนึ่ง ได้แก่ กลุ่มที่อยู่นอกสถานสงเคราะห์ หรืออยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เอกชนที่ไม่ได้จดทะเบียน เป็นต้น ซึ่งการสำรวจรอบใหม่ พม.ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ว่าจะดำเนินการสำรวจกลุ่มเหล่านี้อย่างไร

 

(๔) กรณีคนกลุ่มที่ ๔  หรือคนที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ

กล่าวได้ว่า คนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่มีการสำรวจ เป็นการดำเนินการภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย อย่างไรก็ดี พบว่า ยังมีความไม่ชัดเจนต่อกลุ่มเป้าหมายในประเด็นต่างๆ เช่น “การทำคุณประโยชน์” นั้น หมายถึงเฉพาะการทำคุณประโยชน์ภาครัฐหรือไม่

อย่างไรก็ดี ล่าสุด ภายใต้ความเห็นของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ข้อสรุปแล้วว่าให้หมายถึง การทำคุณประโยชน์ทั้งต่อภาครัฐและเอกชนที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

หรือประเด็นความไม่ชัดเจนว่า “เป็นการทำคุณประโยชน์ด้านใดบ้าง” เนื่องจากยุทธศาสตร์กล่าวไว้กว้างๆว่าด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และด้านอื่นๆตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด ซึ่งจนถึงปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยก็ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวออกมา ทำให้การดำเนินการสำรวจรวมทั้งกลุ่มเป้าหมายยังไม่ชัดเจน อีกทั้งยังค่อนข้างยากในการดำเนินการสำรวจว่าจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร ซึ่งเป็นไปได้ว่ากรณีกลุ่มนี้น่าจะเป็นลักษณะให้เดินเข้ามาขอรับการสำรวจเองมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดกรอบการพิจารณากำหนดสถานะที่เหมาะสมให้แก่กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาในเรื่องสถานะและสิทธิซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ฯดังที่ระบุไว้  แต่ก็ยังไม่ปรากฏมาตรการใด ๆ ในทางปฏิบัติที่ออกมาเพื่อรองรับการกำหนดสถานะที่เหมาะสมให้แก่บุคคลดังกล่าว ทั้งกลุ่มที่ยังรอรับการสำรวจ และกลุ่มได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตนแล้ว ซึ่งทำให้การขจัดความไร้สัญชาติยังไม่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งยังส่งผลถึงการเข้าถึงสิทธิในด้านต่างๆยังไม่สมบูรณ์

ทั้งนี้ในเดือนมกราคม ๒๕๕๓ คาดว่าจะมีการเสนอหลักเกณฑ์การกำหนดสถานะให้กับกลุ่มที่ได้รับการสำรวจตามยุทธศาสตร์ฯในกลุ่มที่ ๑ บุคคลที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยที่มีความเกี่ยวพันกับผู้ที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติชนกลุ่มน้อยไว้เดิมแต่ตกสำรวจ ต่อที่ประชุมครม. และกลุ่มที่จะมีการพิจารณาหลักเกณฑ์ตามมาคือ กลุ่มที่ ๔ บุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ  กลุ่มที่ ๒ นักเรียนที่อยู่ในสถานศึกษา  และกลุ่มที่ ๓ คนไร้รากเหง้า ตามลำดับ

ล่าสุดมติครม.วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา กำหนดให้มีการดำเนินการสำรวจกลุ่มบุคคลที่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งตกสำรวจในรอบที่ผ่านมา รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้ดำเนินการสำรวจ[2] ซึ่งเป้าหมายนั้นคาดว่าจะสามารถสำรวจและจัดทำทะเบียนบุคคลให้แก่คนที่ไร้รัฐที่เหลืออยู่ และกลุ่มเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ฯ ได้รับการพัฒนาสถานะบุคคล

นอกจากนี้ ยังพบว่า สมช. เห็นว่าแม้การแก้ไขปัญหาจะเดินไปแล้วพอสมควรแต่การแก้ไขที่เป็นอยู่มีลักษณะกระจัดกระจายอยู่ในหลายยุทธศาสตร์ ปัจจุบัน สมช.จึงอยู่ระหว่างการยกร่างยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ โดยสมช. ให้เหตุผลว่า เพื่อให้เป็นยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาภาพสถานะบุคคลรวมทั้งระบบ  ซึ่งแล้วเสร็จไปประมาณ ๘๐% จึงต้องติดตามกันต่อไปว่ากระบวนการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่จะมีประสิทธิภาพและสามารถขจัดปัญหาสถานะบุคคลได้อย่างเป็นระบบจริงหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม ทาง SWIT เห็นว่า ภายใต้ระยะเวลาการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ ที่ผ่านมา ภาครัฐควรจะมีการสรุปบทเรียนต่อกลไกการดำเนินการที่ทำให้ประสบปัญหาต่างๆ ข้างต้นอย่างจริงจัง  และไม่ควรละเลยกลไกสำคัญที่จะผลักดันให้ยุทธศาสตร์ฯ สามารถเดินได้จริง และเดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือ การเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามามีส่วนรับรู้และร่วมมือในการแก้ปัญหา เพื่อจะได้ร่วมกันกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนอันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นเอกภาพ และมีความโปร่งใส เพื่อให้ 2 ปี นับจากนี้ไปสังคมไทยจักสามารถขจัดความไร้รัฐ/ไร้สัญชาติได้อย่างแท้จริง

๑.๒ ยุทธศาสตร์ฯ ว่าด้วยสิทธิ กับ ๔ ปีที่ไปไม่ถึง

ภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ได้มีกำหนดยุทธศาสตร์การรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานแก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ คือ หนึ่ง-กรณีที่บุคคลมีชื่ออยู่ในทะเบียนของทางราชการแต่ยังไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือคำร้องขอสถานะอยู่ระหว่างการพิจารณา หรือภาครัฐอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดนโยบาย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยดำเนินการเพื่อให้คนเหล่านี้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ สอง-กรณีที่บุคคลไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียน ให้ดำเนินการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติควบคุม โดยในเบื้องต้นสมควรให้สิทธิขั้นพื้นฐานเท่าที่จำเป็นตามหลักมนุษยธรรม และหากต่อไปพบว่ามีภูมิลำเนาที่ชัดเจนในประเทศต้นทาง ให้ดำเนินการส่งกลับ  แต่ในกรณีไม่สามารถส่งกลับได้  หรืออยู่ระหว่างกระบวนการกำหนดสถานะหรืออยู่ ระหว่างการประสานประเทศต้นทางเพื่อตรวจสอบสถานะและภูมิลำเนา ให้พิจารณาให้สิทธิขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกันกับกรณีแรก

 

SWIT มีข้อสังเกตว่า การดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่มีปัญหาสถานะ มีเพียงสิทธิบางประการที่ได้รับการรับรองโดยมีผลในทางปฏิบัติแล้ว อาทิ สิทธิทางการศึกษา (ดู มติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยหลักฐาน วัน เดือน ปีเกิด ในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.๒๕๔๘ (การจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย) อย่างไรก็ดี ยังคงพบว่ายังคงมีปัญหาในทางปฏิบัติในบางพื้นที่ โดยส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่รู้ทั้งของผู้มีปัญหาสถานะบุคคล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทัศนคติของผู้บังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ล่าสุด กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการกำหนดสถานะการอยู่อาศัย รวมทั้งการอนุญาตให้เดินทางออกนอกพื้นที่ (ดูประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและกำหนดเขตพื้นที่ควบคุม ลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๒) แต่สิทธิขั้นพื้นฐานอย่างสิทธิในหลักประกันสุขภาพ สิทธิในการทำงาน ยุทธศาสตร์ฯ ยังคงครอบคลุมไปไม่ถึง

ดังนั้น ภารกิจสำคัญของรัฐไทยจากนี้จึงควรเร่งรัดให้สิทธิขั้นพื้นฐานได้รับการคุ้มครองตามยุทธศาสตร์ฯ อย่างครอบคลุม เพื่อเอื้ออำนวยให้ผู้ที่มีปัญหาสถานะบุคคลสามารถดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม ในระหว่างที่ยังไม่มีสัญชาติ รวมทั้งเร่งสร้างความเข้าใจและให้การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการคุ้มครองสิทธิเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์อย่างแท้จริง

 


[1] เวทีสัมมนาเรื่องการเตรียมความพร้อมการขยายการสำรวจคนไร้รัฐ ตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล รอบใหม่ วันพุธที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๒ ณ ห้องประชุมประธานดวงรัตน์ สภาทนายความ จัดโดยคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ และสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT)

 

[2] โดยมีมติดังนี้ “๑.เห็นชอบการขยายกรอบระยะเวลาการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลซึ่งสิ้นสุดเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๒ ต่อไปอีก ๒ ปี โดยให้นับเวลาการขยายการดำเนินงานดังกล่าวตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เพื่อเร่งรัดดำเนินการให้กลุ่มเป้าหมายได้รับการแก้ปัญหาตามยุทธศาสตร์ฯ ที่กำหนด โดยมีกรอบแผนปฏิบัติการประกอบด้วย ๔ กิจกรรม คือ  การสำรวจกลุ่มเป้าหมายที่ตกสำรวจ  การเร่งรัดกำหนดสถานะบุคคล การพิจารณาให้สิทธิในด้านต่างๆในระหว่างรอกระบวนการแก้ปัญหา และการสกัดกั้นป้องกันการอพยพเข้ามาใหม่ ตามที่สำนักสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ”

หมายเลขบันทึก: 334823เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2010 17:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 22:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท