TQF : แนวทางสู่ชัยชนะ


บัณฑิตที่มีคุณภาพ (Productivity) อันเป็นบุคคลที่พรั่งพร้อมด้วยประสิทธิภาพ (Efficiency) และ ประสิทธิผล (Effectiveness) เป็นเป้าหมายที่สังคมนี้ต้องการ

เมื่อสังคมของมนุษยชาติมีการเดินหน้าก็ต้องถึงเวลาของ "โลกาภิวัฒน์ (Globalization)" การพัฒนาของสังคมที่ถูกสมมติกรอบขึ้นเรียกว่า "ประเทศ" นั้น ถ้าหากขาดการวางเส้นขอบและคนที่คอยระแวดระวังไม่ให้คนหลุดกรอบการพัฒนานั้นก็จะหลงทิศหลงทาง และการศึกษาในทุกวันนี้กำลังหลุดกรอบจากการพัฒนาที่ไร้ทิศทางนั้นหรือไม่...?

ระบบประชาธิปไตยที่กระท่อนกระแทน ได้นำพา "กุนซือ" ที่มีวัยวุฒิและคุณวุฒิที่แตกต่างกันอย่างมากหลายให้ได้มีโอกาสมานั่งเก้าอี้เจ้ากระทรวง แต่ละยุค แต่ละสมัย แต่ละรัฐบาล ก็ต่างมีกรอบตามความรู้ ความคิดและประสบการณ์ที่คนของรัฐบาลนั้นสั่งสมมาต่างกัน และอย่างยิ่งเมื่อต้องประกอบกับแนวทางการพัฒนาให้เป็นประเทศจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมยิ่งทำให้กรอบการศึกษาต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับตลาดแรงงานในอนาคต

การพัฒนาระบบการศึกษาโดยการส่งคนชั้นหัวกะทิออกไปเรียนรู้ตามประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษา ก็ยิ่งทำให้กรอบการศึกษากว้างขวางและหลากหลาย

อีกทั้งประกอบกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information systems) ที่ทำให้ความรู้ทางด้านวิชาการบนโลกใบนี้แคบลงมาอยู่ในกรอบของหน้าจอสี่เหลี่ยมที่พัฒนาด้วยความรู้ทางด้านเทคโนโลยี จึงทำให้วันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะสังเคราะห์ความรู้ที่อยู่ "จำเป็น" และ "พอเพียง" ให้เข้ามาอยู่ในกรอบ อันชื่อว่า "กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ”   TQF : HED = Thai Qualification Framework for Higher Education


1. แนวทางสู่ชัยชนะ

 "TQF เป็นการสร้างภาระ...!"

คำตอบแรกที่ได้ยินหลังจากคำถามที่ว่า "TQF เป็นอย่างไร" เมื่อได้สอบถามกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง

ถ้าภาระนั้นหมายถึงการที่เราหรือ "อาจารย์" จักต้องมีงานเพิ่มมากขึ้นจากเดิมนั้น นั่นก็ถูกต้อง เพราะเป็นภาระงานที่ไม่เพียงเฉพาะอาจารย์แต่เป็นหน้าที่ที่ "บุคลากรทางด้านการศึกษา" พึงกระทำ" เพราะว่าการจะเป็นนักกีฬาคุณภาพที่จะเข้าสู่การแข่งขันในระดับโอลิมปิคได้ นักกีฬาทุกคนก็จะต้องมี "ภาระ" ในการฝึกซ้อม เตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมกับการแข่งขัน

การแข่งขันที่จริงนั้นอาจมีเพียงสัปดาห์เดียว วันเดียว หรือชั่วโมงเดียว แต่การฝึกซ้อมนั้นคือภาระที่จะต้องว่ากันแรมเดือน แรมปี

นักกีฬามี "หน้าที่" ในการฝึกซ้อมเพื่อแข่งขัน หรือ นักกีฬาเขามี "ภาระ" ในการฝึกซ้อมเพื่อแข่งขัน...?

ตารางการฝึกซ้อมที่ผู้ฝึกสอน (Coach) ร่างออกมาให้นั้นเป็นรูปแบบ แนวทาง หรือ "กรอบ (Framework)" ที่จะทำให้นักกีฬาคนนั้นชัยชนะ (Goal) และชัยชนะหรือความสำเร็จของบุคลากรทางการศึกษานั้นคืออะไร...?

บัณฑิตที่มีคุณภาพ (Productivity) อันเป็นบุคคลที่พรั่งพร้อมด้วยประสิทธิภาพ (Efficiency) และ ประสิทธิผล (Effectiveness) เป็นเป้าหมายที่สังคมนี้ต้องการ ดังนั้นในระหว่างกระบวนการเรียนการสอน (Process) ที่เรา (บุคลากรทางด้านการศึกษา) สามารถควบคุมได้นั้น จึงต้องวางกรอบการดำเนินงานที่จะต้องบ่งบอกรายละเอียดการปฏิบัติงาน (Job Description) ของทุก ๆ ตำแหน่งงานให้สามารถสร้าง "บัณฑิต (Outputs)" ที่สมบูรณ์

กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (TQF :HED) จึงเป็น "แนวทางร่วม" ที่เราจะเดินทางไปสู่เส้นชัยของกระบวนการผลิต ซึ่งนั่นคือชัยชนะของบัณฑิตที่สามารถก้าวออกสู่สังคมอย่างสมบูรณ์ (Perfection)

ดังนั้นบุคลากรทางการศึกษาจึงควรที่จะตระหนักในหน้าที่อันยิ่งใหญ่นี้ ใช้ TQF เป็นถนน เป็นแนว เป็นทางที่ใช้เหยียบ ย่าง เพื่อก้าวไปตามทางที่ผู้ใหญ่อันเป็นบุคคลากรทางการศึกษาที่มีความรู้ มีประสบการณ์ได้ร่างแนวทางให้เราซึ่งเป็น "ผู้ใหม่" ได้ก้าวเดินตาม ไม่หลงทางออกไปนอกกรอบ นอกแนวทางที่ผู้ใหญ่ได้เดินก้าวผิดไปในหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ในอดีตเราทั้งหลายต่างก็ได้เดินตามถนนแต่ละแห่ง แต่ละสาย ในวันนี้เรามีถนนร่วมกันแล้ว ถนนสาย TQF

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำมานานบนนถนนสายเดิมจนชินนั้นอาจจะเหนื่อยมาก ลำบากใจมากมาย แต่เมื่อใดที่เรารักในอาชีพ เคารพในหน้าที่ของบุคลากรทางการศึกษาแล้ว เราก็พึงที่จะรักและเคารพในการใช้ชีวิตบนถนนสายนี้ งานที่เกิด ที่มี ที่สร้างให้กับร่างกายที่ต้องเปลี่ยนมาเดินบนถนนสายใหม่นี้มีมากพอแล้ว จึงมิควรที่จะสร้างภาระ สร้างความทุกข์ให้กับจิตใจโดยไม่จำเป็น

ถ้าเรายังมีความคิดวนอยู่กับทำว่า ทำไมต้องเปลี่ยน ทำไมต้อง TQF เมื่อนั้น TQF ก็ยังเป็น "นาย" เรา TQF ก็ยังเป็น "จ้าวชีวิต" ของเรา แต่ถ้าวันใดเราวนอยู่กับความคิดที่ว่าจะก้าวเดินไปอย่างไรกับ TQF กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษานี้ก็จะเป็นเพื่อน เป็นมิตรของเรา เพราะเขาจะช่วยให้เราไม่ต้องไปลองผิด ลองถูก มีปัญหาก็เปิดหน้ามาตรฐาน เปิดดูแนวทางที่ผู้ใหญ่ได้วางไว้ วันนี้หน้าที่เราคือ นำกรอบแนวทางนั้นมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของเรา ใช้แล้วเป็นอย่างไรก็เก็บข้อมูลไป วิเคราะห์ วิจัยไป (R2R: Research to Routine) เมื่อครบวงจร (Loop) ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาเท่าใด อาจจะเป็นวัน เป็นเดือน เป็นเทอม หรือเป็นปี ถ้าเมื่อใดมีโอกาสก็ให้นำประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริง (Tacit Knowledge) เหล่านั้นมาคุย วิพากษ์ วิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อให้เป็น "กรอบที่สมบูรณ์ ณ เวลานั้น"

กรอบที่สมบูรณ์ ณ เวลานั้น หมายถึง กรอบที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม (Flexibility) เปลี่ยนแปลงได้ตามกาละและเทศะ เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงได้ตามกาละและเทศะนั้นคือหัวใจของ "พัฒนาการทางด้านคุณภาพ (Quality Development)"

ในทุกย่างก้าวของ TQF จึงต้องมีการจัดการความรู้ (Knowledge Management)

การสร้างรายละเอียดในการปฏิบัติงาน (Job Description) ที่สำคัญซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ TQF นี้สนุก ไม่เบื่อ คือ การสอดแทรก R2R (Research to Routine) เข้าไปในทุก ๆ กระบวนการ

การวิจัยที่เนียนเข้าไปในเนื้องาน (R2R) นั้นจะสามารถสร้างโจทย์ หรือ สมมติฐาน (Hypothesis) ที่หลากหลาย ซึ่งสามารถทำให้บุคลากรทางด้านศึกษาสามารถทำงานได้อย่าง "ตื่นเต้น" และ "เร้าใจ" ความท้าทายจึงเป็นปัจจัยของพัฒนาการทางพฤติกรรมของมนุษย์

ผู้บริหาร หัวหน้างาน หรือผู้ที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในการพัฒนากรอบ (Frame Work) ในแต่ละหน่วยงาน (Organization Framework Representative) จึงต้องทำหน้าที่แจกโจทย์ จ่ายสมมติฐาน (Hypothesis Distribution) เพื่อสร้างความสนุกสนานในการทำงาน

ความสนุกสนานเป็นเพื่อน สมมติฐานที่เกิดขึ้นหน้างานจึงเป็นมิตรที่ดีในการทำงาน อันเป็นงานแห่งการดำเนินงาน "กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ”   TQF : HED = Thai Qualification Framework for Higher Education

หมายเลขบันทึก: 334819เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2010 17:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรียน ท่านอาจารย์ปภังกรณ์

  •  ในการเสวนาเครือข่ายการจัดการความรู้ ระหว่างมหาวิทยาลัย หรือ Mini_UKM5 เจ้าภาพ คือ มทส จะมีการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง TQF
  • ซึ่งจะจัดในวันที่ ๑๙-๒๑ มีนาคม ๒๕๕๓ ครับ
  • มหาวิทยาลัยที่จะเข้าร่วม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ คือ มมส มทส มอบ มนพ มฟล มพย มก มช และ สกอ ครับ

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับท่านอาจารย์หมอ JJ

ก่อนอื่นต้องขออนุญาตออกตัวก่อนครับว่าเรื่อง TQF นี้โดยรายละเอียดจริง ๆ นั้นผมเองก็ไม่ทราบว่าเป็นฉันใด แต่ก็ขอพลิกวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสในการถอดบทเรียนของคนที่แค่ได้ยินเรื่องมาตรฐานทางด้านศึกษาแล้วรู้สึกเช่นไร เข็ด ขยาด หรือ มีประสบการณ์ฝังลึกกับเรื่องการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศอย่างไร

ดังนั้นถ้าผมกล่าวสิ่งใดผิดพลาด หรือแจงรายละเอียดไม่ครบถ้วนต้องขออภัยไว้ล่วงหน้าด้วยนะครับ

วันก่อนผมมีโอกาสคุยกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่จะเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในครั้งนี้ 2 ท่าน คำพูดแรกที่ท่านพูดออกมาก็คือ "TQF เป็นการสร้างภาระ" จากนั้นท่านก็เล่าให้ฟังถึงเรื่องแบบฟอร์มที่ต้องกรอก ในประเด็นแบบฟอร์มนี้ท่านก็ให้ความเห็นที่น่าฟังว่า ถ้าทำได้ตามนั้นก็น่าจะดี ซึ่งผมเองก็มีความเชื่อเช่นนั้น

เพราะแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว คนไทยกับการสร้างแบบฟอร์ม สร้างเอกสาร หรือสร้างระบบต่าง ๆ ทุกอย่างนั้นต้องยอมรับว่าชั้นหนึ่ง แต่ปัญหานั้นกลับมาอยู่ที่การปฏิบัติให้ได้มาซึ่งสิ่งที่จะกรอกลงไปตามแบบฟอร์มนั้น เรื่องการปฏิบัตินี้เป็นเรื่องใหญ่เพราะ "การทำอะไรตามใจคือไทยแท้..."

แต่ผมเองก็ยังมีความเชื่อต่อมาอีกว่า "อธิการบดี" ทุก ๆ ท่านเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถและเล็งเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยและสังคมไทยในระยะยาว ซึ่งนั่นก็หมายถึงความสามารถในการสื่อสารที่จะสร้างความเข้าใจถึงประโยชน์ที่เที่ยงแท้ให้กับอาจารย์และบุคลากรว่า TQF ตัวนี้มีประโยชน์คุ้มค่ากับภาระที่มากขึ้น

เพราะถ้าหากสร้างความเข้าใจกันได้ก่อน ก็จะตัดปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพของเอกสารที่ต้องมาคุยเขียน คอยตรวจกันว่าจริงหรือไม่อย่างไร...?

ผมเชื่อมั่นในสปีริตของเจ้าภาพร่วมทุก ๆ ท่านที่จะร่วมมือกันดำเนินงานตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาของประเทศฉบับนี้ได้อย่างมี "ความสุข..." 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท