รายงานพิเศษ ตามตามโครงการชุมชนพอเพียงอำเภอทุ่งสง


ทำไมหลาย ๆ โครงการจึงไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณสนับสนุน ,บทเรียนการพัฒนามีให้เห็นหลายโครงการที่เมื่อได้รับงบประมาณไปแล้วดำเนินการไม่สำเร็จ

 

รายงานพิเศษ

ติดตามโครงการชุมชนพอเพียงอำเภอทุ่งสง

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสลงไปติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการชุมชนพอเพียง จังหวัดนครศรีธรรมราช พื้นที่อำเภอทุ่งสง โดยการนำของประธานคณะกรรมการ ว่าที่ ร.ต.ฐิตวัฒน  เชาวลิต  รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช การติดตามประเมินผลครั้งนี้ มิใช่เป็นการลงไปพยายามจับผิดพื้นที่ แต่เป็นการลงไปเรียนรู้ร่วมกับคณะทำงานทั้งระดับอำเภอและระดับพื้นที่ เพื่อหาแนวทางการหนุนเสริมซึ่งกันและกัน

ประเด็นที่มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างน่าสนใจเช่น ทำไมหลาย ๆ โครงการจึงไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณสนับสนุน ว่าที่ ร.ต.ฐิตวัฒน  เชาวลิต เสนอมุมมองว่า กระบวนการเรียนรู้ของชุมชนเป็นเรื่องที่สำคัญ เขาจะต้องเข้าใจสถานการณ์ของพื้นที่อย่างชัดเจน และต้องวิเคราะห์ทุนของชุมชนให้ออกว่า ชุมชนมีกำลังคนทำงานเท่าไร มีทุนด้านใดบ้าง มีองค์กรที่มีการบริหารจัดการอย่างไร แล้วจึงจะกำหนดว่าภายใต้สถานการณ์นี้เขาจะจัดการอย่างไร  ถกเถียงกันให้ตกผลึก จะทำให้โครงการมีหลักคิดที่ชัดเจน จะได้ออกแบบโครงการตอบสนองความต้องการและสถานการณ์จริงของพื้นที่ กระบวนการลักษณะนี้ถ้าจะเทียบเคียงกับกระบวนการชุมชนอินทรีย์ของนายวิชม  ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือกระบวนการแผนชุมชนของนายประยงค์  รณรงค์ ก็คงจะไม่ต่างกันนัก   ท่านยังยกตัวอย่างว่า พื้นที่สองพื้นที่ขอรถเก็บเกี่ยวข้าวเหมือนกัน ทำไมพื้นที่หนึ่งได้รับการอนุมัติในขณะที่อีกพื้นที่ไม่ได้รับการอนุมัติ เพราะว่าต้นทุนของแต่ละพื้นที่ต่างกัน

บทเรียนการพัฒนามีให้เห็นหลายโครงการที่เมื่อได้รับงบประมาณไปแล้วดำเนินการไม่สำเร็จ เช่น กรณีโครงการโรงสีข้าว น้ำประปาหมู่บ้าน หรือโรงเรือนต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายประการ เมื่อโครงการล้มสิ่งที่เหลืออยู่ก็คือ “อนุสรณ์สถาน”ทิ้งไว้ให้เห็นเป็นร่องรอยของการพัฒนา ดังที่นายธัชพงศ์ แผ่ความดี นายอำเภอทุ่งสง

แล้วอนุสรณ์สถานจะทำอย่างไร ? นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกหรือไม่ ? เปลี่ยนพื้นที่ไปให้พื้นที่ซึ่งมีความพร้อมกว่าได้หรือเปล่า ? เป็นเรื่องที่มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างน่าสนใจ  การนำกลับมาใช้ประโยชน์ก็อาจจะมีความเป็นไปได้ถ้ามันยังชำรุดเกินกว่าจะซ่อมแซมได้ โดยอาจจะต้องกลับไปรื้อฟื้นกระบวนการชุมชน จัดองค์กรให้มีความชัดเจน วางระบบการบริหารจัดการที่เหมาะสม สร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง สำหรับการเปลี่ยนพื้นที่ก็อาจจะมีความเป็นไปได้เช่นกัน เพราะทรัพย์สินเหล่านี้เป็นสมบัติของชาติและมีทะเบียนคุมอยู่ตามระเบียบแล้ว หากคณะกรรมการระดับอำเภอพิจารณาแล้วเห็นว่าอนุสรณ์สถานดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายก็สามารถเสนอความเห็นไปยังส่วนกลาง(สำนักนายกรัฐมนตรี)ได้ควรจะดำเนินการเช่นไร

อย่างไรก็ตามผมเห็นด้วยกับแนวคิดที่เราจะต้องสร้างกระบวนการชุมชนให้เข้มแข็งเพียงพอ อย่างที่ นายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ตามแนวทางชุมชนอินทรีย์ โดยต้องเริ่มจากกระบวนการเรียนรู้ตนเองกระทั่งเกิดเป็นแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเองที่มีคุณภาพ มีแกนนำที่มีคุณธรรม เสียสละและมีการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทน มีการบริหารจัดการที่ดี มีทุน(เงิน)หรือมีแหล่งทุน(สถาบันการเงิน)เป็นของตนเอง มีการจัดการความรู้อย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือมีปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมพอสมควร ถึงจะทำให้อนุสรณ์สถานเป็นเพียงตำนานของร่อยรอยการพัฒนา

 

 

หมายเลขบันทึก: 334614เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2010 21:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท