Complicated Heart (1)


หมอครอบครัว… หมอที่ไม่ได้รักษาแค่โรค แต่ต้องรักษาคนด้วย

“เขาไม่ให้ลุงกินข้าว ไม่ให้กินยามาเป็นอาทิตย์แล้ว”
“ลุงแกไม่ยอมกินข้าวกินปลาเลย ลำพังตัวป้าก็กำลังใจเหลือน้อยลงทุกที”
“พ่อกับแม่ก็รักกันดีนะครับ พ่อก็กินกับข้าวที่แม่ทำ ส่วนผมก็มีหน้าที่อาบน้ำให้พ่อครับ
:)
ข้อความจากคนสามคน จากครอบครัวที่เคยอบอุ่น ทุกคนล้วนพูดถึงเรื่องเดียวกัน  แต่เหตุใด..ใจความนั้นถึงฉีกกันไปคนละทาง??

 

relation

 

ลุงกระเษม สุนทรจันทร์ ผู้เคยเป็นซึ่งเสาหลักใหญ่ของบ้าน เป็นที่ค้ำจุนของครอบครัว เป็นหัวหน้าครอบครัวและเป็น ‘พ่อ’ ผู้เป็นที่รักของภรรยาและลูก แต่บัดนี้ ลุงกระเษมไม่ใช่  ลุงไม่ได้เป็นเสาหลักใหญ่ ไม่ได้เป็นที่ค้ำจุนของคนในบ้านอีกต่อไป ลุงไม่…
แม้กระทั่งจะเพียงแค่เดินหรือพูดอย่างคนอื่นทั่วไป
ลุงกระเษม… เป็นอัมพฤกษ์ได้ปีกว่าแล้ว
หน้าที่เสาหลักของบ้าน จึงต้องตกมาอยู่ที่ป้าดวงจันทร์ ผู้เป็นภรรยา  ป้าดวงจันทร์ต้องรับภาระหนัก ต้องดูแลทุกอย่างในบ้าน แม้จะไม่ถึงกับต้องหาเลี้ยงครอบครัว เพราะยังพอมีรายได้ของลุง จากที่ทำงานเก่าอยู่บ้าง แต่ภาระทางใจนี่สิ มันช่างหนักหนาสาหัสยิ่งนัก
ลุงกับป้ามีลูกอยู่สองคน ลูกสาวคนโตไปทำงานอยู่กรุงเทพฯ นานๆ จะกลับมาเยี่ยมบ้านทีนึง ส่วนลูกชายคนเล็กก็อายุยี่สิบสองปีแล้ว
อันที่จริงก็น่าจะเป็นเสาหลักแทนพ่อที่ป่วยได้ แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า… 


love

“น้องบอล นับหนึ่งถึงสิบให้ฟังหน่อยสิคะ”

“เอ่อ.. เอ่อ..1..2..3…….6..เอ่อ ไม่ได้แล้วครับ”

น้องบอลไม่สามารถนับเลข หรือบวกลบเลขได้ ที่เป็นเช่นนี้ เหตุก็เพราะโรคลมชัก ที่ได้หยุดชะงักพัฒนาการทางสมองของเขาไปตั้งแต่ในวัยเด็ก
น้องบอล หรือนายปัญญาวุฒิ ลูกชายคนเล็กของบ้านสุนทรจันทร์ ถึงแม้จะไม่สามารถเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้กับครอบครัวได้
แต่ฟ้าก็ไม่ได้โหดร้ายเกินไปนัก น้องบอลสามารถพูดคุยสื่อสารได้เกือบจะเหมือนคนปกติ
แม้บางครั้งเวลาพูดก็อาจมีติดขัดบ้าง แต่เขาก็สามารถรับรู้และเข้าใจได้ดี และที่สำคัญที่สุดก็คือ ความเป็น ‘คนดี’ ของเขา
เพราะไม่ว่าจะเป็นของมึนเมา เหล้ายาใดๆ เขาก็ไม่เคยเข้าไปแตะต้องข้องเกี่ยวเลยสักนิด แม้กระทั่งเรื่องผู้หญิง เขาก็ไม่สนใจ
ทุกวันนี้น้องบอลจะอยู่บ้าน คอยช่วยเหลือพ่อตลอด ไม่ว่าจะพาไปอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อ

ผ้า หรือจะพาไปเข้าห้องน้ำและคอยช่วยทำกายภาพบำบัดให้พ่อทุกวัน

past

“แล้ว…ลุงไม่รักลูกชายลุงเหรอคะ”

“อืมม์” ลุงกระเษมพยักหน้ารับ
“ทำไมล่ะคะ??”

ทุกครั้งที่พูดถึงน้องบอล ลุงกระเษมจะแสดงสีหน้าไม่ค่อยชอบลูกชายคนนี้สักเท่าไร ผิดกับเวลาที่พูดถึงลูกสาวคนโตที่อยู่กรุงเทพฯ
แววตาที่แสดงถึงความรักมันส่องประกายออกมาชัดเจนยิ่งนัก

“พ่อเปลี่ยนไปเยอะครับ ตั้งแต่ที่ป่วยมาปีกว่านี่ นิสัยพ่อเปลี่ยนไปหลายอย่างเลย
วันๆ ชอบดูแต่พระเครื่อง ไม่ทำอะไร ถ้าเป็นเรื่องกิน เมื่อก่อนพ่อจะกินง่าย เดี๋ยวนี้ มื้อไหนมีผักก็ไม่ยอมแตะเลย
ผมก็อยากให้พ่อหายป่วย… อยากให้พ่อแข็งแรงเหมือนเดิม…
ตอนแรกที่เห็นพ่อล้มป่วย แทบจะรับไม่ได้ ร้องไห้ทุกวัน…”

ลูกชายที่รักพ่อสุดดวงใจ แค่เพียงเพราะสมองที่ไม่ดี เลยเรียนไม่ได้ดั่งที่พ่อหวังไว้ ทำให้ ‘พ่อ’ ไม่เคยพอใจในตัวเขาเลย

tears 

“…เมื่อก่อนลุงแกเป็นคนใจกว้าง ใครขออะไรให้หมด เดี๋ยวนี้อย่างกับเป็นคนละคน เคยมีครั้งนึงแกแอบ เก็บเงินที่ญาติฝากมาให้ป้า เก็บเงียบไม่พูดอะไร พอตอนหลังเจอเงินอยู่ใต้เตียงแก เท่านั้นแหละ..กลายเป็นเรื่องทะเลาะกันยกใหญ่ เขาก็ไม่พูดกับป้าเลย สุดท้ายกว่าจะยอมพูด ก็จนลูกสาวเขานั่นแหละโทรมาช่วยพูด เขาถึงได้ยอม”

ป้าดวงจันทร์ พูดไปพลาง น้ำใสๆที่เอ่อล้นอยู่นานก็ไหลลงอาบสองแก้ม
ป้าดวงจันทร์เล่าถึงญาติๆ ของลุงกระเษม ว่าทางนั้นก็ไม่เคยช่วยเหลือ ซ้ำยังเพิ่มความกดดันให้อีก

“ไอเราก็เหมือนตัวคนเดียว ลูกชายก็พึ่งไม่ค่อยได้ โรคประจำตัวเราก็มี อยู่อย่างนี้มันเหนื่อยใจ มันท้อแท้”
“คุณป้าเป็นคนเก่งมากเลยนะ ผ่านวิกฤตชีวิตมาได้ขนาดนี้ ต้องมีความอดทนสูงมากเลย เป็นคนอื่นอาจจะรับสภาพไม่ไหว หนีไปแล้วก็ได้ อย่าเพิ่งท้อนะคะ”
“ถ้าพวกญาติๆ เขาคิดได้อย่างหมอก็ดีสิ…..”
ป้าดวงจันทร์กล่าว ด้วยใบหน้าที่เต็มไป

ด้วยความท้อแท้ ไร้ซึ่งกำลังใจ

smile

พอได้รับฟังเรื่องราวต่างๆ จากทั้งลุงกระเษม ป้าดวงจันทร์ และน้องบอล ทำให้ได้ตระหนักว่า ปัญหามันไม่ได้มีแค่โรคอัมพฤกษ์ของคุณลุง ที่เป็นโจทย์ของพวกเรา แต่โจทย์ปัญหาชีวิตที่ยังซับซ้อนยุ่งเหยิงอยู่ต่างหาก อันจะเป็นปัญหาหนักหนายิ่งกว่า

แววตาไร้ซึ่งความหวัง กำลังเฝ้ารอวันที่ฟ้าสดใส..
รอความช่วยเหลือจากใครสักคน ที่จะก้าวเข้ามาคลี่คลายปมปัญหาในใจของพวกเขา แล้วเมื่อไรกันเล่า…??
เมื่อใดที่พายุโหมกระหน่ำลูกนี้จะพัดผ่านครอบครัวสุนทรจันทร์ไป เมื่อใดที่รอยยิ้มแห่งความสุขของทุกคนจะหวนกลับมา

นั่นแหละคือหน้าที่ของหมอครอบครัว ที่จะต้องหาค้นหาคำตอบ และพร้อมที่จะยื่นสองมือ ก้าวสองเท้า กับใส่อีกหนึ่งหัวใจ เข้าไปช่วยเหลือพวกเขา

ข้อความข้างต้นที่สื่อกันคนละความหมาย สุดท้ายจะกลายเป็นหนึ่งเดียวได้หรือไม่
ความเข้าใจกัน เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน จะบังเกิดขึ้นได้ไหม
มันขึ้นอยู่กับพวกเราแล้ว หมอครอบครัว…
หมอที่ไม่ได้รักษาแค่โรค แต่ต้องรักษาคนด้วย :)

d2

คำสำคัญ (Tags): #home visit
หมายเลขบันทึก: 333709เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2010 00:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 06:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นกรณีศึกษาที่ดีมากๆเลยค่ะ อ.เขียนเล่าได้ดีมาก

ดีใจแทนลูกศิษย์อ.ค่ะ : )

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท