การดำเนินงานและการจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต


การดำเนินงานและการจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
 

ตัวอย่างการดำเนินงานของแหล่งการเรียนรู้ในประเทศไทย

แหล่งการเรียนรู้ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชน มีการดำเนินงานและวิธีการจัดตั้งที่หลากหลาย ดังตัวอย่างการทำงานของแต่ละแหล่งเรียนรู้ ดังนี้

1 แหล่งการเรียนรู้ภาครัฐ

1.1 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครในปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณสนามหลวง ใกล้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และโรงละครแห่งชาติ เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย ถือกำเนิดมาจากพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์ในพระบรมมหาราชวัง ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) ได้พระราชทานพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าให้เป็นพิพิธภัณฑสถาน สมัยนั้นยังเรียกกันว่า "มิวเซียมหลวง" (Royal Museum) จวบจนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงให้มีการพัฒนาการจัดแสดงอย่าง สากล และเปิด ให้เป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เมื่อ พ.ศ. 2469 และ ใน พ.ศ. 2476 จึงมาเป็นพิพิธภัณฑถานแห่งชาติ พระนครอยู่ ในความดูแลของกรมศิลปากร ปัจจุบันจัดเป็นพิพิธภัณฑสถานประเภทประวัติศาสตร์ ศิลปะ และโบราณดี แบ่งการ จัดแสดงออก ได้เป็น 3 ส่วนคือ ประวัติศาสตร์ชาติไทย โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะและงานประณีตศิลป์ สิ่งสำคัญอาทิ พระ พุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ศิลาจารึกหลักที่ 1 ราชรถในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ฯลฯ โดยรวมแล้วมี โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่จัดแสดงอยู่ถึง 12,000 รายการ และนอกจากนั้นยังมีความงดงามของพระที่นั่งของพระราชวังบวรสถาน มงคลหลายหลัง เป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมสมัยเริ่มก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ให้ได้ศึกษาอีกด้วย

ในรอบปีที่ผ่านมาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้พิพิธภัณฑสถานเป็นแหล่งเรียนรู้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากกิจกรรมการบรรยายนำชมในวันสำคัญๆ การจัดนิทรรศการพิเศษหรือนิทรรศการชั่วคราว ซึ่งจัดขึ้นปีละ 2 - 3 ครั้ง การผลิตเอกสารประกอบการเข้าชมและให้การบริการแล้ว ยังมีกิจกรรมที่ทำต่อเนื่องมาเป็นระยะ ๆ อาทิ

  • การจัดอบรม "ครู โรงเรียนในสังกัดกรมสามัญศึกษา" สายสังคมศึกษาด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะและ โบราณคดี เพื่อให้เข้าใจถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากพิพิธภัณฑสถาน
  • การจัดบรรยายตามโครงการ "เผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน" เป็นการเชิญภัณฑารักษ์ ผู้เชี่ยวชาญและวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิบรรยายให้ความรู้เรื่องราวโบราณวัตถุ โบราณสถาน ประวัติศาสตร์ และเรื่องที่กำลังเป็นที่สนใจแก่ผู้เข้าชม และนำชมนิทรรศการเฉพาะเรื่องนั้นๆ ทั้งในและนอกสถานที่เดือนละครั้ง กิจกรรมนี้ได้รับความสนใจมีผู้สมัครเป็นสมาชิกประจำเป็นจำนวนมาก
  • การอบรม "ยุวชนอาสาสมัครพิพิธภัณฑ์" โดยนำนักเรียนระดับมัธยมกลุ่มละประมาณ 40 คน เข้ารับการอบรมให้ความรู้ในระดับเข้ม สามารถอธิบาย นำชมให้กับประชาชน นักเรียน ที่ขอเข้าชมเป็นหมู่คณะได้
  • รวมกิจกรรมกับกระทรวงศึกษาธิการในโครงการ "พาน้องเที่ยวชมสมบัติไทย" และโครงการ "เล่านิทานในพิพิธภัณฑ์" โดยนำนักเรียนและเยาวชนด้อยโอกาสเข้าชมพิพิธภัณฑสถานในฐานะเป็นแหล่งเรียนรู้
  • การจัดนิทรรศการระดับชาติโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลต่างประเทศ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อาจเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในจำนวนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สังกัดกรมศิลปากร หลายแหล่งที่มีศักยภาพสอดรับกับ "พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542" อยู่แล้ว และกำลัง พัฒนาให้มีศักยภาพที่สูงขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามาตรา 25 ที่ว่า "รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงานและการจัดตั้ง แหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ ได้แก่ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวน พฤกษศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์กีฬานันทนาการ แหล่งข้อมูลและแหล่งการเรียนรู้อื่นอย่าง เพียงพอและมีประสิทธิภาพ"

1.2 หอวัฒนธรรมไทยนิทัศน์

หอวัฒนธรรมไทยนิทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเปิดดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2536 เป็นแหล่งที่ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจในรูปแบบนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญของประเทศไทยที่รัฐบาลให้การ สนับสนุน เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นในประเทศไทยซึ่งแตกต่าง จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะ การนำเสนอประกอบด้วยเนื้อหาด้านประเพณี ศาสนา ความเชื่อ ภูมิปัญญา และศิลปะแขนงต่างๆ ที่มี คุณค่าแห่งความภาคภูมิใจของคนไทย

การจัดหอวัฒนธรรมไทยนิทัศน์ จัดทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เป้าหมายในการจัดหอวัฒนธรรมนิทัศน์ในภูมิภาคนั้น เพื่อ ต้องการสร้างเครือข่ายแหล่งการเรียนรู้ท้องถิ่นทั้ง 76 จังหวัด โดยโครงสร้างมุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ให้มีส่วนร่วมในการบริหารและจัดการพิพิธภัณฑ์ของตนเองในท้องถิ่น ปัจจุบันประเทศไทยมีหอวัฒนธรรม นิทัศน์ในภูมิภาคที่เป็นพิพิธภัณฑ์ตามจุดประสงค์แล้ว จำนวนกว่า 40 จังหวัด

ในส่วนกลาง สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้จัดให้มี "หอไทยนิทัศน์" เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมไทย โดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสื่อปฏิสัมพันธ์กับหุ่นจำลอง วัตถุจำลอง วีดิทัศน์ และภาพโปร่ง ในการจัดแสดงเรื่องราวอารยธรรมไทย เป็นการเสริมความรู้ตามหลักสูตรการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ภาษา วรรณคดี และสังคมศาสตร์
โครงสร้างเนื้อหาการจัดแสดง แบ่งออกเป็น 5 เรื่อง คือ ความเป็นมาของชนชาติไทย ข้าวกับวิถีชีวิตไทย ภาษาและวรรณคดีไทย ประเทศไทยกับโลก และวีรกรรมชนชาติไทยและเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
ปัจจุบันหอไทยนิทัศน์เปิดบริการเป็นแหล่งการเรียนรู้เชื่อมโยงกับสถานศึกษาทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย

1.3 พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ

พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพฯ เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ตั้งอยู่ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์ใน การรวบรวม รักษา ศึกษา จัดแสดงและให้ความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของกล้องถ่ายภาพอุปกรณ์ กระบวนการถ่ายภาพ รวมทั้งกระบวนการพิมพ์และเทคโนโลยี ทางภาพ เปิดให้ประชาชนเข้าชมเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์เท่านั้น

ในยุคไฮเทคคำว่า "การถ่ายภาพ" ไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมวิทยาศาสตร์การบันทึกภาพได้ทุกระบบ ดังจะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีการผลิตภาพสามมิติโดยใช้แสงเลเซอร์ที่เรียกกันว่า "โฮโลกราฟี" การถ่ายภาพ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช่ฟิล์มแต่ใช้วัสดุที่เรียกว่า ซีซีดี เป็นต้น พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพฯ ได้จัดบรรยากาศ การเรียนรู้ที่จะให้เยาวชนและประชาชนสามารถเรียนรู้และได้ประสบการณ์ด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์การถ่ายภาพ การพิมพ์และเทคโนโลยีทางภาพอื่นๆ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันที่ก้าวหน้าล่าสุดด้วยตนเอง นอกจากนั้นผู้ชมได้รับความบันเทิง จากการแสดงในพิพิธภัณฑ์อีกด้วย

นอกจากประชาชนจะได้ชมนิทรรศการกล้องอุปกรณ์ประกอบและภาพแบบต่างๆ แล้ว ยังจะได้ชมประวัติศาสตร์กระบวนการ ผลิตภาพแบบต่างๆ จากวีดิทัศน์ที่ติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆ มีการแสดงการจัดแสงในสตูดิโอถ่ายภาพ การจัดแสดงห้องมืด อัดขยายภาพ การจัดแสดงภาพถ่ายทั้งภาพประวัติศาสตร์ ภารถ่ายร่วมสมัย และภาพสามมิติแบบธรรมดา และแบบฮอโลแกรม การจัดแสดงสไลด์อเนกทัศน์ที่ใช้เครื่องฉายสไลด์สิบสองเครื่องควบคุมการฉายด้วยคอมพิวเตอร์ การจัดแสดงการกำหนด ของแสงและสี วัสดุที่ใช้วาดและพิมพ์ภาพ ชื่อและแถบสี จิตรกรรมฝาผนังไทยและสากล การผสมสีของแสงและรงควัตถุ การมองเห็นสี และการประยุกต์ใช้ในการวาดภาพ ถ่ายภาพและการพิมพ์ การแสดงกระบวนการพิมพ์ออฟเซต เฟล็กโซกราฟี และการพิมพ์ระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งวีดิทัศน์และภาพยนตร์ นอกจากนั้นยังมีห้องสมุดสำหรับศึกษา ค้นคว้า และวิจัย เฉพาะด้านเทคโนโลยีทางภาพอีกด้วย

1.4 สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา

สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นหน่วยงานที่พัฒนามาจากพิพิธภัณฑ์สัตว์และสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม บางแสน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 โดยคณาจารย์ภาควิชาชีววิทยา (วิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสนในขณะนั้น) และได้เปิดให้ ประชาชนเข้าชมอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2513 เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทางทะเลและสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม มุ่งเน้นแสดงถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ให้ความรู้ และให้การสนับสนุนด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บริการตอบปัญหาทางวิชาการ ตลอดจนจัดทำหนังสือและเอกสารเผยแพร่ ความรู้ทางด้านนี้อย่างกว้างขวาง

สถาบันฯ แม้จะไม่มีบทบาทด้านการเรียนการสอนโดยตรง แต่ทำหน้าที่ส่งเสริมด้านการเรียนการสอน โดยให้การสนับสนุน ทางวิชาการ การค้นคว้าวิจัยทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งนอกจากจะเปิดบริการให้ประชาชนเข้าชมเพื่อศึกษาหาความรู้ ในส่วนของพิพิธภัณฑ์ฯ แล้ว ยังให้การสนับสนุนการศึกษา วิจัย โดยรับนิสิตจากมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือสถาบันการศึกษา ต่างๆ ทั่วประเทศเข้าฝึกงานและทำวิจัยในรูปของวิทยานิพนธ์ และการทำปัญหาพิเศษ เป็นต้น

สำหรับบทบาทในการบริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคม นั้นสถาบันฯ ได้ให้บริการต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. เปิดพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทางทะเลและสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม ให้ประชาชนเข้าชมและศึกษาหาความรู้ ซึ่งนับเป็นแหล่งให้ความรู้เกี่ยวกับทะเลอย่างกว้างขวางที่สุด ทั้งในด้านทรัพยากรทางทะเล ชีวิตสัตว์ทะเล รวมถึงการอนุรักษ์และการนำทรัพยากรทางทะเลมาใช้ประโยชน์
2. การให้บริการข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทางทะเล เปิดพิพิธภัณฑ์ฯ แก่นักเรียน นักศึกษาและ ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม รวมทั้งการให้บริการถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
3. การใช้บริการหัวเชื้อแพลงก์ตอน พืชและสัตว์
4. การให้บริการตรวจคุณภาพน้ำและโรคสัตว์น้ำ

นอกจากนี้สถาบันฯ ยังมีบทบาทในการส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้รวมถึงการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล โดยจัดกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

1. โครงการค่ายวิทยาศาสตร์ทางทะเลสำหรับเยาวชน เปิดรับสมัครและคัดเลือกเยาวชนวัยเรียน ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 สายวิทยาศาสตร์จากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ มีวัตถุประสงค์ให้เยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทางทะเล และตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมทั้งได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน มีความรับผิดขอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย อันจะเป็นประสบการณ์ที่สำคัญในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และการทำงานต่อไปในอนาคต
2. โครงการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ สถาบันฯ มีวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่ความรู้และการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติที่ถูกต้องในรูปแบบต่างๆ โดยเข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯ โดยไม่เก็บค่าเข้าชมเด็กๆ เข้าร่วมสนุกและ แสดงออกได้อย่างเต็มที่
3. การจัดนิทรรศการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทางทะเล สถาบันฯ มีนโยบายที่จะเผยแพร่ความรู้ทางด้าน วิทยาศาสตร์ทางทะเลให้แก่ผู้สนใจทั่วไป ในรูปการจัดนิทรรศการทั้งภายในและภายนอกสถาบันฯ ตาม ที่หน่วยงานต่างๆ ขอมา
4. การฝึกอบรมนิสิตวิทยากร สถาบันฯ ได้จัดทำโครงการฝึกอบรมนิสิตวิทยากรประจำสถาบันฯ โดยมี จุดมุ่งหมายที่จะนำนิสิตที่มีพื้นฐานความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลหรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง มาฝึกอบรมให้ความรู้และประสบการณ์ที่จะเป็นวิทยากรสามารถพาคณะนักท่องเที่ยวเข้าชมและให้ความรู้ต่างๆ ได้
5. โครงการเผยแพร่วิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ทรัพยากรสู่ภูมิภาคสัญจรสถาบันฯ ได้จัดทำโครงการ เผยแพร่ความรู้ในเรื่องดังกล่าว เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติทางทะเลให้แก่เยาวชน รวมทั้งประชาชนในภูมิภาคให้เข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง โครงการนี้ได้เริ่ม ดำเนินการในปี พ.ศ. 2542
6. โครงการปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง สถาบันฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล และ สภาพของชาวประมงเรือเล็กในเขตน่านน้ำอนุรักษ์ ซึ่งยังชีพด้วยการจับสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่ง อาศัยเครื่องมือ ประมงขนาดเล็กเป็นหลัก จึงได้จัดทำโครงการดังกล่าวเพื่อมุ่งลดภาวะวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม ที่พึงจะเกิดขึ้นกับชุมชนประมงเรือเล็ก

นับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2542 มีผู้เยี่ยมชมแล้วทั้งสิ้นประมาณ 982,728 คน โดยแยกประเภทเป็นชาวต่างประเทศ ได้แก่ ชาวไต้หวันจำนวน 5,763 คน ชาวเยอรมันจำนวน 1,422 คน ชาวอังกฤษจำนวน 6,558 คน ชาวเกาหลีจำนวน 6,558 คน และชาวต่างประเทศอื่นๆ จำนวน 14,065 คน และชาวไทยจำนวนทั้งสิ้น 898,362 คน

2. แหล่งการเรียนรู้ภาคเอกชน

2.1 พิพิธภัณฑ์เด็ก

พิพิธภัณฑ์เด็กเป็นแหล่งการเรียนรู้นอกระบบโรงเรียน สังคมซึ่งเห็นความสำคัญของเด็กมักจะจัดขึ้นเพื่อสร้างเสริม การเรียนรู้อันเหมาะกับธรรมชาติของความเป็นเด็กเป็นการเฉพาะ

พิพิธภัณฑ์เด็กนั้นจุดหมายชัดเจนว่ามุ่งเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการให้บริการ ดังนั้นการมองเห็นและเข้าใจ ธรรมชาติที่แตกต่างของเด็กกับผู้ใหญ่จึงเป็นฐานความคิดในการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญและไม่อาจละเลยได้

ธรรมชาติการเรียนรู้ที่แตกต่างกันของเด็กกับผู้ใหญ่ เกิดจากสภาวะทางธรรมชาติที่แตกต่างกัน ทั้งทางกายภาพ ทางจิตใจ อารมณ์ พัฒนาการทางสติปัญญา รวมทั้งประสบการณ์ทางสังคมที่ไม่เท่ากัน และข้อสำคัญที่สุด คุณลักษณะในการเรียนรู้ของเด็กกับผู้ใหญ่มีความแตกต่างเพราะเด็กยังเป็นวัยที่มีความกระหายใคร่รู้สูงมาก ดังนั้นกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์เด็กทั้งรูปแบบและเนื้อหา จึงจำเป็นต้องส่งเสริมความกระหาย ใคร่รู้ของเด็กอย่างเต็มที่เพื่อชวนให้สงสัย ตั้งคำถาม และไปค้นคว้าหาคำตอบ

การเรียนรู้ที่ได้ผลนั้นต้องมาจากการเรียนรู้อย่างมีความสุข และเป็นการเรียนรู้จากการได้ลงมือปฏิบัติจับทำ ด้วยตนเอง ดังนั้นวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ชุดนิทรรศการ การตกแต่งประดับประดาจึงมีสีสันที่สดใสเร้าใจดึงดูด ประสาทสัมผัสทางตา มีเสียงอันน่าสนใจดึงดูดประสาทหู มีกลิ่นอันชวนให้อยากสัมผัส มีรสชาติที่แปลก บรรยากาศในพิพิธภัณฑ์เด็กในทางจิตใจ อารมณ์และสังคมนั้น ก่อให้เกิดความรู้สึกมั่นคงในใจให้เด็กที่ ก้าวเท้าเข้ามาสัมผัสได้ถึงการต้อนรับเชิญชวน อบอุ่นใจ ไม่สร้างบรรยากาศของความกลัวเกรง หรือไม่กล้า ค้นคว้าให้เกิดขึ้น มีบรรยากาศของความเสมอภาค และมีการดูแลที่ทั่วถึง

กระบวนการจัดไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาหรือรูปแบบจำเป็นต้องหลากหลายเพื่อสามารถรองรับความสนใจ ความ ต้องการ และความสุขของเด็กได้อย่างกว้างขวาง การเรียนรู้อย่างบูรณาการดึงดูดความสนใจของเด็กได้ดี สิ่งสำคัญในการสร้างความสุขความเพลิดเพลินให้เกิดขึ้นในการเรียนรู้ของเด็กมิได้จำกัดอยู่เพียงการสร้าง ลักษณะทางกายภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจ เร้าความสนุกสนานเท่านั้น หากแต่เนื้อหาสาระของการนำเสนอก็จำเป็น อย่างยิ่งที่จะต้องสร้างให้เกิดความน่าสนใจ น่ารู้ น่าเรียน การจัดกระบวนของเนื้อหาสาระที่จะนำเสนออย่าง บูรณาการเชื่อมโยงวิชาการแขนงต่างๆ เรื่องราวต่างๆ ให้สัมพันธ์กันสร้างความน่าสนใจกว่าการนำเสนอ เป็นท่อนๆ การเชื่อมโยงสาระความรู้ทางทฤษฎีให้เข้ากับชีวิตประจำวัน จะกระตุ้นให้เกิดความเพลิดเพลิน เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น ในพิพิธภัณฑ์เด็กจะให้เด็กลงมือปฏิบัติ ซึ่งการลงมือปฏิบัตินี้คุณประโยชน์ที่เกิดขึ้นมี นานัปการ นับตั้งแต่

- การได้ประจักษ์เห็นจริงในองค์ความรู้นั้นด้วยตนเอง
- การได้ฝึกฝนทักษะการเรียนรู้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ทั้งการสังเกต การตั้งคำถาม การทดลองทำ และการสรุปบทเรียน
- การได้ฝึกลักษณะนิสัยในการทำงาน ได้ตระเตรียม ได้ประกอบ ได้วางแผน ได้จัดระเบียบในการทำงาน ได้ฝึกความมีระเบียบเมื่อทำงานเสร็จเรียบร้อย
- การได้เห็นกระบวนการของการทำงานแต่ละขั้นตอน เห็นที่ไปที่มา อันเป็นเหตุเป็นผลต่อกันของกระบวนการทำงาน

และประการที่สำคัญที่สุด ก็คือ การได้เห็นคุณค่าในตนเอง ว่าตนก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ทำได้เช่นเดียวกับคนอื่นๆ การได้ลงมือทำงานที่ละเล็กที่ละน้อย เป็นการสะสมคุณลักษณะนี้ขึ้นในตัวเด็กอย่างถาวร

1.2 พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย

พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทยตั้งอยู่ที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม การสร้างสรรค์พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย เกิดจากผลงานของอาจารย์ดวงแก้ว พิทยากรศิลป์ ที่สนใจสร้างหุ่นขี้ผึ้ง และศึกษาค้นคว้าทดลองเป็นเวลานานกว่า 10 ปี จึงประสบผลสำเร็จ สามารถสร้างหุ่นขี้ผึ้งยุคใหม่จากไฟเบอร์กลาสที่มีความงดงามประณีตคงทน งดงามเหมือนจริงที่สุด จนคณะผู้ร่วมงานเห็นสมควรที่จะสนับสนุนให้ก้าวหน้าต่อไปเพื่อสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติและศิลปินไทย จึงเริ่มโครงการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทยในปี พ.ศ. 2525 และเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2532 นับเป็นพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาสแห่งแรกของประเทศไทย วัตถุประสงค์เพื่อ

1. อนุรักษ์ ส่งเสริม เผยแพร่ ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีไทย
2. ส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าทดลองด้านประติมากรรม และศิลปะแขนงต่างๆ
3. เป็นสถานที่ทัศนศึกษาของเยาวชน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับชาวไทยและชาวต่างประเทศ

ปัจจุบันได้จัดแสดงนิทรรศการถาวรในเรื่องต่างๆ อาทิ ผลงานเทิดพระเกียรติอดีตพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี การละเล่นของไทย วิถีชีวิตและวรรณคดีไทย มีโรงเรียนต่างๆ ทั้งใน จังหวัดนครปฐม และจังหวัดใกล้เคียงนำนักเรียนไปเข้าชม และศึกษาหาความรู้เป็นจำนวนมาก การทำงานของบุคลากร ในพิพิธภัณฑ์เชื่อมโยงกับครูประจำการ โดยจัดกิจกรรมร่วมกัน อาทิ การจัดประกวดเรียงความชิงทุนการศึกษา โดยดู จากกิจกรรมที่จัดแสดงอยู่ทำให้นักเรียนได้ซาบซึ้งและเข้าใจที่มาของเรื่องราวนิทรรศการในแต่ละเรื่องได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ยังมีกิจกรรม "ชมรมเพื่อนพิพิธภัณฑ์" ซึ่งเป็นเครือข่ายสำคัญทำให้เกิดการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคลากรในพิพิธภัณฑ์นำมาซึ่งการพัฒนาการในหลายเรื่องทั้งการบริหารจัดการ การพัฒนาบุคลากร รวมทั้งการจัดทำสื่อและหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับโรงเรียนในจังหวัดนครปฐม อีกด้วย

3. แหล่งการเรียนรู้ชุมชน

ในชุมชนต่างๆ มีภูมิปัญญาอยู่หลายด้านและบางแห่งเคยเป็นเมืองเก่ามาก่อน จึงมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายที่สามารถถ่ายทอดให้แก่ชุมชนรุ่นหลัง ชุมชนหนึ่งที่เป็นตัวอย่างของความร่วมมือจากบุคคลทุกฝ่ายได้จัดตั้งให้พื้นที่ที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์สามารถเป็นแหล่งการเรียนรู้ได้ดีก็คือ ชุมชนจันเสน

ชุมชนจันเสนมีแหล่งการเรียนรู้ที่ดี และมีความหลากหลายในด้านการศึกษาหาความรู้ โดยมีเมืองโบราณจันเสน โบราณวัตถุ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี บุคคลสำคัญในท้องถิ่น และภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งเป็นแหล่งการเรียนรู้ ทั้งในระบบ / นอกระบบการศึกษา และตามอัธยาศัย จากแหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น สามารถนำมาจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น โดยไม่ทำให้จุดประสงค์และคาบเวลาเรียนเปลี่ยนแปลงไปจากที่กำหนดไว้ในหลักสูตร เริ่มจากการสำรวจข้อมูลพื้นฐานจากแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ นำมากำหนดเป็นจุดประสงค์การเรียนรู้ กำหนดเนื้อหาสาระ จัดแนวทางในการจัดกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ การวัดผลประเมินผล และนำมาจัดทำเป็นแผนการสอนและนำหลักสูตรไปใช้ทั้งนี้เพื่อให้

(1) นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องราวของตนเอง จากแหล่งการเรียนรู้จริงในท้องถิ่น เกิดความรักความภาคภูมิใจ และสามารถมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและพัฒนาท้องถิ่นของตนได้

(2) นำข้อมูลพื้นฐานจากแหล่งการเรียนรู้มาจัดทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่นให้นักเรียนมีประสบการณ์ตรง จากแหล่งการเรียนรู้และสามารถประยุกต์ความรู้ที่ได้มาใช้ในชีวิตจริง

(3) ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น และสามารถนำทักษะกระบวนการเรียนรู้ และ ประสบการณ์การเรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้ ทำให้เป็นผู้ใฝ่รู้ และเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต


ขั้นตอนการดำเนินงานในการจัดตั้งเมืองโบราณและพิพิธภัณฑ์จันเสนเป็นแหล่งการเรียนรู้

1. เตรียมการจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่แล้วในชุมชน ทั้งเมืองโบราณจันเสน โบราณวัตถุ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี บุคคลสำคัญในท้องถิ่น และภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งเป็นแหล่งการเรียนรู้ ทั้งในระบบ / นอกระบบการศึกษา และตามอัธยาศัย โดยมีการจัดตั้งคณะผู้ทำงาน จากโรงเรียนวัดจันเสน เจ้าอาวาสวัดจันเสน คณะกรรมการพิพิธภัณฑ์จันเสน องค์กรท้องถิ่น และมูลนิธิ / องค์กรเอกชน ร่วมมือกันปรึกษาหาแนวทางในการ จัดทำทรัพยากรด้านต่างๆ ในท้องถิ่นเป็นแหล่งการเรียนรู้สำหรับสถาบันการศึกษา หน่วยงานและประชาชน ผู้สนใจในการศึกษาหาความรู้จากแหล่งการเรียนรู้ในท้องถิ่น

2. ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน
ชุมชนจันเสนเป็นเมืองโบราณที่มีชื่อเสียงทางด้านแหล่งโบราณคดี มีพิพิธภัณฑ์จันเสน ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน ด้วยเหตุนี้ทางโรงเรียนวัดจันเสน คณะกรรมการพิพิธภัณฑ์ และองค์กรฝ่ายต่างๆ ของชุมชนร่วมมือกันเพื่อพัฒนาให้เมืองโบราณและพิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งการเรียนรู้จากปฏิรูปการศึกษา โดยเน้นในเรื่องของการพัฒนาคน โดยโรงเรียนวัดจันเสน ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้เรื่องราวในท้องถิ่นผ่านกระบวนการเรียนการสอน และการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นเป็นเนื้อหาของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

3. ศึกษาข้อมูลด้านตัวผู้เรียน / ผู้ปกครอง
เด็กในพื้นที่มีความพร้อมด้านความรู้พื้นฐาน และมีความสนใจที่จะศึกษาเรื่องราวของท้องถิ่นตนเองโดยได้รับการร่วมมือและสนับสนุนจากผู้ปกครองเป็นอย่างดีในการออกไปศึกษานอกสถานที่ รวมทั้งวิทยากรท้องถิ่นในการให้ความรู้ จากการสัมภาษณ์ สอบถามในการออกไปหาข้อมูล

4. ด้านศักยภาพของทางโรงเรียน
ความพร้อมในด้านบุคลากรที่มีความพร้อมที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้แหล่งการเรียนรู้ในท้องถิ่นให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ / ปรัชญาเป้าหมายของโรงเรียน เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบ้าน โรงเรียน และชุมชน

5. ศึกษาทำความเข้าใจในหลักสูตรแม่บท
หลักสูตรแม่บทเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการพัฒนาหลักสูตร โดยใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นจัดตามสภาพความเป็นจริง และจัดให้สอดคล้องกับสภาพชุมชนในท้องถิ่นด้วย โดยศึกษาปัญหาและความต้องการของท้องถิ่น และแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

การศึกษาหลักสูตรเป็นภารกิจโดยตรงของผู้สอน หลักสูตรที่กำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการเป็นหลักสูตรแม่บทใช้เป็นแนวทางในการจัดการศึกษาของคนไทยในชาติ เพื่อความเป็นเอกภาพ ผู้สอนต้องวิเคราะห์ว่าเนื้อหาสาระที่กำหนดไว้ในหลักสูตรเหมาะสมเพียงใด และนำมาปรับให้เหมาะสมกับท้องถิ่นและผู้เรียนเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุด

ปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้

1. ให้ผู้เรียนมีโอกาส คิด ทำ โดยครู ผู้เรียน ช่วยกันจัดบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกันและได้มีการสรุปสาระการเรียนรู้
2. สร้างโอกาสให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนรู้ด้วยวิธีที่หลากหลายและต่อเนื่อง
3. มีแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลายและเพียงพอที่ทำให้ผู้เรียนใช้เป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ตามความถนัด ความสนใจ สาระการเรียนรู้มีความสมดุลเหมาะสมกับวัย
4. กระบวนการที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ มีกิจกรรมร่วมกันในการเรียนรู้ คือ การแลกเปลี่ยนความรู้ ร่วมกันคิดและร่วมกันแก้ปัญหาร่วมกันทำให้เกิดทักษะและประสบการณ์ตรง และสามารถนำมาแก้ไข ปรับปรุง พัฒนาท้องถิ่นของตนเองได้
5. สาระและกระบวนการเรียนรู้ เชื่อมโยงกับเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมรอบตัวของผู้เรียนจนผู้เรียนสามารถประยุกต์ผลการเรียนรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้
6. กระบวนการเรียนรู้มีการเชื่อมโยงกับสังคม และองค์กรต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ ความร่วมมือให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และผู้เรียนได้รับประโยชน์สูงสุดจากแหล่งการเรียนรู้

กลุ่มเป้าหมาย

ผู้เรียนจากสถาบันการศึกษาในระบบโรงเรียน การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยเน้นความสำคัญของความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และการบูรณาการตามความเหมาะสมของวัย แต่ละระดับการศึกษา
การจัดกิจกรรมกระบวนการเรียนรู้ขึ้นอยู่กับ วัย และกลุ่มผู้เรียน ที่เข้ามาใช้แหล่งการเรียนรู้

ผลที่ได้รับจากการใช้เมืองโบราณจันเสน และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจันเสนเป็นแหล่งการเรียนรู้

1. มีความรู้ความเข้าใจในแหล่งโบราณคดี และเรื่องราวต่างๆ โดยอาศัยหลักฐานข้อเท็จจริงให้เกิดความสนใจใฝ่รู้ใน สิ่งต่างๆ อันไปสู่การศึกษาค้นคว้าต่อไปอย่างต่อเนื่องเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต

2. เป็นความสำคัญและเห็นคุณค่าของแหล่งโบราณคดี โบราณวัตถุ บุคคลสำคัญ และภูมิปัญญาท้องถิ่น เกิดความรัก ความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง
3. เกิดความตระหนักในการดูแลรักษา และเป็นตัวแทนของชุมชน มีความรู้ความสามารถทักษะประสบการณ์ในการ เป็นมัคคุเทศก์ในการให้ข้อมูลให้คำอธิบายในการนำชมพิพิธภัณฑ์

การศึกษาศักยภาพและการนำเสนอรูปแบบวิธีการส่งเสริมและจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้

ในการดำเนินงานเพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งการเรียนรู้ได้อย่างคุ้มค่าได้รู้ว่าแหล่งการเรียนรู้ในแต่ละพื้นที่ ที่แตกต่างกันออกไปนั้นมีองค์ความรู้หลักในเรื่องใด ใครคือผู้เรียนหลักและสามารถเรียนรู้ในเรื่องใดได้บ้างนั้น มีอยู่ หลายหน่วยงานที่กำลังดำเนินการอยู่

หน่วยงานหนึ่ง ก็คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักงานฯ ได้จัดทำโครงการวิจัยขึ้น เรียกว่า โครงการวิจัยและพัฒนาแหล่งการเรียนรู้สำหรับการศึกษาตลอดชีวิต : กรณีศึกษานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

1. ศึกษาศักยภาพของแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่กรณีศึกษา
2. นำเสนอรูปแบบ วิธีการพัฒนา วิธีส่งเสริมและวิธีการจัดการแหล่งการเรียนรู้ เพื่อตอบสนองความสนใจ ของผู้เรียน ทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย

จากการศึกษาวิจัยให้ผลที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งบุคคลในพื้นที่ ผู้บริหารการศึกษา นักวิชาการ ครู และผู้เรียน สามารถ นำไปจัดกระบวนการเรียนรู้ และค้นหาความรู้จากข้อมูลได้หลายเรื่อง กล่าวคือ

1. นครประวัติศาสตร์และพื้นที่ใกล้เคียงนั้นมีแหล่งการเรียนรู้อยู่ถึง 133 แห่ง ซึ่งจะประกอบด้วยโบราณสถาน 107 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 80.45) แหล่งการเรียนรู้ประเภทพิพิธภัณฑ์ศูนย์ข้อมูล ห้องสมุด สถานศึกษา สถาน ประกอบการ แหล่งหัตถกรรม และแหล่งธรรมชาติอีก 26 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 19.55) ในจำนวนแหล่งการ เรียนรู้ 133 แห่ง เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่อยู่ในความดูแลของภาครัฐ จำนวน 87 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 65.42 อยู่ ในดูแลของวัด มูลนิธิ

หมายเลขบันทึก: 333697เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2010 23:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท