โป่งเกตุ กับความทรงจำ (ค่ายตุลา '49)


โป่งเกตุ กับความทรงจำ

ค่ายแรกของผม..โป่งเกตุ กับความทรงจำ (บันทึกนี้เขียนตั้งแต่ปี 2550  เคยเผยแพร่ในเว็บชมรม asa.buu.ac.th)

            นี่ใช่โรงเรียนเหรอ? เป็นคำถามที่ผมคิดในใจ เมื่อได้มาเห็นโรงเรียนแห่งนี้ เมื่อครั้งไปเตรียมค่ายตุลา'49 (ชุดเตรียมค่ายมีหน้าที่ต้องล่วงหน้าไปเตรียมสถานที่ที่จะจัดค่ายเป็นเวลา 1-2 วัน เพื่อเตรียมความพร้อม ก่อนที่ชุดค่ายใหญ่จะมาถึง เปรียบเหมือนไปดูต้นทางและทางหนีทีไล่ประมาณนั้น) ซึ่งค่ายนี้ ทีมงานเซอเวย์เราเก่งหรือฟลุ๊กจริงๆ ไปหาเจอโรงเรียนแบบนี้ จะมีสักกี่แห่งกันในประเทศไทย โรงเรียนไม่มีรั้ว มีอาคารเรียนชั้นเดียวหนึ่งหลัง สภาพกำลังจะพังภายในเวลาอีกไม่นาน เปิดสอนตั้งแต่อนุบาลถึง ป. 6 มีนักเรียนร้อยกว่าคน ครู 7 คน มีห้องสมุดหนึ่งหลังเช่นกัน แต่ก็เหมือนไม่ใช่ห้องสมุด มีหนังสือน้อยมาก แถมหลังคายังรั่วอีก ห้องน้ำก็ไม่ต้องบรรยายมาก แนวเด็กประถมประมาณนั้น โรงเรียนนี้อาสา ม.บูรพา เคยมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2534 แต่ก็นานสิบกว่าปีแล้ว

            สำหรับค่ายนี้เราใช้ชื่อค่ายว่า "ค่ายตุลาอาสาปันน้ำใจ" เป็นค่ายแรกที่ใช้ชื่อนี้ พี่รุ้ง เป็นประธานค่าย จัดขึ้นที่โรงเรียนบ้านโป่งเกตุ ต.ขุนซ่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี วันที่ 23 -27 ตุลาคม 2549 ซึ่งตอนไปเซอเวย์ ท่าน ผอ. อยากให้เราสร้างเวทีให้ สร้างในโรงเอนกประสงค์ที่พึ่งสร้างใหม่ ซึ่งตอนแรกผมนึกว่าโรงรถซะอีก มีแต่เสากับหลังคาและพื้นปูนธรรมดาๆ แต่นั่นคือสถานที่ที่เด็กๆ ทำกิจกรรมกัน ไม่ว่าจะวันแม่ วันเด็ก ประชุมนักเรียน หรือแม้แต่งานกินเลี้ยงชาวบ้านก็มาที่นี่ ชาวบ้านแถวนั้นเล่าให้ฟังว่า ตอนมีงานวันเด็ก เขาจะเอาถังน้ำมันใหญ่ (คาดว่าถัง 200 ลิตร) มาตั้งเป็นเสาแล้วเอาไม้กระดานพาด ทำเป็นเวที ให้เด็กๆ ได้แสดงออกกัน มีอยู่ครั้งหนึ่งเวทีพัง เด็กบนเวทีก็ตกลงมาเจ็บกันหลายคน ด้วยเหตุนี้กระมัง เขาจึงอยากได้เวทีเพื่อให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมกัน
ด้านหลังนี่แหละอาคารเรียนของหนู

            นับว่าเป็นงานหนักของโครงงานหลัก ซึ่งตอนนั้นโครงงานหลักคือ อัว ซึ่งคิดไว้ว่าจะทำเวทีแบบก่ออิฐล้อมรอบ แล้วเอาดินมาถมให้สูงขึ้นไป โดยตอนแรกจะทุบพื้นปูนให้แตกก่อน เพื่อก่อคานรับน้ำหนัก จากนั้นจึงก่ออิฐเป็นกำแพงขึ้นมา และก็ขนดินใส่ จากนั้นก็ฉาบปูน เป็นอันเสร็จ แต่ปัญหาคือ เงินงบประมาณที่เราได้รับจากมหา’ลัย ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายสำหรับงานหลัก เราจึงต้องขอสปอนเซอร์และเปิดหมวกกันหลายรอบ  รวมทั้งระยะเวลาที่ปิดเทอมที่น้อยนิดประมาณหนึ่งอาทิตย์กว่าๆ ซึ่งนิดเดียว เวลาทำค่ายห้าวัน ไม่นับวันไปและกลับ ไปเตรียมค่ายอีกสองวัน ก็จะเหลือเวลาจริงๆ ประมาณห้าวัน และไม่รู้ว่าจะมีคนไปค่ายมากหรือน้อยเทาไหร่ ก็กะไว้ประมาณสี่สิบคน เราจึงต้องทำให้เสร็จ ต้องเสร็จอย่างเดียว ซึ่งเมื่อไปถึงใหม่ๆ ชาวบ้านที่ทำก่อสร้างแถวนั้นก็บอกว่า ทำไม่เสร็จหรอกห้าวันน่ะ ทำเอาชุดเตรียมค่ายเราใจแป้วไปเป็นแถวๆ เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ติดตามกันต่อไป
 
เตรียมค่ายวันที่ 1
            เมื่อค้อนแรกทุบลงไปบนพื้นปูน เราต่างใจหายกันเป็นแทบ ค้อนกระเด้งกลับแต่ปูนไม่เป็นไร จะกระเทาะด้วยสิ่ว กระทุ้งด้วยจอบ ก็ไม่มีผล สุดท้ายต้องไปยืมค้อนปอนด์ชาวบ้าน และบวกกับอาวุธที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น จอบ อีเตอร์ เสียม แชลง และกำลังอันแรงกล้าของ น้องพงษ์ ช่วยกันแงะและทุบ ทำให้พื้นปูนแตกได้ และโชคดี โรงเอนกประสงค์นั้นมีคานใต้ดินอยู่แล้ว เราจึงไม่ต้องก่อคานขึ้นมาใหม่ กว่าจะเสร็จก็ค่ำแล้ว กินข้าวเย็นแล้วก็มาทำงานต่อ งานตอนนี้ก็คือเซาะร่องเพื่อหาคาน ซึ่งคานนั้นลึกมาก กว่าจะเสร็จก็ดึกดื่น ประมาณตีหนึ่งตีสองเราถึงได้นอนกัน
 
เตรียมค่ายวันที่ 2
            เป้าหมายของวันนี้คือต้องก่ออิฐขึ้นมาให้เสร็จ ถ้าไม่เสร็จ เราก็จะไม่สามารถขนดินใส่ได้ เพราะต้องรอให้ปูนแห้ง เราจึงทำกันตั้งแต่เช้า ต้องขอขอบคุณพี่โหนด ซึ่งเป็น อบต. ของหมู่บ้าน และพี่ติ๊ง ครูที่ ร.ร.แห่งนี้ ซึ่งช่วยเหลือเราตลอดเวลาตั้งแต่มาถึงจบค่าย เราขาดเหลืออุปกรณ์อะไร แกหาให้หมด ถ้าไม่มีพี่สองคนนี้ งานคงไม่เสร็จเป็นแน่ 
            เรายังคงก่ออิฐกันทั้งวัน เนื่องจากมือใหม่หัดก่อ ก็ก่อยันมืดค่ำ ก็ยังไม่เสร็จ ชาวบ้านเลยมาช่วยกันก่ออิฐด้วย ประมาณตีสอง ก็หยุดทำงานกันเพราะดึกมากแล้ว แต่ก็ยังไม่เสร็จ เหลืออีกนิดเดียว ตอนเช้าว่าจะทำกันใหม่

เตรียมค่ายวันที่ 3 วันค่ายใหญ่วันที่ 1
            วันนี้ต้องก่ออิฐต่อจากเมื่อวานนี้ให้เสร็จ แล้วจะเริ่มขนเอาดินใส่ตอนบ่าย วันนี้เป็นวันที่ค่ายชุดใหญ่จะมาถึง แต่ไม่รู้ว่าจะมีคนมาสักกี่คน ตอนเช้ารุ่นพี่ที่ ม.โทรบอกว่า มีคนมาค่ายนี้หกสิบกว่าคน ซึ่งเยอะมากกว่าที่คิดไว้ พอชุดค่ายใหญ่มาถึง ก็ไม่พูดพร่ำทำเพลงมาก ลงมือทำงานต่างๆ  และไปขนดินมาใส่เวที่ที่เราก่ออิฐไว้ทันที นำโดยพี่พลฮีโร่ของเรา ต้องยอมรับว่าพี่แกนี่สู้จริงๆ อีกส่วนหนึ่งก็ทำการก่ออิฐด้านหลังเวทีให้สูงขึ้นไป เพื่อทำเป็นฉากหลังของเวที
            พอตกเย็นชาวค่ายก็ร่วมวงรับประทานอาหาร นำโดยแม่ลำยองซึ่งเป็นฝ่ายอาหาร จากนั้นก็ประชุมค่าย ซึ่งตอนนั้นพี่รุ้งซึ่งเป็นประธานค่ายติดธุระ จะตามมาในอีกวันหนึ่ง เลยให้อัวซึ่งเป็นโครงงานหลัก ทำหน้าที่ประชุม โดยชี้แจงจุดประสงค์หลัก และกฎของค่ายนี้ ว่าเรามาที่นี่เพื่อทำอะไรกันบ้าง จากนั้นก็พูดคุยแนะนำตัว แบ่งกลุ่ม แบ่งหน้าที่ และก็ไหว้เจ้าที่ หลังจบประชุมวันแรก เราก็ลุยงานกันต่อเลย ก็ขนดินนี่แหละ เราเรียกกันว่า ทำโอ (โอที) ทำกันประมาณเที่ยงคืน เพราะกลัวจะเสร็จไม่ทัน จากนั้นจึงแยกย้ายกันไปอาบน้ำพักผ่อน ส่วนใครที่เป็นเวรยามก็ต้องทำหน้าที่กันต่อไป
วันค่ายใหญ่วันที่ 2
            ตื่นเช้ามาประมาณหกโมงกว่าๆ แล้วก็มาออกกำลังกายกัน และวันนี้ตอนเช้าเป็นพิธีเปิดค่าย โดยประธานคือ ท่าน ผอ. หลังจากนั้น ต้องขนดินทั้งวัน ให้ได้มากที่สุด และก็แบ่งกันไปทาสีห้องสมุดโรงเรียนด้วย วันนี้ทั้งวันไม่รู้ขนดินกี่เที่ยวต่อกี่เที่ยว ดินก็ยังไม่เต็มสักที แต่ก็เพิ่มขึ้นมาเกือบจะเต็มแล้ว ส่วนการก่ออิฐเพื่อเป็นกำแพงฉากด้านหลังเวทีนั้นก็ก่อเสร็จแล้ว ดูชาวค่ายทุกคนเหน็ดเหนื่อกันมาก แต่ก็ยังสู้ไหว ทำจนดึกจนดื่นเช่นเดิม วันนี้ตอนประชุมค่ายครบองค์ประชุมสักที เพราะประธานค่ายและพี่ๆ อีกหลายคนพึ่งเสร็จธุระจากที่ ม.เสร็จแล้วพึ่งตามมา ทำให้กำลังแรงงานของเราเพิ่มขึ้นมาอีกนิดนึง ส่วนงานขนดิน คาดว่าพรุ่งนี้เต็มแน่นอน แล้วก็จะต้องให้เสร็จภายในพรุ่งนี้ด้วย เพราะวันที่สี่นั้น จะเป็นวันสันทนาการทั้งวัน
 
วันค่ายใหญ่วันที่ 3
            วันนี้ตื่นเช้ามาออกกำลังกายเช่นเดิม ตื่นโดยเสียงปลุกอันปวดร้าวของประธานค่าย ถ้าใครไปค่ายนี้ก็จะรู้เลยว่ามันปวดร้าวขนาดไหน หลังจากกินข้าวเช้า เราก็ทำงานกันต่อ โดยวันนี้ตามแผนงาน เวทีนั้นจะต้องเทพื้นและฉาบกำแพงด้านหลังเรียบร้อย ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งวันเช้าเวทีก็ถูกถมเต็มในที่สุด และกำแพงด้านหลังก็ถูกฉาบเสร็จเรียบร้อย ครึ่งวันที่เหลือก็เป็นการเทพื้น งานนี้ไม่ง่ายเช่นกันต้องอาศัยชาวบ้านมาช่วยทำด้วย ระหว่างที่ทำการเทพื้นเวที ชาวค่ายอีกส่วนหนึ่งก็ปรับทัศนียภาพรอบโรงเรียน ไม่ว่าจะตัดหญ้า เก็บขยะ ส่วนอีกชุดหนึ่งก็อาศัยรถของชาวบ้าน แห่กันไปประชาสัมพันธ์ทั่วหมู่บ้านว่าพรุ่งนี้เราจะมีการเล่นเกมกับเด็กๆ แจกขนม แข่งกีฬา และมีงานรอบกองไฟในตอนกลางคืน ให้เด็กๆและผู้ปกครองมาโรงเรียนในวันพรุ่งนี้ ผลตอบรับดีมาก ลูกเด็กเล็กแดงทั้งหลายพากันแห่มาเล่นกับทีมประชาสัมพันธ์เรากันยกใหญ่ และชาวบ้านก็ให้ความสนใจเป็นอันมาก 
             เมื่อประชุมสรุปงานของวันนี้ และแบ่งงานกันในพรุ่งนี้เรียบร้อย เราต้องไปทำการฉาบพื้นเวทีกันต่อ เพราะมันยังไม่เสร็จ ส่วนทาสีห้องสมุดนั้นก็เรียบร้อยแล้ว ชาวค่ายอีกส่วนหนึ่งก็ตระเตรียมงานของพรุ่งนี้ กว่าจะเรียบร้อยก็ตีหนึ่งตีสอง
 
วันค่ายใหญ่วันที่ 4
             เช้านี้ชาวค่ายตื่นขึ้นมาด้วยเสียงอันปวดร้าวของประธานค่ายเช่นเดิม ออกกำลังกายแล้วรับประทานอาหาร วันนี้เป็นกิจกรรมกับเด็กทั้งวัน โดยเด็กๆ มาเยอะมาก โดยช่วงเช้าจะเป็นฝ่ายวิชาการซึ่งทำการ Walk rally เข้าฐานต่างๆ เพื่อสอนความรู้เล็กๆน้อยๆ ให้เด็ก กลางวันเราก็ทำอาหารกลางวันเลี้ยงเด็ก แต่ก็ไม่รู้ว่าเด็กเยอะหรือแม่ครัวทำอาหารน้อยไป มีชาวค่ายบางคนไม่ได้กินข้าวกลางวันเพราะมันหมด (นี่ฟ้องนะเนี่ย) ส่วนตอนบ่ายก็จะเป็นเกมพื้นบ้าน เช่นชักเย่อ กินวิบาก วิ่งกระสอบ แข่งวอลเลย์บอลหญิง และฟุตบอลนัดกระชับมิตรระหว่างโป่งเกตุทีมชุดใหญ่ กับ อาสาFC นัดนี้ปรากฏว่าเราแพ้ไปหนึ่งเม็ด แต่ผมก็จำสกอร์ไม่ได้แล้วว่าเท่าไหร่ จากนั้นเราก็มาเตรียมงานรอบกองไฟที่จะมาถึงในคืนนี้ เสร็จแล้วก็มาร่วมวงกินข้าวกัน
             เมื่อถึงงานรอบกองไฟ ต่างคนต่างแยกย้ายกันไปทำหน้าที่ต่างๆ เมื่อเริ่มงานมีชาวบ้านและเด็กๆมาดูเยอะพอสมควร ทุกคนตื่นตากับการแสดงควงกระบองไฟของเรามาก ต่อมาก็จะเป็นการแสดงซูลู ตามด้วยการรำพวงมาลัย การเซิ้งทะลายโลก การแสดงของเด็กๆ และละครสอนใจ
            เมื่อเสร็จจากงานรอบกองไฟ เราก็เก็บของแล้วก็กินข้าวต้มที่ชาวบ้านทำมาให้ แล้วก็มาประชุมสรุปงาน ณ ที่เดิม ซึ่งคืนนี้เป็นคืนสุดท้าย เป็นการประชุมที่ตึงเครียดมาก ใครที่ได้ไปก็จะรู้ว่ามันเครียดขนาดไหน แต่ทุกอย่างก็จบลงด้วยดี มีพิธีเปิดใจและผูกข้อมือ ซึ่งเป็นบรรยากาศน่าประทับใจเป็นอย่างมาก เสียงกีต้าร์พี่เจษบรรเลงเบาๆ เสียงโหวดพี่พลได้ยินบางๆ ท่ามกลางแสงเทียนเรืองๆ และคำอวยพรของรุ่นพี่ที่ผูกข้อมือให้กับน้อง ๆหลังจากนั้นเราก็มาจัดเตรียมงานสำหรับพรุ่งนี้ ก็คือการถวายภัตราหารเช้า และเจิมเวที และคืนนี้มีบางคนไม่ได้นอนด้วย
 
วันค่ายใหญ่วันที่ 5 วันสุดท้าย
         เราต้องตื่นแต่เช้า เพราะทนกับเสียงปลุกอันปวดร้าวของประธานค่ายไม่ไหว และงดออกกำลังกาย เพราะต้องเตรียมของเพื่อเลี้ยงพระตอนแปดโมงเช้า มีชาวบ้านนำของมาถวายพระร่วมกับเราอยู่หลายคน กำนันพร้อมภรรยา และ ผอ.โรงเรียน มาร่วมทำบุญกับเราด้วย เสร็จจากพิธีเราก็รับประทานอาหารร่วมกัน พร้อมกับให้กำนันและชาวบ้านผูกข้อมมือให้อีก จากนั้นเราก็เก็บเคลียร์ของทั้งหมดและทำความสะอาดโรงเรียน พร้อมกับแพ็คกระเป๋าเพื่อกลับ ม. และทำพิธีปิดค่ายอย่างสมบูรณ์ โดยประธานคือ ท่านกำนัน ต.ขุนซ่อง
            อาหารในค่ายนี้ ใครไปค่ายย่อมรู้กันดี มีแต่ ฟัก ฟัก ฟัก แล้วก็ ฟัก แล้ว ชาวบ้านก็ยังเอา ฟัก มาให้อีก ก็ยังดีที่เรายังมีกิน ไม่อดตาย พออยู่ได้ เข้าใจว่างบน้อย ค่ายอาสามันก็เป็นแบบนี้แหละ
             ก็เป็นที่น่าดีใจกับเด็กๆโป่งเกตุ ท่านกำนันบอกว่า ที่กำลังตอกเสาเข็มกลางสนามนั่นคืออาคารเรียนหลังใหม่ จะสร้างเสร็จภายในหนึ่งปี คาดว่าปีหน้าเราจะได้เห็นเด็กๆที่นั่นนั่งเรียนบนหลังใหม่แทนหลังเก่าที่กำลังจะพังสักที
             หลังจากปิดค่ายเราก็มาเล่นเกมสันทนาการชาวค่ายนิดหน่อย เฉลยบัดดี้ และก็ขึ้นรถกลับมหา’ลัย ลาแล้วโป่งเกตุ ดินแดนแห่งความทรงจำ...
            พวกเราถึง ม. โดยสวัสดิภาพ ประมาณห้าโมงกว่าๆ
            ค่ายนี้เป็นค่ายแรกที่กระผมได้ไป พร้อมกับซิวตำแหน่งสันทนาการไปด้วย ที่เป็นตอนนั้นเพราะพี่เจียโยนให้เป็น แล้วบอกว่ามันไม่ยาก เดี๋ยวพี่จะสอนให้ ผมก็ยังไม่มั่นใจเพราะยังไม่เคยไปค่ายไหนเลย เป็นครั้งแรกจริงๆ กลัวเป็นแล้วจะทำงานไม่ดี แต่กระผมก็อยากลองทำดูและที่สำคัญผมมีพี่ๆ ที่ให้คำปรึกษาได้เสมอ ในค่ายผมยอมรับว่าผมไม่ค่อยได้ทำงานสันฯ สักเท่าไหร่ ทำแต่โครงงานหลัก วันสันทนาการก็ได้แต่ขอแรงคนนั้นคนนี้ ให้มาช่วย ต้องของคุณพี่เจษ พี่พล พี่เจีย ที่แนะนำผมเรื่องการสันทนาการและรอบกองไฟ  เมื่อถึงประชุมสรุปงาน เรื่องที่เป็นเรื่องกันก็คือสันทนาการนี่เอง คนอื่นเขาเถียงกัน กระผมเองก็ไม่กล้าพูดอะไร ก้มหน้าอย่างเดียว เพราะยังใหม่มากๆ แต่ทุกอย่างก็เป็นไปได้ด้วยดี จบค่าย ผมประทับใจมาก คิดถึงเด็กๆ ที่โรงเรียน ตอนพวกเราจะกลับเด็กๆ เขาแอบไปร้องไห้กัน เห็นแล้วสงสารโคตร หวังว่าพวกเราชาวค่ายจะเป็นแรงบันดาลใจให้น้องๆ ตั้งใจเรียนแล้วกลับมาพัฒนาที่ทุรกันดารแบบเดียวกันนี้อีกต่อๆไป
            จบค่ายผมติดใจ อยากทำค่ายต่อๆไปอีก รู้สึกว่าแบบนี้แหละมันใช่เลย ความเหนื่อยที่ได้รับมากลับกลายเป็นความสุขและความภูมิใจ ที่สองมือของกระผม มีส่วนสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะนั้นขึ้นมา แม้ว่าจะมีปัญหา โดนด่า  โดนว่า นินทา น้อยใจ เสียใจ หัวเราะ ร้องไห้ กระผมคิดว่ามันเป็นธรรมชาติของชีวิต เป็นธรรมดาที่ใครๆจะต้องพบเจอ แต่กระผมก็จะทำมันต่อไป

            ขอบคุณค่ายอาสาที่ทำให้พวกเรามาเจอกัน แม้ว่าวันเวลาจะน้อยนิดแต่เราก็ได้รู้จักกัน ทำงานด้วยกัน เหนื่อยด้วยกัน ได้เห็นหยดเหงื่อของกันและกัน แม้งานของเราจะไม่มีทรัพย์สินเงินทองใดๆ ตอบแทน แต่เราได้สิ่งที่มีค่าที่มากกว่านั้น นั่นคือ “ใจ” ของชาวค่ายทุกคน กว่างานจะเสร็จเราจะไม่ลืมว่าต้องเหนื่อยกันแค่ไหน จุดมุ่งหมายของเราชาวอาสาก็สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เพราะความศรัทธา เชื่อมั่น และเสียสละ ของฅนอาสาทุกคน
 “ ศรัทธา เชื่อมั่น ฅนอาสา ”

ปล.โป่งเกตุดาวสวยมากๆ
หมายเลขบันทึก: 333694เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2010 23:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท