วิเคราะห์แนวคิดและทัศนคติทางสังคมและการเมือง ที่มีต่อสังคมไทยของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลจากหนังสือเรื่องสั้นชุด "เรื่องสั้นคัดสรร พ.ศ.2522-2539"


ทัศนะส่วนใหญ่ของเสกสรรค์นั้น มักจะเป็นไปในทิศทางเพื่อที่อยากจะเห็นสังคมดีขึ้น ผู้คนภายในสังคมช่วยเหลือดูแลกันมากขึ้น ไม่เบียดเบียนกันใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายทางวัตถุแต่ลุ่มลึกทางปัญญา

              การศึกษางานวรรณกรรมประเภทหนึ่ง ๆ นั้น นอกจากจะทำการศึกษาเฉพาะในด้านของรูปแบบ องค์ประกอบ ของงานวรรณกรรมอย่างที่เคยนิยมปฏิบัติกันมาแล้ว การศึกษาถึงแนวคิด ทัศนคติ ที่นักเขียนถ่ายทอดลงในงานวรรณกรรมนั้น ก็สำคัญยิ่ง และดูเหมือนจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ผู้ศึกษางานวรรณกรรมเริ่มให้ความสนใจที่จะศึกษามากขึ้น งานเขียนดี ๆ ชิ้นหนึ่งไม่ใช่เรื่องธรรมดา บางทีก็แทบไม่น่าเชื่อว่า “…งานชิ้นเดียวสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงความคิด วิถีชีวิตคนเรา จนกระทั่งสามารถพลิกประวัติศาสตร์โลกได้ บทกวี ‘ฉันจึงมาหาความหมาย’ ปลุกเร้าจิตสำนึกให้นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งคำถามตนเองและความหมายของชีวิตในมหาวิทยาลัยและปริญญาบัตร ‘ปีศาจ’ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ และ ’เขาชื่อกานต์’ ของสุวรรณี สุคนธา ได้มีส่วนผลักดันให้นักศึกษาจำนวนไม่น้อยสละชีวิตการทำงานในเมืองมุ่งสู่ชนบทเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ นวนิยายอเมริกันเรื่อง ‘กระท่อมน้อยของลุงทอม’ ของแฮเรียต บีตเชอร์ สโตว์ ยังผลให้เกิดการเลิกทาสของสหรัฐอเมริกา ”

              งานแต่ละชิ้นถือว่าเป็นการประสานกันระหว่าง ข้อเท็จจริง แนวคิด ทัศนคติ วิธีคิด จุดยืน เหตุผล และจินตนาการของผู้เขียน ซึ่งมีสัดส่วนที่แตกตางกันไปตามความมุ่งหมายและอารมณ์ของผู้เขียน บางชิ้นเป็นงานสนุกสนานขบขันคลายเครียด บางชิ้นก็อาจเคร่งขรึมจริงจังในการเสนอปัญหาสังคม การศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนในสิ่งที่นักเขียนต้องการนำเสนอ แล้วนำเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์อันได้จากการศึกษานั้นมาพัฒนาตนเอง ปรับปรุงสังคมต่างหาก การศึกษานั้น  ๆ จึงจะถือว่ามีประโยชน์อย่างแท้จริง

              งานการศึกษาชิ้นนี้ เป็นการศึกษาวิเคราะห์แนวคิด และทัศนคติทางสังคมและการเมืองที่มีต่อสังคมไทย ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล จากเรื่องสั้นของเขาในหนังสือเรื่องสั้นชุด “เรื่องสั้นคัดสรร พ.ศ.2522-2539”ซึ่งมีวัตถุประสงค์และความมุ่งหมายที่จะศึกษาแนวคิดและทัศนคติ ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลโดยเฉพาะ แต่อย่างไรก็ตามการที่จะศึกษารวมไปถึงการวิเคราะห์องค์ประกอบและรูปแบบ ก็ยังถือว่าเป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่กันไปด้วย ทั้งยังเป็ฯการปูพื้นฐานเกี่ยวกับความเข้าใจงานเขียนประเภทเรื่องสั้นของเสกสรรค์ อันจะเป็นแนวทางนำไปสู่การวิเคราะห์แนวคิดและทัศนคติของเสกสรรค์ ทีมีต่อสังคมในลำดับต่อไป ถึงกระนั้นในที่นี้จะขอทำการวิเคราะห์องค์ประกอบเรื่องสั้นของเสกสรรค์ อย่างง่าย ๆ พอเป็นพื้นฐานเท่านั้นหากแต่หลักใหญ่ยังคงมุ่งเอาการศึกษาแนวคิดและทัศนคติของเสกสรรค์เป็นหลัก

              งานชิ้นนี้จะทำการเสนอโดยแบ่งออกเป็น 2 ตอน ตอนที่ 1 นั้นจะเป็นการนำเสนอผลของการวิเคราะห์องค์ประกอบเรื่องสั้นของเสกสรรค์ ซึ่งแบ่งย่อยเป็นอีก 4 ส่วน คือ วิเคราะห์โครงเรื่อง วิเคราะห์ตัวละคร วิเคราะห์ฉาก และวิเคราะห์บทสนทนา แล้วจากนั้นก็จะเป็นผลสรุปของการวิเคราะห์องค์ประกอบเรื่องสั้น

              ส่วนตอนที่ 2 เป็นการนำเสนอผลของการวิเคราะห์แนวคิดและทัศนคติของเสกกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่ได้จากเรื่องสั้นทั้งหมด ซึ่งก็ได้แยกเป็นประเด็นใหญ่ ๆ 3 ประเด็นคือ 1. ทัศนทางสังคม 2. ทัศนเกี่ยวกับความเชื่อขนบธรรมเนียมประเพณี และ 3. ทัศนที่เกี่ยวกับชีวิตและเพื่อนมนุษย์ ส่วนสุดท้ายก็จะเป็นผลสรุป ทัศนและแนวคิดของเสกสรรค์

 

 

ตอนที่ 1 วิเคราะห์องค์ประกอบเรื่องสั้นของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล

        จือ สตะเวทิน กล่าวถึงองค์ประกอบที่สำคัญในการแต่งเรื่องสั้นไว้ดังนี้

โครงเรื่อง (Plot)  คือเหตุการณ์ชุดหนึ่งรวมกันเข้าก่อให้เกิดผลอย่างหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยส่วนสำคัญ ดังนี้

1.การเปิดเรื่อง คือจุดเริ่มเรื่องซึ่งนับว่าสำคัญมาก เพราะถ้าเริ่มต้นไม่ดี ไม่สะดุดตาสะดุดใจ หรือไม่

ก่อให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นแล้ว ผู้อ่านก็อาจจะไม่ติดตามเรื่องราวในตอนต่อไปเลยก็เป็นได้ การเปิดเรื่องทำได้หลายวิธีดังนี้

1.1                       สร้างให้มีนาฏกรรมหรือการกระทำที่ก่อให้เกิดความสนใจโดยเร็ว

1.2                       ใช้บทสนทนา  

1.3                       ใช้การพรรณนา อาจเป็นการพรรณนาบุคลิกลักษณะของตัวละครสำคัญ หรือเป็นการ    

พรรณนาฉากและบรรยากาศของเรื่อง

1.4                       ใช้การบรรยาย

1.5                       ใช้สุภาษิต บทกวี ข้อความคมคายชวนให้คิด

      

                     2.การดำเนินเรื่อง คือช่วงที่สืบเนื่องมาจากตอนเปิดเรื่อง ซึ่งจะต้องดึงความสนใจของผู้อ่านไว้ให้ได้เสมอ โดยสร้างให้มีความขัดแย้ง (Conflict) ที่เร้าใจ แล้วคลี่คลายความขัดแย้งไปจนปิดเรื่อง ทั้งนี้ต้องอาศัยกลวิธีเกี่ยวกับการดำเนินเรื่องและกลวิธีในการเล่าเรื่องที่ดีประกอบด้วย ซึ่งอาจแยกรายละเอียดเพิ่มเติมได้ดังนี้

                    2.1 ความขัดแย้ง (Conflict) แบ่งออกได้ดังนี้

                             - ความขัดแย้งระว่างมนุษย์กับมนุษย์ (Man against Man)

                             - ความขัดแย้งกับตัวเอง (Man against himself) เช่น การต่อสู้กับความรู้สึกภายในจิตใจ

                             - ความขัดแย้งที่เกดขึ้นจากสาเหตุภายนออก (Man against an out side force) เช่น การต่อสู้กับธรรมชาติ สังคม สัตว์ รวมไปถึงพระเจ้า ศาสนา หรือชะตากรรมของตนเอง

                                      - ความขัดแย้งที่เกดขึ้นเนื่องจากความเห็นไม่ตรงกัน (Idea against Idea)

                   

               2.2 กลวิธีเกี่ยวกับการดำเนินเรื่อง ผู้แต่งอาจกระทำได้หลายวิธีดังนี้

                             - เล่าเรื่องตามลำดับปฏิทิน คือการเล่าเรื่องไปตามลำดับก่อนหลัง

                             - เล่าเรื่องย้อนหลัง (Flash back) คือเรื่องที่อาจเปิดขึ้นในตอนใดของเรื่องก็ได้ แต่มีวิธีเล่าย้อนต้นสลับไปมากับเรื่องในปัจจุบัน

                             - เล่าเหตุการณ์เกิดต่างสถานที่สลับกันไปมา

               2.3 กลวิธีในการเล่าเรื่องหรือเทคนิคเกี่ยวกับผู้เล่าเรื่อง ( point of view ) อาจแบ่งได้ดังนี้

                             - ใช้บุรุษที่หนึ่งซึ่งเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องเป็นผู้เล่า ( The First – person narrntor as a main character ) คือการให้ตัวละครสำคัญเล่าเรื่องของตนเอง โดยใช้สรรพนาม ผม ฉัน ดิฉัน ข้าพเจ้า หรือ เรา.

                             - ใช้บุรุษที่หนึ่งซึ่งเป็นตัวละครรองในเรื่องเป็นผู้เล่า ( The First – person narrator as a minor character ) ใช้ตัวละครรองซึ่งมักเป็นผู้ใกล้ชิดตัวละครเอกเป็นผู้เล่า

                             - ผู้ประพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงทุกอย่างเป็นผู้เล่า ( The omniscient author )

                             - ผู้ประพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้สังเกตการณ์เป็นผู้เล่า ( The author as a observer ) วิธีนี้ผู้ประพันธ์ไม่สามารถทราบความรู้สึกนึกคิดองตัวละครได้เลย มีหน้าที่แต่เพียงรายงานเฉพาะสิ่งที่ตนเห็น ได้ยินได้ฟังได้สังเกตการสนทนา หรือการกระทำของตัวละครเท่านั้น

  - ใช้บุรุษที่หนึ่งเป็นผู้เล่าด้วยวิธีกระแสจิตประหวัด ( Stream of conciousness ) คือให้บุรุษที่หนึ่งเล่าเรื่องของตนเองแต่ปรากฎในรูปความคิดไปถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ

      3. การปิดเรื่อง กระทำได้หลายวิธีดังนี้.

                             - จบแบบขมวดหรือทิ้งท้าย ( surprise ending หรือ anti – climax ) เป็นการจบแบบพลิกความคาดหมาย

                             - จบอย่างเศร้า ( tragic ending )

                             - จบอย่างหวานชื่น ( happy ending)

                             - จบแบบเป็นจริงในชีวิต ( realistic ending ) เป็นการจบแบบทิ้งปัญหาไว้ให้ผู้อ่านคิดหาคำตอบเอาเอง เพราะในชีวิตจริงมีปัญหาหลายอย่างที่ไม่สามารถแก้หรือให้คำตอบได้

 

ตัวละคร ( Characters ) คือผู้มีบทบาทในเรื่อง อาจเป็นคนหรืออย่างอื่น เช่น สัตว์ ดอกไม้ ต้นไม้ ภาชนะ เป็นต้น

                   1. วิธีแนะนำตัวละคร อาจแยกออกได้ดังนี้.

                             - แบบเล่าเรื่อง ( narrative ) นักประพันธ์จะเป็นผู้แนะนำตัวละครออกมาตรง ๆ ว่าเป็นคนลักษณะไหน มาจากไหน ฯลฯ

                             - แบบให้เห็นจากการกระทำของตัวละครเอง ( dreamatic ) โดยที่ผู้เขียนมิต้องบรรยาย

                   2. การกำหนดลักษณะนิสัยของตัวละคร อาจแบ่งได้ดังนื้

                             - ตัวละครที่ไม่ซับซ้อน

                             - ตัวละครที่ซับซ้อน

                             - ตัวละครที่มีบทบาทคงที่

                             - ตัวละครที่มีบทบาทเปลี่ยนแปลง

         

ฉาก ( setting ) หมายถึงสถานที่และเวลาที่เรื่องนั้น ๆ เกิดขึ้น ถือว่ามีส่วนสำคัญต่อเรื่องสั้นในการที่จะบอกว่าเรื่องนั้นเกิดที่ไหนเมื่อไหร่ แต่ฉากมิใช่หมายถึงเพียงแต่สถานที่เท่านั้น ยังหมายถึงรายละเอียดอื่น ๆ ที่จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องสั้นนั้น ๆ ได้ดีขึ้นด้วย ได้แก่ บรรยากาศ  อารมณ์ เป็นต้น

         

บทสนทนา ( dialouge ) คือ คำพูดของตัวละครที่ใช้ตอบโต้กันในเรื่อง ซี่ง เจือ สตะเวทิน กล่าวถึงบทสนทนาที่ดีไว้ดังนี้

                   - ต้องประหยัด ไม่พูดนอกเรื่อง

                   - ต้องง่ายเป็นไปตามธรรมชาติ เหมาะสมแก่ฐานะตัวละคร

                   - รู้จักผันแปรถ้อยคำ หรือรู้จักหลากคำ เช่นการใช้คำบอกเล่าเกี่ยวกับบทสนทนา ให้เหมาะแก่อารมณ์ เช่น พึมพำ บ่น เสริม คร่ำครวญ ฯลฯ

 

          จากเกณฑ์การศึกษาเรื่องสั้นทั่วไปดังที่กล่าวมาแล้วนั้น เมื่อนำไปใช้วิเคราะห์การแต่งเรื่องสั้นและองค์ประกอบเรื่องสั้นของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ทำให้เห็นกลวิธีการแต่งดังนี้

 

การสร้างโครงเรื่อง 

1.การเปิดเรื่อง

             จากการศึกษาเรื่องสั้นของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล จำนวน 16 เรื่องได้พบว่าเรื่องสั้นของเสกสรรค์ ส่วนใหญ่เขานิยมเลือกใช้การเปิดเรื่องแบบพรรณนาและแบบบรรยาย ซึ่งมีทั้งหมดรวมกันถึง 13 เรื่อง ส่วนที่เหลืออีก 3 เรื่องเป็นการเปิดเรื่องแบบสนทนา

             การเปิดเรื่องแบบพรรณนา การเปิดเรื่องแบบนี้เสกสรรค์ ประเสริฐกุลใช้มากถึง 7 เรื่อง โดยเป็นการพรรณนาฉากและบรรยากาศของเรื่องเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เพราะเพื่อปูอารมณ์ของผู้อ่านให้เข้าสู่บรรยากาศของเรื่อง โดยเฉพาะธรรมชาติและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งสามารถทำให้ผู้อ่านเห็นภาพได้อย่างชัดเจน เกิดจินตภาพตามไปด้วย การเปิดเรื่องแบบพรรณนาฉากนั้นเสกสรรค์ ใช้มากถึง 6 เรื่อง ซึ่งได้แก่เรื่อง คนหาปลา คนกับเสือ ผู้ยิ่งใหญ่ มวยแทน หญิงเฒ่าบนภูเขาชรา และบุคคลภายนอก ตัวอย่างเช่น

 

       แนวเขาขรึมบัดนี้เริ่มหม่นคล้ำ มันทอดตัวทะมึนอยู่สองฝั่งของห้วยใหญ่ซึ่งใกล้จะแปรสภาพเป็นแม่น้ำ เบื้อง หน้าโน้นตีนเขาทั้งสองข้างลาดมาบรรจบกัน จุดที่สายน้ำหักโค้งถัดออกไปยังมีอีกเทือกหนึ่งกั้นขวางเป็นกำแพงพาดฟ้า ตะวันสีส้มสุกหย่อนตัวลงแตะยอดไม้ขณะที่หมอกละมุนของปลายฤดูหนาวม้วนฟ่อนทึบขึ้นเรื่อย ระหว่างซอกภู.

( คนหาปลา : เรื่องสั้นคัดสรร .. 2522-2539 : หน้า 83 )

         

              นอกจากการเปิดเรื่องสั้นด้วยการพรรณนาฉากและบรรยากาศดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีการเปิดเรื่องแบบพรรณนาตัวละครด้วย จากการศึกษางานของเสกสรรค์ครั้งนี้พบเพียง 1 เรื่องคือ เรื่องดอกไผ่ซึ่งก็ทำให้ผู้อ่านเห็นลักษณะของตัวละครได้เป็นอย่างดีอีกทั้งยังจูงใจให้น่าติดตามได้พอสมควร เช่น

 

       หมาขนเกรียนสีน้ำตาลหม่นหยุดกึกอยู่กับที่เมื่อก้าวขึ้นมาถึงสันเนิน จมูกชื้น ของมันขยับไหมาเพื่อสูดหากลิ่นอะไรบางอย่าง ทันใดนั้นเสียงเห่าอย่างดุดันก็กังวานขึ้นตลอดแนวไม้ขาเพรียวแกร่งทั้งสี่กระโจนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว พริบตาเดียวหมาสีหม่นก็มายืนชะเง้อคออยู่ตรงโคนกอไผ่ มันทำท่าตะกุยตะกายคล้ายจะกระโดด แต่แล้วก็ยืนอ้าปากปล่อยลิ้นยาวอย่างสิ้นหวัง 

( ดอกไผ่ : เรื่องสั้นคัดสรร ฯ : หน้า 55 )

 

               การเปิดเรื่องแบบบรรยาย การเปิดเรื่องแบบนี้เสกสรรค์ นิยมใช้พอ ๆ กับการเปิดเรื่องแบบพรรณนาซึ่งการเปิดเรื่องแบบนี้มีจำนวนถึง 6 เรื่องด้วยกัน ทั้ง 6 เรื่องส่วนใหญ่เป็นการบรรยายฉาก ทั้งนี้เพราะเสกสรรค์ มักจะต้องการนำเสนอให้ผู้อ่านเห็นภาพรวม ๆ ของฉากทั้งหมดก่อนจากนั้นจึงจะนำเข้าสู่ตัวละครซึ่งก็ชวนให้ผู้อ่านติดตามเรื่องราวต่อไปได้ดีเช่นกัน เรื่องที่เปิดเรื่องด้วยการบรรยายฉากมีทั้งหมด 4 เรื่องด้วยกันได้แก่ ผู้เดือดร้อน เด็กน้อยกับคนเฝ้าศาลเจ้า ไหมลี และบาดแผลใหม่จากท้องทะเล ตัวอย่างเช่น

 

       ณ มุมที่อับชื้นแห่งหนึ่งของเมืองหลวง มีศาลเจ้าตั้งตรงทางสามแพ่งพอดี สิ่งที่เรียกกันว่า เจ้าพ่อ นั้นแทนที่จะเป็นรูปปั้นบุคคลทางประวัติศาสตร์หรือตัวละครในเทพนิยาย กลับกลายเป็นรูปปั้นสิงโตจีนขนาดเขื่องสิงโตตัวนี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไรไม่มีใครรู้ แต่มีการลือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก สามารถให้ลาภให้หวยใครเจ็บไข้ได้ทุกข์ก็มาบนบานศาลกล่าวให้ปัดเป่าได้ คงจะเป็นเพราะเหตุนี้จึงมีผู้มีใจศรัทธามาสร้างเก๋งจีนขนาดบ้านหลังน้อยครอบไว้ให้ โดยผู้สร้างตึกแถวทั้งสองข้างเว้นที่ให้ด้วยความเต็มใจ 

( เด็กน้อยกับคนเฝ้าศาลเจ้า : เรื่องสั้นคัดสรร : หน้า 29 )

         

       ไฟป่าที่ผ่านไปทิ้งไร่ฝิ่นเก่านั้นให้กลายเป็นสีดำสนิท แต่หลังฝนแรกไม่กี่วันยอดหญ้าสีเขียวสว่างก็แซมไปทั่วเมื่อมองมาจากเนินสูงไร่ร้างจึงดูเหมือนปั้นโด๊วที่เพิ่งลงด้ายได้แค่สีเดียวพื้นผ้าดำส่วนใหญ่ยังคงถูกทิ้งว่างไว้ 

       เกือบกลางไร่ มีเนินดินยาวไม่ถึงวาพูนเด่นเห็นแต่ไกล สีของเนื้อดินบ่งชัดว่ามันมาอยู่ที่นี่หลังไฟป่า แต่หญ้าคาที่เริ่มแทงยอดประปรายตามขอบเนินก็บ่งบอกเช่นกันว่ามันถูกพูนขึ้นก่อนฝนแรก 

( ไหมลี : เรื่องสั้นคัดสรร : หน้า 45 )

 

                นอกจากนั้นยังมีการเปิดเรื่องแบบบรรยายตัวละครอีกจำนวน 2 เรื่อง ได้แก่เรื่องความหวังของบัญชา และพลเมืองดี ซึ่งก็เป็นวิธีการเปิดเรื่องแบบหนึ่งที่เสกสรรค์ ค่อนข้างทำได้ดี สามารถดึงดูดความสนใจให้ผู้อ่านอยากติดตามเรื่องมากขึ้นได้เป็นอย่างดี เพราะเขามักบรรยายลักษณะเด่น และอากัปกิริยาของตัวละครได้อย่างน่าสนใจ เช่น

       ประตูวัดมหาธาตุด้านตลาดพระเครื่อง มีคนเดินเข้าออกมากมาย และยิ่งมากเป็นพิเศษในวันเสาร์อาทิตย์ แต่น้อยคนนักจะสังเกตว่าเขานั่งอยู่ตรงนั้นเป็นประจำ บางทีอาจเป็นเพราะวันทั้งวันเขาเกือบจะไม่ได้ลุกไปไหนเลยทำให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมาคิดว่าเขาเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งของทางเดินเท้าดังเช่นเสาไฟฟ้าหรือถังขยะก็ได้ อันที่จริงคนอย่างเขาก็กองร่างอยู่ตามทางเดินเท้าทุกหนทุกแห่งไม่แพ้เจ้าสองสิ่งนั้นเหมือนกัน และเช่นเดียวกับถังขยะที่ทาสีเขียวทุกใบ คนขี้เรื้อนทุกคนจะดูมีหน้าตาเหมือนกันหมด อย่างน้อยที่สุดก็สำหรับชาวเมืองหลวง 

( พลเมืองดี : เรื่องสั้นคัดสรร : หน้า 17 )

         

        คนมีอายุสักหน่อยในจังหวัดนี้ล้วนรู้จักบัญชา สีหะบัญชาราษฎร์ บางคนรู้กระทั่งว่าชื่อเดิมของเขานั้นคือนายเมี้ยน แป้นจำปี เมื่อเจ้าตัวได้รับแต่งตั้งให้มากินตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด จึงได้เปลี่ยนทั้งชื่อและนามสกุลให้สมฐานะนักปกครองระดับสูง บัญชาหรือเมี้ยนมาพร้อมกับความคึกคักเอาการเอางาน แต่ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร เขากลับอยู่ในตำแหน่งเดิมถึง ห้าปีเต็ม และเกษียณอายุที่จังหวัดนี้เอง 

( ความหวังของบัญชา : เรื่องสั้นคัดสรร : หน้า 67 )

 

               การเปิดเรื่องโดยใช้บทสนทนา การเปิดเรื่องแบบนี้แม้จะไม่ชัดเจนทีเดียวนักที่พอจะจัดให้เรื่องไหนของเสกสรรค์ ตรงกับเกณฑ์ที่วางไว้แต่ก็พอมีเรื่องที่จะอนุโลมเข้าในเรื่องนี้อยู่ 3 เรื่องด้วยกันซึ่งก็คือ เรื่องอั้งฮวย สมชาย และเลือดใหม่ แม้จะจัดว่าเป็นการเปิดเรื่องโดยใช้บทสนทนา แต่ก็แทรกด้วยการเปิดเรื่องแบบอื่นอยู่ด้วยบ้าง คือมีการแนะนำตัวละครหรือบรรยายฉากหรืออย่างอื่น ๆ แทรกด้วยนั่นเอง เช่น

 

       “อีดอกมึงเยี่ยวเดี๋ยวนี้นะชายร่างแกร่งเกร็งตะคอกเบา แต่เฉียบขาด มือของเขาจิกผมหล่อนไว้แน่นจนหน้าอาบน้ำตานั้นแหงนหงาย หญิงสาวหลับตาเพื่อสะกดความรวดร้าวในขณะที่เสียงของผู้ชายอีกคนหนึ่งแว่วเข้ามาในโสตสำนึก 

       “ผมหวังว่าท่านคงจะเซ็นให้ก่อนวันพุธนี้นะครับ ไม่ต้องห่วงเรื่องเปอร์เซ็นต์ โธ่ท่านก็รู้ว่าผมแฟร์มาตลอด 

( อั้งฮวย : เรื่องสั้นคัดสรร : หน้า 51 )

 

       “เฮ้ แทน แม่นายมาหาแนะ เสียงคุ้นหูดังขึ้นพร้อมด้วยเสียงหัวเราะของคนสองสามคนที่กำลังก้าวขึ้นบันไดตึกศิลปศาสตร์ที่ข้าพเจ้าใช้เป็นที่นั่งอ่านหนังสือเป็นประจำในวันหยุดสัปดาห์ 

       “เฮ้ย อย่าล้อเล่นนะ ข้าพเจ้าทำเสียงดุ แต่ดวงตายังยิ้มให้อย่างเป็นมิตร แม่เรานะไม่กล้ามาที่นี่หรอก แกกลัวพวกเจ้าคนนายคน 

       “อ้าวจริง นะ โน่นไง เขามาถามหานาย เพื่อนคนหนึ่งชี้มือไปที่ประตูเหล็กด้านท่าพระจันทร์ แล้วทั้งหมดก็เดินผ่านไปอย่างไม่สนใจอะไรอีก

( สมชาย : เรื่องสั้นคัดสรร : หน้า 37 )

2.การดำเนินเรื่อง

              การสร้างวามขัดแย้ง จากการศึกษาเรื่องสั้นของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลพบว่าในการสร้างความขัดแย้งส่วนใหญ่ เสกสรรค์จะใช้ความขัดแย้งที่เป็นความขัดแย้งกับตัวเองโดยเฉพาะความขัดแย้งภายในจิตใจ และมีความขัดแย้งกับภายนอก ส่วนความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์นั้นมีน้อย แต่ก็มีบ้างใช่ว่าจะไม่มีเลย แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่สามารถจะแยกได้อย่างชัดเจนว่า เรื่องไหนมีความขัดแย้งเป็นประเภทไหน เพราะส่วนใหญ่ เรื่องสั้นของเสกสรรค์นั้น มักเป็นเรื่องให้แนวคิด ความขัดแย้งส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องของความคิดจิตใจภายในตามไปด้วย บางเรื่องก็คล้ายจะเป็นการเล่าเรื่องธรรมดา ๆ จบแบบดื้อ ๆ ง่าย ๆ แต่น่าคิดหากเอาใจใส่พิจารณาถีถ้วนรอบคอบกับตรงนั้นบางทีก็เป็นเรื่องความหดหู่ของจิตใจ ความต้องการความเห็นอกเห็นใจกันภายในสังคม ซึ่งเสกสรรค์พูดอยู่เสมอว่า “…ผมอยากเห็นผู้คนดูแลกันมากกว่านี้ ใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายทางวัตถุ แต่ลุ่มลึกทางปัญญา เบียดเบียนกันน้อยลงและทำลายโลกให้น้อยลง ” หลายเรื่องเขียนในลักษณะเอื้ออาทร เห็นใจผู้อื่น แต่ก็พอมีที่บอกได้ชัด ๆ อยู่ว่าเป็นความขัดแย้งแบบไหนซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้ 1.ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับตนเอง มี 5 เรื่องคือ เรื่องพลเมืองดี เลือดใหม่ มวยแทน ผู้ยิ่งใหญ่ และคนกับเสือ  2.ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสาเหตุภายนอก มี 6 เรื่องคือ เรื่องเด็กน้อยกับคนเฝ้าศาลเจ้า สมชาย ไหมลี ดอกไผ่ คนหาปลา บาดแผลใหม่จากท้องทะเล 3.ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มี 2 เรื่องคือ ผู้เดือดร้อน กับอั้งฮวย ส่วนอีก 3 เรื่องคือ ความหวังของบัญชา บุคคลภายนอก หญิงเฒ่าบนภูเขาชรา ไม่แน่ใจว่าเป็นความขัดแย้งในลักษณะใดก้ำกึ่งกันทั้งความขัดแย้งจากภายนอก และความขัดแย้งกับตนเอง หรืออาจเป็นเรื่องในลักษณะเรื่องเล่าตามที่เสกสรรค์ นิยมแต่งก็เป็นได้

              กลวิธีการดำเนินเรื่อง จากการศึกษากลวิธีการดำเนินเรื่องในเรื่องสั้นของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล พบว่าเสกสรรค์ นิยมดำเนินเรื่องด้วยการเล่าแบบย้อนหลัง ( Flash back ) ซึ่งก็คือเรื่องที่มีการเล่าย้อนต้นสับไปมากับเรื่องในปัจจุบันซึ่งมีจำนวนถึง 8 เรื่อง รองลงมาเป็นเรื่องที่เล่าตามลำดับก่อนหลังหรือตามปฏิทิน จำนวน 7 เรื่อง ส่วนอีก 1 เรื่องที่เหลือ เป็นเรื่องที่ใช้กลวิธีเล่าเหตุการณ์สลับกันไปมา ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

             เล่าเรื่องย้อนหลัง ( Flash back ) ได้แก่เรื่อง คนหาปลา คนกับเสือ  ผู้ยิ่งใหญ่ มวยแทน หญิงเฒ่าบนผู้เขาชรา ความหวังของบัญชา ไหมลี ผู้เดือดร้อน

             เล่าเรื่องตามปฏิทิน ได้แก่เรื่อง ผู้เดือดร้อน เด็กน้อยกับคนเฝ้าศาลเจ้า สมชาย ดอกไผ่ บาดแผลใหม่จากท้องทะเล บุคคลภายนอก เลือดใหม่

             เล่าเหตุการณ์เกิดต่างสถานที่สลับกันไปมา ได้แก่เรื่อง อั้งฮวย

             กลวิธีในการเล่าเรื่องหรือเทคนิคเกี่ยวกับผู้เล่าเรื่อง จากการศึกษาเกี่ยวกับการเล่าเรื่องในเรื่องสั้นของเสกสรรค์ ได้พบว่า ส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดเสกสรรค์ ใช้วิธีเล่าเรื่องแบบให้ผู้ประพันธ์เป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงทุกอย่างเป็นผู้เล่าเรื่อง ซึ่งการเล่าเรื่องแบบนี้ มีจำนวนถึง 15 เรื่อง ได้แก่ พลเมืองดี ผู้เดือดร้อน เด็กน้อยกับคนเฝ้าศาลเจ้า ไหมลี อั้งฮวย ดอกไผ่ ความหวังของบัญชา บุคคลภายนอก คนหาปลา หญิงเฒ่าบนภูเขาชรา เลือดใหม่ บาดแผลใหม่จากท้องทะเล มวยแทน ผู้ยิ่งใหญ่ และคนกับเสือ ส่วนเรื่องสมชาย เป็นเพียงเรื่องเดียวที่มีกลวิธีการเล่าเรื่องแบบใช้บุรุษที่ 1 ซึ่งเป็นตัวละครรองเป็นผู้เล่า

3.การปิดเรื่อง

              การปิดเรื่องของเสกสรรค์นั้น จากการที่ได้ศึกษามาพบว่า เรื่องสั้นของเขาแทบทั้งหมด เป็นการปิดเรื่องแบบเป็นจริงในชีวิตทั้งสิ้น โดยทั่วไปจะมีการทิ้งปัญหาไว้ให้ผู้อ่านคิดหาคำตอบเอาเอง หรือทิ้งข้อความบางอย่างไว้ให้ผู้อ่านนึกต่อเอาเอง ซึ่งเสกสรรค์เองก็ใช้วิธีการปิดเรื่องแบบนี้ได้เป็นอย่างดีทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง คนกับเสือ ผู้ยิ่งใหญ่ เลือดใหม่ หญิงเฒ่าบนภูเขาชรา ฯลฯ ซึ่งเขาปิดเรื่องได้เป็นอย่างดี.

 

การสร้างตัวละคร

              การสร้างตัวละครของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลนั้น จากการที่ได้ศึกษามาพบว่า เสกสรรค์ สร้างตัวละครเพื่อให้แสดงพฤติกรรมที่มีความหมายสำคัญในเรื่องเพียง 2 ชนิดเท่านั้น คือ ตัวละครที่เป็นคน  และตัวละครที่เท่าเทียมคน

              ตัวละครที่เป็นคนนั้น เสกสรรค์ นิยมกล่าวถึงชีวิตคนทั่ว ๆ ไปในหลากหลายอาชีพอย่างเช่น อาชีพคนหาปลา ชาวประมง ขอทาน ชาวนา ชาวเขา พ่อค้า ข้าราชการ โสเภณี ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นชีวิตของคนในชนบท เช่นเรื่องคนหาปลา คนกับเสือ ผู้ยิ่งใหญ่ มวยแทน บาดแผลใหม่จากท้องทะเล ดอกไผ่ ผู้เดือดร้อน ไหมลี และหญิงเฒ่าบนภูเขาชรา นอกจากนั้นก็มีชีวิตของคนในเมืองและชีวิตของคนที่คนภายในสังคมควรให้ความเห็นใจ เช่นเรื่อง อั้งฮวย สมชาย พลเมืองดี บุคคลภายนอก ความหวังของบัญชา เป็นต้น

              ส่วนตัวละครที่เท่าเทียมคนนั้น เสกสรรค์ ได้เลือกใช้ทั้งสัตว์และธรรมชาติ เช่น เสือในเรื่องคนกับเสือ ปลาในเรื่องคนหาปลา พระอาทิตย์ในเรื่องผู้ยิ่งใหญ่ เป็นต้น

              วิธีแนะนำตัวละครเสกสรรค์ เลือกใช้วิธีการแนะนำตัวละครของเขาอยู่ 2 แบบ คือ แบบเล่าเรื่อง คือ มีนักประพันธ์เป็นผู้แนะนำตัวละครออกมาตรง ๆ ว่าเป็นใคร อย่างไร มาจากไหน แบบที่สองคือ แบบให้เห็นจากการกระทำขอตัวละครเอง ซึ่งส่วนใหญ่แม้เสกสรรค์จะใช้วิธีแบบเล่าเรื่อง แต่ก็เห็นว่ามีการแทรกวิธีแบบให้เห็นจากการกระทำของตัวละครเองปนกันไปด้วย ไม่ได้ใช้วิธีใดวิธีหนึ่งอย่างจริงจังมากนัก จึงทำให้เรื่องสั้นของเสกสรรค์ค่อนข้างง่ายต่อการทำความเข้าใจลักษณะตัวละคร เพราะให้วิธีแบบเล่าเรื่องเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ได้ขาดเสน่ห์หรือขาดความประทับใจลงไปเท่าใดนักเพราะเขายังคงแทรกวิธีการแนะนำแบบให้เห็นจากการกระทำของตัวละครอีกทางด้วย ซึ่งการเอาวิธีทั้งสองมาผสมผสานกันแบบนี้ทำให้ผู้อ่านชัดเจนในตัวละครได้เป็นอย่างดี อีกทั้งส่วนใหญ่ตัวละครของเขามักมีลักษณะเป็นตัวละครบทบาทเดียวจึงเป็นการง่ายเข้าไปอีกต่อการเข้าใจลักษณะตัวละครของผู้อ่าน

 

การสร้างฉาก

              การสร้างฉากของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลส่วนใหญ่เป็นการสร้างฉากเกี่ยวกับชนบทและทะเล เนื่องจากเรื่องของเขานั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามชนบท เป็นเรื่องราวของชาวบ้าน ชาวประมง

              ฉากเกี่ยวกับชนบทก็อย่างเช่น เรื่องคนกับเสือ ดอกไผ่ เป็นต้น ฉากเกี่ยวกับชาวประมงหมู่บ้านประมงเช่น คนหาปลา มวยแทน บาดแผลใหม่จากท้องทะเล  ฉากชีวิตในเมือง เช่น เรื่องผู้เดือดร้อน เลือดใหม่ บุคคลภายนอก เป็นต้น และจากการศึกษาชีวประวัติของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล พบว่า เขามีประสบการณ์ใกล้ชิดกับฉากและบรรยากาศแบบป่าไม้ภูเขา ธรรมชาติ ชนบท หรือทะเลมาเป็นอย่างดีทีเดียว การเคยไปอยู่ป่าถึงบ 5 ปี เคยหาปลา เคยล่าสัตว์เป็นประจำ ทั้งยังชอบตกเบ็ด เป็นลูกน้ำเค็มรู้จักทะเลพอ ๆ กับรู้จักญาติผู้ใหญ่ แน่นอนสิ่งเหล่านี้จึงมีผลให้การสร้างฉากและบรรยากาศในเรื่องสั้นของเสกสรรค์สมจริง และสอดคล้องกับเนื้อเรื่องของเขาได้เป็นอย่างดี.

 


 

หมายเลขบันทึก: 333394เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2010 22:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 00:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท