รินน้ำใจสู่น้องชาวใต้


รินน้ำใจ

ชมรมข้าราชการและครูอาวุโสของกระทรวงศึกษาธิการได้รับการประสานงาน  จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  (สพฐ.)  ให้ไปเยี่ยมโครงการรินน้ำใจสู่น้องชาวใต้ที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดนราธิวาส  ในระหว่างวันที่  19  -  20  มกราคม  2553  นี้

                                โครงการรินน้ำใจสู่น้องชาวใต้  เป็นโครงการที่จัดต่อเนื่องกันมาถึง  7  ปีแล้ว  ทุกปีโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมทั้งจากส่วนกลางและจากจังหวัดใหญ่ๆ  จะร่วมมือกันจัดหาครูไปสอนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  6  ที่กำลังเตรียมเรียนต่อระดับอุดมศึกษา  ให้มีความพร้อมและมีความเชื่อมั่น  ในตัวเองให้มากยิ่งขึ้น  การสอนพิเศษนี้ไม่ใช่การกวดวิชา  แต่เป็นการทบทวนหลักการและสาระสำคัญของวิชาต่าง    ให้กับนักเรียน

วิชาที่สอนล้วนเป็นวิชาในกลุ่มสาระหลักได้แก่  วิชาภาษาไทย  คณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์  เคมี  ชีวะวิทยา  ภาษาอังกฤษและสังคม  และยังมีกิจกรรมแนะแนวประกอบด้วย  สพฐ.เปิดศูนย์การสอนพิเศษนี้ใน  5  จังหวัดภาคใต้  ได้แก่  ปัตตานี  2  ศูนย์  ยะลา  3  ศูนย์  นราธิวาส  5  ศูนย์  สงขลา  2  ศูนย์  และสตูล  5  ศูนย์

                                คณะของ  ชอศ.ที่ไปประกอบด้วย  อาจารย์วิรัช  บุญนำ  อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ  และอดีตรองอธิบดีกรมสามัญศึกษา  อาจารย์ธำรง  อมโร  อดีตรองอธิบดีกรมการศาสนา    ดร.สุรชาติ  สังข์รุ่ง  อดีตที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการ  อาจารย์นิพนธ์  แก้วสุทธา  อดีตผู้อำนวยการเขตการศึกษา  และตัวผู้เขียนเอง  นอกจากนี้ก็มีเจ้าหน้าที่ของ  สพฐ.อีก  3  คน  มี  อาจารย์อำนาจ  วิชยานุวัติ  อาจารย์จันทิมา  บุญสมบัติ  และอาจารย์ฉัตรชัย  แก้วจันทา  เป็นผู้คอยดูแลอำนวยความสะดวก

                                เป้าหมายของการไปเยี่ยมคือ  ศูนย์ทั้งหมดในจังหวัดนราธิวาส  และสงขลา  รวม  7  ศูนย์  คณะออกเดินทางเช้าตรู่ของวันที่  19  ไปถึงสนามบินหาดใหญ่  เวลา  7  นาฬิกาเศษ  แล้วขึ้นรถไปนราธิวาสทันที  ระหว่างทางได้แวะพักรับประทานอาหารเช้าที่ปัตตานี  โดยเป็นแขกของผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานีเขต  1  ได้มีโอกาสพูดคุยกับคณะของจังหวัดปัตตานีพอสมควร  แล้วก็เลยไปนราธิวาส  เพราะตามกำหนดการต้องเยี่ยมศูนย์  3  ศูนย์ในภาคเช้า  แล้วภาคบ่ายต้องเดินทางไปสุไหงโกลก  ไปเยี่ยมอีก  2  ศูนย์

                                เมื่อถึงนราธิวาสก็ตรงไปที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส  เขต  1  เพราะได้ใช้ห้องประชุมของเขตเป็นศูนย์การเรียนด้วย  คณะได้พบกับท่านผู้อำนวยการอุดม  พรมพันธ์ใจ  ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ  ซึ่งได้ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบศูนย์การเรียนในนราธิวาสทั้งหมด  ท่าน  ผอ.อุดม  พรมพันธ์ใจ  นอกจากรับผิดชอบศูนย์แล้วยังต้องเป็นผู้ประสานหาวิทยากรจากโรงเรียนต่างๆ  มาช่วยสอนและยังช่วยหาเงินและวัสดุสื่อการสอนเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่  สพฐ.  จัดให้  ศูนย์ที่นราธิวาสอีก  2  ศูนย์  จัดที่โรงเรียนอัตตัรกียะห์อิสลามียะห์และที่โรงแรมอิมพีเรียล  แต่ละศูนย์มีนักเรียนประมาณศูนย์ละ  500  -  600  คน

                                คณะได้เข้าเยี่ยมพบปะกับผู้สอนและนักเรียนในทุกศูนย์   ได้แยกย้ายกันทักทายพูดคุยกับครูและนักเรียนกันโดยทั่วหน้า  และยังได้มีโอกาสพบกับครูทั้งหมดที่โรงแรมอิมพีเรียล  เพราะมาร่วมรับประทานอาหารกลางวันพร้อมกัน

                                ตอนบ่ายเดินทางไปสุไหงโกลกไปเยี่ยมอีก  2  ศูนย์  ซึ่งจัดที่โรงแรมเก็นติ้ง  และโรงแรมมารีน่า  แต่ละแห่งมีนักเรียนแห่งละ  400  คนเศษ  หลังจากพบปะนักเรียนและครูเช่นเคยแล้ว  ก็มาพักนั่งดื่มกาแฟคุยกันไปได้สักครู่  ดื่มกาแฟยังไม่ถึงครึ่งถ้วย  ก็มีคนมาบอกว่ากลับได้แล้ว  ถามว่าทำไมยังดื่มกาแฟได้นิดเดียว  เขาบอกว่าได้เวลากลับแล้ว  หากอยู่นานเกินไปเกรงว่าเส้นทางกลับจะไม่ค่อยปลอดภัย  ก็เลยต้องเลิกดื่มกาแฟ  ขึ้นรถกลับมาพักค้างคืนที่หาดใหญ่  ใช้เวลาเดินทางประมาณ  3  ชั่วโมงเศษ

                                ที่หาดใหญ่  ได้พบกับผู้อำนวยการโรงเรียน  ภปร.ราชวิทยาลัย  อาจารย์สุวัฒน์  อ้นใจกว้าง  ซึ่งมาเป็นหัวหน้าชุดจัดที่สงขลา  อาจารย์สุวัฒน์นี้เคยทำงานด้วยกันแต่ครั้งอยู่กรมสามัญศึกษา  คณะเลยได้ข้อมูลและการดูแลอย่างดี  ที่สงขลานี้จัด ที่โรงเรียนนาทวีวิทยาคมและที่โรงเรียนสะเดา  ขรรค์ชัยกัมพลานนท์อนุสรณ์ อำเภอสะเดา ก็ได้ไปเยี่ยมเยียนทั้ง  2  ศูนย์  ในวันรุ่งขึ้น

                                จากการไปเยี่ยมเยียนพบปะนักเรียนทั้ง  7  ศูนย์การเรียน  เป็นนักเรียน  3,000  คนเศษ  พบกับครูจากส่วนกลางที่เสียสละไปช่วยสอนพิเศษเกือบ  50  ชีวิต  พอจะประมวลความรู้สึกได้ว่าสำหรับนักเรียนแล้ว  เป็นที่ชัดเจนว่าสนใจ  กระตือรือร้นที่จะมาเรียน  และทุกคนตอบตรงกันว่าเป็นประโยชน์  ได้ความรู้มาก  ตื่นเต้นที่ได้พบครูที่มีชื่อเสียงจากส่วนกลาง  ถามว่าที่สอนใหม่กับที่เรียนจากโรงเรียนเดิมต่างกันหรือไม่  คำตอบคือไม่ต่างกันแต่ทำให้เข้าใจหลักการดียิ่งขึ้น  ซึ่งก็เป็นเรื่องถูกต้องแล้วเพราะวิทยากรเล่าให้ฟังว่าไม่ได้สอนแบบติวหรือกวดวิชาแต่เป็นการสรุปหลักและสาระสำคัญของวิชา

                                บรรยากาศในห้องเรียนค่อนข้างเรียบร้อยเพราะส่วนใหญ่เรียนในห้องโถงใหญ่ปรับอากาศ  นักเรียนไม่พูดคุย  พลุกพล่าน  แต่มีเสียงฮาเป็นครั้งคราวตามจังหวะที่ผู้บรรยายจะออกมุขเพื่อเรียกความสนใจจากผู้เรียน  สรุปได้ว่าทุกศูนย์เป็นไปด้วยความเรียบร้อยด้วยดีทุกประการ  เมื่อถามนักเรียนว่าอยากได้อะไรเพิ่มเติมบ้าง  นักเรียนตอบว่าอยากให้จัดสักปีละ  2  ครั้ง  คือภาคเรียนละครั้ง  และอยากจัดเร็วกว่านี้  เพราะที่จัดดูจะช้าไปสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเพราะการสอบ  GAT  และ  PAT  ทำไปเรียบร้อยแล้ว

                                กับคณะครูได้พูดคุยกับหลายท่านตามโอกาสและจากข้อมูลของคณะที่ไปด้วยกัน  แยกกันเยี่ยมเยียนคำตอบที่ได้ตรงกันคือ  ทุกคนเต็มใจ  ตั้งใจ  และเสียสละเพื่อการมีส่วนร่วมเป็นผู้ให้ความรู้กับน้องชาวใต้  มีผู้ถามว่ากลัวหรือไม่  ครูตอบว่าก่อนมาก็กลัวเหมือนกัน  แต่เมื่อมาถึงมาอยู่แล้วก็ไม่รู้สึกกลัว  ตำรวจ  ทหารเขาเสียสละมากกว่าเราเสียอีก  ทำไมเราจะเสียสละไม่ได้  ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้าใจที่ดีร่วมกันเพื่อพี่น้องชาวใต้  ทุกคนตอบเหมือนกันว่าปีหน้าถ้าจัดอีกก็จะอาสามาอีก

                                คณะผู้มาเยี่ยมต่างรู้สึกชื่นชมคณะครูและผู้บริหารที่มาช่วยกันจัดด้วยความเสียสละ  และได้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเยาวชนในภาคใต้   เราตกลงกันไว้ว่าปีหน้าฟ้าใหม่ ถ้าโครงการรินน้ำใจสู่น้องชาวใต้ยังมีอยู่ เราก็จะอาสามาเยี่ยมอีก

หมายเลขบันทึก: 333369เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2010 19:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 21:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท