ศึกษาดูงานสถาบันการเงินชุมชนนาหลวงเสน


ธนาคารชุมชนนาหลวงเสนเกิดจากการรวมทุน โดยการถือหุ้น การรวมกลุ่มสัจจะออมทรัพย์และการรวมเงินขนาดเล็กทั้งนอกและในระบบ ภายในชุมชน เป็นทุนของธนาคารชุมชนนาหลวงเสน ทำให้ชุมชนเข้าสู่การพัฒนาอย่างมีทิศทางและอย่างเป็นระบบ มีแนวและรูปแบบการจัดการในระดับชุมชนที่ชัดเจน

   ในวันที่ 6 มิถุนายน 2549 ทีมวิจัย ม.วลัยลักษณ์ และแกนนำจากตำบลกะหรอทั้ง 9 หมู่บ้าน รวม 10 คน ได้เดินทางไปศึกษาดูงานสถาบันการเงินชุมชนนาหลวงเสน รถเคลื่อนจาก ม.วลัยลักษณ์ เวลา 07.30 น. จากนั้นก็ไปรับทีมชุมชนซึ่งนัดหมายกันไว้ที่ อบต.ตำบลกะหรอ เมื่อไปถึงทุกคนก็มารอกันอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาทั้ง 9 หมู่บ้าน ทักทายกันเรียบร้อยก็เดินทางต่อ เพราะเป้าหมายการเดินทางในวันนี้คือ สถาบันการเงินชุมชนนาหลวงเสน ระหว่างการเดินทางก็มีการพูดคุยกันไปตลอดทางในเรื่องทั่ว ๆ ไป พอมาถึง อ.ทุ่งสง ก็มีการสอบถามเส้นทางกับทีมนาหลวงเสน เพราะทุกคนที่เดินทางไปในวันนี้ ไม่รู้จักที่ทำการ แต่ทางกลุ่มนาหลวงเสนก็ใจดีมากให้เจ้าหน้าที่ของกลุ่มมานำทางทีมจากกะหรอ เดินทางไปถึงกลุ่มนาหลวงเสนเวลา 10.00 น. ตามเวลานัดหมาย เมื่อเดินทางไปถึงประธาน กรรมการ และเจ้าหน้าที่ของกลุ่ม ก็มาต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี

   หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการ คุณอนันต์ ทิพย์เศวต ประธานสถาบันการเงินชุชนนาหลวงเสน กล่าวต้อนรับ และเล่าถึงประวัติความเป็นมาของสถาบันการเงินชุมชนนาหลวงเสน ชื่อเดิมคือ ธนาคารชุมชนนาหลวงเสน แต่ในปัจจุบันนี้ก็เปลี่ยนมาเป็นสถาบันการเงินชุมชนนาหลวงเสน เป็นกิจกรรมที่เกิดจาก การแปรแผนแม่บทชุมชนตำบลนาหลวงเสน ในเรื่องของกองทุน ซึ่งเป็นปัญหาลำดับแรกของตำบล จากปัญหาดังกล่าวทำให้แกนนำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการแผนแม่บทชุมชนตำบลหลวงเสน ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) สาขาทุ่งสง หาวิธีคิดเพื่อแก้ปัญหาให้กับชุมชน โดยจัดทำเวทีประชาพิจารณ์ หรือประชาคมขึ้นเพื่อจัดตั้งแหล่งเงินทุนขึ้นปรากฏว่า ร้อยละ 99.57 % ของผู้เข้าร่วมประชุมให้จัดตั้งธนาคารชุมชนหรือสถาบันการเงินขึ้นภายในตำบลนาหลวงเสน

ธนาคารชุมชนนาหลวงเสน หรือสถาบันการเงินชุมชนนาหลวงเสน เกิดจากการร่วมมือ ร่วมใจ ของคนภายในชุมชนตำบลนาหลวงเสน โดยการระดมทุนจากกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเงินสาธารณะประโยชน์ของชุมชน รวมกับการขายหุ้น เงินฝากของคนภายในชุมชนทำให้เป็นศูนย์รวมทุนของชุมชน และแหล่งเงินกู้ของคนภายในชุมชน

การบริหารงานของกลุ่มบริหารโดยใช้ระบบบัญชีเป็นหลักโดยใช้ทรัพยากรบุคคลภายในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยยึดหลักตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ “พัฒนา พอเพียง พึ่งตนเอง”

   ภาระกิจของสถาบันการเงินชุมชนนาหลวงเสน

1. กองทุนของชุมชน อยู่ในรูปแบบของเงินตรา คือรูปแบบการจัดการที่นำเอาวิธีการหมุนเวียนทุนในระบบเศรษฐกิจใหม่มาพัฒนาระบบทุนเป็นของชุมชน ช่วยให้ชุมชนลดการพึ่งพาอาศัยทุนจากภายนอก ลดการสูญเสียทรัพยากรภายในชุมชน สร้างความมั่งคั่งให้กับชุมชนโดยรวม

2. กองทุนโภคทรัพย์ คือการจัดการทรัพยากรที่อยู่ในรูปของผลผลิต พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ แรงงานและทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการครอบคลุมทั้งด้านการอนุรักษ์ การฟื้นฟู การใช้ประโยชน์อย่างมีขอบเขต

3. อุตสาหกรรม เป็นการพัฒนาจากฐานการพึ่งตนเองในอดีต นำมาปรับเปลี่ยน และยกระดับให้เหมาะสมกับยุคสมัย เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในชุมชน และพื้นที่ใกล้เคียง

4. ธุรกิจชุมชน มีกลุ่มรวบรวมผลผลิตมังคุด เพื่อส่งออก กลุ่มรวบรวมผลผลิตยางพารา  ศูนย์การแลกเปลี่ยนผลผลิตภายในชุมชนและจำหน่ายสินค้าอุปโภค และบริโภคที่จำเป็นในชุมชน

5. ทุนสวัสดิการ หลังจากปิดบัญชีผลกำไรส่วนที่เหลือนำมาจัดทำเป็นกองทุนเพื่อสวัสดิการชุมชนเพื่อให้เป็นหลักประกันชีวิตของสมาชิกภายในชุมชนในด้านต่าง ๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ฌาปณกิจ การศึกษาเรียนรู้ สาธารณะ สาธารณะภัย บำนาญ สิ่งแวดล้อมชุมชน การฟื้นฟูแพทย์พื้นบ้าน

  ทั้งหมดนี้คือประวัติความเป็นมา และภาระกิจของสถาบันการเงินชุมชนนาหลวงเสน สำหรับรายละเอียดในเรื่องอื่นจะนำเสนอให้ทราบต่อไปค่ะ ตอนที่ 2 อย่าลืมติดตามนะค่ะ

หมายเลขบันทึก: 33327เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2006 13:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 23:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ชุมชนนาหลวงเสนเป็นกองทุนที่ดี

   ขอให้การดำเนินงานต่อไปก้าวหน้านะค่ะ

พอดีหนูก็อยู่นาหลวงเสนเหมือนกันค่ะ  เลยได้เข้าเว็ปมาดู  ดีใจมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท