ผจญมาร


”มาร” ในพระพุทธศาสนา หมายถึงสิ่งที่มารบกวนขัดขวางมิให้บรรลุถึงสิ่งที่ดีงาม

การผจญมารของพระพุทธเจ้า 

            พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยคุณความดีมากมาย  พระองค์ได้สั่งสมบารมีมาหลายภพหลายชาติ เพื่อมาเสวยพระชาติเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปลดเปลื้องทุกข์ให้แก่ชาวโลกทุกหมู่เหล่า

            ก่อนที่พรองค์จะมาเสวยชาติเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์ได้ทรงเสวยพระชาติเป็นทั้งมนุษย์และสัตว์ทุกประเภทมาหลายร้อยชาติ แต่ละชาติพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญบารมีสั่งสมแต่ความดีจนหนุนให้พระองค์ได้มาเสวยเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในชาตินี้ พระองค์อุบัติมาในชาตินี้เพื่อมาเสวยชาติเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อาศัยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่ได้แสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์จนเป็นผู้มีกิเลสเบาบาง  ละทุกข์  ดำรงชีวิตอยู่ได้เป็นสุข 

            หลังจากพระองค์ได้ทรงออกผนวชแล้วได้ทรงออกผนวชแล้วได้ศึกษาหาความรู้มากมายหลายวิธี ที่จะหาความหลุดพ้นจากวัฎจักรคือการเวียนว่ายตายเกิดหรือความทุกข์คือความเจ็บ  ความแก่และความตาย  ทั้งจากครูอาจารย์บ้าง  ศึกษาปฏิบัติเองบ้าง  พระองค์ได้ปฏิบัติทั้งความเพียรทางกายและความเพียรทางใจหลายวิธี พระองค์ได้พบกับอุปสรรคมากมายหลายประการ ต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะ  และบำเพ็ญบารมีอย่างมากกว่า  จะบรรลุธรรมดังต้องการ  พระองค์ได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการปฏิบัติอยู่ 6 ปี  นับแต่ทรงผนวช  จึงสามารถบรรลุความพ้นทุกข์คือสิ้นกิเลสอาสวะทั้งปวง  รู้ทุกสิ่งทุกอย่างอย่างแจ่มแจ้ง  จนสำเร็จเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

การวิเคราะห์เหตุการณ์การผจญมาร

            การผจญมาร ถือว่าเป็นการต่อสู้กับกิเลสอย่างหนักในวาระสุดท้ายก่อนที่พระพุทธเจ้าจะได้ตรัสรู้ ถือว่าเป็นอุปสรรคอย่างหนักที่มาขัดขวางการปฏิบัติธรรมเพื่อการบรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เหตุการณ์การผจญมารของพระพุทธเจ้า ถือว่าเป็นการเล่าเรื่องให้เป็นรูปธรรมที่เรียกว่า  “บุคลาธิษฐาน”  มารและเสนามารที่พระองค์ทรงผจญรบด้วยก็ได้แก่กิเลสน้อยใหญ่ที่มีอยู่ในพระองค์นั้นเอง จริง ๆ  แล้วมารที่มาปรากฏให้พระองค์ได้ทรงเห็นเป็นตัวตนคงไม่ปรากฏให้เห็นได้อย่างที่แต่งไว้ในคัมภีร์ เป็นแค่การแต่งเรื่องขึ้นเพื่อให้เป็นการเปรียบเทียบเป็นรูปธรรมเพื่อจะง่ายต่อการศึกษา

 

            เหตุการณ์การผจญมารของพระพุทธเจ้า  เกิดขึ้นในตอนเย็นของวันที่จะได้ตรัสรู้  หลังจากที่พระองค์ได้ทรงประทับนั่งที่บัลลังก์ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์  และตั้งจิตอธิษฐานที่จะปฏิบัติธรรมให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงให้สิ้นกิเลสภายในคืนนั้น  พวกเทพดาและพรหมทุกชั้นทุกหมู่เหล่าก็มาประชุมกันแวดล้อมเพื่อจะปกป้องและทำสักการบูชาพระพุทธเจ้า ในเวลานั้นพญามารชื่อว่าวสวัตตี ซึ่งได้ติดตามหาโอกาสขัดขวางพระองค์มาตั้งแต่เสด็จออกผนวช  เกรงว่าพระองค์จะพ้นจากอำนาจตน จึงระดมพรรคพวกเสนามารประกอบด้วยอาวุธมากมายยกพลมา หมายจะขู่ขับให้พระโพธิสัตว์ตกพระหฤทัยกลัวและลุกหนีไปเสียจากบัลลังก์ที่ประทับ  พญามารได้เนรมิตแขนข้างละพัน  ถืออาวุธนานาชนิด  ขึ้นคอช้างชื่อคีรีเมขละ นำทัพมาโจมตี ขณะนั้นเทพยดาและพรหมที่มาประชุมแวดล้อมอยู่ต่างตกใจกลัวหนีไปคนละทิศคนละทาง  เหลือไว้แต่พระมหาบุรุษเพียงผู้เดียว

 

            พระมหาบุรุษไม่มีที่พึ่งอื่นเลย ทรงระลึกบารมี 10 ทัศ ที่ทรงบำเพ็ญมาทุกชาติเป็นหลายแสนกัปป์  และประทับนั่งสงบนิ่งมิได้หวั่นไหว พญามารได้สั่งให้เสนามารเข้ารุกไล่ชัดสาดสรรพอาวุธเข้าใส่ อาวุธเหล่านั้นก็กลับกลายเป็นดอกไม้ เครื่องสักการบูชาไปทั้งหมดพญามารเห็นดังนั้น ก็เข้าไปขู่ใช้วาจาสำทับให้พระมหาบุรุษลุกไป โดยอ้างว่าบัลลังก์นั้นเป็นของตน ซึ่งได้ยกเสนามารทั้งหลายเป็นพยานยืนยัน  พระมหาบุรุษก็ยืนยันว่าบัลลังก์นั้นเป็นของระองค์  ทรงได้อ้างนางธรณีเป็นพยาน  นางธรณีก็ปรากฏกาย คลี่มวยผมแล้วบีบน้ำออกจากมวยผมจนกลายเป็นท้องทะเลท่วมทัพพญามารและเสนามารให้พ่ายแพ้สิ้นไป  หลังจากพระองค์ทรงชนะมารแล้วเข้าฌาน  จนได้บรรลุญาณทั้ง 3  ในเวลายามทั้ง 3  จึงได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณในเวลาอรุณขึ้น

 

            ในเหตุการณ์การผจญของพระพุทธเจ้านี้ ถือว่าเป็นพุทธจริยาที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่างสำหรับนักเรียนอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้ความเพียรวิริยะอุตสาหะความอดทน  การสั่งสมความดี  และการใช้ความรอบคอบมีเหตุผล  ที่จะต่อสู้กับพญามารคือ  กิเลส  ซึ่งได้แก่  ความสุขสบาย  ความโลภ  ความโกรธ  ความหลงและความริษยาต่างๆ  เป็นต้น  พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญความดี คือ  บารมี (ได้แก่ การสั่งสมหรือการเพิ่มความดี)  10 ทัศ มาอย่างต่อเนื่อง  จึงสามารถชนะอุปสรรคที่คอยขัดขวางไปได้  บารมี  10  ทัศ  ได้แก่  1.  ทาน  การให้  2.  ศีล  การสำรวมระวัง  3.  เนกขัมมะ  การออกบวชเว้นกาม  4.  ปัญญา  ความรอบรู้            5.  วิริยะ  ความเพียร  6.  ขันติ  ความอดทน  7.  สัจจะ  การพูดความจริง  8.  อธิษฐาน  ความมั่นคงแน่วแน่     9.  เมตตา  ความปรารถนาดี  10.  อุเบกขา  ความวางเฉย

 

ผจญมาร 

              ก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้ ได้มีเหตุการณ์มารผจญเกิดขึ้นกับพระองค์  ดังในพุทธประวัติได้กล่าวว่า เมื่อวันเพ็ญเดือนหก ก่อนการตรัสรู้ไม่นานนัก ขณะที่พระสิทธัตถะกำลังนั่งบำเพ็ญเพียรทางจิตที่ใต้ต้นโพธิ์นั้น  ได้มีเหล่ามารจำนวนมาก ถือหอกดาบและอาวุธอื่นๆ มุ่งหน้ามาที่ประทับของพระองค์ เพื่อจะมาขัดขวางทำลายมิให้ได้ตรัสรู้ มารได้กล่าวหาว่าพระสิทธัตถะมาแย่งบัลลังค์ที่ใต้ต้นโพธิ์ ซึ่งเป็นเป็นของตนไป จึงมาเรียกร้องคืน โดยได้อ้างพยานที่เป็นมารพวกเดียวกัน  ขณะนั้น พระพุทธองค์ไม่อาจหาใครเป็นพยานได้ว่าที่บัลลังค์ที่นั่งนั้นเป็นของพระองค์ จึงทรงยื่นพระหัตถ์ชี้ลงที่พื้นดินเพื่อขอให้แผ่นดินเป็นพยาน ทันใดนั้น ได้มีแม่นางธรณีผุดขึ้นจากพื้นดิน  เพื่อเป็นพยานให้กับพระองค์  พร้อมบีบมวยผมเป็นน้ำท่วมเหล่ามารจนพ่ายแพ้ไป  ซึ่งน้ำที่ออกจากมวยผมนั้น เป็นน้ำที่พระพุทธองค์เคยกรวดไว้ตอนที่ทรงบำเพ็ญบารมีทุกๆ ชาติ  จึงรวมเป็นน้ำจำนวนมหาศาลมาช่วยพระองค์ให้ชนะมารได้

            เมื่อเหล่ามารได้พ่ายแพ้ไปแล้ว จึงได้คิดหาวิธีการใหม่ ที่จะเอาชนะพระพุทธองค์ให้ได้ก่อนที่จะตรัสรู้  เมื่อเห็นว่าใช้ไม้แข็งไม่ได้ผลจึงได้ลองใช้ไม้อ่อนบ้าง แล้วจึงส่งลูกสาวมาร (ธิดามาร) ๓ คน  ได้แก่ นางตัณหา  นางอรดี และนางราคา มายั่วยวนให้พระองค์หลงใหล แต่ก็ไม่สำเร็จ พระทัยของพระองค์คงหนักแน่นตามที่ได้อธิษฐานจิตไว้ จนได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าในลำดับต่อมา หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว มารจึงหมดโอกาสที่จะขัดขวางรังควานได้อีกต่อไป

            คำว่า ”มาร” ในพระพุทธศาสนา หมายถึงสิ่งที่มารบกวนขัดขวางมิให้บรรลุถึงสิ่งที่ดีงาม มี ๕ ประการ ได้แก่  (๑) กิเลสมาร  มารคือกิเลสที่เกิดกับใจ  (๒) ขันธมาร มารคือขันธ์ ๕ อันเป็นองค์ประกอบของชีวิต ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ซึ่งองค์ประกอบทั้งห้านี้ มีความแปรปรวนและเสื่อมสลายไปตามธรรมชาติ  (๓) อภิสังขารมาร มารคือความนึกคิดปรุงแต่งที่คิดไปในทางลบ  (๔) เทวปุตตมาร มารคือเทวบุตร ซึ่งอาศัยอยู่ในสวรรค์ชั้นกามาวจร คอยขัดขวางการทำความดีของผู้อื่น และ (๕) มัจจุมาร มารคือความตาย ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางโอกาสที่จะได้พบกับสิ่งที่ดีงาม

            แต่มารที่เกิดกับพระพุทธองค์นั้น หมายถึงมารคือกิเลสที่เกิดขึ้นในพระทัยของพระองค์ ซึ่งจะเป็นตัวขัดขวางมิให้ตรัสรู้ อันได้แก่การต่อสู้ทางความคิดของพระองค์ระหว่างกิเลสกับธรรมะ  ด้านหนึ่งมุ่งจะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า แต่อีกด้านหนึ่งยังคิดถึงความสะดวกสบายในอดีตและความทุกข์ทรมานในการบำเพ็ญเพียร

            กิเลสมารที่มาผจญพระองค์ในครั้งนี้ มิใช่เป็นครั้งแรก เมื่อตอนที่พระสิทธัตถะออกผนวช ก็ได้มีมารมาขัดขวางมิให้ออกบวชเช่นกัน มารนั้นหมายถึงกิเลสที่จะทำให้เกิดความลังเลในการออกบวช และเลิกล้มความตั้งใจ แต่พระองค์ก็ทรงชนะมารได้ทุกครั้ง

            มารที่มาผจญพระองค์ตอนก่อนตรัสรู้นั้น ผู้เขียนเห็นว่าเป็นกิเลสสองด้าน คือด้านแรกเป็นกิเลสด้านอนิษฐารมณ์ (กิเลสฝ่ายลบ) คือความไม่ชอบใจ ความขัดเคือง ความย่อท้อ กับความทุกข์ยากลำบากที่ประสบ ซึ่งเปรียบเหมือนมารที่ดุร้าย

            กิเลสด้านที่สอง เป็นด้านอิฎฐารมณ์ (กิเลสฝ่ายบวก) คือความยินดี ชอบใจ ความเพลิดเพลินลุ่มหลงในความสุขสบายต่างๆ ที่จะทำให้พระองค์ระลึกถึงความสุขในครั้งตอนเป็นเจ้าชาย เปรียบเหมือนกับธิดามารที่งดงามมายั่วยุให้หลงใหลยินดี

            กิเลสมารทั้ง ๒ ด้านนี้ พระพุทธองค์ทรงชนะได้ด้วยพระทัยที่หนักแน่น และบุญบารมีที่สั่งสมมานับ ๔ อสงไขย แสนกัปป์ จึงรวมเป็นพลังสามารถเอาชนะมารได้

 

 

 

 

อ้างอิง

บุญเพียร ปุญญวิริโย,พระมหา.สื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) ชุด พุทธประวัติ

          ฉบับ CD-ROM. เชียงใหม่ : ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัย

          มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่.

 

หมายเลขบันทึก: 332928เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2010 23:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท