มาตรฐานการจัดการฟาร์ม


มาตรฐานฟาร์ม

มาตรฐานการจัดการฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาสวยงามเพื่อการส่งออก

(Standard Management Practices of Aquatic Farms  for the  Exporting)

 

คำนำ
                    ประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อน มีภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของปลาสวยงาม  ประกอบกับมีความหลากหลายของสายพันธุ์ จึงเป็นแหล่งส่งออกสินค้าปลาสวยงามและ    พรรณไม้น้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ    ปีละกว่า 1,000 ล้านบาท ในขณะที่มูลค่าการซื้อขายทั่วโลกประมาณ  35,000 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตต่อปี 14% (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528)  และประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่ส่งออกปลาสวยงามไปยังสหรัฐอเมริกาที่มีมูลค่าสูงติด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์  ไทย  ฟิลิปปินส์  ฮ่องกงและอินโดนีเซีย ตามลำดับ โดยไทยมีปริมาณการส่งออกเป็นอันดับสองรองจากสิงคโปร์ แต่อย่างไรก็ตามในการประกอบธุรกิจการส่งออกปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำของไทยยังมีปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งคือเรื่องของมาตรฐานสินค้า ทั้งนี้ในปัจจุบันประเทศผู้นำเข้าได้มีการกำหนดเงื่อนไขมาตรฐานคุณภาพสินค้าที่สูงขึ้น เช่น ข้อกำหนดด้านโรคสัตว์น้ำ ศัตรูพืช  สารปนเปื้อน จุลินทรีย์ และระบบการผลิตที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งเป็นอุปสรรคอันสำคัญยิ่งต่อการประกอบธุรกิจส่งออก กรมประมงโดยสถาบันวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ สถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำ กองสิ่งแวด-ล้อมประมง และภาคเอกชน จึงได้จัดทำมาตรฐานฟาร์มและการจัดระบบการผลิตปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อการปรับปรุงผลผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานของผู้ซื้อเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า ป้องกันการกีดกันทางการค้า เพิ่มมูลค่าการส่งออก ตลอดจนไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย
 
ฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม
 
             1.  องค์ประกอบพื้นฐานของฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม
1.1 ทำเลที่ตั้งของฟาร์ม
    ควรอยู่ในทำเลที่มีแหล่งน้ำมีคุณสมบัติเหมาะสมไม่มีการปนเปื้อนของโลหะหนักและสารพิษ
ประเภทอื่นๆ หรือถ้ามีก็มีในปริมาณน้อยที่สุด  (ตารางที่ 1)  มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับใช้ในกิจกรรมการ     เพาะเลี้ยงปลาตลอดปี มีแหล่งระบายน้ำทิ้ง มีการคมนาคมสะดวกและมีระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
 
1.2  แหล่งน้ำสำหรับการเพาะเลี้ยง
        แหล่งน้ำที่นำน้ำมาเลี้ยงปลาสวยงามควรมีปริมาณที่เพียงพอและมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ได้แก่  น้ำที่ปริมาณออกซิเจนละลายต้องไม่น้อยกว่า  3  มิลลิกรัมต่อลิตร  มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน  30  มิลลิกรัมต่อลิตร (ในขณะที่ปริมาณก๊าซออกซิเจนก็ควรมีอยู่เพียงพอด้วย) มีค่าความเป็นกรด – ด่าง  (pH)  6 – 9 มีค่าความเป็นด่าง (Alkalinity)  90 – 200  มิลลิกรัมต่อลิตร  หรือสูงกว่าเล็กน้อย  ความกระด้างประมาณ  75  หรือไม่เกิน  300  มิลลิกรัมต่อลิตร  มีอุณหภูมิน้ำ  23 – 32  องศาเซลเซียส  มีความโปร่งใส  30 – 60 เซนติเมตร  และมีปริมาณสารแขวนลอยไม่เกิน  2  มิลลิกรัมต่อลิตร  แอมโมเนียที่เป็นพิษต่อปลาไม่เกิน  0.02  มิลลิกรัมต่อลิตร  คลอรีนซึ่งมีอันตรายสูงจากน้ำประปาหรือน้ำที่ผ่านการฆ่าเชื้อ  ต้องไม่มีเลย  หรือถ้ามีก็น้อยมากไม่เกิน  0.005  มิลลิกรัมต่อลิตร
 
 
1.3  บ่อและระบบบ่อ
1.3.1  แบ่งตามประเภทการใช้งาน
     บ่อที่ใช้ในระบบการผลิตปลาสวยงามควรประกอบด้วยบ่อ  8  ประเภท  ดังนี้
                        1.3.1.1 บ่อพักน้ำ  ใช้สำหรับเก็บกักน้ำเพื่อปรับสภาพน้ำให้มีคุณสมบัติเหมาะสมและมีปริมาณพอเพียง   อาจเป็นบ่อซีเมนต์   ถังไฟเบอร์กลาสหรือถังโลหะกันสนิมอื่นๆ ขนาดของบ่อพักน้ำที่เหมาะสมควรบรรจุน้ำได้ประมาณ 1/3 ของปริมาตรน้ำที่ใช้ในระบบการผลิต ส่วนรูปทรงและตำแหน่งที่ตั้งขึ้นกับพื้นที่ใช้สอย ถ้าสามารถสร้างแยกกันเป็นหลายๆบ่อ ก็จะเป็นการดีเพื่อความสะดวกในการหมุนเวียนใช้งานและการทำความสะอาด
                         1.3.1.2 บ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์  ใช้สำหรับเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ให้เจริญเติบโตถึงวัยเจริญพันธุ์และมีความสมบูรณ์ทางเพศเต็มที่ ขนาดพื้นที่และความลึกของบ่อต้องสอดคล้องกับชนิดและอุปนิสัยของปลา อาจเป็นบ่อซีเมนต์ บ่อดิน ถังไฟเบอร์กลาสหรือตู้กระจกก็ได้ ในการก่อสร้างหรือติดตั้งบ่อประเภทนี้ควรคำนึงถึงสถานที่ตั้งและระบบการถ่ายเทน้ำเป็นสำคัญเพราะการดำเนินการระหว่างการเลี้ยงถ้าคุณสมบัติของน้ำไม่ดีหรือทำให้ปลาตื่นตกใจบ่อยๆ จะกระทบกระเทือนต่อการกินอาหารของปลาซึ่งจะส่งผลถึงความสมบูรณ์ทางเพศของปลาด้วย
                                  1.3.1.3 บ่อเพาะฟัก ใช้ในการผสมพันธุ์ปลา ชนิดและขนาดของบ่อขึ้นกับชนิดของปลาซึ่งต้องสอดคล้องกัน
                                  1.3.1.4 บ่ออนุบาลลูกปลา ใช้ในการอนุบาลลูกปลา ชนิดและขนาดของบ่อขึ้นกับชนิดของปลาซึ่งต้องสอดคล้องกัน
                             1.3.1.5 บ่อเลี้ยง เป็นบ่อใช้สำหรับเลี้ยงปลาที่ผ่านการอนุบาลแล้ว เลี้ยงจนได้ขนาดจำหน่ายอาจเป็นบ่อซีเมนต์หรือบ่อดินก็ได้ ชนิดและขนาดของบ่อขึ้นกับชนิดของปลาซึ่งต้องสอดคล้องกัน
                              1.3.1.6 บ่อปรับสภาพปลา  ควรเป็นบ่อซีเมนต์  ถังไฟเบอร์กลาส  หรือตู้กระจก  ใช้สำหรับปรับสภาพปลาที่ได้จากการเลี้ยงในบ่อดินเพื่อให้คุ้นเคยกับการอยู่ในที่กักขังก่อนจัดจำหน่าย เป็นปลาที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว มีลักษณะสมบูรณ์ ไม่พิการ ไม่มีบาดแผล และจำแนกขนาดไว้พร้อมตามความต้องการของลูกค้า หากตรวจพบโรคต้องทำการรักษาให้ถูกวิธีก่อนนำออกจำหน่าย
                                                                                                                                                   1.3.1.7 บ่อกักกันโรค  ควรเป็นบ่อซีเมนต์  ถังไฟเบอร์กลาส  หรือตู้กระจก  ที่มีขนาดไม่เกิน2  ตารางเมตร  โดยจัดไว้บริเวณบ่อกักกันโรค  เพื่อป้องกันน้ำกระเด็นออกไปปนเปื้อน  มีระบบน้ำดีและน้ำทิ้งแยกออกจากกัน  ซึ่งระบบดังกล่าวใช้สำหรับกักกันโรคที่อาจติดมากับปลาใหม่ที่นำเข้ามาในฟาร์ม  ภายในเขตกักกันโรคควรมีอุปกรณ์การเลี้ยงปลาครบชุด  เช่น ระบบให้อากาศ  สายยาง  แปรง  สวิงต่างๆ ฯลฯ  ไม่ใช้ปะปนกับอุปกรณ์ในส่วนอื่นของฟาร์ม  ควรมีถาดน้ำยาเคมีไว้จุ่มรองเท้าบูทเวลาเดินผ่านเข้า-ออกเขตกักกันโรค  น้ำยาที่ใช้เติมในถาดอาจใช้คลอรีน  50  พีพีเอ็ม  หรือไอโอดีน  250  พีพีเอ็ม  และหมั่นเปลี่ยนน้ำยาในถาดใหม่ทุกๆ   3 – 4  วัน  ควรมีระบบบ่อพักน้ำทิ้งที่ออกมาจากบ่อกักกันโรคเพื่อใช้สารเคมีฆ่าเชื้อโรคก่อนปล่อยน้ำทิ้ง
       1.3.1.8 บ่อบำบัดน้ำ เป็นบ่อรับน้ำเสียจากบ่อเลี้ยงต่างๆ อาจเป็นบ่อดินหรือบ่อซีเมนต์
ก็ได้ ต้องปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยการตกตะกอน  ใช้พืชน้ำ แบคทีเรียหรือสารเคมีเป็นตัวช่วยบำบัดก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือนำกลับไปใช้ใหม่ (ดูวิธีการบำบัดน้ำในภาคผนวก)
 
1.3.2   แบ่งประเภทตามลักษณะโครงสร้างบ่อ 
         บ่อตามลักษณะโครงสร้างสามารถแบ่งออกได้เป็น  บ่อซีเมนต์  บ่อดิน  ตู้กระจก  อ่างเลี้ยงปลาที่สามารถเลี้ยงปลาได้โดยทำจากวัสดุสังเคราะห์และวัสดุประเภทต่างๆ ซึ่งพอจะแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท  คือ                
1.3.2.1  บ่อดิน  ควรเป็นบ่อที่สร้างจากดินเหนียวหรือดินเหนียวปนดินร่วน  มีการออกแบบของบ่อให้มีความแข็งแรง  ไม่พังทลายได้ง่าย  ควรจะมีระบบป้องกันศัตรูที่จะเข้ามาทำร้ายปลาสวยงามได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
1.3.2.2  บ่อปูนซีเมนต์  ควรเป็นบ่อที่มีความแข็งแรง  มีทางน้ำเข้า-ออกแยกจากกันเพื่อสะดวกต่อการเปลี่ยนถ่ายน้ำและสุขอนามัยภายในโรงเรือน  มีพื้นผิวที่ขัดมันเพื่อป้องกันการเกิดแผลจากการเสียดสีของตัวปลา
1.3.2.3  ภาชนะอื่นๆ  วัสดุและสีที่ใช้จะต้องไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ  ที่บริเวณรอยต่อของภาชนะจะต้องแน่นสนิท ไม่มีรอยรั่วซึม  มีความหนาของวัสดุเหมาะสมกับปริมาตรน้ำที่จะบรรจุ
                  
                   1. 4  โรงเรือนเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม
โรงเรือนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงของ
สภาวะแวดล้อม เช่น การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำในเวลากลางวันจากการได้รับแสงแดดโดยตรง การลดต่ำของอุณหภูมิน้ำเนื่องจากอิทธิพลของอากาศในฤดูหนาว หรือการเปลี่ยนแปลงของคุณสมบัติของน้ำเนื่องจากได้รับ     น้ำฝนโดยตรง เป็นต้น ทั้งนี้เป็นเพราะปลาสวยงามส่วนใหญ่เป็นปลาที่มีขนาดเล็กและมีความอ่อนแอมากกว่าปลาทั่วไป เนื่องจากปลาบางตัวเป็นสายพันธุ์ยีนด้อยแต่มีความสวยงามและตลาดต้องการ ทำให้มีความต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมต่ำ
 
 
 
                   สภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนมีการถ่ายเทของอากาศดี ไม่เป็นที่หมักหมม  ไม่ชื้นแฉะ ไม่มีกลิ่นอับ 
เสาและโครงของโรงเรือนควรทำด้วยวัสดุที่แข็งแรง  กันน้ำ กันสนิม ทนทาน  และเหมาะสมกับชนิดปลาที่เลี้ยง หลังคาควรมุงด้วยกระเบื้องทึบสลับกับกระเบื้องใสหรือวัสดุอื่นที่แข็งแรงทนทาน และหลังคาควรสูงพอประมาณเพื่อระบายความร้อน
 
 
                  1. 5  เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง
                            ควรมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองหรือระบบอื่นใด  เพื่อความปลอดภัยของชีวิตปลาสวยงาม
เฉพาะกรณีกรณีปลาที่มีความต้องการออกซิเจนสูง
 
2. การจัดการฟาร์ม
               2.1 พ่อแม่พันธุ์ปลา
           2.1.1 ควรคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีคุณภาพดี ตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อทำการเพาะ
พันธุ์และควรตรวจสุขภาพพ่อแม่พันธุ์ก่อนนำมาเพาะพันธุ์
       2.1.2 ควรเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ให้มีความสมบูรณ์ทางเพศเต็มที่ ซึ่งมีปัจจัยสำคัญที่ควรคำนึงถึง
คือขนาดบ่อที่ใช้เลี้ยง อัตราการปล่อย อาหารและการให้อาหาร แสงสว่าง คุณสมบัติของน้ำ การถ่ายเทน้ำ ฯลฯ
         2.1.3 ในการเพาะพันธุ์ควรเลือกใช้วิธีเพาะพันธุ์ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับปลาแต่ละชนิด
 
               2.2  อาหารและการให้อาหาร
                           ควรเลือกประเภทของอาหารให้เหมาะสมกับอุปนิสัยในการกินอาหารของปลาแต่ละ
ชนิด เช่น ให้อาหารมีชีวิตขนาดเล็กแก่ปลาวัยอ่อน ให้อาหารมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตขนาดใหญ่แก่ปลากินเนื้อ และให้อาหารสำเร็จรูปสำหรับปลากินพืช เป็นต้น  คุณภาพของอาหารต้องได้มาตรฐานเหมาะสม สอดคล้องกับช่วงอายุและชนิดของปลา ควรให้ตามความต้องการของปลา ถ้าจำเป็นต้องให้อาหารประเภทสัตว์น้ำมีชีวิต เช่น      ไรแดง ลูกน้ำ ควรเลือกจากแหล่งผลิตที่ปราศจากเชื้อโรคและควรจะแช่ด่างทับทิมความเข้มข้น 5 มิลลิกรัม/น้ำ 1 ลิตร เพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนนำไปเลี้ยงปลา
                        ถุงบรรจุอาหารสำเร็จรูปจะต้องไม่ฉีกขาด เก็บอาหารไว้ในที่แห้งและปลอดภัยจากหนูหรือแมลงอื่นๆ การแบ่งอาหารออกจากถุงมาใช้แต่ละครั้งควรใช้อุปกรณ์ที่แห้งและสะอาด เพื่อมิให้อาหารส่วนที่เหลือชื้นและเกิดรา
 
 
 
 
                   2.3 สุขภาพสัตว์น้ำ
                       2.3.1 การใช้สารเคมี   การใช้ยาและสารเคมีในการรักษาโรคควรใช้ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ ต้องมีการวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคเพื่อการรักษาที่ถูกวิธีและควรได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเมื่อมีการใช้ยาหรือใช้ยาตามที่ระบุไว้  มีการบันทึกการใช้ยาทุกครั้ง  เพื่อที่จะได้สะดวกต่อการติดต่อตามผลการรักษาโรค  และให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการอย่างเคร่งครัดในเรื่องของยาที่ห้ามใช้
                            2.3.2   การจำกัดและทำลายปลาที่เป็นโรค  หากพบว่าปลาที่เลี้ยงเป็นโรคระบาดร้ายแรงต้องทำลายโดยการเผาหรือฝังแล้วกลบด้วยปูนขาวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ควรทำลายด้วยการฝังหรือเผาในบริเวณที่จัดไว้เฉพาะ ควรให้ห่างจากบริเวณบ่อหรือโรงเรือนอื่นๆ และไม่ใช่ทางผ่านประจำของผู้ปฏิบัติงานในฟาร์ม
                            2.3.3 เขตกักกันโรค ในกรณีที่เกิดโรคสามัญให้แยกใช้อุปกรณ์ออกจากปลาที่ไม่เป็นโรค ยกเว้นในที่ปลาเป็นโรคเรื้อรังควรจัดให้มีเขตกักกันโรคเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคภายในฟาร์ม  มีการแยกบริเวณพื้นที่ในการเลี้ยงปลาเป็นโรคออกจากกันโดยชัดเจน  ถ้ามีปลาใหม่ที่เข้ามาในฟาร์มควรแยกเลี้ยงไว้ต่างหากเพื่อทำการตรวจสอบและรักษาโรคที่อาจมีการติดเชื้อมาจากภายนอก  และฟาร์มควรมีระบบป้องกันและควบคุมโรคที่อาจจะติดมากับคนโดยอาจมีระบบฆ่าเชื้อโรคก่อนเข้า-ออกจากฟาร์ม                          หากตรวจพบเชื้อโรคที่สามารถติดต่อถึงคน เช่น เชื้ออหิวาห์ แซลโมเนลลา หรือคลอโรฟอร์มแบคทีเรียในระหว่างการเลี้ยง กรมประมงจะแจ้งให้เจ้าของฟาร์มทราบโดยด่วนและปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยราชการดังกล่าวอย่างเคร่งครัดเพื่อกำจัดและป้องกันโรคดังกล่าว
 
2.4   การแยกใช้อุปกรณ์
     ควรมีอุปกรณ์ที่แยกใช้ประจำบ่อ  ระหว่างปลาเป็นโรคและปลาปกติเพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างมีประสิทธิภาพ  ควรมีสถานที่สำหรับจัดเก็บอุปกรณ์อย่างเป็นสัดส่วนมีป้ายระบุอย่างชัดเจนและควรมีการฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนใช้งาน
      อุปกรณ์และเครื่องใช้ภายในฟาร์มควรทำความสะอาดก่อนและหลังการใช้  โดยการแช่น้ำยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสม  เช่น  จุ่มในน้ำยาคลอรีน 200  มิลลิกรัม/ลิตร หรือ ไอโอดีน  250  มิลลิกรัม/ลิตร  ประมาณ  5  นาที  และล้างน้ำให้สะอาดก่อนใช้
2.5   คุณภาพน้ำ
                           2.5.1 การบำบัดน้ำก่อนใช้เลี้ยงปลา  ถ้าใช้น้ำประปาหรือน้ำที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีน ต้องทิ้งไว้จนกว่าคลอรีนจะระเหยหมด ถ้าจำเป็นต้องใช้อย่างเร่งด่วนให้ใช้โซเดียมไทโอซัลเฟต (Na2S2O3) 10 กรัม/น้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร หรือใช้กรองด้วยด้วยเครื่องกรองที่มีถ่าน (Activated carbon) เป็นวัสดุกรองเพื่อกำจัดคลอรีน และก่อนใช้ควรมีการวัดปริมาณคลอรีนด้วยว่ายังมีหลงเหลืออยู่หรือไม่ เพราะคลอรีนเป็นพิษต่อปลาสูงมาก
 
                           2.5.2 การควบคุมคุณสมบัติน้ำที่ใช้เลี้ยงปลา  ควรมีการตรวจสอบควบคุมคุณสมบัติของน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงปลาสม่ำเสมอและควรมีการจัดการให้น้ำมีคุณสมบัติเหมาะสม  (ตามข้อ 1.2) หากปริมาณออกซิเจนในบ่อเลี้ยงต่ำกว่าระดับมาตรฐาน  คือ  3 มิลลิกรัม/ลิตร ต้องใช้เครื่องเพิ่มอากาศ
 
                   2.6   การจัดเตรียมปลาเพื่อจำหน่าย
                2.6.1    ควรจับปลาโดยวิธีที่ระมัดระวัง  และต้องมั่นใจว่าจะไม่ทำให้ปลาเกิดบาดแผลหรือครีบฉีกขาด เช่น การลดระดับให้ต่ำลงเพื่อสะดวกในการจับ การใช้สวิงหรืออวนที่มีเส้นด้ายละเอียดและอ่อนนุ่มไม่กระทบกระเทือนต่อผิวหนังปลา ไม่เคลื่อนย้ายปลาโดยไม่มีน้ำหล่อเลี้ยง เป็นต้น
                            2.6.2 ถ้าเป็นปลาที่เลี้ยงในบ่อดินควรจับปลามาพักไว้ในบ่อซีเมนต์ หรือถังไฟเบอร์หรือตู้กระจกเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ปลาปรับสภาพ สามารถอยู่ในที่แคบๆได้
                            2.6.3 ทำการคัดเลือกปลาที่มีคุณภาพดีและคัดแยกขนาดตามที่ลูกค้าต้องการและก่อนจับปลาจำหน่ายงดให้อาหารปลาประมาณ 1-2 วัน
                            2.6.4   ปลาจะต้องได้รับการแช่สารเคมี  เช่น  ฟอร์มาลีน  25 – 45  มิลลิกกรัม/ลิตร  ก่อนจำหน่ายอย่างน้อย  7 – 10 วัน  เพื่อกำจัดปรสิตต่างๆตามผิวหนังและเหงือก
 
                       2.7  การบรรจุและลำเลียงขนส่งปลา
                           การบรรจุและลำเลียงขนส่งปลา ควรบรรจุในภาชนะที่ใหม่และเหมาะสมต่อการเดินทาง ต้องมั่นใจว่าปลาอยู่ในสภาพสมบูรณ์และสุขภาพดีเมื่อถึงมือลูกค้า    ซึ่งส่วนใหญ่นิยมบรรจุในถุงพลาสติกพร้อมกับบรรจุก๊าซออกซิเจนลงไป ปัจจัยที่สำคัญในการลำเลียงปลามีชีวิต คือสภาพอากาศและระยะทางในการเดินทาง   ข้อควรคำนึงในการบรรจุและลำเลียงพันธุ์ปลามีชีวิต  มีดังนี้
                            2.7.1 ต้องบรรจุปลาในถุงให้มีจำนวนที่พอดี มีก๊าซออกซิเจนพอเพียงตลอดระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่ง
                            2.7.2 น้ำที่ใช้ในการบรรจุปลาเพื่อการขนส่งต้องสะอาดและมีคุณภาพเหมาะสมกับชนิดของปลา
                            2.7.3  ควรมีสิ่งปกคลุมถุงบรรจุปลาเพื่อป้องกันแสงแดดหรือบรรจุถุงปลาในกล่องโฟม
เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำ
                       2.7.4 ปลาที่มีนิสัยก้าวร้าวควรบรรจุแยกถุงละ 1 ตัว เพื่อป้องกันการทำร้ายซึ่งกันและกันขณะอยู่ในถุง ซึ่งจะทำให้เกิดบาดแผลหรือครีบฉีกขาดได้
                            2.7.5 ในการบรรจุปลาลงถุงควรใส่เกลือแกง 0.1-0.2 เปอร์เซ็นต์ เพื่อลดความเป็นพิษของแอมโมเนีย  ไนไตรท์  และลดความเครียดของปลาขณะขนส่ง
                        2.7.6 วัสดุเก่าที่ใช้ในการบรรจุปลาควรกำจัดให้ถูกสุขอนามัย ถ้าจะนำมาใช้ใหม่ต้องฆ่าเชื้อโรคด้วยวิธีที่เหมาะสม  ล้างน้ำให้สะอาด  และตากให้แห้งก่อนนำมาใช้
 
2.8  สุขลักษณะภายในฟาร์ม
          ในบริเวณฟาร์มควรจัดให้มีท่อระบายน้ำ  เพื่อส่งน้ำไปยังบ่อบำบัด  ไม่ควรถ่ายน้ำทิ้งลงบน
พื้นซึ่งก่อให้เกิดสุขอนามัยที่ไม่ดี  และควรทำความสะอาดท่อระบายน้ำสม่ำเสมอ
                        2.8.1 ห้องน้ำห้องส้วม ห้องน้ำในฟาร์มต้องถูกสุขลักษณะและอยู่แยกเป็นสัดส่วนจากบ่อ โรงเรือนเลี้ยงปลา ห้องเก็บอาหารและสารเคมี อย่างชัดเจน
                            2.8.2 ความสะอาดภายในโรงเรือน การเก็บและทำลายขยะเศษของเหลือของฟาร์ม      มีการจัดเตรียมถังขยะหลายๆจุด และมีฝาปิดมิดชิด หากไม่มีบริการขนขยะไปทิ้งของทางราชการต้องขนไปทิ้งในบริเวณที่ทิ้งของเทศบาล สุขาภิบาลหรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หรือรวบรวมและกำจัดในที่กำจัดขยะที่จัดไว้เป็นสัดส่วนแยกจากบริเวณเลี้ยงสัตว์น้ำ
                               มีการจัดเตรียมเครื่องอำนวยความสะดวกที่ใช้ในการทำความสะอาดและมีการรักษาความสะอาดในฟาร์มและรอบๆ บริเวณฟาร์มสม่ำเสมอ
                    2.8.3  การบำบัดน้ำก่อนสู่สิ่งแวดล้อม  น้ำเสียที่ผ่านการเลี้ยงปลา ควรผ่านการบำบัดและปรับปรุงคุณภาพน้ำ (ดูวิธีการบำบัดน้ำในภาคผนวก)  แล้วนำไปใช้ใหม่โดยใช้ระบบน้ำหมุนเวียน หรือถ้าหากจำเป็นต้องปล่อยน้ำทิ้งก็ควรมีการบำบัดให้ได้มาตรฐานน้ำทิ้ง (ตารางที่ 2) ก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ และต้องมีระบบระบายน้ำที่ระบายได้ดี ไม่อุดตัน น้ำไม่ท่วมขัง
 
2.9     ระบบการบันทึกข้อมูล
                              ควรมีการบันทึกข้อมูลที่สำคัญๆ เพื่อประโยชน์ในด้านการประกอบธุรกิจ ดังนี้
                            2.9.1 แหล่งและลักษณะของพ่อแม่พันธุ์
                            2.9.2 ระบบการผลิตและผลผลิต
                            2.9.3 การลงทุนและผลกำไร
                            2.9.4 คุณภาพน้ำและการใช้น้ำ
                            2.9.5 อาหารและการให้อาหาร
                            2.9.6 โรคและการป้องกันรักษา
                            2.9.7 ประวัติการใช้บ่อ
                            2.9.8 ปัญหาและวิธีการแก้ปัญหา
 
 
 
 
                                                 
ตารางที่ 1  ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารพิษประเภทโลหะหนักและสารพิษประเภทอื่นๆ ที่ยินยอมให้มีอยู่
                  ในน้ำได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ
 
                     โลหะหนัก                                             ระดับความเข้มข้นสูงสุด (มิลลิกรัม/ลิตร)
                   แคดเมียม (Cadmium)                                                            0.001
                   ทองแดง (Copper)                                                                  0.02
                   ตะกั่ว (Lead)                                                                          0.05
                   ปรอท (Mercury)                                                                    0.0005
                   เหล็ก (Iron)                                                                            0.03
                   สังกะสี (Zine)                                                                        0.1
                      สารพิษ                                                ระดับความเข้มข้นสูงสุด (มิลลิกรัม/ลิตร)
                   คลอรีน (Chlorine)                                                                0.005
                   แอมโมเนีย  (Unionized ammonia)                                        0.02
                   ดีดีที (DDT)                                                                           0.05
                   (Dieldrin)                                                                             0.001
                   (Heptachlor)                                                                        0.002
                   (Heptachlor epoxide)                                                          0.002
                   (Carbofuran)                                                                         0.05
                   (Endrin)                                                                                   0
                   (Chlopyifos)                                                                            0
                   (Endosulfan)                                                                            0
                   (Deltamethrin)                                                                         0
                   (Sodium cyanide)                                                                    0
                   (Potassium cyanide)                                                                0
 
ที่มา :  Maitree  Duangsawasdi, 1987. Water quality eriteria for the protection of freshwater aquatic organism. Technical Paper No. 75.  National Inland Fisheries Institute. Bangkhen, Bangkok, Thailand.  38 pp.
 
 
 
ตารางที่ 2  มาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งในทางน้ำชลประทาน
คุณภาพน้ำ
ค่ามาตรฐาน
ค่าความเป็นกรดด่าง (pH)
6.5-8.5
ค่าความนำไฟฟ้า (EC x 106)
ไม่มากกว่า 2,000 ไมโครโมล/ซม.
ค่าของแข็งที่ละลายได้ทั้งหมด ( TDS)
คำสำคัญ (Tags): #มาตรฐานฟาร์ม
หมายเลขบันทึก: 332779เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2010 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2012 00:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท