ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
นาย ทรงวุฒิ พัฒแก้ว ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน พัฒแก้ว

ก็เพราะรักแผ่นดินเกิด...สู้เพื่อบรรพบุรุษและลูกหลานของเรา


พื้นที่นครศรีรรมราชในอ.สิชลและอ.ท่าศาลา ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่การสร้างนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จากการศึกษาความเหมาะสมของบริษัท ทีมคอนซัลติ้ง ภายใต้การว่าจ้างของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดยมีพื้นที่อำเภอละ ๒ หมื่นไร่ มีคนเพียงไม่กี่คนที่รับทราบว่ามีการตั้งเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่เพราะเป็นการแอบทำรายงานการศึกษาแบบย่องเงียบมีคนรู้น้อยที่สุด แต่สุดท้ายก็ถูกคัดค้านจนทีมที่ปรึกษายอมยกเลิกโครงการในวันที่ ๑๙ มกราคม ๕๒ หลังจากนั้นไม่นาน กลุ่มบริษัทต่างๆ ก็ทยอยทะลักเข้ามาในพื้นที่ไม่ขาดสายแทบทุกเดือน ถือเป็นจุดเริ่มต้นสร้างกระแสการตื่นรู้เป็นต้นมา

ก็เพราะรักแผ่นดินเกิด...สู้เพื่อบรรพบุรุษและลูกหลานของเรา

๑ ปีที่สิชล ท่าศาลา กับการพัฒนาภายใต้เงาอุตสาหกรรม

เรื่อง /ภาพ : เรือนลืมยศถา

 

“ในรอบ ๑ ปี ที่ผ่านมาเราต่อสู้กันมาได้ดี รับรู้เรื่องที่ไม่เคยรู้ พูดง่ายๆว่ารู้เรื่องมากขึ้น และที่สำคัญคือเมื่อปีที่แล้วเราทำงานประสานหาข้อมูลกันดีมาก หลายเรื่องเราไม่รับแจ้งให้เข้าร่วมเวทีแต่เราก็สืบหาข้อมูลกันจนได้ หลังจากนี้ต้องมานั่งทบทวนกันว่า๑ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลต้องเข้มข้นมากกว่านี้” คำปรารถจากผู้ใหญ่ไข่แกนนำคนสำคัญของกลุ่มรักษ์ทุ่งปรัง

พื้นที่นครศรีรรมราชในอ.สิชลและอ.ท่าศาลา ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่การสร้างนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จากการศึกษาความเหมาะสมของบริษัท ทีมคอนซัลติ้ง ภายใต้การว่าจ้างของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  (กนอ.) โดยมีพื้นที่อำเภอละ ๒ หมื่นไร่  มีคนเพียงไม่กี่คนที่รับทราบว่ามีการตั้งเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่เพราะเป็นการแอบทำรายงานการศึกษาแบบย่องเงียบมีคนรู้น้อยที่สุด แต่สุดท้ายก็ถูกคัดค้านจนทีมที่ปรึกษายอมยกเลิกโครงการในวันที่ ๑๙ มกราคม ๕๒ หลังจากนั้นไม่นาน กลุ่มบริษัทต่างๆ ก็ทยอยทะลักเข้ามาในพื้นที่ไม่ขาดสายแทบทุกเดือน ถือเป็นจุดเริ่มต้นสร้างกระแสการตื่นรู้เป็นต้นมา

                ผมรับทราบมติของชาวบ้านแล้ว เพราะฉะนั้นผมยืนยันกับท่านว่า ผมจะหยุดภารกิจการเปิดเวทีทั้งหมดโดยสิ้นเชิง และจะรายงานกนอ. ให้รับทราบสถานการณ์ด้วยตัวเองต่อผู้บริหาร กนอ. ว่าวันนี้ไม่ใช่แต่พี่น้องตำบลทุ่งปรัง แต่พี่น้องตำบลอื่นก็มีความเห็นคล้ายกันที่ต้องการให้หยุดโครงการนี้  เอนก นาคบุตร หัวหน้าทีมที่ปรึกษาประกาศและยกธงขาวยอมแพ้  แต่เชื่อหรือไม่ว่า บริษัทต่างๆ ที่รอรับลูกก็ยังเปิดเวทีต่อเนื่อง ทั้งที่โครงการใหญ่หยุดศึกษา

๑ ปี ผ่านไปแล้วเสียงประชาชนในพื้นที่ยังสะท้อนถึงการยืนหยัดที่จะต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิด และแม้ว่าวันนี้ยังจะมีอีกหลายโครงการที่ยังจะเข้ามาสู่แผ่นดินเมืองนครโดยเฉพาะเขตอำเภอขนอม สิชล ท่าศาลา ชาวบ้านที่นี่ก็ยังต้องยืนหยัด พวกเขาไม่มีทางเลือกและไม่คิดเลือกที่จะหนีไปไหน

                “ผมต่อสู้เรื่องนี้มาก็เพื่อรักษาบ้านเกิดของตนเอง รักษาทรัพยากรโดยเฉพาะความเป็นมุสลิมเราจะย้ายกุโบร์ไม่ได้ ถ้าย้ายเราจะบาปกันทั้งหมู่บ้าน จึงต้องรักษาแผ่นดินเกิดไว้ตลอดไปและถึงที่สุดแล้วก็ต้องเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อรักษาแผ่นดินเกิดไว้ และเรื่องนี้จะต้องต่อสู้กันอีกยาวนานจนกว่าจะมีการหยุดสร้างนิคมอุตสาหกรรม”  บังเด ชาวประมงพื้นบ้านแกนนำกลุ่มรักษ์คอเขาผู้ยืนหยัดต่อสู่คัดค้านการเกิดนิคมอุตสาหกรรมประกาศจุดยืนเช่นนี้ตลอดมา

                ยังมีคนอีกจำนวนมากในสังคมนี้ที่ยังไม่เข้าใจคำว่า  ‘รักแผ่นดินเกิด’  เพราะพวกเขาไม่มีรากฐานของวัฒนธรรมในความเป็นชุมชน แผ่นดินเป็นเพียงที่อยู่อาศัยไม่มีจิตวิญญาณที่ฝังลึกในแผ่นดิน ซึ่งแตกต่างกับมิติความเป็นชุมชนซึ่งพวกเขา ‘ฝังรกอยู่ที่นี่’  ที่ดินกลายเป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ไปไหนไม่ได้อีกแล้ว

นี่อาจเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุดซึ่งจะตอบคำถามว่าทำไมพวกเขาจึงต้องต่อสู่เพื่อแผ่นดินเกิดเพราะว่าพวกเขาต่อสู้เพื่อบรรพบุรุษที่สร้างแผ่นดินมาและเพื่อรักษาแผ่นดินไว้ให้ลูกหลานในอนาคตทั้งหมดนี้จึงเพื่อตัวเองเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น

                “เวลามีการรับฟังความเห็นของประชาชนไม่ว่าเรื่องนิคมอุตสาหกรรมก็ดี เรื่องผังเมืองก็ดีเราไม่ค่อยได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนจากผู้ที่มาชี้แจงและบางครั้งไม่ได้รับเชิญโดยเฉพาะจากบริษัทน้ำมันจะแอบเชิญคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้นในการรับฟังความเห็น ทำให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสของภาครัฐและฝ่ายทุน ชาวบ้านต้องคอยสืบข่าวเอาเองว่าวันไหนเขาจะจัดเวทีเพราะเขามักจะไม่ค่อยบอก” บังเหลดกลุ่มแกนนำบ้านปลายทอนผู้ยึดหลักการศาสนานำทางการต่อสู้

                เพียงฉากหนึ่งในการต่อสู้ของกลุ่มชาวบ้านที่อำเภอสิชล เมื่อครั้งที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเข้ามาทำหน้าที่รณรงค์เพื่อให้ชาวบ้านที่นี่ยอมรับการเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรม ในทางตรงกันข้ามมุมมองอีกด้านหนึ่งกลับมองว่าพวกเขาเป็นคนชอบก่อความวุ่นวาย ขัดขวางความเจริญแต่ทว่าคนเหล่านั้นไม่เคยนั่งลงแล้วถามชาวบ้านที่คักค้านว่าทำไมพวกเขาจึงต้องคัดค้าน มุมมองนี้เกิดจากนักการเมืองท้องถิ่น นักลงทุน รวมทั้งชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ที่ไม่เคยเข้าใจการต่อสู้เพื่อปกป้องแผ่นดินเกิดไม่ว่าครั้งไหนๆก็ตาม

ผมไปเรียนรู้เรื่องนี้มาจาก ม.วลัยลักษณ์ กลับมาให้ลูกที่กรุงเทพทำข้อมูลส่งมาให้  สรุปกับตัวเองว่า รับไม่ได้ หน่วยงานรัฐไม่ให้ข้อเท็จจริงต่อประชาชนเลย ผมต้องรวมกลุ่มคัดค้านเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด โรงโม่หินก็ทำมาแล้ว ชนะมาแล้ว เรื่องนี้เราไม่ยอม โดยเฉพาะหมู่ที่  ๓ ทุ่งปรังผมเดินบอกทุกหมู่บ้าน ผู้ใหญ่ไข่ ทวีผล พรหมคีรี ประกาศชัดมาตั้งแต่วันที่ ๑๔ มกราคม ๕๒ จนมาถึงทุกวันนี้

“การต่อสู้ของชาวบ้านไม่ได้ใช้แต่กำลังอย่างเดียวเท่านั้นแต่เรามีการศึกษาข้อมูล สิ่งไหนถ้าไม่มีความรู้ก็จะต้องเชิญวิทยากรมาให้ความรู้ เพราะฉะนั้นเวลาเราแสดงความเห็นเราก็ศึกษาไม่ได้พูดตามความรู้สึก เพราะชาวบ้านที่นี่สู้จริง รักบ้านเกิดจริง ศึกษาข้อมูลจริง ทั้งเรื่องผังเมือง มีการศึกษาข้อมูล จัดเวทีเรียนรู้กันหลายรอบมากกว่าจะรู้เรื่องทั้งหมด” ครูชาย ซึ่งเป็นครูผู้มีจิตวิญญาณรักบ้านเกิด

เวลาต่อสู้แท้จริงคือการเรียนรู้เพราะก่อนจะเรียกร้องหรือโต้ตอบกับฝ่ายที่ต้องการสร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะต้องมีการศึกษาข้อมูลและเรียนรู้กันอย่างยิ่ง ทำการบ้านกันมากมายไม่ได้พูดด้วยอารมณ์ความรู้สึกอย่างเดียว

เมื่อคราวที่มีการต่อสู้เรื่องผังเมืองเป็นการเรียนรู้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ชาวบ้านเปิดเวทีการเรียนรู้กันอย่างจริงจัง  มีการศึกษาเอกสาร เชิญวิทยากรมาบรรยายและตั้งวงถกเถียงเกี่ยวกับความสำคัญของผังเมือง...เหตุเกิดจากโยธาและผังเมืองจังหวัดพร้อมด้วยบริษัทที่ปรึกษาได้เข้ามาทำผังเมืองสิชลใหม่...และในกระบวนการเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมจะต้องเปลี่ยนผังเมืองเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมก่อน...ผังเมืองจึงเป็นบันไดแรกของการก่อเกิดนิคมอุตสาหกรรม

                โครงสร้างพื้นฐานคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเกิดนิคมอุตสาหกรรมเพราะว่าถ้าไม่มีโครงสร้างพื้นฐานก็เกิดนิคมอุตสาหกรรมไม่ได้...เพราะฉะนั้นก่อนการเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะต้องมีโครงสร้างที่เพียบพร้อมและเพียงพอก่อนที่สำคัญมีดังนี้คือ เขื่อน อุตสาหกรรมน้ำมัน และเส้นทางการคมนาคม โรงไฟฟ้า...ทั้งหมดนี้เป้าหมายอยู่ที่พื้นที่จ.นครศรีธรรมราช

“การสร้างเขื่อนที่คลองท่าทนเราไม่ยอม เพราะเอาน้ำไปให้อุตสาหกรรม คนทำเกษตรคนที่เป็นชาวบ้านธรรมดาจะลำบากมาก เราไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนอย่างแน่นอน” พี่พร หญิงนักส้เชิงเขาคลองท่าทน

                บทเรียนการสร้างเขื่อนเกิดขึ้นมากมายในสังคมไทยโดยเฉพาะในจังหวัดระยองที่นำน้ำทั้งหมดไปป้อนภาคอุตสาหกรรม จนทำให้ระบบการเกษตรโตไม่ขึ้น...และยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของคนที่นั่นอย่างมหาศาล เพราะฉะนั้นบทเรียนเหล่านี้จึงไม่ควรเกิดขึ้นอีกที่เขื่อนคลองท่าทน

                โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่สังคมไทยเพิ่งได้ลิ้มลองกับความจริงที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกบรรจุอยู่ในแผนการพัฒนาพลังงานของประเทศและในขณะนี้มีการลงพื้นที่สำรวจดินและทำประชาพิจารณ์ เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์...ความจำเป็นของการสร้างถูกอ้างเหตุผลว่าไฟฟ้าจะดับแต่กลับไม่พูดถึงระบบไฟฟ้าทั้งหมดที่มีอยู่ในสังคมไทยและพลังงานทางเลือกหรือพลังงานชีวมวลที่ประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอในการผลิต

“การที่บริษัทเชฟรอนเข้ามาในพื้นที่กลายมีข้อสังเกตที่สำคัญว่า จะทำให้ชายฝั่งทะเลเสียหายจากการสร้างท่าเรือ และจะก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการผลิตน้ำมันของบริษัทเชฟรอนตามมาซึ่งจากบทเรียนของจังหวัดระยองทำให้เกิดอันตรายในทุกๆด้านกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม” ลุงดีประธานกลุ่มรักษ์กายชายสูงวัยผู้ที่ยังรักษ์ชุมชน

ถึงวันนี้บริษัทเชฟรอนเริ่มต้นการก่อสร้างสนามบินแล้วและกำลังดำเนินการสร้างท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ในพื้นที่ อ.ท่าศาลา เพื่อรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเลียมที่ผนวกฐานการผลิตจากจังหวัดสงขลาและชลบุรี มาอยู่รวมกันที่นี่นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและการล่มสลายของชายฝั่งทะเลไปพร้อมๆกัน

๑ปีที่ผ่านมาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด...

“หลังจากนี้เราคงต้องผนึกเครือข่ายให้กว้างมากขึ้น เชื่อมโยงกับหลายพื้นที่ หลายหน่วยงานเพื่อให้การขับเคลื่อนมีพลัง” ลุงดีส่งท้าย

                ความจริงชาวบ้านในพื้นที่เชื่อมกระบวนการเรียนรู้กับพื้นที่และหน่วยงานอื่นๆค่อนข้างมากในรอบปีที่ผ่านมา ทั้งใช้เครื่องมือ CHIA สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อนำเสนอว่าภาคใต้ต้องการทิศทางการพัฒนาในรูปแบบใดจึงจะเป็นเส้นทางที่ทุกคนร่วมเดิน

                   สุดท้ายคำตอบอยู่ที่พื้นที่ชุมชนซึ่งเป็นใบอนุญาตใบสุดท้ายว่าการพัฒนาแบบใดที่เขาต้องการ

คำสำคัญ (Tags): #อุตสาหกรรม
หมายเลขบันทึก: 332715เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2010 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท