เปลือยชีวิตครูไทย หนี้ท่วมหัว เพื่อครอบครัว-ศิษย์


16 มกราคมนี้ "วันครู" เวียนมาบรรจบอีกปีหนึ่งแต่วิถีชีวิตครูไทยยังเป็นไปเช่นเดิม โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินรุงรัง ถูกสังคมมองว่าครูฟุ้งเฟ้อ แถมทิ้งลูกศิษย์ไปทำผลงานวิชาการเพื่อให้ได้เลื่อนวิทยฐานะทำให้คุณภาพการศึกษาตกต่ำไม่ถึงเกณฑ์นานาชาติ !!


"คม ชัด ลึก" ถือโอกาสนี้สัมภาษณ์พิเศษ เปลือยชีวิตครูดีเด่นของคุรุสภาประจำปี 2551 เพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่าชีวิตครูแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร ?

"ตอนนี้ผมเป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จ.ลำปาง อยู่4 แสนบาท เสียดอกเบี้ยร้อยละ 6-7 บาทต่อปี เพราะพานักเรียนไปประกวดนวัตกรรมทางการศึกษาในงานวันนักประดิษฐ์โลกเมื่อปี 2548 ที่ประเทศเบลเยียม แม้เป็นหนี้แต่ก็ภาคภูมิใจในความสำเร็จเพราะชิ้นงานฝึกทักษะจากเศษไม้ที่ลูกศิษย์ช่วยกันทำขึ้นได้รับรางวัลเหรียญทองระดับนานาชาติ"

"ครูเสกสรร กาวินชัย" วัย42 ปี อาจารย์ 3 ระดับ 8 สอนวิชาช่างไม้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานพื้นฐานและเทคโนโลยีระดับมัธยมต้น และ ปวช. โรงเรียนแจ้ห่มวิทยา จ.ลำปาง บอกถึงสาเหตุของการเป็นหนี้ ลำพังชีวิตหนุ่มโสด เงินเดือนบวกเงินประจำตำแหน่งกว่า 3.8 หมื่นบาท สามารถใช้ชีวิตอยู่กับแม่และครอบครัวของพี่สาวได้อย่างสบาย แต่ทุกเดือนต้องเจียดเงินจ่ายสหกรณ์ 8,000 บาท

เขามองว่าครูมีหนี้ท่วมหัวเพราะต้องดูแลครอบครัว เช่น ส่งเสียลูกเรียน รักษาพ่อแม่ที่ป่วย แต่มีครูบางคนใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ซึ่งการแก้ปัญหานี้ครูต้องรู้จักใช้ชีวิตอย่างสมถะ พอเพียง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องดูเหตุผลที่ครูเป็นหนี้ หากเป็นหนี้เพื่อครอบครัวก็ควรช่วยเหลือ

เช่นเดียวกับการประเมินวิทยฐานะที่"ครูเสกสรร" มองว่าเกณฑ์ปัจจุบันประเมินจากเอกสารแทนการประเมินจากผลการสอน คุณภาพเด็ก ที่สะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู

"อยากให้ ศธ.ปรับเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะครู ดูจากผลการสอน คุณภาพเด็ก และคุณงามความดีที่ครูทำประโยชน์ให้แก่เด็ก โรงเรียน และชาติ แทนการดูจากเอกสารผลงานวิชาการเป็นหลัก ซึ่งจ้างใครเขียนหรือคัดลอกได้ แต่ผลการสอน ความเอาใจใส่ต่อลูกศิษย์ จิตวิญญาณแห่งความเป็นครู จ้างกันไม่ได้ อยากให้รัฐบาลดูแลโรงเรียนด้อยโอกาส ในพื้นที่ห่างไกลเป็นพิเศษ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องยืดหยุ่นมากกว่านี้ เพื่อนำมาปรับใช้สอนให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละท้องถิ่นได้ง่าย ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต้องยึดคุณภาพของเด็กเป็นหลัก ไม่ใช่ดูจากปริมาณเด็กที่จบ หรือเลื่อนชั้น" ครูเสกสรรแนะ

อีกหนึ่งครูดีเด่น "ครูจตุรพัฒน์ วิไลรัตน์" หนุ่มโสดวัย53 ปี อาจารย์ 2 ระดับ 7 สอนวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมต้น โรงเรียนวัดสันติธรรม จ.นครสวรรค์ ก็มีหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกว่า 1.4 ล้านบาท เสียดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี เพราะกู้เงินไปช่วยห้องสมุดโรงเรียนวัดสันติธรรม 3 แสนบาท ส่วนเงินที่เหลือสร้างบ้านให้น้องสาว 2 คน ส่งเสียหลานสาวที่รักดั่งดวงใจเรียนตั้งแต่อนุบาลจนปัจจุบันจบปริญญาโท

ผลจากการเป็นหนี้ทำให้เงินเดือนบวกเงินประจำตำแหน่งของ"ครูจตุรพัฒน์" ที่รวมแล้วกว่า3.6 หมื่นบาท ถูกหักเพื่อใช้เงินต้นและดอกเบี้ยหนี้สหกรณ์เดือนละกว่า 2 หมื่นบาท จึงมีเงินเหลือใช้แค่เดือนละ 9,000 บาท แต่เขาก็ยังมีน้ำใจเจียดเงินมาเป็นค่าข้าว ค่าอาหาร เลี้ยงดู "เพื่อนซี้สี่ขา" 30 ตัว ที่เร่ร่อนวันละกว่า 200 บาท

"ชีวิตครูได้รับมา 47 รางวัล ภาคภูมิใจที่สุดคือ รางวัลครูคณิตศาสตร์ดีเด่นระดับประเทศ พ.ศ. 2528 เข้ารับโล่จาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ขณะนั้นท่านเป็นนายกรัฐมนตรี อยากให้ศธ.พิจารณาการประเมินวิทยฐานะในกลุ่มครูที่ได้รับรางวัลต่างๆ เช่น ครูดีเด่นนั้นไม่ต้องทำผลงานวิชาการ แต่ให้ไปประเมินผลการสอนที่โรงเรียน ส่วนหนี้สินครูก็หาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และเรียนฟรี 15 ปี ควรเพิ่มอีก 25% ดูแลเด็กยากจนเป็นพิเศษ โดยให้พ่อแม่ทำสัญญาดูแลลูกให้เรียนจบม.3 และเพิ่มจักรยานโรงเรียนเพราะเด็กบางคนบ้านห่างจากโรงเรียน 7 กม. และมีทุนการศึกษาให้เด็กยากจนเรียนดีจนจบปริญญาตรี" ครูจตุรพัฒน์เสนอรัฐบาล

ครูคนสุดท้าย"ครูจุรี โก้สกุล" วัย51 ปี อาจารย์ 3 ระดับ 8 สอนวิชาภาษาไทยและภาษามือ ชั้น ป.1-ม.3 โรงเรียนภูเก็ตปัญญานุกูล จ.ภูเก็ต บอกว่า มีลูก 2 คน คนโตทำงานแล้ว ส่วนคนเล็กเรียนชั้น ม.5 เมื่อมีภาระไม่มากและยึดคติ "เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง" ดำเนินชีวิตแบบพอเพียงทำให้ไม่มีหนี้สินติดตัว เวลาทั้งหมดจึงทุ่มเทให้แก่ลูกศิษย์ที่เป็นเด็กพิเศษ เช่น หูหนวก ได้เต็มที่

"อยากให้รัฐบาลดูแลครู โดยลดหย่อนภาษีให้ต่ำกว่าอาชีพอื่น เพราะต้องจ่ายภาษีปีละเกือบ 3 หมื่นบาท ทำให้ต้องกู้เงินมาจ่ายภาษี และเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่เด็กพิเศษ เช่น ทางลาด ตัวหนังสือวิ่งแจ้งข่าวสาร และฝึกอาชีพให้เด็กพิเศษ" ครูจุรีบอกทิ้งท้าย

ที่มา : http://www.kroobannok.com/4747

คำสำคัญ (Tags): #ศรีสะเกษ5
หมายเลขบันทึก: 332267เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2010 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท