ฉุงฉิง
ณัฐสุดา ฉุงฉิง พึ่งวิรวัฒน์

การประกันคุณภาพและการพัฒนาหลักสูตร


การพัฒนาหลักสูตร

การประกันคุณภาพและการพัฒนาหลักสูตร

 

การประกันคุณภาพหลักสูตร

1. การบริหารหลักสูตร

ได้กำหนดแนวทางในการบริหารหลักสูตรเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่หลักสูตรกำหนดไว้ ดังนี้

(1)     ดำเนินการคัดเลือกนักศึกษาตามระบบของมหาวิทยาลัย

(2)     มีคณะกรรมการบริหารหลักสูตร ซึ่งมีรองหัวหน้าภาควิชาฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา เป็นประธานและมีอาจารย์ประจำหลักสูตรทุกท่านเป็นกรรมการ โดยกำหนดให้มีการประชุมคณาจารย์ของหลักสูตร เพื่อร่วมกันพิจารณาแก้ไขปัญหา ปรับปรุงพัฒนาเนื้อหาการเรียนการสอนและวิธีการสอนให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับแนวทางของการปฏิรูประบบการศึกษาอย่างน้อยภาคการศึกษาละ 1 ครั้ง ซึ่งผลจากการหารือในที่ประชุม จะนำเข้าที่ประชุมกรรมการวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ต่อไป

(3)     กำหนดให้บางรายวิชามีการศึกษาจากสถานการณ์จริง เช่น การศึกษาดูงานนอกสถานที่ การเชิญวิทยากรมาบรรยาย การยกตัวอย่างและกรณีศึกษา เพื่อให้นักศึกษาได้มีความเข้าใจในเนื้อหามากขึ้น

(4)     จัดการประเมินผลการสอนของคณาจารย์ทุกท่าน ทุกรายวิชา ทุกภาคการศึกษา และแจ้งให้คณาจารย์ได้รับรู้ผลการประเมินจากภาควิชา ซึ่งเป็นผลรวมจากการประเมินแผนการสอน สื่อการสอน ข้อสอบ และผลการประเมินโดยนักศึกษา เพื่อนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงการสอนต่อไป

(5)     กำหนดให้นักศึกษาฝึกงาน เพื่อเพิ่มประสบการณ์ในการทำงาน และการประยุกต์ใช้ความรู้ ตลอดจนนำผลประเมินการฝึกงานมาใช้ในการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาและการเรียนการสอนของหลักสูตร ทั้งการฝึกงานในช่วงระยะเวลา 8 สัปดาห์ หรือ 320 ชั่วโมง ตามแผน 1) และแผน 2) และการฝึกงานแบบเข้มข้นเป็นเวลา 640 ชั่วโมง หรือ 4 เดือน ตามแผน 3)

(6)     กำหนดให้มีการปรับปรุงหลักสูตรทุก 5 ปี เพื่อปรับปรุงเนื้อหาวิชาในหลักสูตรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

2. ทรัพยากรประกอบการเรียนการสอน

เพื่อให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ ได้จัดทรัพยากรเพื่อเอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอน ดังนี้

(1)     ห้องคอมพิวเตอร์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อให้นักศึกษาได้ใช้หาความรู้เพิ่มเติม และการเพิ่มทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ โดยได้จัดหาโปรแกรมประยุกต์เฉพาะทางที่ทำงานในระบบเครือข่าย ให้นักศึกษาได้มีโอกาสเพิ่มทักษะในการใช้งานก่อนเข้าปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรม

(2)     หอสมุดกลางของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และห้องอ่านหนังสือของคณะวิศวกรรมศาสตร์ (ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท) เป็นแหล่งรวบรวม เอกสาร ตำรา วารสาร หนังสือพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อให้นักศึกษาสะดวกต่อการติดตามข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชา

(3)     เครือข่ายและกลุ่มงานวิจัยของคณาจารย์ เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้การทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาทางด้านวิศวกรรม

(4)     อุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น คอมพิวเตอร์ LCD และสื่อ/โสตทัศนูปกรณ์ ต่างๆ

(5)     แหล่งเรียนรู้เพิ่มเติมในชุมชนที่องค์กร/หน่วยงานต่างๆ จัดขึ้น เช่น โรงงานอุตสาหกรรมในท้องถิ่น กลุ่มกิจกรรมชุมชน ศูนย์วัสดุและโลหะแห่งชาติ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ การแลกเปลี่ยนนักศึกษากับสถาบันต่างๆ ฯลฯ

3. การสนับสนุนและการให้คำแนะนำนักศึกษา

(1)     กำหนดให้นักศึกษาทุกคนมีอาจารย์ที่ปรึกษา ตลอดระยะเวลา 4 ปี หรือตลอดระยะเวลาที่ศึกษาในหลักสูตร เพื่อให้คำแนะนำในการลงทะเบียนเรียน ตลอดจนให้คำแนะนำและความช่วยเหลือนักศึกษาที่ประสบปัญหาในการเรียนและปัญหาอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเรียน

(2)     คณะวิศวกรรมศาตร์ มีฝ่ายกิจการนักศึกษา ที่จะให้คำแนะนำแก่นักศึกษาในการแก้ปัญหาต่างๆ และประสานงาน รวมถึงให้ข้อมูลในการเรียน

(3)     คณะวิศวกรรมศาสตร์ จัดให้มีการปรับพื้นฐานในรายวิชาที่สำคัญ เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เบื้องต้น ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1

(4)     มีระบบการติดตามข้อมูลการเรียนของนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง และแจ้งผลการเรียนของนักศึกษาในแต่ละภาคการศึกษาให้ผู้ปกครองทราบ เพื่อเป็นข้อมูลในการดูแลและส่งเสริมนักศึกษาในปกครองต่อไป

4. ความต้องการของตลาดแรงงาน สังคม และ/หรือความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิต

(1)     มีการประเมินผลหลักสูตร โดยสำรวจข้อมูลจากบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาแล้ว และสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิต เพื่อนำผลการประเมินมาใช้ปรับปรุงหลักสูตรและจัดกิจกรรมเสริมให้กับนักศึกษาเพื่อปรับปรุงจุดอ่อนของบัณฑิต เช่น ด้านภาษาอังกฤษ ด้าน ภาวการณ์ เป็นผู้นำ เป็นต้น

(2)     จัดให้มีกิจกรรมเตรียมความพร้อมในการสมัครงาน สัมภาษณ์งาน และการทำงาน ให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 3 และปีที่ 4 โดยมีกิจกรรม เช่น การบรรยายของวิทยากรที่เกี่ยวข้องกับการรับสมัครงานเพื่อให้นักศึกษาเข้าใจถึงความต้องการของหน่วยงานและการเตรียมความพร้อม การบรรยายจากศิษย์เก่าในการทำงานในอาชีพต่างๆ การทัศนศึกษาเพื่อเปิดโลกทัศน์ให้แก่นักศึกษาและการประชาสัมพันธ์หลักสูตร

 การพัฒนาหลักสูตร

1. ดัชนีด้านมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา

(1)     มีการกำหนดตัวชี้วัดด้านมาตรฐานและคุณภาพการศึกษาตามที่สมศ. และมหาวิทยาลัยกำหนด ประกอบด้วย มาตรฐานที่ 1) มาตรฐานด้านคุณภาพบัณฑิต มาตรฐานที่ 2) มาตรฐานด้านการเรียนรู้ มาตรฐานที่ 3) มาตรฐานด้านสนับสนุนการเรียนรู้ มาตรฐานที่ 4) มาตรฐานด้านการวิจัยและงานสร้างสรรค์ มาตรฐานที่ 5) มาตรฐานด้านการบริการวิชาการ มาตรฐานที่ 7) มาตรฐานด้านการบริหารจัดการ และมาตรฐานที่ 10) มาตรฐานด้านระบบการประกันคุณภาพภายใน โดยมีการรายงาน ติดตามและประเมินผลตัวชี้วัดตามมาตรฐานต่างๆ ทุกปีการศึกษา

(2)     มีการกำหนดดัชนีผลการปฏิบัติงานหลัก (Key Performance Indicators: KPIs) ของภาควิชา โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารหลักสูตรนี้ ประกอบด้วยดัชนีผลการปฏิบัติงานหลักด้านการจัดการการเรียนการสอนให้เป็นไปตามพรบ. การศึกษา 2542 ด้านประสิทธิภาพ/ประสิทธิผลการผลิตบัณฑิต ด้านการประเมินคุณภาพภายใน และด้านกิจกรรมการพัฒนานักศึกษาที่จัดโดยภาควิชา โดยมีการรายงาน ติดตามและประเมินผลดัชนีผลการปฏิบัติงานหลักในด้านต่างๆ ทุกปีงบประมาณ

2. ระยะเวลาการปรับปรุงดัชนีด้านมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา และการประเมินเพื่อพัฒนาหลักสูตร

(1)     มีการประเมินหลักสูตรอย่างน้อยทุก 5 ปี และปรับปรุงหลักสูตรตามผลการประเมิน

(2)     หลักสูตรที่เปิดสอนนี้กำหนดการประเมินครั้งต่อไปปี 2553


 

หมายเลขบันทึก: 332184เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2010 10:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท