ม.ขอนแก่นแนะโรงงานนม แก้ 5 ข้อจำกัดโลจิสติกส์ขาเข้า (1)


โลจิสติกส์ ซัพพลายเชน Logistics supply chain

ม.ขอนแก่นแนะโรงงานนม แก้ 5 ข้อจำกัดโลจิสติกส์ขาเข้า (1)




ปัจจุบันอุตสาหกรรมนมเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ปัจจุบันมีปริมาณน้ำนมดิบจากการเลี้ยงโคนมทั่วประเทศประมาณ 2,260 ตันต่อวัน และมีแนวโน้มสูงขึ้นโดยมีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบกว่า 180 ศูนย์ แบ่งเป็นศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบสหกรณ์ 117 ศูนย์ และศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบของเอกชนประมาณ 63 ศูนย์ 

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมนมถือเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง เนื่องจากการมีผู้ผลิตจำนวนมากในตลาด และผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลายในการเลือกซื้อสินค้าเพื่อให้ได้คุณภาพ ราคา และการบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างทันท่วงที 

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ทำให้การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำให้มี ประสิทธิภาพและประสิทธิผลตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการหาวัตถุดิบจนถึงตลาดที่ต้องตอบสนองให้ได้ตามความต้องการของผู้บริโภค 

ดังนั้น รศ.ดร.กาญจนา เศรษฐนันท์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าวจึงได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ "การบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ขาเข้าของอุตสาหกรรมนม" โดยได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมีองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) จังหวัดขอนแก่นเป็นกรณีศึกษา เพราะเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือ แนะนำ และให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมโดยตรง

5 ข้อจำกัดขนนมดิบจากฟาร์มสู่โรงงาน

รศ.ดร.กาญจนาบอกว่า น้ำนมดิบ (raw milk) ถือเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่บูดเสียได้ง่าย หากมีการจัดการไม่ เหมาะสม ประกอบกับน้ำนมที่ได้รับจากเกษตรกรแต่ละฟาร์มอาจมีปริมาณไม่แน่นอนและไม่สม่ำเสมอในแต่ละวัน เป็นผลให้การขนส่งน้ำนมดิบเข้าสู่โรงงานผลิตอาจมีปริมาณไม่ตรงตามความต้องการ 

การผลิตนมของ อ.ส.ค.นั้นเริ่มต้นจากการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงโคนม และส่งน้ำนมดิบให้แก่ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบซึ่งกระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ จากนั้น อ.ส.ค.จะส่งรถบรรทุกไปรับน้ำนมดิบที่ศูนย์รวบรวมน้ำนมเหล่านั้น และส่งเข้าสู่โรงงานเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นม 




แต่ทั้งนี้ขั้นตอนการผลิตของอุตสาห กรรมนมมีข้อจำกัดต่าง ๆ หลายด้าน ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นม 

ประการแรก เรื่องปริมาณน้ำนมดิบ ไม่สม่ำเสมอจะขึ้นอยู่กับจำนวนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม จำนวนโคนม และอัตราการให้นมเฉลี่ยต่อตัว 

ประการที่ 2 รถที่เกษตรกรใช้ขนส่งน้ำนมดิบมายังศูนย์ ซึ่งอยู่กระจัดกระจายในรัศมี 400 เมตร-50 กิโลเมตร ส่วนใหญ่ใช้รถบรรทุก 6 ล้อ รถกระบะซึ่งอาจจะเป็นรถจ้างเหมาหรือรถของเกษตรกรเอง หากเกษตรกรรายใดอยู่ใกล้กับศูนย์รับน้ำนมดิบและมีปริมาณนมไม่มากนักจะใช้รถจักรยานยนต์หรือรถเข็น

ประการที่ 3 ในการรับน้ำนมดิบจากเกษตรกร ทางศูนย์ต้องเปิดอุปกรณ์ควบคุมให้ได้ 4 องศาเซลเซียสก่อนขนส่งไปโรงงาน เพื่อป้องกันการบูดเสีย จำเป็นต้องมีระบบการจัดการที่เหมาะสม เช่น การจัดคิวให้เกษตรกรมาส่งน้ำนมดิบเพื่อให้ปริมาณของน้ำนมดิบมีความสม่ำเสมอ ใช้เวลาในการ unload/load น้ำนมดิบให้สั้นที่สุดเพื่อลดระยะเวลาการทำงานของอุปกรณ์ทำความเย็นที่มีผลต่อค่าใช้จ่ายด้านพลังงานโดยตรง

ประการที่ 4 เรื่องคุณภาพในการขนส่งน้ำนมดิบ เนื่องจากนมเป็นสินค้าเกษตรที่เน่าเสียง่าย รถที่ใช้ขนน้ำนมดิบส่วนใหญ่จะทำเป็นช่องบรรจุ 3 ช่องให้อิสระต่อกัน แต่ละช่องไม่ควรมีการผสมกันของน้ำนมดิบต่างศูนย์และต่างมื้อ และน้ำนมดิบที่รวบรวมได้จำเป็นต้องมีการรักษาอุณหภูมิ ตั้งแต่อยู่ในถังบรรจุน้ำนมดิบของรถบรรทุกที่ไปรับจากแต่ละศูนย์ ไปจนถึงกระบวนการผลิต ดังนั้นช่องบรรจุนมของรถบรรทุกแต่ละคันจะเป็นเหล็กกล้าไร้สนิม ที่สามารถเก็บน้ำนมดิบได้ 24 ชั่วโมง โดยไม่บูดเน่า 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากน้ำนมดิบจากบางศูนย์มีปริมาณไม่มากนัก จึงจำเป็นที่ต้องมีการจัดระบบการขนส่งของรถบรรทุกนมไปยังโรงงานผลิตให้มีประสิทธิภาพรวดเร็ว และสามารถบรรทุกนมได้จำนวนมากเต็มปริมาตรการบรรจุของรถบรรทุกเพื่อให้ต้นทุนการขนส่งต่อหน่วยมีค่าต่ำที่สุด

ประการที่ 5 เมื่อรถบรรทุกมาถึงโรงงานกระบวนการแรกของการผลิตนมคือการตรวจคุณภาพของน้ำนมดิบ ถ้าน้ำนมดิบได้คุณภาพตามที่ต้องการจะนำน้ำนมดิบจากรถบรรทุกเข้าสู่ถังพักนมโดยระบบท่อส่ง จากนั้นน้ำนมดิบจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการผลิตทันที 

ข้อจำกัดของการผลิตนมจากกระบวน การนำน้ำนมดิบสู่ถังพักนมของโรงงาน คือ น้ำนมดิบจากรถบรรทุกที่รออยู่หรือมาถึงโรงงานใกล้เคียงกันจะถูกนำเข้าสู่ถังพักนม หลังจากที่น้ำนมดิบจากถังพักนมถูกนำเข้าสู่กระบวนการผลิตแล้ว โรงงานจะต้องทำความสะอาดถังพักนมทันทีเพื่อป้องกันการบูดเสียของนมในลอต (lots) 

จากข้อจำกัดดังกล่าวทำให้โรงงานผลิตนมของ อ.ส.ค. จังหวัดขอนแก่น มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง หากปริมาณน้ำนมดิบในถังบรรจุของรถบรรทุกมีน้อยเพราะทำให้มีจำนวนครั้งในการขนส่งมากขึ้น นอกจากนี้เรื่องค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดถังพักนม คือ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าสารเคมี และค่าแรงงาน ค่อนข้างสูง 

ปัจจุบันการขนส่งน้ำนมดิบของรถบรรทุกนมส่วนใหญ่จะบรรทุกนมได้ไม่เต็มคันรถ ประกอบกับการที่รถบรรทุกมาถึงโรงงานไม่เป็นเวลาและมาไม่พร้อมกัน ทำให้ไม่สามารถบรรจุนมได้เต็มปริมาณของถังพักนม และทำให้ต้องใช้ถังพักนมที่บรรจุนมก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิตจำนวนหลายถังต่อวัน เป็นผลให้โรงงานต้องทำความสะอาดถังวันละหลายครั้งก่อนที่จะบรรจุนมเข้าไปใหม่ ไม่เช่นนั้นจะทำให้น้ำนมที่มาใหม่บูดได้เนื่องจากมีคราบ น้ำนมเก่าติดอยู่ที่ถัง

แนะเกษตรกรรวมกลุ่มลดต้นทุน

ในการศึกษาระบบโลจิสติกส์ของอุตสาหกรรมนม จึงได้เน้นศึกษาเฉพาะกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบถึงโรงงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตารางการขนส่งน้ำนมดิบเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการล้างถังพักนมที่โรงงานและค่าขนส่ง 

โดยการให้รถบรรทุกขนส่งน้ำนมดิบมาถึงโรงงานแบบเป็นเวลาและมาพร้อมกันหลาย ๆ คันในระยะเวลาที่สั้น ทำให้น้ำนมดิบถูกส่งลงสู่ถังพักนมของโรงงานพร้อมเพรียงกัน เพื่อลดจำนวนการใช้ถังพักนมและค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดถังพักนมให้น้อยลง โดยกระบวนการผลิตนมต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง 

จากการศึกษาพบว่า กลยุทธ์ในการพัฒนาระบบบริหารจัดการเชิงโลจิสติกส์ ขาเข้า (inbound logistics) ของอุตสาหกรรมนมแยกตามชนิดของตัว ขับเคลื่อน (driver) ได้แก่ ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ด้านการขนส่ง ด้านการจัดการสินค้าคงคลัง และด้านการจัดการข้อมูลและติดต่อสื่อสาร สรุปได้ว่า

1.ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ในการดำเนินการแปรรูปนมพาสเจอไรซ์นั้น ได้แก่ รถบรรทุก ถังรับน้ำนมดิบ และห้องรับนม เป็นต้น ทั้งในศูนย์และโรงงานจำเป็นต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีความเพียงพอกับการดำเนินการ เช่น ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ หากมีห้องรับน้ำนมดิบไม่เพียงพอจะทำให้เวลาที่ใช้ในการรับน้ำนมดิบจากเกษตรกรเป็นไปด้วยความล่าช้า และส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่สูงมากขึ้น ที่สำคัญคืออาจมีผลกระทบต่อคุณภาพของน้ำนมดิบได้ 

สำหรับรถที่ใช้ในการบรรทุกน้ำนมดิบนั้นจะต้องมีระบบการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อจะทำให้รถบรรทุกมีสภาพที่เหมาะสมในการใช้งาน หากรถบรรทุกคันใดต้องรับน้ำนมดิบจากศูนย์มากกว่า 1 แห่ง แล้วรถบรรทุกคันนั้นควรไปรับน้ำนมดิบจากศูนย์ที่ห่างไกลก่อน เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง 

2.ด้านการขนส่ง สามารถแบ่งการขนส่งนมในช่วงโลจิสติกส์ขาเข้าเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก เป็นการขนส่งนมของเกษตรกรจากฟาร์มมายังศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และการขนส่งนมจากศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบมายังโรงงาน การขนส่งระยะแรกเกษตรกรจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ส่วนการขนส่งใน ระยะที่ 2 โรงงานจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนส่ง 

การขนส่งในระยะที่ 1 การขนส่งนมของเกษตรกรจากฟาร์มมายังศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ เกษตรกรส่วนใหญ่จะส่งน้ำนมดิบมายังโรงงานเอง ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80) เป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีปริมาณน้ำนมดิบน้อยกว่า 200 กิโลกรัม/วัน 

ดังนั้นเพื่อให้เกิดความรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง (economy of scale and economy of distance) เกษตรกรควรมีการรวมกลุ่มในการขนส่ง โดยอาจจะให้เกษตรกรรายใหญ่ที่มีศักยภาพหรือมีความพร้อมเกี่ยวกับรถบรรทุกในการขนส่งเป็นผู้จัดการรวบรวมปริมาณน้ำนมของเกษตรกรรายย่อยที่อยู่ในเส้นทางหรือบริเวณใกล้เคียง 


ที่มา

หมายเลขบันทึก: 331712เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2010 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากทราบว่าทางโรงงาน เค้ามีวิธีบำรุงรักษานมยังไงเมื่อไม่มียอดสั่งซื้ออะครับ พอดีสนใจกำลังหาความรู้อยู่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท