บำบัดเยียวยาด้วยศรัทธาและความเชื่อ


หากเรามีความเชื่อมั่นศรัทธาในตัวคน เชื่อมั่นในศักดิ์ศรีและคุณค่าของมนุษย์เราก็จะสามารถทำงาน บำบัดเยียวยาผู้ใช้ยาได้อย่างไม่ย้อท้อ...เพราะมนุษย์ทุกคนเปลี่ยนแปลงได้แต่ช้าเร็วไม่เท่ากัน...

เมื่อประมาณปลายปี 2552 ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลศรีธัญญาเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ในการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวช ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้การช่วยเหลือผู้ป่วยหลายๆด้าน และมีโอกาสได้ข้อมูลการบำบัดรักษาผู้ป่วยจากอาจารย์ทัศนีย์    ตันทวีวงศ์  โดยอาจารย์ได้นำแนวคิดทฤษฎีของ  Virginia Satir  หรือที่เรียกว่า Satir Model มาใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งหลักการบำบัดโดยใช้แนวคิดทฤษฎีของ Satir ในการบำบัดผู้ป่วยจิตเวชนั้น  จะไม่เน้นเนื้อหา    จะเน้นความเชื่อ  ความรู้สึก ความหวัง ความปรารถนา ความเป็นตัวตนของผู้ป่วย    Satir   เชื่อว่าทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากมองในทางบวกมากขึ้น มนุษย์เติบโตและเปลี่ยนแปลงได้โดยต้องเปลี่ยนจากภายในก่อน ซึ่งจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงภายนอกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้

ความเชื่อเกี่ยวกับคน  การปรับตัว และการเปลี่ยนแปลงของคนในด้านต่างๆ  เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้เกิดความเข้าใจ เห็นใจ และเป็นแนวทางในการบำบัดเยียวยาผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น ความเชื่อที่ว่ามนุษย์ทุกคนพยายามทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเอง   คนส่วนใหญ่จะทำดีที่สุดเท่าทีเขาจะทำได้ ณ เวลาขณะนั้น  ทำให้เราเข้าใจว่าผู้ใช้ยาเสพติดจริงๆแล้วก็ไม่ได้อยากติดยา ไม่อยากประสบปัญหาจากการใช้ยา แต่ธรรมชาติของมนุษย์เวลามีทุกข์ก็ย่อมพยายามดิ้นรนหาทางดับทุกข์ แล้วบังเอิญว่าการใช้ยาทำให้พ้นทุกข์ได้อย่างรวดเร็ว ( เนื่องจากยากระตุ้นให้สารสื่อประสาทหลั่งสารแห่งความสุขมาปริมาณมากและตกค้างนาน ทำให้มีความสุขแบบสุดๆ ) ผู้ใช้ยาจึงจดจำและบันทึกว่าการใช้ยาทำให้พ้นทุกข์ ณ ขณะนั้น แต่หารู้ไม่ว่า  ยาจะทำให้เกิดทุกข์ที่สาหัสและระยะยาวตามมาภายหลัง...แต่หากเราเชื่อมั่นและศรัทธาว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพ ทุกคนมีขุมทรัพย์อยู่ภายในที่สามารถนำมาใช้ในการปรับตัวและทำให้ตนเองเติบโตและพัฒนาได้ เราจึงต้องพยายามดึงขุมทรัพย์ภายในตัวผู้ใช้ยามาเยียวยาแก้ปัญหาของเขาเอง....ความเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นได้เสมอแม้การเปลี่ยนแปลงภายนอกอาจมีข้อจำกัดหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้แต่การเปลี่ยนแปลงภายในใจนั้นเปลี่ยนแปลงได้...ความเชื่อที่ว่าอดีตเปลี่ยนแปลงไม่ได้แต่เราสามารถทำให้ปัจจุบันดีขึ้นสามารถเปลี่ยนแปลงผลกระทบที่ยังมีผลต่อปัจจุบันได้... 

ในการบำบัดแต่ละครั้งต้องมีเป้าหมายอย่างน้อย 4 ข้อ ได้แก่

1. แต่ละคนสามารถเลือกกระทำได้   และต้องตัดสินใจด้วยตนเอง (choice maker)

2. เมื่อเลือกจะทำอะไรแล้ว ก็ต้องรับผิดชอบด้วย (self responsibility)

3. มีความเชื่อพื้นฐานว่าคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้ (change is possible)และต้องทำให้ผู้ป่วยเกิดความสงบ กลมกลืนมีความสอดคล้องภายใน (congruent) ระหว่างพฤติกรรม ความคิด ความรู้สึก  ความต้องการที่แท้จริง

4. ต้องทำให้ผู้ป่วยมีความภาคภูมิใจในตัวเอง (raise self esteem) เห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้น

หากเรามีความเชื่อมั่นศรัทธาในตัวคน  เชื่อมั่นในศักดิ์ศรีและคุณค่าของมนุษย์เราก็จะสามารถทำงาน  บำบัดเยียวยาผู้ใช้ยาได้อย่างไม่ย้อท้อ...เพราะมนุษย์ทุกคนเปลี่ยนแปลงได้แต่ช้าเร็วไม่เท่ากัน...เคยมีประสบการณ์ได้พบกับนักบำบัดหลายคน บางคนจะท้อใจเวลาผู้ป่วยที่เขาบำบัดรักษากลับไปเสพยาซ้ำ ผู้ป่วยบางรายเข้าออกสถานบำบัดหลายรอบ  บางราย 40 กว่าครั้งแล้วยังเลิกยาไม่ได้ นักบำบัดก็ท้อ ซ้ำร้ายบางคนโทษตนเอง  คิดว่าตนเองล้มเหลวรักษาไม่ได้  จริงๆแล้วมีหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยยังใช้ยาแต่หากเราเข้าใจ เชื่อมั่น ศรัทธา เราก็จะไม่ท้อใจและพยายามต่อได้โดยเชื่อมั้นว่าซักวันจะสำเร็จ ...

หมายเลขบันทึก: 331073เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2010 06:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท