สะสมทุนชีวิต…..ตอนที่ ๒


หลังจากเดินเที่ยวสวน “อนงค์  อินแสง” และพักกินอาหารกลางวันที่แสนอร่อยกับเมนูอาหารพื้นบ้าน อนงค์กัชักชวนพี่น้องปั่นจักรยานไปดูสวนมะม่วงของ “น้องเก่ง ทนงศักดิ์  ธรรมะ” เป็นสวนมะม่วงล้วนๆ

เป็นสวนอีกรูปแบบหนึ่งที่ต้องพึ่งพิงการสร้างรายได้เพื่อมาสร้างเนื้อสร้างตัว และสร้างครอบครัว

ผมรู้จัก “เก่ง” เป็นแกนนำเยาวชนฮักเมืองน่าน และเมื่อเรียนจบปริญญาตรี จึงกลับมารับใช้ถิ่นฐานบ้านเกิด เข้ามาเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด มูลนิธิฮักเมืองน่าน ต่อจากน้องชานิตา กินนาธรรม “เก่ง” มีเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่มีสำนึกรักแผ่นดินถิ่นเกิดอยู่เต็มเปี่ยม

จากวัยเยาว์ที่เติบโตมาพร้อมๆ กับการเติบโตของเยาวชนฮักเมืองน่าน  เมื่อเขาเติบโตมาจนมีครอบครัว จึงต้องสร้างหลักปักฐาน สร้างเนื้อสร้างตัว จึงช่วยพ่อแม่ดูแลสวนมะม่วง เรียนรู้วิธีการจัดการกับสวนมะม่วงเพื่อให้มีมะม่วงได้ขาย ได้แบ่งปัน หารายได้มาจุนเจือครอบครัว

ภูมิความรู้จากการลงมือปฏิบัติและการเรียนรู้จากพี่น้องชาวบ้านชาวสวนด้วยกัน มาปรับใช้ในสวนมะม่วง

แม้ดูเหมือนว่า “สวนมะม่วง” จะมีวิธีคิดต่างออกไปจากสวนผสมของอนงค์ ก็ตาม แต่เก่งก็พยายามใช้พื้นที่บางส่วนของผืนดินสวนมะม่วง ปลูกพืช ผัก และไม้ผลอื่นๆ เช่น หน่อไม้ เพื่อเป็นพื้นที่อาหารให้กับครอบครัว

“เก่ง” บอกว่า การสะสมทุนชีวิตหรือการออมนั้นมีหลายรูปแบบ วิธีออมที่คนส่วนใหญ่พูดถึงคือการออมเงินนั่นก็เป็นวิธีหนึ่ง แต่เขาเลือกสะสมทุนชีวิตอีกวิธีหนึ่งคือสะสมไม้ผลไม้เศรษฐกิจ พวกสวนมะม่วง, ยางพารา, สัก ไม้พวกนี้ยิ่งนานยิ่งมีมูลค่า ไม่ต่างจากการออมเงินเลย

ผมมองว่า “การออม” หรือ “สะสมทุนชีวิต” นั้นวิธีการอาจแตกต่างกันไปแล้วแต่สภาพบริบทของแต่ละคน แต่สุดท้ายก็ต้องไปประเมินกันที่ “การอุ้มชูตัวเองได้” นี่เป็นจุดสำคัญ

............................................

หลังเที่ยวชมสวนของเก่งพอประมาณแล้ว เราทั้งหลายก็ปั่นจักรยานต่อไปยังสวน “ป้าพิน” เป็นสวนผสมผสานที่ปลูกทุกอย่างที่กินได้และขายได้ รวมทั้งเลี้ยงไก่ด้วย

ป้าพิน

มะนาว

ส้ม

มะม่วง

ส้มสีทอง

ดอกสะแหล

ป้าพินเล่าเรื่องอย่างมีความสุข

สวนป้าพินมีพืชผักหลายขนาด หลายรุ่น หลายชนิด ตั้งแต่ไม้ล้มลุกไปจนถึงไม้ยืนต้น แต่ละชนิดก็ให้ผลที่แตกต่างไปในแต่ละช่วง ทำให้ป้าพิน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดปี เรียกมีเงินได้เกือบทุกวัน จากขายพืชผักและผลไม้จากสวน

ป้าพินบอกว่าแต่เดิมปลูกข้าวโพด มีรายได้ไม่แน่นอน ใช้สารเคมีมาก แต่เมื่อมาทำเกษตรผสมผสาน ทำให้มีความสุขมาก มีรายได้มั่นคง จึงหันหลังให้กับข้าวโพดอย่างสิ้นเชิง

ป้าพินมีความรู้เชิงปฏิบัติที่สั่งสมมากมาย สามารถเล่าได้ไม่เคอะเขิน เพราะทำมากับมือ เป็นตัวอย่างของเกษตรกรที่แหวกกรอบออกไปจากคนอื่นๆ ที่น่าชื่นชมยิ่งนัก

...............................................

สุดท้ายเราแวะมาดูการเลี้ยงหมูหลุมของเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ที่กำลังศึกษาและเรียนรู้การเลี้ยงหมูหลุม เพื่อนำเอาปุ๋ยคอกมาใช้ในการปรับปรุงดิน และให้เกษตรกรสามารถผสมพันธุ์ขยายหมูไปเลี้ยงกันได้ ลดต้นทุนการซื้อลูกหมู และอาหารหมู

นี่เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการจัดการเกษตรแบบผสมผสาน

..................................................

ผมเห็นตัวอย่างการจัดการผืนดิน ๔ รูปแบบที่แตกต่างกัน แต่เป้าหมายเดียวกันคือ “พึ่งพาตนเองได้ เป็นวิถีการเกษตรที่ไม่รอนายหน้าพ่อค้าคนกลาง ไม่รอกลไกตลาด ไม่รอรัฐ

นี่เป็นภูมิความรู้ของชาวสวนที่น่าชื่นชมยิ่งนัก ได้แต่หวังลึกๆ ว่าจะเห็นเกษตรกรเข้ามาเรียนรู้และนำไปปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตของตนเองไปสู่การผลิตที่ช่วยสะสมทุนชีวิตของตนเองและที่สำคัญได้ช่วยสะสมทุนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่นานเท่านาน

....................................................

ขอบคุณน้องเก่งและครอบครัว

ขอบคุณป้าพิน

ขอบคุณคุณสำรวย ผัดผล และทีมงานศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้

ขอบคุณกัลยาณมิตรฮักเมืองน่านทุกคน

หมายเลขบันทึก: 330945เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2010 16:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การเคลื่อนไหวของเหล่าชาวฮักเมืองน่าน ดุจลมพัดให้เฆมหมอก จางหาย หนทางข้างหน้าอีกยาวไกล สู้ต่อไปพี่น้อง

ด้วยสติคารวะ

ในโลกแห่งชีวิต

มีการเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง

เราเห็นภาพเรือนไม้ไหวไปตามทิศ ลู่ตามสายลม แต่เราไม่เห็นลม

เราเห็นคลื่นในน้ำ ในทะเล ลู่ตามทิศทางลม แต่เราไม่เห็นลม

ใต้พื้นดิน ใต้พื้นน้ำ ที่เรามองไม่เห็น ยังคงเคลื่อนไหว

สังคมไทย สังคมโลก ยังคงเคลื่อนไหว

น่าสนใจว่า ลู่ตามกระแสอะไร สอดประสานกับโลกแห่งชีวิตหรือไม่

เฉดสี ที่ปรากฎเป็นเสี้ยวส่วนของทั้งหมดหรือไม่

การเคลื่อนไหวจะคงทน ยืนยาว สู่รุ่น ต่อรุ่น

สกุลเงินดอลล่าร์ และกระแสวัตถุนิยมถูกตั้งคำถามมากขึ้น ถึงขนาดเป็นจำเลยของสังคมมากขึ้นเมื่อนักการเงินขี้ฉ้อ

ตะวันตก และกระแสวัฒนธรรมสมัยใหม่ ถูกตั้งคำถามมากขึ้น ถึงขนาดถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุการทำลายวัฒนธรรมเดิม

เกษตรอุตสาหกรรมที่อุดมด้วยเคมี ถูกตั้งคำถามมากขึ้น ถึงผลกระทบต่อสุขภาพ ต่อสิ่งแวดล้อม และการสูญพันธุ์ของพืช/สัตว์

สื่อ เทคโนโลยี ถูกหยิบยกว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อกระแส ว่าจะกระเพื่อมไปทางไหน

จีน เริ่มผงาดจากยักษ์ขี้โรค หรือยักษ์หลับมาครองเศรษฐกิจ เริ่มสร้างและเปลี่ยนกระแสการนำจาก โลกตะวันตกมาเป็นตะวันออก

คณะช่างฟ้อน คณะซอล่องน่าน คณะศิลปะวัฒนธรรมประจำเผ่า ประจำบ้าน เริ่มสร้างขึ้น ผลิตซ้ำวัฒนธรรมดั้งเดิมฟื้นฟูขึ้นใหม่

ผู้บริโภคเรียกหาอาหารที่ปลอดภัย มีผลดีต่สุขภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ขูดรีดแรงงาน

ผู้บริโภคเรียกร้องโรงงาน และการประกอบการที่เป็นสีเขีบว

เกษตรกรรมเชิงเดี่ยวถูกท้าทาย จากวิธีการที่ประณีต ผสมผสานที่หลากหลาย

บทเรียนเล็ก ๆ เก่ง อนงค์ และคณะ ที่บอกเล่าโดยพ่อน้องซอมพอวันนี้

จุดประกายฝัน ถึงการรับมือกระแสการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ พร้อมกับการสร้างกระแสใหม่ที่จัดตั้งตนเองด้วยคนท้องถิ่น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท