กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลสิรินธรจังหวัดขอนแก่น
กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลสิรินธรจังหวัดขอนแก่น โรงพยาบาลสิรินธรจังหวัดขอนแก่น

เชื้อโรค MRSA


MRSA
เชื้อโรค MRSA ‘แบคทีเรียดื้อยาก่อฝีหนอง

 ภญ. รัตติกาล แสนเย็น

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศ.นพ.พิเศษพงศ์ ปัทมะสุคนธ์ กุมารแพทย์สาขาโรคติดเชื้อ จากมหาวิทยาลัยเนวาดา สหรัฐ ได้มาบรรยายในหัวข้อ “เชื้อโรค MRSA ประเด็นร้อนในอเมริกา” ให้นักศึกษาแพทย์ และอาจารย์หลายท่านที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล รับฟัง
 
ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับ ศ.นพ. พิเศษพงศ์ และอาจารย์แพทย์หลายท่าน เห็นว่าข้อมูลน่าสนใจ จึงนำมาถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้รับทราบ
 
ศ.นพ.พิเศษพงศ์ อธิบายว่า เอ็มอาร์ เอสเอ (Methicilin Resistant Staphylococ-cus Aureus) เป็นเชื้อแบคทีเรียดื้อยาเมทิซิ  ลินที่พบมากในโรงพยาบาล เชื้อที่ก่อโรค คือ เชื้อแบคทีเรียสเตปฟิโลคอกคัส แอเรียส ซึ่งทำให้เกิดฝีหนองตามร่างกาย หากเข้าสู่กระแสเลือดไปสู่อวัยวะต่าง ๆ ก็จะทำให้เกิดฝีหนอง ตามอวัยวะที่เชื้อโรคเข้าไป สหรัฐพบผู้ป่วยจำนวนมาก ล่าสุดเชื้อชนิดใหม่ที่พบ เป็น  เชื้อดื้อยาที่มาจากชุมชนที่อาศัยอยู่กันเป็น กลุ่ม เรียกว่า CAMRSA (Community acquired Methicilin Resistant Sta-phylococcus Aureus) มีการสันนิษฐานว่า สาเหตุอาจมาจากการกินยาไม่ครบ หรือการให้ยาพร่ำเพรื่อ แต่ก็ยังไม่มีการพิสูจน์ชัดเจน
 
เชื้อแบคทีเรียดื้อยาชนิดนี้จะอยู่ที่จมูกและก้น บางคนเชื้อไม่ได้ไปที่ผิวหนัง แต่เข้าไปในกระแสเลือดเลยทำให้วินิจฉัยได้ยาก เพราะคนที่มีเชื้ออาจไม่มีอาการ ร่างกายไม่เป็นอะไร หรือบางคนร่างกายเป็นฝีหนองเป็น ๆ หาย ๆ ก็ไม่สนใจ แต่เมื่อใดก็ตามที่เชื้อเข้าไปสู่อวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ กล้ามเนื้อ ปอด จะปรากฏอาการ คนไข้ต้องมาโรงพยาบาลแน่ ๆ เพราะทนไม่ไหว โอกาสที่จะพิการ หรือเสียชีวิตก็ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ติดเชื้อ อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาอาจจะมีคนที่ติดเชื้อนี้และเสียชีวิต แต่แพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยได้ เพราะไม่มีแผลฝีหนองตามผิวหนัง เช่น คนไข้ที่เป็นโรคปอดบวมเสียชีวิต หรือ มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ดังนั้นหากไม่มีการตรวจอย่างละเอียดอาจไม่พบเชื้อ
 
ศ.นพ.พิเศษพงศ์ อธิบายว่า กลุ่มเสี่ยงที่อาจติดเชื้อชนิดใหม่จะอาศัยอยู่ในชุมชนเป็นกลุ่ม เช่น นักโทษในคุก นักกีฬา หรืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อคน เช่น แพทย์ พยาบาลก็ติดได้ ดังนั้นการป้องกันที่ดี แพทย์ พยาบาล ควรใส่ถุงมือ และล้างมือให้สะอาด เวลาสัมผัสกับผู้ป่วยหลาย ๆ คน ส่วนประชาชนทั่วไปควรล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ ถ้าร่างกายมีบาดแผล เป็นฝีหนอง หรือมีการติดเชื้อบริเวณผิวหนังหลายวันไม่หายควรไปพบแพทย์
 
ด้าน ผศ.นพ.ชาญวิทย์ ตรีพุทธรัตน์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า เอ็มอาร์เอสเอ เป็นเชื้อที่ดื้อต่อยาเมทิซิลิน ยาชนิดนี้ในอดีตใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อที่ผิวหนัง แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว เพราะมีการใช้ยาตัวใหม่แทนซึ่งออกฤทธิ์ดีกว่า แต่พอเจอเชื้อดื้อเกิดขึ้นอีกในปัจจุบันก็ยังใช้ชื่อเอ็มอาร์เอสเออยู่ แม้จะไม่ได้ใช้เมทิซิลินแล้วก็ตาม
  
สำหรับแบคทีเรียสเตปฟิโลคอกคัส แอเรียส ที่เป็นต้นเหตุของฝีหนอง มีอยู่ทั่วไป และมีหลายสายพันธุ์ส่วนใหญ่มักจะไม่ดื้อยา แต่การใช้ยาปฏิชีวนะต้านจุลชีพมาก ๆ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อดื้อยาที่มาจากชุมชน โดยเชื้อโรคจะแบ่งตัวและอยู่บริเวณจมูก และผิวหนัง เมื่อมีบาดแผล เชื้อจะเข้าไป ดังนั้นถ้าคนไข้มีฝีหนองบวมแดงตามผิวหนัง 2-3 วันไม่หาย อาการลุกลามมีฝีใหญ่ขึ้น ควรไปพบแพทย์
  
ผู้ป่วยรายแรกของประเทศไทยติดเชื้อดื้อยาที่มาจากชุมชน เป็นชายอายุ 33 ปี เป็นฝีหนองบริเวณเท้า เดิมเป็นคนไข้ในโรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่ง ทางโรงพยาบาลเพาะเชื้อไม่ได้จึงส่งผู้ป่วยมารักษาที่โรงพยาบาลตากสิน เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลตากสินได้เก็บตัวอย่างส่งมาตรวจที่โรงพยาบาลศิริราช พบว่าเป็นสายพันธุ์ดื้อยาที่มาจากชุมชน คล้าย ๆ กับ ยูเอสเอ 300 ของสหรัฐแต่ตรวจสอบลักษณะทางพันธุกรรมแล้วเป็นคนละสายพันธุ์กัน ความรุนแรงในการก่อโรคน้อยกว่า แต่ดื้อยาเหมือนกัน ถือว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ตอนนี้ยังไม่มีการตั้งชื่อ แต่เรียกว่า ซีเอเอ็มอาร์เอสเอ ซึ่งเป็นชื่อลอย ๆ หมายถึงเชื้อดื้อยาที่มาจากชุมชน กลุ่มเสี่ยง คือกลุ่มคนที่อยู่กันเป็นกลุ่ม เช่น นักโทษ สถานเลี้ยงดูเด็ก หรือสถานสงเคราะห์คนชรา
  
ด้าน รศ.นพ.นิรันดร์ วรรณประภา สาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ในอดีตการติดเชื้อดื้อยาพบมากในโรงพยาบาลทั้งนี้เป็นเพราะผู้ป่วยด้วยโรคต่าง ๆ มานอนโรงพยาบาล บางคนเป็นแผลกดทับ แทงเข็มให้น้ำเกลือ เชื้อโรคก็อาจเข้าไปตามรอยแผล การให้ยาพื้นฐานเชื้อที่ไวต่อยาก็จะตายหมด เชื้อที่ไม่ตายก็ปรับตัวให้มีชีวิตอยู่ ก็กลายเป็นเชื้อดื้อยาและเพิ่มจำนวนก่อโรค ดังนั้นเมื่อพบว่าผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาก็ต้องเปลี่ยนไปให้ยารักษาชนิดใหม่ที่แรงขึ้น โดยจะต้องเจาะฝีหนองออกก่อน ถ้าเป็นฝีหนองอวัยวะภายในเจาะไม่ได้ ก็ต้องผ่าตัด.

 


เดลินิวส์
ชีวิตและสุขภาพ
26 พฤศจิกายน 2549
คำสำคัญ (Tags): #mrsa
หมายเลขบันทึก: 329917เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2010 22:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 08:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท