ความปลอดภัยทางรังสี (ฉบับชาวบ้าน)


เอกซเรย์ปอดอันตรายไหม ถ้าไม่อันตรายทำไมเขาว่าไม่ควรเอกซเรย์บ่อย

ทุกวันนี้เราคงไม่ปฏิเสธว่ามีโอกาสเกี่ยวข้องกับรังสีที่นอกเหนือจากรังสีตามธรรมชาติบ้างไม่มากก็น้อย ยกตัวอย่างเช่นเราเกิดพลัดตกหกล้ม ไปโรงพยาบาลก็ต้องถูกสั่งให้เอกซเรย์ดูว่ามีกระดูกหักที่ไหนบ้าง เรื่องความปลอดภัยทางรังสีจึงเป็นเรื่องที่น่าเอามาพูดคุยกันบ้าง โดยเฉพาะชาวบ้านไทย มักจะมีนิสัยดีแบบไทย ๆ คือบางทีสงสัย บางทีกลัว แต่ก็เกรงใจ ไม่กล้าซัก ไม่กล้าถาม จึงขอรวบรวมคำถามยอดฮิตที่มักได้รับเสมอเวลาไปจัดฝึกอบรมหรือสัมมนา มาจัดทำในรูปแบบถาม- ตอบ ก็ขอให้ผู้รู้ช่วยกันแสดงความเห็น หรือจะช่วยกันเพิ่มเติมก็ได้ค่ะ

 

ถาม  เอกซเรย์ปอดอันตรายไหม ถ้าไม่อันตรายทำไมเขาว่าไม่ควรเอกซเรย์บ่อย

ตอบ การเอกซเรย์ปอดแต่ละครั้งได้รับรังสีประมาณ 0.0002 ซีเวิร์ต ส่วนปริมาณรังสีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเม็ดเลือดต้องมีปริมาณสูงถึง 0.5 ซีเวิร์ต หรือเป็นปริมาณ 2500 เท่าดังนั้นการเอกซเรย์ปอดได้รับรังสีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ มาตรฐานการป้องกันอันตรายจากรังสี กำหนดไว้ว่าไม่ให้มีการได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น ไม่ว่าจะปริมาณเล็กน้อยเท่าใด จึงทำให้การเอกซเรย์ทางการแพทย์ต้องมีการควบคุมคุณภาพอย่างดี ไม่ให้ต้องมีการเอกซเรย์ซ้ำบ่อย ๆ และไม่ควรเอกซเรย์โดยไม่มีความจำเป็น เช่นการตรวจร่างกายที่มีการเอกซเรย์เพียงปีละครั้งก็พอ

 

ถาม เวลาเอกซเรย์ให้ญาติเราบางครั้งใช้ที่จับฟิล์มไม่ได้ ทำไมเจ้าหน้าที่ขอให้เราเป็นผู้เข้าไปจับฟิล์มให้ เจ้าหน้าที่ก็กลัวรังสีใช่ไหมเลยใช้ให้เราทำ

ตอบ เป็นหลักการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะเจ้าหน้าที่ประจำห้องเอกซเรย์อาจต้องได้รับรังสีจากการปฏิบัติงานบ้าง และมีข้อกำหนดตามกฎหมายอยู่ว่าปริมาณรังสีที่กำหนดเป็นขีดจำกัดสำหรับผู้ปฏิบัติงานทางรังสีคือ 0.02 ซีเวิร์ตต่อปี ส่วนการให้ญาติผู้ป่วยเป็นผู้จับฟิล์มไว้ให้นั้น ญาติผู้ป่วยแต่ละคนจะได้รับรังสีจากการสะท้อนรังสีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะลำรังสีจะถูกบีบไว้ให้โดนเฉพาะส่วนที่ต้องการถ่ายภาพเท่านั้น และญาติผู้ป่วยแต่ละคนก็ไม่ต้องได้รับเป็นประจำเหมือนเช่นเจ้าหน้าที่

 

แถมอีกเรื่องที่เพิ่งเกิดที่สนามบินสุวรรณภูมิซึ่งผู้สนใจอาจเข้าไปดูรายละเอียดที่ http://www.oaep.go.th/everything/report_251252.pdf เหตุเกิดเพราะหีบห่อที่บรรจุวัสดุกัมมันตรังสีอิริเดียม-192 เกิดชำรุดเล็กน้อย เมื่อเจ้าหน้าที่ของบริษัทใช้เครื่องมือตรวจวัดรังสีตรวจดู ก็พบว่ามีปริมาณรังสีระดับหนึ่ง จึงเข้าใจว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับหีบห่อที่บรรจุ ทำให้รังสีแผ่ออกมาได้ เมื่อเจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเข้าไปตรวจสอบ จึงแถลงว่าปริมาณรังสีที่ตรวจวัดได้นั้น เป็นปริมาณรังสีปกติที่อนุญาตให้ขนส่งได้ เมื่อบรรจุหีบห่อแล้ว มีค่า TI ตามที่ปิดฉลากไว้ ซึ่งก็มักเป็นกรณีที่ผู้ปฏิบัติงานที่ไม่เข้าใจว่าการกำบังรังสีแกมมานั้น ไม่สามารถจะทำให้เป็นศูนย์ได้ จึงต้องมีมาตรฐานกำหนดว่ากำบังรังสีลดลงไปเท่าใด ถือว่าสามารถปฏิบัติงานได้ โดยต้องอาศัยปัจจัยอื่นเป็นมาตรการป้องกันต่อไป จึงขอถือโอกาสนี้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย

หมายเลขบันทึก: 329714เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2010 10:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 09:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท