ศรีตรังเบิกบาน
สำนักงาน กศน.จังหวัดตรัง ศรีตรัง

กศน. ตำบล กับการนำเอาภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษาตลอดชีวิต


วิจัยมโนราห์โคกสะบ้า สืบเนื่อง เพื่อการสืบทอดอย่างยั่งยืน

    

 

Axx01

    ในวันเปิด กศน. ตำบลโคกสะบ้า ที่มี สว. วิเชียร คันฉ่อง เป็นประธาน วันนั้นทุกคนที่ไปร่วมงานต่างก็ชื่นชมกับการแสดงมโนราห์ ของคนตำบลโคกสะบ้า ที่ต้องพูดอย่างนี้เพราะมีตั้งแต่รุนเล็ก จนถึงรุ่นใหญ่ที่ออกมาร่ายรำร่วมกัน รวมทั้งผู่ที่มาร่วมเล่นเครื่องดนตรี    และเมื่อคุยกับชาวบ้านที่มาร่วมงาน ก็ทราบว่า คนโคกสะบ้า โดยการนำของ อ. ราตรี หัสชัย ได้นำประวัติเรื่องราวและการสืบค้นเพื่อการสืบทอดผ่านงานวิจัยท้องถิ่น โดยงานวิจัยดังกล่าวนั้นได้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาความเป็นมาของศิลปะพื้น บ้านมโนราห์ ต.โคกสะบ้า อ.นาโยง ซึ่งเป็นชุมชนที่มีคณะมโนราห์พื้นบ้านอยู่เป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 7 คณะด้วยกัน รวมทั้งเพื่อเป็นการศึกษาแนวทางในการสืบทอดภูมิปัญญา และศิลปะมโนราห์ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและการมีส่วนร่วมของชุมชน  ซึ่งบทบาทของ กศน.ตำบลควรได้มีการนำองค์ความรู้ หล่านี้ มารวบรวม  บูรณาการ นำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการจัดการศึกษาตลอดชีวิต

     มโนราห์ ถือว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนภาคใต้ที่มีมาช้านาน มโนราห์ หรือเรียกสั้นๆ ว่า โนรา เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ โดยเฉพาะมีท่ารำที่อ่อนช้อย สวยงาม บทร้องเป็นกลอนสด ผู้ขับร้องต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบ สรรหาคำให้สัมผัสกันได้อย่างฉับไว มีความหมายทั้งบทร้อง ท่ารำและเครื่องแต่งกายเครื่องดนตรีประกอบด้วย กลอง ทับคู่ ฉิ่งโหม่ง ปี่ชวา และกรับ ปัจจุบันพัฒนาเอาเครื่องดนตรีสากลเข้าร่วมด้วย         

              อ.ราตรี หัสชัย ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะวิจัย ได้มองเห็นปัญหาว่าถ้าคนในชุมชนไม่มีการสืบทอด ค้นคว้า ภูมิปัญญาในบ้านตัวเอง  ปัจจุบันนี้จะโอกาสชมมโนราห์ได้น้อยมาก เนื่องจากงานรื่นเริงต่างๆ มีการว่าจ้างคณะมโนราห์น้อยลง แต่หลังจากนี้ จะส่งเสริมศิลปะแขนงนี้อย่างจริงจัง โดยการจัดตั้งศูนย์บ้านโนราโบราณขึ้นเป็นลานวัฒนธรรมที่หมู่ที่ 11 ต.โคกสะบ้า อ.นาโยง จ.ตรัง เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสืบทอดศิลปะพื้นบ้านมโนราห์ เพื่อให้เป็นมรดกพื้นบ้านของถิ่นใต้ต่อไป

     ในปัจจุบันความเจริญทางวัตถุได้เข้ามามีบทบาทต่อความเป็นอยู่ของคนในชุมชนมากขึ้น ทำให้ความนิยมในการชมศิลปะการแสดงพื้นบ้านลดลง โครงการฟื้นฟูศิลปะพื้นบ้านมโนราห์ ตำบลโคกสะบ้า อำเภอเมือง จังหวัดตรัง โดย อ. ราตรี หัสชัย และคณะ เป็นโครงการที่ช่วยค้นหาแนวทางในการสืบทอดภูมิปัญญาและศิลปะมโนราห์ของชุมชนโคกสะบ้า ซึ่งมีหลายแนวทางได้แก่ การสืบค้นความเป็นมาของมโนราห์ในพื้นที่ ซึ่งนำไปสู่การรวบรวมองค์ความรู้เพื่อการสืบทอด การฝึกในคณะมโนราห์ การถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องมโนราห์ผ่านหลักสูตรท้องถิ่น ในโรงเรียนวัดไทรทองพร้อมกับการสนับสนุนให้เด็กนักเรียนที่ผ่านการฝึกได้ไปออกรำในงานต่างๆ หรือการออกโรงในงานต่างๆ การสร้างและพัฒนาโรงมโนราห์กลางให้เป็นศูนย์การเรียนรู้โดยชุมชนและคณะมโนราห์เป็นแกนขับเคลื่อนหลัก พร้อมกับประสานภาคส่วนต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน อาทิ การประสานคณะมโนราห์ให้ไปแสดงตามงานต่างๆ ในระดับจังหวัด นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดสู่เด็กนักเรียนนอกพื้นที่ เริ่มตั้งแต่อายุ 4-5 ปี โดยเปิดให้มีการฝึกร้องฝึกรำมโนราห์กับคณะมโนราห์ ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ ผู้ปกครองและเด็ก ในทุกคืนที่มีการฝึกการแสดง สร้างความครึกครื้นให้กับคณะมโนราห์อีกครั้ง

     ขอชื่นชม อ. ราตรีและทีมงาน ตลอดจนชาวบ้านโคกสะบ้าที่มีความพยามรักษาภูมิปัญญาคนโคกสะบ้า และเชื่อว่า กศน.ตำบล โคกสะบ้าคงนำองค์ความรู้นี้ไปบูรณาการ สืบทอด สืบเนื่องไปสู่นักศึกษา กศน. และประชาชนทั่วไป

หมายเหตุ  สนใจงานวิจัยฉบับเต็ม  "สืบสานศิลปะพื้นบ้านมโนราห์ตำบลโคกสะบ้า อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ( อ.ราตรี  หัสชัย และคณะ )เป็นงานวิจัย ดีเด่น ปี2549 ของ สกว.

หมายเลขบันทึก: 329394เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2010 08:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
นายธีระยุทธ อินตะนัย

ดีมากครับ...เนื้อหาดี....มีประโยชน์ต่อสังคมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท