พระเวสสันดรกับการตอบข้อส่งสัยและมิติทางสังคมและวัฒนธรรม


ไตรภูมิ พระมาลัย และมหาเวสสันดรชาดก ทั้ง ๓ เรื่องนี้สัมพันกันแบบลูกโซ่

พระเวสสันดรกับการตอบข้อส่งสัยและมิติทางสังคมและวัฒนธรรม

                                                                                 นายคุณาวุฒิ  ภูสิลิตร์

                                                      สาขาการสอนภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์

                                                                                มหาวิทยาลัยขอนแก่น

บทนำ

          ในฐานะที่เป็นชาวไทยเมื่อเราศึกษาเรื่องในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะพระชาติสุดท้ายในทศชาติ คือ เรื่องมหาเวสสันดรหรือพระเวสสันดรหลายคนอาจมีข้อสงสัยหลายข้อ เช่น ทำไมพระเวสสันดรจึงใจดี ใจกว้าง ใจถึงนักมอบให้แม้กระทั่งพระโอรส พระธิดาและพระมเหสีเป็นทาน ? พระเวสสันดรทำเช่นนี้ถูกหรือไม่ ? สิทธิของพระโอรสชาลีพละพระธิดากัณหา รวมถึงพระนางมัทรีพระมเหสีควรเป็นของพระเวสสันดรหรือควรจะให้ทั้งสามพระองค์ตัดสินใจเอง? เป็นต้น  ซึ่งคำถามเหล้านี้เป็นคำถามใหญ่เป็นคำถามในภาพรวม แต่ยังมีคำถามปลีกย่อยอีกข้อหนึ่งที่น่าสนใจมาก นั่นคือ ทำไมพระเวสสันดรซึ่งมีบุญญาธิการมากจึงต้องมาประสูติที่กลางตลาด? และเราสามารถตีความหมายใหม่ให้กับชื่อของพระเวสสันดรต่างจากพระไตรปิฎกได้หรือไม่? และเราจะตีความใหม่จะมีประโยชน์อย่างไร

          จากการตั้งคำถามที่เกิดจากการตีความของเรื่องพระเวสสันดรนั้นย่อมตีความได้หลายประเด็นแต่ในบทความนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงการตีความงานวรรณกรรม เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษางานวรรณกรรม เรื่องพระเวสสันดร จากนั้นกล่าวถึงการตีความชื่อของพระเวสสันดร จากนั้นจะมองในมิติทางสังคมและวัฒนธรรม  และแนวคิดทางการเมืองการปกครองในมหาพระเวสสันดรชาดก  จากการศึกษา ดังจะแสดงให้เห็นดังต่อไปนี้

          ๑. การตีความงานวรรณกรรม

          วรรณกรรม เป็นคำที่ใช้ให้ตรงกับภาษาอังกฤษว่า  Literay Work หรือ General  Literature  จากคำดังกล่าวจึงหมายความรวมถึงงานเขียนในรูปบทกวีนิพนธ์ร้อยกรอง และข้อเขียนทั้งหมดที่ใช้ภาษาร้อยแก้ว

          การตีความหรือการวิจารณ์นั้นเป็นการแสดงความคิดเห็นและการอธิบายปฏิกิริยาทางอารมณ์ โดยมีหลักเกณฑ์มาใช้อธิบายอย่างเป็นระบบและอย่างมีเหตุผล โดยต้องอาศัยองค์ประกอบด้านต่างๆมาประกอบเหตุผล และต้องมีความเข้าใจในสังคม วัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในกานวรรณกรรมแต่ละสมัยเพื่อที่ใจมีความเข้าใจในงานวรรณกรรมอย่างลึกซึ้ง

          อรทัย  เพียยุระ ใด้กล่าวถึง สิทธา พินิจภุวดล อธิบายว่า “การวิจารณ์วรรณกรรมคือการตัดสินคุณภาพของข้อเขียนว่าอะไรคือส่วนดีและอะไรคือส่วนเสีย วิธีการวิจารณ์จะต้องอาศัยความซาบซึ้งเป็นวิธีเบื้องต้นและความรู้ความเข้าใจงานวรรณกรรมและทฤษฎีวรรณกรรมเป็นเบื้องปลาย”

          “...สิ่งที่ควรตระหนักเกี่ยวกับการวิจารณ์ ก้คือ ข้อความนั้นเป็นความคิดเห็น ส่วนบุคลที่ซึ่งมีพื้นฐานประกอบประกอบด้วยความจริง ความมีคุณค่า และสิลปะหรือความงามและข้อความวิจารณ์ที่แสดงความคิดเห็นที่รุนแรงไม่ว่าจะเป้นด้านปฏิปักษ์หรือด้านสนันสนุน...”

          จากที่กล่าวนั้นการตีความงานวรรณกรรมต้องมีความเข้าใจสังคมวัฒธรรม และที่สำคัญคือต้องมีความซาบชึ่งในวรรณกรรมอย่างแท้จริง

          ๒ การตีความชื่อของพระเวสสันดร

          ผู้เขียนต้องนำเสนอความเห็นเกี่ยวกับพระนามว่า  เวสสันดร  ในหลายแง่มุมผ่านมุมมองทั้งจากภาษาบาลีและจากภาษาสันสฤต

          ในภาษาสันสกฤตเรื่องของพระเวสสันดรปรากฏในชื่อว่า วิศวันดรหรือ วิศฺวนฺตร-อวทาน มีเนื้อเรื่องหลักเหมือนกับเวสสันดรชาดกที่เป็นภาษาบาลี แต่ลายระเอียดบางส่วนแตกต่างกัน เช่น พระเวสสันดรและพระนางมัทรีไม่มีอารมณ์อ่อนไหวง่ายใม่เหมือนในกาพย์มหาเวสสันดรที่พระเวสสันดรและพระนางมัทรีต่างทรงกรรแสงแลถึงวิสัญญีภาพบ่อยครั้งและที่สำคัญพระนามของพระวิศวันดรมีความหมายต่างจากพระนาม เวสสันดร อย่างชัดเจน  พระนามว่า  วิศฺวนฺตร เป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า  ผู้ข้ามโลก หรือผู้อยู่เหนือโลก หรือผู้ปราบทุกสิ่ง

          ทำไมพระเวสสันดรจึงเกิดกลางตลาด?

          พระนามของพระเวสสันดรมาจากภาษาบาลีว่า  เวสฺสนฺตร โดยทั่วไปมีความหมายว่า “พระผู้ประสูติกลางถนนของพ่อค้าหรือตลาด”   ใน มหาเวสสันดรชาดก ได้พรรณนาถึงสาเหตุที่พระเวสสันตรต้องไปประสูติกลางถนน เพราะพระนางผุสสดีพระราชมารดาซึ่งทรงพระครรภ์พระเวสสันดรครบถ้วนทศมาส มีพระประสงค์จะทอดพระเนตรพระนครพระเจ้าสีวิราชหรือพระเจ้าสญชัยพระราชบิดาของพระเวสสันดร  จึงทรงรับสั่งให้ประดับประดาพระนครให้งดงามดุจเทพนครแล้วทูลเชิญให้พระนางผุสสดีเสด็จทอดพระเนตร แต่เมื่อราชรถมาถึงเหล่ากลางทางของพ่อค้า พระนางทรงเกิดลมกรรมชวาตหรือปวดท้องจะคลอด เหล้าข้าราชบริพารจึงแต่งกั้นผ้าเป็นห้องประสูติกลางถนนของเหล่าพ่อค้านั้นเองด้วยเหตุนี้จึงขนานพระนามว่า  พระเวสสันดร

          นอกจากนี้ยังมีข้องสงสัยว่า หากพระเวสสันดรเป็นผู้มีบุญญาธิการมากเราะเป็นพระชาติสุดท้ายที่ใด้บำเพ็ญบารมีมาจนใกล้จะบริสุทธ์แล้วจริงทำไมพระองค์จึงไม่ประสูติในพระราชวังที่พรั่งพร้อมด้วยแพทย์ประจำพระองค์และอุปกรสำหรับการคลอด

          จากข้อสงสัยข้างต้น ผู้เขียนขออธิบายดังนี้  สถานที่ประสูติหรือเหตุการณ์ในวันประสูติของพระโพธิสัตว์ผู้บำเพ้ญบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าบางครั้งไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบายอย่างสมเหตุสมผลหรืออาจเป็นเรื่องมหัศจรรย์เกินกว่ามนุษย์ธรรมดาทั่วไป อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ตอนประสูติอาจเป็นสาเหตุการขนานนามของพระองค์ได้ดังเช่นพระนามของทศชาติ ๒ พระนาม คือ พระเตมิยกุมารและพระโมหสถกุมาร

          อีกประเด็นที่น่าสงสัยเกี่ยวกับเรื่องชื่อของพระเวสสันดรกับพระวิศวันดร คือ เสสสันดร บอกสาเหตุและที่มาของชื่อได้ชัดเจนว่า  เพราะเกิดกลางถนนเหล่าพ่อค้าหรือกลางตลาด  แต่พระวิศวันตร- อวทาน กลับไม่ได้ให้ความสำคัญและไม่อธิบายความหมายของชื่อพระวิศวันดรเลย  จากประเด็นดังกล่าวผู้เขียนต้องการสื่อให้เห็นความแตกต่างดังกล่าวตรงๆ เพื่อลดข้อขัดแย้งกับความเชื่อกับความศรัทธากับความหมายของชื่อของพระเวสสันดรที่มีอยู่ก่อนหน้านี้

          ๓  มหาเวสสันดรชาดก มีความสัมพันธ์ต่อมิติทางสังคมและวัฒนธรรม

          ถ้าเราจะมองหาความสำคัญของมหาเสสันดรชาดกในมิติต่างๆ  เนื้อหาของเรื้องนี้นั้นครอบคลุมพฤติกรรมของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์เกือบทั้งหมด แม้แนวคิดหลักของเรื่องนี้จะอยู่ที่การบำเพ็ญทานบารมีของพระเวสสันดรก็ตาม  เช่นถ้าใครต้องการจะเกิดพบพระศรีอาริยเมตไตรยพุทธเจ้าในภายภาคหน้า จงฟังเทศน์มหาชาติให้จบภายในวันเดียว ซึ่งความเชื้อนี้ได้ฝังลึกอยู่ในห้วงความคิดของชาวพุทธทั้งหลายมาแต่โบราณกาล สามารถเรียกได้ว่ามีผลกระทบด้านความเชื่อเรื่องบุญกรรมของผู้ฟังเทศน์มหาเวสสันดรชาดกอย่าเห็นชัดเจน 

          มหาเวสสันดรชาดกถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะความเชื้อเรื้องชาตินี้ชาติหน้า หรือเรื่องนรก สวรรค์ของชาวพุทธส่วนมากก็ได้รับจากการฟังเทศน์  ๓  เรื่อง คือ ไตรภูมิ  พระมาลัย  และมหาเวสสันดรชาดก ทั้ง ๓ เรื่องนี้สัมพันกันแบบลูกโซ่  :  ไตรภูมิเท่ากับเป็นตำราจักรภพ ที่กล่าวถึงลักษณะของจักภพนี้, พระมาลัย พระมาลัยเท่ากับเป็นอาจารย์สอนวิชานี้ที่ชี้บอกให้ชาวพุทธรู้ว่า  นรก  สวรรค์เป็นอย่างไร, มหาเวสสันดรชาดกเป็นเสมือนมรรควิธีที่จะนำไปสู่ดินแดนแห่งบรมสุขนั้น โดยพระมาลัยบอกแก่คนในโลกมนุษย์ว่า “ผู้ใดใคร่จะไปเกิดพบศาสนาพระศรีอาริยเมตไตรย  จงฟังเทศมหาเวสสันดรชาดกให้จบภายในวันเดียว”  ความเชื่อนี้ได้มีความสัมพันธ์กันกับสังคมจนทำให้เกิดประเพณีเทศน์มหาชาติขึ้นในประเทศไทยและประเทศลาวที่มีการจัดงานใช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นบุญที่ถูกกำหนดไว้โดยจารีตประเพณี(ฮีต) ส่วนใหญ่จะจัดขึ้นในเดือน  ๔ แต่ก็มีบางแห่งที่ขยายออกไปถึงเดือน ๕ ข้างขึ้น ผู้เขียนเคยได้ยินคำกล่าวเกี่ยวกับฮีต  ๑๒ ใว้ตอนหนึ่งว่า “เดือน ๓  ค้อย เจ้าหัวคอยปั่นเข้าจี่ เดือน ๔ ค้อย  เณรน้อยเทศมัทที” ซึ่งหมายความว่า เดือน ๓ แรม เป็นช่วงทำบุญข้าวจี่ เดือน  ๔  แรมเป็นช่วงทำบุญเทศพระเวสสันดรหรือบุญผะเหวด

          พระเวสสันดรเป็นแบบอย่างทางจริยธรรมต่อสังคม แบบอย่างทางจริยธรรมมีอยู่หลายกรณี นอกจากพระเวสสันดรแล้ว พระนางมัททรีก็ดี พระกุมารทั้งสองก็ดี พระกุมารทั้งสองก็ดี นางอมิตตดาก็ดีล้วนแต่เป็นแบบอย่างที่ดีได้ทั้งนั้น ผิดแต่ระดับต่ำ  กลาง  หรือยอดเยี่ยมเท่านั้น  ผู้เขียนจะกล่าวถึงกรณีของพระเวสสันดร  พระจริยวัตรตลอดพระชนมายุของพระองค์ ไม่เคยประพฤติในสิ่งที่ไม่ดีเลย การทานบารมีของพระองค์นั้นทรงป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบในเรื่องศิลธรรมจริยธรรม

          พระเวสสันดรเป็นแบบอย่างชีวิตครอบครัวที่ดี   ครอบครับถือเป็นสถาบันที่เล็กที่สุดแต่มีมาก่อนสถาบันอื่น และเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในประเทศ

          พระเวสสันดรเป็นแบบอย่างชีวิตครอบครัวที่ดีอย่างไร ? ครอบครัวที่ดีในทางธรรมท่านหมายเอาครอบครัวที่สมาชิกทุกคนสามัคคีกันและดำเนินชีวิตตามธรรมจากที่พระเวสสันดรจะเสด็จไปอยู่ป่า แล้วพระนางมัทรี กับพระราชบุตรทั้งสองประองค์ก็เสด็จตามไปอยู่ในป่าด้วยกัน

          จากการศึกษาจะเห็นได้ชัดว่าครอบครัวพระเวสสันดรนั้นดูจะแปลกไปจากชีวิตในวังสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชมาก โดยราชประเพณีนิยมแล้วพระราชาองค์หนึ่งๆ ย่อมจะมีอัครมเหสี  มเหสี แลพระสนมเป็นจำนวนมากเพื่อเป็นเครื่องบงชี้ถึงบุญบารมีของกษัตริย์ด้วย  พระเวสสันดรแม้จะเป็นพระราชกุมาร ไม่ทรงปฏิบัติอย่างนั้น แต่พระองค์ก็ยังกลัวที่จะแพ้พ่ายแก่กิเลสของตนเอง ถึงกับได้ขอแรงอธิษฐานจากท้าวมหาพรหมมาช่วย หรือที่เรียกว่าขอพร  ๘  ประการ มีประการหนึ่งคือการประพฤติผิดลูกเมียของผู้อื่น ซึ่งพระเวสสันดรได้ขอว่า  “ขออย่าไห้ลุแก่อำนาจสตรี ล่วงเกินภรรยาท่าน ขอให้พอใจเฉพาะฉายาของตนเท่านั้น”   ถ้าจะมองเฉพาะจุดนั่นคือครอบครัวพระเวสสันดรเป็นเกณฑ์สรุปหาหลักธรรมมะก็จะพบว่าสมาชิกทั้ง  ๔  ท่านในครอบครัวนี้  ล้วนแต่มีคุณธรรมที่หาใด้ยากตามข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นมงคลในมงคล  ๓๘  ประการ

          ๔.  แนวคิดทางการเมืองและการปกครองในมหาเวสสันดรชาดก

          แนวความคิดทางปรัชญาทางการเมืองการปกครองที่เป้นแนวทางการปกครองของพระเวสสันดร มองเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดในหลักของการปกครองและประยุกต์หลักธรรมมาเป็นหลักในการปกครองของพระองค์ คือ หลักทศพิธราชะรรม ๑๐  ประการดังนี้

           ๑. ทาน คือการให้ เป็นการมุ่งปกครองเพื่อให้แก่คนอื่นช่วยอนุเคราะห์ประชาราษฎร์ให้ได้รับประโยชน์สุข ข้อนี้เปรียบได้ในพระเวสสันดรตั้งแต่กัณฑ์แรกคือ ทศพร เมื่อพระนางผุสดีขอพรก็ขอการให้และที่เห้นได้ชัดก็เริ่มจากกัณฑ์ที่ ๒  คือกัณฑ์หิมพานต์ เบื้องต้นตั้งแต่ที่พระองค์ประสูติก็ได้ดำริการให้ทานตลอดถึงเมื่อเติบโตเจริญวัยทรงครองราชย์ก็ได้ทรงให้สร้างโรงทานขึ้น  ๖ แห่ง จนถึงการที่พระองค์พระราชทานช้างปัจจัยนาค ในกัณฑ์นี้ก็ยิ่งให้ทานอย่างเห็นได้ชัดเพราะว่ากัณฑ์นี้เป็นการบำเพ็ญทานที่ยิ่งใหญ่ ที่เรียกว่า สัตตสดกมหาทาน คือการให้ทานอย่างยิ่งใหญ่อย่าละ  ๗๐๐  ในกัณฑ์วนประเวศก็ได้ทรงพระราชทานรถม้าและม้าให้แก่พราหมณ์ที่มาขอในระหว่างทางแม้ว่าพระอง๕จะต้องเสด็จโดยไม่มีพาหนะก็ตาม ในกัณฑ์กุมารได้พระราชทานพระโอรสและพระธิดาแก่พราหมณ์ชูชกก็ถือว่าเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่คือการให้บุตรเป็นทาน ในกัณฑ์สักกบรรพได้ให้นางมัทรีซึ่งเป็นพระชายาเป็นทานและสุดท้ายคือกัณฑ์นครก็ได้ทรงบำเพ็ญทานแก่ประชาชนการปกครองของพระองค์นั้นโดยยึดการให้ทานเป็นเบื้องต้น

          ๒.  ศีล คือการสำรวมกายและสำรวมวาจา  ประกอบการสุจริตรักษาเกียรติประพฤติตนเป็นให้เป็นที่นับถือของประชาชน ดำรงด้วยศีลในเบญจศีล ดังเช่นพระเวสสันดรที่พระองค์ทรงปกครองกรุงสีพีโดยคุณธรรม  พระองค์ต้องมีศีลเป็นเบื่องต้นอยู่ก่อนแล้ว  ทั่งหมดทุกกัณฑ์พระเวสสันดรทรงศีลอยู่ตลอดเวลา

          ๓.  ปริจาค คือ การบำเพ็ญกิจด้วยการเสียสละ ข้อนี้หมายถึงการเสียสละบริจากความสุขความสำราญส่วนพระองค์ตลอดจนชีวิตของพระองค์ รวมไปถึงการการสร้างโรงทาน  พระราชทานช้างปัจจัยนาค เป็นต้น

          ๔.  อาชชวะ การปฎิบัติภาระโดยความซื่อตรงในข้อนี้พระเวสสันดรใด้ปกครองบ้านเมืองโดยไม่ได้คิดร้ายต่อประชาชนโดยอุบายอยุติธรรมต่างๆหรือตอนที่พระเจ้าเจตราชทรงยกเมืองให้ปกครองนั่นก็แสดงให้เห็นว่า พระเวสสันดรต้องเป็นผุ้ที่ปกครองบ้านเมืองโดยความซื่อสัตว์สุจริตเสมอมา  แม้พระองค์จะถูกขับไล่ออกจากเมืองก็ยังยอมสละราชสมบัติให้ปกครอง

          ๕.  มัททวะ มีความอ่อนโยน ไม่ถือพระองค์ของพระเวสสันดรเช่นในกัณฑ์กุมาร ตอน ที่ชูชกมาขอชาลีและกัณหาก็ปฎิสันถารอย่างดี

          ๖.  ตบะ ความทรงตบะหรือทรงเดช คือ กษัตริย์ทรงกำจัดความชั่วร้ายออกจากจิต ไม่ไห้กิเลสตัณหาเข้ามาครอบงำจิตใจได้ เช่นกัณฑ์หิมพานต์ตอนที่พระองค์ทรงเสด็จไปแจกทานที่โรงทานมิได้ขาด แม้ถูกไล่ออกจากเมืองก้มิได้ทรงเกียจคร้านอย่างใด หรือการที่พระองค์ใด้ทรงถือบวชอยู่เขาวงกตนั้นเป็นการบำเพ็ญตบะคือการแผดกิเลสอีกประการหนึ่ง

          ๗.  อักโกธะ การไม่ลุอำนาจความโกรธ  นั้นเห็นได้จากการที่พระองค์ถูกประชาชนขับไล่ให้ไปอยู่ที่เขาวงกตก็ตามพระองค์ก็ทรงระงับความโกรธเอาไว้ หรือการที่พระองค์ทรงพระราชทานชาลีและกัณหาให้กับชูชก เมื่อชูชกตีลูกทั้ง ๒ ต่อหน้าก็ทรงระงับความโกรธด้วยขันติธรรม

          ๘.  อวิหิงสา  ความไม่เบียดเบียนผู้อื่น  ที่ปรากฏในเรื่องนั้นพระเวสสันดรทรงปฎิบัติอย่างเคร่งครัดเห็นได้จากทุกกัณฑ์พระองค์เน้นให้ทานไม่ปรารถความเบียดเบียน  หรือการให้ช้างเป็นทานครั้งนั้นจนเกิดความโกลาหลครั้งใหญ่ก้เพราะการมองเหตุการณ์ไปข้างหน้าถึงความไม่เบียดเบียนก็คือการเลี่ยงการทำสงคราม นั้นเอง

          ๙.  ขันติ ความอดทนต่ออำนาจต่างๆ ที่เข้ามาครอบงำ เห็นจากการที่ทรงอดทนที่เห็นนางมัทรีเศร้าโศกเสียใจที่กลับจากหาผลไม้แล้วไม่พบลูกทั้ง ๒ และที่อดทนเป็นที่สุดก้คือการที่พระองค์ถูขับไล่ออกจากเมืองต้องมาบำเพ็ญตบะอยู่เขาวงกต

          ๑๐.  อวิโรธนะ  การปฏิบัติไม่คลาดจากธรรม คือการยึดถือเอาประโยชน์สุข ความดีงามของรัฐและประชาชนเป็นสำคัญ จากที่ปรากฏตอนที่พระองค์พระราชทานช้างปัจจัยนาคไปประชาชนไม่พอใจหาว่าผิดราชประเพณี พระองค์ก็ไม่ทรงขัดขืนยอมรับโทษตามธรรมเนียมประเพณี หรือ เมื่อประชาชนพอใจอยากจะให้กลับไปครองเมืองเหมือนเดิมพระองค์ก็ไม่ทรงขัดขืน ทรงดำริตั้งมั่นในธรรม

          หลักทศพิธราชธรรมทั้ง  ๑๐  ประการ นี้ถือได้ว่าเป็นหลักธรรมของการปกครองของกษัตริย์ ดั่งที่พระเวสสันดรได้ใช้หลักธรรมที่เรียกว่า ทศพิธราชธรรมเป็นหลักในการปกครองและเป็นการปกครองที่ผสมผสานที่เป็นการประยุกต์หลักธรรมในพระพุทธศาสนามาใช้ในการปกครอง

สรุป

          การตีความชื่อของพระเวสสันดรนั้นได้ใดมาจากสถานที่ของการประสูติเองถึงแม้จะมีการตีความหมายของชื่อที่แตกต่างกันที่เป็นภาบาลี หรือภาษาสันสฤตก็ตามแต่นี้เป็นความงอกเงยงดงามทางศรัทธา  ให้สอดคล้องกับความเชื่อของคนไทยที่มีต่อวรรณกรรมชาดกอย่างไม่เสื่อมคลาย

          มหาเวสสันดรชาดกมีความสัมพันธ์ต่อมิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดอย่างเหนียวแน่นและได้เป็นรากฐานแบบอย่างทางสังคม ด้านแบบอย่างทางจริยธรรมต่อสังคม   แบบอย่างชีวิตครอบครัวที่ดี  และแนวคิดทางการเมืองและการปกครอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อ้างอิง

กฤตย์  เชยกีวงศ์.๒๕๔๑.พระเจ้า ๑๐ ชาติมหาเวสสันดรชาดกฺ. กรุงเทพฯ.ฐานปัญญา.

ชุมพล นุนภักดี(พระมหา).การศึกษาวิเคราะห์แนวคิดปรัชญาการเมืองในพระเวสสันดรชาดก.วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

รื่นฤทัย  สัจพันธ์.๒๕๔๔.วรรดีศึกษา.กรุงเทพฯ.ฐานปัญญา.

สมบัติ  มั่งมีสุขศิริ. “หากพระเวสสันดรไม่ได้ประสูติกลางตลาด” ดำรงวิชาการ. ปีที่ ๕ :๑๗๐-๑๘๑:               มกราคม-มิถุนายน  ๒๕๔๙.

สมหมาย เปรม.(จิตต์.๒๕๓๓).มหาเวสสันดรชาดก วิเคราะห์ทางสังคมและวัฒนธรรม. เชียงใหม่ .

โรงพิมพ์มิ่งเมือง.

อรทัย  เพียยุระ.วรรณกรรมวิจารณ์.(ม.ป.ป.).(ม.ป.ป.).(ม.ป.ป.).

 

 

           

 

หมายเลขบันทึก: 329325เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2010 22:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท