หัวหน้างานกับการบริหารคน


เมื่อสุดสัปดาห์ ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องของ Walk Rally กับการพัฒนาทักษะการบังคับบัญชาให้กับลูกค้ารายหนึ่ง ซึ่งเป็นบริษัทที่พยายามที่จะให้ความสำคัญในเรื่องของการบริหารคนมากขึ้น เรื่อยๆ เพราะช่วงที่ก่อตั้งบริษัทนั้น ส่วนใหญ่ก็จะสร้างในเรื่องของการขาย และการผลิต เป็นหลัก จนกระทั่งเริ่มนิ่งแล้ว มีระบบที่ชัดเจนแล้ว ก็เลยมาต่อยอดในเรื่องของการบริหารคน

สิ่งที่ผมสังเกตเห็นในการบรรยายครั้งนี้ ซึ่งก็ยังคงยืนยันสิ่งที่พบเจอมากว่าสิบปีที่บรรยายเรื่องนี้มา ก็คือ บรรดาหัวหน้างานแทบจะทุกบริษัท ไม่เคยคิดว่าเขาต้องมีหน้าที่ในการบริหารคน เขาคิดแต่เพียงว่า บริษัทมีฝ่ายบุคคลก็ให้ฝ่ายบุคคลทำหน้าที่ในการบริหารคนของบริษัทไป เขาก็แค่ทำหน้าที่ควบคุมพนักงานให้ทำงานให้ได้ตามที่บริษัทมอบหมายมาก็พอ แล้ว

สิ่งที่ผมอยากจะถามบรรดาหัวหน้างานทั้งหลาย รวมถึงระดับผู้จัดการ หรือผู้อำนวยการทั้งหลาย ก็คือ “ฝ่ายบุคคลเขารู้จักลูกน้องของเรามากน้อยเพียงใด” คำตอบก็คือ รู้จักแต่ชื่อ และก็รู้แบบผิวเผินมากๆ ดังนั้นคนที่รู้จักลูกน้องของตนเองดีที่สุดก็คือ หัวหน้างานในแต่ละระดับนั่นเอง ซึ่งก็ต้องทำหน้าที่ในการบริหารคนในทีมงานด้วย

ปกติบทบาทหน้าที่ของหัวหน้างานนั้นจะประกอบไปด้วย

  • การบริหารคน การบริหารคนก็คือ เรื่องของการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานในทีมงานของตนเอง การสื่อความ การพูดคุย และการพัฒนาพนักงานของตนให้เก่งขึ้น ซึ่งก็คือ การส่งเสริมทางด้านจิตใจ และสร้างกำลังใจให้กับพนักงานในทีมงานของตนเอง ให้มีความมุ่งมั่น และมีความเต็มใจ พอใจ ที่จะทำงานในทีม
  • การบริหารงาน ก็คือ การกำหนดแผนงาน การควบคุมงานให้เป็นไปตามแผนงาน รวมถึงการปรับปรุงระบบการทำงานเดิมๆ ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปให้ได้

เท่าที่ผมสังเกตมาจากหัวหน้างานตามบริษัทต่างๆ ก็จะมีที่เน้นคนมากไปบ้าง เน้นงานมากไปบ้าง สิ่งที่หัวหน้างานจะต้องสร้างทักษะให้ได้ก็คือ เน้นไปที่คนและงานแบบสมดุลที่สุด บริหารตามสถานการณ์ให้ได้ ช่วงไหนที่ต้องเน้นงานมากหน่อย ก็บริหารงานให้ได้ตามเป้าหมาย ช่วงไหนที่จะต้องใช้บารมี ใช้ความรู้สึก เพื่อซื้อใจพนักงาน ก็ต้องเน้นเรื่องของการบริหารคนให้มากขึ้น

การเป็นหัวหน้างานไม่ใช่เรื่องยากเลย แต่ก็ไม่ง่ายนะครับ การที่จะดูแลพนักงานที่มีร่างการ จิตใจ อารมณ์ และความรู้สึกที่ไม่เหมือนกันในแต่ละคนเลยนั้น เป็นสิ่งที่ท้าทายความเป็นหัวหน้างานมากๆ ดังนั้นนอกจากตัวหัวหน้างานเองที่อยากจะพัฒนาทักษะในจุดนี้แล้ว องค์กรก็ควรจะมีแนวทางในการพัฒนาหัวหน้างานให้เขาเห็นบทบาทและหน้าที่ที่แท้ จริงของการเป็นหัวหน้านะครับ

มิฉะนั้นแล้ว ผลการวิจัยที่ทำมาตลอดทุกปีก็จะยังไม่เปลี่ยนแปลงเสียที ผลการวิจัยที่ยืนยันมาอย่างชัดเจนก็คือ พนักงานที่ลาออกจากองค์กรของเรานั้น จริงๆ แล้วเขาไม่ต้องการลาออกจากองค์กร แต่เขาต้องการที่จะลาออกจากหัวหน้างานที่ไม่ดีต่างหาก

สรุปก็คือ หัวหน้างานกับการบริหารคนนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ และเป็นสิ่งที่หัวหน้างานมักจะมองข้ามเสมอ ฝ่ายบุคคลจึงต้องทำหน้าที่ในการส่งเสริมให้เขาเห็นความสำคัญของการบริหารรคน บริหารทีมงานของเขาเอง แต่ก็อย่าลืมให้คำปรึกษาที่ดีกับบรรดาหัวหน้างานด้วย ในเรื่องของการบริหารคนอย่างมีประสิทธิภาพนะครับ ของแบบนี้มันต้องไปด้วยกันครับ

คำสำคัญ (Tags): #หัวหน้างาน
หมายเลขบันทึก: 328872เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2010 09:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 12:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท