ผชช.ว.ตาก (17): วิทยากร "การนำKMไปประยุกต์ใช้ในงานสาธารณสุข"


การจัดการความรู้เปรียบเหมือนน้ำ ที่สามารถปรับเปลี่ยนไปตามภาชนะที่บรรจุ จึงไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ทำนอง "ไร้รูปแบบ แต่ไม่ไร้หลักการ" ปรับไปตามบริบทของแต่ละองค์การ

       ผมได้รับเชิญจากคณะกรรมการบริหารแผนงานโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุขโดยท่านประธานคือ รศ. ทพ. สัมพันธ์ ศรีสุวรรณ โดยการประสานงานของอาจารย์ ทพ.พิชิต งามวรรณกุล ซึ่งแผนงานนี้อยู่ในความดูแลขององค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (อ.บ.ท.ท.) ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้บริหารของคณะทันตแพทยศาสตร์ 8 สถาบันของประเทศไทย ได้รับงบสนับสนุนจาก สสส. ผมไปร่วมบรรยายเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2553 ตั้งแต่9.00-12.00 น. ที่ห้องกษัตริย์ศึก 1 ชั้น 4 โรงแรมเดอะทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ

          เหตุผลที่มาที่ผมถูกเชิญก็คืออาจารย์หมอสัมพันธ์ ได้ฟังผมร่วมวิพากษ์เกี่ยวกับการจัดการความรู้ในงานที่อาจารย์อรทัย ผู้ประเมินของ สสส.จัดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ก็เลยอยากให้ผมมาพูดให้ทีมงานของโรงเรียนทันตะฯฟัง ในวันนี้อาจารย์หมอสัมพันธ์ได้นั่งฟังด้วยตลอดและอาจารย์หมอวิรัช (รศ. ทพ. วิรัช พัฒนาภรณ์ อดีตคณบดีคณะทันตแพทย์ มช. สองสมัย) เลขาธิการองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย และมีอาจารย์ผู้ใหญ่อีกหลายท่าน นั่งฟังบรรยายจนจบ ทั้งสองท่านนี้เป็นผู้ใหญ่ที่ท่าทางใจดีและน่ารักมาก

          การบรรยายเริ่มช้าไปนิดคือ 9.35 น. เพราะต้องรอผู้เข้าร่วมประชุมบางส่วนที่เดินทางมาเช้า ผมใช้สไลด์บรรยายในหัวข้อที่เคยพูดคือการจัดการความรู้แบบบูรณาการ ซึ่งเป็นแนวคิดKMเชิงประยุกต์อยู่แล้ว เนื้อหาก็เน้นตั้งแต่แนวคิดหลักการง่ายๆที่นำมาใช้ได้จริงของKM และสรุปแก่นKMให้ฟังเป็นเบื้องต้นก่อน

          หลังจากนั้นก็ต่อด้วยการประยุกต์ใช้ในองค์การตามตัวแบบLKASA EGG MODEL ที่มีองค์ประกอบสำคัญ 5 ประการคือการจัดการให้เกิดการเรียนรู้ (Learning management) การจัดการให้เกิดองค์ความรู้ (Knowledge organizing) การจัดการให้เกิดการใช้ความรู้ (Knowledge acting) การจัดการให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge sharing) และการจัดการให้เกิดคลังความรู้ (Knowledge asset) ผมสังเกตว่าแทบไม่มีคนฟังหลับเลย และมีความสนใจดีมาก ผมบรรยายเกินไปถึง 20 นาทีเพราะเริ่มต้นได้ช้ากว่าเวลาที่กำหนด

          หลังบรรยายก็ได้พูดคุยกับผู้ฟังหลายๆท่านเช่นอาจารย์สัมพันธ์ อาจารย์วิรัช อาจารย์พิชิต และอาจารย์ ผศ. ทพญ. ดร. เกษรา ปัทมพันธ์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษาและกิจการพิเศษ มช. ซึ่งนอกจากอาจารย์พิชิต แล้วทั้งสามท่าน รวมทั้งผมด้วย ก็เป็นศิษย์เก่า มช. หรือเป็นลูกช้างเหมือนกัน

          อาจารย์สัมพันธ์ กล่าวขอบคุณวิทยากรและบอกว่า จะขอเชิญผมไปช่วยทำKMของเครือข่ายโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุขอีก ช่วงบ่ายเป็นการบรรยายในหัวข้อ "การเรียนรู้และฝึกปฏิบัติKM" โดย ผศ.ดร. กลางเดือน โพชนา จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แต่ผมไม่ได้อยู่ร่วมฟังเนื่องจากต้องรีบกลับตากและมีภารกิจที่เชียงใหม่ในวันรุ่งขึ้น

หมายเลขบันทึก: 328807เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2010 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 20:14 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท