โดนใจอย่างแรง


กำลังคิดหาหนทางเรื่อง KM ในสำนักงาน ที่จะไม่ให้เราทำกันเพียงแค่เพราะว่ามันเป็นตัวชี้วัด ก็มาเจอข้อเขียนดีดีของดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ขออนุญาต คัดลอกมาไว้ณที่นี้

จากการที่ได้มีโอกาสเห็น “พัฒนาการด้าน KM”  ในหน่วยงานมากมาย ผมได้ลองนำมาจัดแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ คือ

 
กลุ่มที่แรก เป็นพวกที่ยัง “ทำ KM ตามรูปแบบ” ค่อนข้างมาก คือดำเนินไป “ตามกรอบ” ที่กำหนดทุกอย่าง เรียกได้ว่า “ยึดเกณฑ์เป็นใหญ่” โดยไม่สนใจในบริบทของตนเองเท่าใดนัก มีเป้าหมายอยู่ที่การประเมินเท่านั้น ต้อง การจะทำเพื่อให้ได้คะแนนประเมินสูงๆ KM ของหน่วยงานประเภทนี้จะมีรูปแบบที่ค่อนข้างจะ “ตายตัว” เดินไปตามขั้นตอนที่กำหนดทุกอย่าง เช่น มีการตั้งกรรมการ KM (อย่างเป็นทางการ)  มีการวางแผน (ทั้งที่บางทีก็ยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำไปว่าหลักการที่สำคัญของ KM คืออะไร? ทำไปทำไม?) ให้ความสนใจทั้งหมดไปที่ "ตัวชี้วัด (KPI)" ลืมไปว่า KPI นั้นแท้จริงแล้วไม่ต่างอะไรจาก “นิ้วที่ใช้ชี้ไปที่ดวงจันทร์” แต่หน่วยงานที่อยู่ในกลุ่มนี้ กลับเป็นพวกที่ให้ความสำคัญกับ นิ้วที่ใช้ชี้ แทนที่จะให้ความสำคัญกับ ดวงจันทร์  ด้วยเหตุดังกล่าวเราจึงมักจะพบว่า “กิจกรรม” ต่างๆ ที่ทำไปนั้น เป็นเพียงการทำเพื่อให้เป็นไปตามแผนที่เขียนไว้ ทุ่มเทไปกับการพิสูจน์ (ยืนยัน) เพื่อให้ผู้ประเมินได้เห็นว่า “ข้าได้ทำทุกกิจกรรม ไม่ต่ำกว่า 80 % ตามที่ระบุไว้ในแผน” เพราะต้องการจะได้คะแนนสูงๆ เท่านั้น
 กลุ่มที่สอง เป็นพวกที่ไม่ได้จับจ้องอยู่แค่ตรง “นิ้วที่ใช้ชี้” (หรือ KPI) เท่านั้น แต่ได้ให้ความสำคัญกับ “ดวงจันทร์” ด้วยเช่นกัน คือให้ความสนใจในผลงาน (ผลิตภัณฑ์ และการบริการ) ให้ความสนใจที่ Performance (คุณภาพ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล) เป็นพวกที่เข้าใจหลักการแท้จริงของ KM รู้ว่าทำ (กิจกรรม) KM ไปทำไม? กล้าที่จะทำอะไร ที่นอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในแผน เป็นพวกที่รู้อยู่แก่ใจว่า การจัดการความรู้จะสมบูรณ์ได้จะต้องให้ความสำคัญกับความรู้ทั้งที่อยู่ในรูป Explicit และ Tacit ด้วยเหตุนี้คนกลุ่มนี้ืจึงให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่อนข้างมาก มีการจัด Workshop เพื่อฝึกคุณกิจ ให้เห็นประโยชน์ของการแชร์ Tacit สอนให้เปิดใจ สอนให้มีทักษะในการฟัง มีทักษะในการทำ Dialogue มีการจัด Workshop คุณอำนวย (Facilitator) คุณเอื้อ (CKO ระดับต่างๆ) เพื่อสร้างความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของการเป็นคุณเอื้อ/ คุณอำนวย มีการจัดเวที Knowledge Sharing ขึ้นมากมาย เรียกได้ว่าเกิด “กิจกรรม KM” เต็มไปหมด แต่แล้วคำถามที่ผมมักจะได้รับจากพวกที่ทำกิกรรม ทำเวที KM มามากมาย ก็คือ . . . “แล้วผมควรจะทำอะไรต่อ?” ซึ่งคำแนะนำที่ผมให้ ก็คือ . . . “ให้หันมาใช้ KM ในงาน (ในชีวิต) จริงๆ ซะที !” และนี่ก็คือสิ่งที่พวกที่อยู่ในกลุ่มที่สามเขาทำกัน 
 กลุ่มที่สาม เป็นพวกที่ผ่าน(เวที) ผ่านการฝึกทักษะด้านต่างๆ มาบ้างพอสมควร เรียกได้ว่ามีประสบการณ์มาบ้างแล้ว ถึงจะเป็นประสบการณ์ผ่าน Workshop หรือเวทีที่จัดทำขึ้นมาก็ตาม แต่ก็สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจได้ระดับหนึ่ง ทำให้ได้รู้ว่าการเปิดใจนั้นสำคัญเพียงใด รู้ว่าทำไมต้องใช้ Dialogue ในการพูดคุย ถูกฝึกให้ Recognize “Inner Voice” คือได้ยิน “เสียงที่อยู่ในหัวตัวเอง” ได้เรียนรู้เทคนิคต่างๆ นานา อาทิเช่นการทำ AAR หรือที่เรียกเต็มๆ ว่า After Action Review ฟังไปฟังมาท่านอาจสงสัยว่าที่พูดมาก็คือสิ่งที่กลุ่มสองทำ แล้วมันแตกต่างกับกลุ่มที่สามตรงไหน? . . . ต่างกันตรงที่พวกที่อยู่ในกลุ่มสามได้ "ก้าวข้าม" เรื่องการฝึกฝนไปแล้ว คือก้าวไปสู่การนำสิ่งที่ได้ฝึกฝนไปใช้ในงาน (ชีวิต) จริง จนเกิดการเรียนรู้ (อย่างแท้จริง) การเรียนรู้ที่ได้จากการปฏิบัตินี้เป็นสิ่งที่มีพลังยิ่งกว่าการเรียนที่มาจาก Workshop หรือจากเวที (ที่จัดขึ้นมา) ซะอีก . . . เป็นการใช้ทักษะที่ฝึกฝนมาในการทำงาน เป็น KM ที่ “เนียนอยู่ในเนื้องาน” เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน เป็น KM ที่สร้าง “พละ” หรือ “พลัง” ให้กับการทำงาน ให้กับชีวิต ไม่ใช่ KM ที่สร้าง “ภาระ” หรือทำให้รู้สึก “พะรุงพะรัง” อย่างที่หลายคนรู้สึก ผมว่าพวกที่อยู่ในกลุ่มนี้ ในที่สุดแล้วจะไม่ติดอยู่กับคำว่า KM . . ไม่ติดอยู่กับเรื่องตัวชี้วัด (KPI) . . ไม่ติดอยู่กับ “นิ้วที่ใช้ชี้ดวงจันทร์"

     การที่จะเป็นเช่นนั้นได้ ผมเชื่อว่า "ภาวะผู้นำ" เป็นส่วนที่สำคัญมากทีเดียวครับ

        ขอให้ทุกท่านโชคดี มีควาสุขกับเรื่อง KM นี้ และกระจ่าง “สว่างดั่งดวงจันทร์” นะครับ
 
  แล้วตอนนี้เราอยู่กลุ่มไหนกันเอ่ย  ยังไงก็ดีที่ยังมีกลุ่มนะจ๊ะ เราเริ่มกันที่กลุ่มหนึ่งกันก่อน แต่เราก็ยังหวังให้เราพัฒนาไปเรื่อยๆ จนถึงกลุ่มสาม ขอบพระคุณ ดร.ประพนธ์ อีกครั้งค่ะ
คำสำคัญ (Tags): #จัดการความรู้
หมายเลขบันทึก: 328327เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2010 16:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณคะ

ได้ความรู้เพิ่มขึ้น อีก 1อย่าง สำหรับวันนนี้

สุดท้าย การจัดการความรุ้ ให้ประโยชน์ต่อคนทำ และเป็นการพัฒนาตนเอง

ถ้าทุกคนพัฒนาตนเองดี สภาพแวดล้อมก็ดี องค์กรก็ดี ใช่ไหมคะ

  • จ๊ะ อยากให้เป็นอย่างกลุ่มที่สองและกลุ่มที่สาม
  • ที่สำคัญต้องเริ่มหันหน้ามาคุยกันก่อน
  • การบังคับทำ Cop ก็ทำให้อย่างน้อยคนในกลุ่มงานก็ได้มาคุยกันเรื่องงาน เรื่องปัญหา แบบสบายๆ ช่วยกันแก้ไข แล้วนำความรู้ที่ได้มาพัฒนางานต่อไป 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท