แพทย์แผนไทยประยุกต์(แพทย์อายุรเวท) 2


แพทย์แผนไทยประยุกต์(แพทย์อายุรเวท) 2

แพทย์อายุรเวทคืออะไร  (ต่อ)
โดย ศ. นพ. อวย เกตุสิงห์


หลักการของการศึกษาในอายุรเวทวิทยาลั
(๑) นักศึกษา ต้องสำเร็จ ม.๖ (ม.ศ.๕) เพื่อให้สามารถเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์เข้าใจ และเมื่อสำเร็จแล้ว อาจไปศึกษาต่อในวิชาอื่น ๆ ได้ (เช่น วิชาแพทย์แผนปัจจุบันหรือวิทยาศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์) เพื่อช่วยส่งเสริมความสามารถของตัวให้สูงขึ้น
(๒) การเรียน ใช้เวลา ๓ ปี โดยเรียน “แบบปิด” (เรียนทุกวัน) และมีการปฏิบัติวิทยาศาสตร์และการปฏิบัติกับผู้ป่วยด้วย
(๓) วิชาที่เรียน
(๓.๑) วิชาแพทย์แผนโบราณทั้งหมด ดังที่เรียนกันในสถาบันต่าง ๆ
(๓.๒) วิทยาศาสตร์การแพทย์ คล้ายกับที่นักศึกษาแพทย์ (แผนปัจจุบัน) เรียน แต่ระดับต่ำกว่า (เท่า ๆ พยาบาล)
(๓.๓) วิชาคลินิกแผนปัจจุบัน อย่างย่นย่อ พอใช้เปรียบเทียบกันได้ เพ่งเล็งการวินิจฉัยโรคเป็นใหญ่
(๓.๔) วิชาประกอบ มีปฐมพยาบาล เคหพยาบาล สาธารณสุขทั่วไป จิตวิทยา ภาษาอังกฤษ กฎหมาย ศีลธรรมจรรยา พุทธศาสนา ฯลฯ
(๔) การสอน มีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ
(๕) อาจารย์
(๕.๑) แผนโบราณ – สอนโดยแพทย์แผนโบราณ
(๕.๒) วิทยาศาสตร์การแพทย์และวิชาแพทย์คลินิก – สอนโดยอาจารย์อาสาสมัครจากคณะแพทยศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยบาง แห่ง
(๕.๓) วิชาประกอบ – สอนโดยผู้เชี่ยวชาญ (พุทธศาสนาสอนโดยพระภิกษุ)
(๖) ขอบเขตของการปฏิบัติงาน – ความสามารถของแพทย์อายุรเวท
๑. ทางยา – สามารถรักษาโรคทางยาโดยทั่วไป โดยใช้ยาสมุนไพรแบบโบราณ ไม่ใช้ยาแผนปัจจุบันและไม่ใช้วิธีฉีดยา
ยกเว้น – โรคติดเชื้อรุนแรง (ซึ่งต้องการยาประเภทปฏิชีวนะ)
– โรคที่จำเป็นที่ต้องรักษาด้วยยาฉีด
๒. ทางผ่าตัด – ทำผ่าตัดเล็กซึ่งไม่ต้องวางยาสลบหรือฉีดยาชา แต่งแผลได้ เย็บแผลได้ ทำแผลสามัญได้
๓. โรคกระดูก – เข้าเฝือกกระดูกหักสามัญได้ รักษาโรคกระดูกและโรคข้อที่ไม่ต้องผ่าตัด
๔. คลอดบุตร – ทำคลอดปกติได้ ดูแลเด็กเกิดใหม่และมารดาหลังคลอด
– สามารถวินิจฉัยครรภ์ผิดปกติ (เพื่อส่งต่อให้แพทย์แผนปัจจุบัน)
๕. นรีเวชกรรม – รักษาโรคเฉพาะสตรีภายนอก โรคระดูผิดปกติ วัยหมดระดู
๖. โรคเด็ก – รักษาโรคเด็กทุกอย่างที่ไม่ต้องผ่าตัด รู้วิธีเลี้ยงทารกและเด็ก
๗. การนวด – รู้วิธีนวดและสามารถประยุกต์ในโรคต่าง ๆ รู้ข้อห้าม
๘. ธรรมชาติบำบัด – รู้จักใช้แสงแดด อากาศ น้ำ อาหาร ฯลฯ ในการรักษาโรค
๙. โรคตา หู คอ จมูก – รู้จักรักษาโดยใช้ยาไทย
๑๐. สามารถวินิจฉัยโรคฉุกเฉินทางอายุรกรรม ศัลยกรรม และสูติกรรม (เช่น โรคนิ่ว กระเพาะทะลุ มดลูกแตก ฯลฯ)


เหตุผลที่ไม่สอนการใช้วิธีฉีดยา
๑. ต้องการให้คงความเป็น “หมอไทย”
๒. ป้องกันไม่ให้กลายเป็นแผนปัจจุบัน
๓. บังคับให้ใช้ยาแบบไทย
๔. ต้องการให้ศึกษาสรรพคุณยาไทยเพิ่มเติมขึ้น เพื่อความก้าวหน้า

การรักษา ทุกอย่างใช้ยาไทยหรือยาสมุนไพรหรือวิธีธรรมชาติ


(๗) ผลกระทบต่อแพทย์แผนปัจจุบันและแผนโบราณ
มี ผู้เข้าใจผิดว่าแพทย์อายุรเวทเป็น “แพทย์แผนปัจจุบันชั้นสอง” ความจริงแพทย์อายุรเวทเป็นแพทย์แผนโบราณชั้นพิเศษ ความรู้ที่เป็นหลักคือ วิชาแพทย์แผนโบราณ แต่มีความรู้ประกอบในทางแผนปัจจุบันและในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์พอสมควร พอจะพูดกันเข้าใจ โดยเฉพาะเขาจะรู้หลักวิทยาศาสตร์พอจะทำการวิจัยง่าย ๆ และเผยแพร่ได้อย่างถูกหลักวิชา แพทย์อายุรเวทจะเป็นผู้ถ่ายเทความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาสมุนไพรรักษาโรคให้ แก่แพทย์แผนปัจจุบันและช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายให้ได้มาก ในการรักษาคนไข้ก็จะแบ่งเบาภาระของแพทย์แผนปัจจุบันโดยการรับรักษาในรายที่ ง่าย ปล่อยให้แพทย์แผนปัจจุบันมีเวลามากขึ้นสำหรับรักษารายที่ยาก ๆ แพทย์อายุรเวทจะเป็น “กำลังเสริม” อย่างดีของแพทย์แผนปัจจุบัน สำหรับแพทย์แผนโบราณแพทย์อายุรเวทจะ “เป็นหูเป็นตา” ให้สำหรับถ่ายทอดวิชาความรู้ใด ๆ ที่จะมีขึ้นในวงการแพทย์ ซึ่งแพทย์แผนโบราณอาจจะนำมาประยุกต์ในการงานของเขา แพทย์อายุรเวทจะมีความรู้พอที่จะทดลองสรรพคุณของสมุนไพรอย่างถูกหลักวิทยา ศาสตร์และเป็นหลักฐาน และถ่ายทอดความรู้ให้แก่แพทย์แผนโบราณ นอกจากนั้น แพทย์อายุรเวทจะเป็นตัวกลางหรือตัวเชื่อมระหว่างแพทย์แผนปัจจุบันกับแพทย์ แผนโบราณให้ทั้งสองพวกสามารถติดต่อกันได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความเป็นปึกแผ่นในวงการแพทย์ของไทย อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน


(๘) บทบาทในการสาธารณสุข
แพทย์ อายุรเวทมีความรู้ในวิชาสุขศาสตร์และวิชาสาธารณสุขพอสมควร อาจช่วยกิจการสาธารณสุขทางอ้อมโดยการตระเตรียมความรู้ของประชาชนทางทฤษฎี และอาจช่วยโดยตรงโดยการทำงานเป็นวิทยากรหรือผู้ควบคุมในกิจการด้านสาธารณสุข มูลฐาน แพทย์อายุรเวทอาจสอนให้ประชาชนรู้จักใช้สมุนไพรช่วยตัวเอง เป็นการตัดรายจ่ายของประเทศในเรื่องยาต่างประเทศ และแบ่งเบาภาระของกระทรวงสาธารณสุข แพทย์อายุรเวทอาจรับหน้าที่เป็นแพทย์ “ระบบที่สอง” ในโรงพยาบาลชุมชนหรือในหมู่บ้านต่าง ๆ ควบคู่ไปกับแพทย์แผนปัจจุบันหรือโดยเอกเทศ ทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีและกว้างขวางขึ้น


(๙) เหตุผลที่ต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.
พ.ร.บ. ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. ๒๔๗๙ บ่งไว้ชัดเจนว่า “แพทย์แผนโบราณ...ไม่มีวิทยาศาสตร์ประกอบ” ข้อกำหนดนี้ทำให้วิชาแพทย์แผนโบราณเป็น “วิชาตาย” ล้าสมัยลงไปทุกวัน ๆ และความรู้ไม่มีหลักที่แน่นอน แพทย์อายุรเวทเท่านั้นจะสามารถแก้ไขให้วิชาแพทย์แผนโบราณกลายเป็น “วิชาที่มีชีวิต” ขึ้นมา และพ้นจากความเสื่อมโทรมได้ แต่แพทย์อายุรเวทต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ จึงต้องดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ. เพื่อรองรับ


(๑๐) ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับแพทย์อายุรเวท
วิชา แพทย์อายุรเวทเป็นของใหม่เอี่ยมสำหรับประเทศไทย มีคนรู้จักอย่างถูกต้องไม่กี่คน ดังนั้นจึงมีความเข้าใจผิดเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความไม่เข้าใจ โดยเฉพาะในหมู่แพทย์แผนปัจจุบันจำนวนหนึ่งเข้าใจว่าแพทย์อายุรเวทเป็น “แพทย์ชั้นสอง” และคัดค้านเพราะไม่ต้องการให้ประชาชนได้รับการรักษาจากผู้ที่รู้ไม่ถึงขั้น แต่ความจริงแพทย์อายุรเวทไม่ใช่แพทย์แผนปัจจุบันแต่เป็นแพทย์แผนโบราณซึ่งมี อยู่มากมายโดยถูกกฎหมาย ตามเหตุผลแพทย์อายุรเวทควรจะรู้ดีกว่าแพทย์แผนโบราณทั่ว ๆ ไป เพราะเรียนอย่างมีหลักและได้รับการฝึกอบรมอย่างถูกแบบ แพทย์พวกนี้ “ทำงานคนละอย่าง” กับแพทย์แผนปัจจุบัน (เปรียบเหมือนช่างไม้กับช่างทาสี) จะเอามาเปรียบเป็นชั้นหนึ่งชั้นสองคงไม่ได้ และก็คงไม่แย่งงานกันด้วย

         ฝ่ายแพทย์แผนโบราณนั้นมีความเข้าใจผิดว่าทางการมีนโยบายที่จะเลิกล้มแพทย์ แผนโบราณแบบเก่าแล้วเอาพวกอายุรเวทแทน ข้อนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะแพทย์แผนโบราณมีอยู่ตั้งสองสามหมื่นคน สักกี่ปีจะผลิตแพทย์อายุรเวทมาแทนได้ ในอีกแง่หนึ่งนั้นแพทย์แผนโบราณควรมีความภาคภูมิใจที่เกิดแพทย์สาขาใหม่ขึ้น มา ซึ่งมีความรู้ดีและอาจทำการรักษาได้ผลดี โดยเป็นแพทย์แผนโบราณเหมือนกัน แพทย์แบบเดิมอาจจะเรียนรู้จากแพทย์พวกใหม่นี้ และนำความรู้ไปปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นได้


            สรุป แพทย์อายุรเวทเป็นแพทย์แผนโบราณแบบใหม่ มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำให้เข้าใจเรื่องร่างกายและไข้เจ็บ และกลไกของยารักษาโรค ตลอดจนช่วยการวินิจฉัยโรคให้เกิดความแม่นยำ ทำให้รักษาโรคถูกต้องและได้ผลดียิ่งขึ้น แพทย์พวกนี้จะเป็น “สื่อกลาง” ระหว่างแพทย์แผนปัจจุบันกับแพทย์แผนโบราณ จะเป็นตัวเสริมกำลังสำหรับแพทย์แผนปัจจุบัน และเป็นตัวนำความรู้มาแจกจ่ายแก่แพทย์แผนโบราณ การที่แพทย์อายุรเวทใช้ยาสมุนไพรจะช่วยประหยัดค่ายาต่างประเทศ ช่วยลดหย่อนความขาดแคลนยาในเวลาสงคราม และช่วยให้เกิด “เสรีภาพด้านการแพทย์” ขึ้นในอนาคต

เอกสารอ้างอิง:

http://www.applythaimed.org/fusion7/articles.php?article_id=5

หมายเลขบันทึก: 328071เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2010 00:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เพิ่งรู้ความเเตกต่างของสองสาขา วันนี้เองน่ะค่ะ ขอบคุณค่ะ

ที่ สอง มีสอนไหมคะ สนใจเรียนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท