โลกร้อนกับสุขภาพ


ภาวะโลกร้อน และผลกระทบต่อสุขภาพ

โลกร้อน

                ขอโทษครับที่ห่างหายไปนาน งานมันรัดตัวมากตอนนี้ เลยไม่มีเวลามา update ช่วงนี้ไปทำอะไรมาหลายอย่าง ปีใหม่มีเวลาทบทวนตัวเองมาก แต่มีเรื่องราวหลากหลายให้คิดและทำ จริงแล้วมีเรื่องตั้งใจจะทำมากหลายแต่ไม่สามารถทำตามที่คิดได้อย่างเต็มที่เท่าไรนัก

                ได้ DVD เรื่อง 2012 มาดู แน่นอน เป็น DVD ที่ไม่ใช่ลิขสิทธิ์ จริงแล้วอยากไปดูโรงหนัง แต่เกรงเรื่องไข้หวัดอยู่เหมือนกัน เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงอย่างมาก ในหนังจับประเด็นโลกร้อน และพายุสุริยะ กับอนุภาคนิวตริโน มา จริงแล้ว เคยดูเรื่อง independent day ซึ่งเป็นประเด็นที่ตรงกว่า พูดถึงกระแสน้ำอุ่น กระแสน้ำเย็น และอิทธิพลต่ออากาศ เมื่อสักครู่มีคนโทรมาสัมภาษณ์เรื่องภาวะโลกร้อนกับการเตรียมการจากสมาคมสิ่งแวดล้อม เลย เกิดคำถามในใจ ว่าจริงแล้ว โลกร้อนขึ้นจะมีผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง โลกร้อนจริงหรือไม่

                ในการตอบปัญหาคงต้องพิสูจน์ปัญหาก่อนว่าอะไรกันแน่ที่เป็นปัญหา บางครั้งเถียงกันตั้งหลายวันแต่ไม่ได้พูดถึงประเด็นปัญหาเลย ไปพูดไพร่ ๆ ไปเรื่องอื่นร้อยแปด ตามที่สติปัญญาและวุฒิภาวะจะพาไป อ่านหนังสือหลายเล่ม ก็คิดว่าคงมีภาวะโลกร้อนแน่ มีทั้งหลักฐานเชิงประจักษ์ และหลักฐานด้านสถิตติข้อมูลมากมาย ตกลงว่ามีภาวะโลกร้อนแน่นอน ภาวะโลกร้อนจะมีผลต่อสุขภาพหรือไม่ อันนี้เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ก่อนอื่นมาดูผลของโลกร้อนต่อสิ่งแวดล้อมก่อน

                1. อากาศเปลี่ยน ฤดูกาลเปลี่ยน สำหรับประเทศไทย คงไม่ต้องพูดถึงเพราะมีแต่ร้อนกับร้อนมาก และร้อนที่สุด ความร้อน จะชักจูงพายุเข้ามา เนื่องจากมีความร้อนสูงอากาศจะลอยตัวขึ้น มีการใหลของอากาศที่ร้อนในทะเลเข้ามา พร้อมกับพายุ น่าจะมีพายุที่รุนแรงเข้าประเทศไทยบ้างในปีนี้หรือปีหน้า สิ่งที่เป็นผลต่อสุขภาพคงเป็นเรื่องน้ำท่วม โรคระบาดที่มากับน้ำเช่น อหิวาต์ ตาแดง โรคทางเดินอาหารต่างๆ มีเรื่องผลทางฟิสิกส์ต่อสุขภาพ จากน้ำท่วม เช่นการไม่มีที่อยู่ อาชญากร การย้ายถิ่นฐาน การที่คนต้องไปอยู่ในที่แออัด ควรสำรวจความสามารถในการรับผู้ป่วยต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดในแนวอ่าวไทย ซึ่งเคยเกิดพายุรุนแรงมากแล้ว เช่นกรณีแหลมตลุมพุก แต่พอห่างเข้าก็จะทำให้การเตรียมการย่อหย่อนลง ในต่างประเทศมีพายุหิมะรุนแรงมาก หรือมีคลื่นความร้อน ซึ่งต่างก็คร่าชีวิตคนไปมาก โดยเฉพาะคนชรา ในประเทศไทย คลื่นความร้อนก็มีผลเช่นกัน นอกจากคนชรา เด็ก ก็ยังมีคนทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งในอุตสาหกรรมบางอย่างมีความร้อนสูงเป็นทุนอยู่แล้ว เช่นอุตสาหกรรมเหล็ก หรือการทำแบตเตอรี่ ความร้อนทำให้คนทำงานเสียเหงื่อมาก หายใจบ่อยครั้งขึ้นเพื่อระบายความร้อน ทำให้สารเคมีถูกหายใจเข้าไปมากขึ้น สารเคมีจะปนเปื้อนกับเหงื่อบนผิวหนัง ทำให้มีปริมาณสารเคมีคงค้างอยู่มาก และทำให้เกิดการปนเปื้อนทางอื่น เช่นการกิน สารเคมีเข้าไป โดยใช้มือที่ปนเปื้อนจับอาหาร หรือสูบบุหรี่ นอกจากนี้ความร้อนยังทำให้อ่อนแรง เป็นตะคริว หรือเป็นลมแดด คือ การช็อคจากการเสียน้ำนั่นเอง คนที่ไวต่อภาวะนี้คือคนอ้วน คนที่เป็นโรคบางอย่างที่รบกวนต่อระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งควบคุมการสูบฉีดของเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูงที่กินยาลดความดันบางอย่าง โรคเบาหวาน คนที่กินยา amphetamine ซึ่งทำให้การสูบฉีดเลือดมากขึ้น มีการทำงานของหัวใจหนักขึ้น ความร้อนยังทำให้คนอยู่ในอาคารและใช้เครื่องปรับอากาศมากขึ้น ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่เป็นวงจรทำให้โลกร้อนขึ้น นอกจากนี้ยังมีโรคของมลภาวะในอาคาร โรคติดต่อซึ่งติดต่อได้ง่ายขึ้น

ในเมืองไทยอาจมีหิมะตก ซึ่งถ้าเช่นนั้นก็เป็นเรื่องใหม่ ความเย็นมากทำให้เส้นเลือดส่วนปลายหดตัวเนื่องจากจะต้องรักษาความร้อนไว้ในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะชาใบหู นิ้ว ถ้าเป็นมากก็เกิดเนื้อตาย ทำให้ใบหูหลุด มีเนื้อตายที่ขา ที่เรียกว่า trench foot หรือมี frostbite ซึ่งเราไม่คุ้นเคย นอกจากนี้ความเย็นยังมีผลต่อร่างกายของคนที่มีความไว เช่น การควบคุมเส้นเลือดไม่ดี หรือถ้ามีการหดตัวของเส้นเลือดส่วนปลายมากก็จะไป load ปริมาณเลือดที่ปอด ในคนที่เป็นโรคหัวใจ หรือความดันโลหิตสูง ต้องระวังตัว นอกจากนี้ความเย็นยังทำให้เป็นหวัด มีปอดอักเสบในผู้สูงอายุ ซึ่งจะต้องระวัง ความเย็นยังทำให้ต้องอยู่ในอาคาร จึงควรระวังเรื่องโรคติดต่อต่างๆ และมลภาวะในอาคาร ในต่างประเทศมีการใช้เครื่องทำความร้อน ซึ่ง ถ้าเสียก็จะปล่อยคาร์บอนมอนออกไซด์ออกมาเป็นพิษต่อผู้พักอาคัยด้วย

2. ภัยธรรมชาติ ที่น่ากลัวคือแผ่นดินใหว ซึ่งในประเทศไทย ก็มีแนวพาดอยู่ การใหวครั้งใหญ่ในหมู่เกาะสุมาตรา ทำให้แนว fault ต่างๆเปลี่ยนไป เราคงต้องมีการเตรียมการเรื่องแผ่นดินใหว แผ่นดินใหวจะเกิดในเวลาไม่กี่นาทีแต่จะสร้างความเสียหายมากมาย จะไม่มีน้ำ หรือเวชภัณฑ์ อาจมีการปล้นสะดมภ์ การใหวจะทำให้เกิดการรั่วของก๊าช หรือ container สารเคมีในแหล่งต่างๆ ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องระวัง

3. การระบาดของเชื้อโรคอุบัติใหม่ การเปลี่ยนแปลงของอากาศทำให้การเจริญเติบโตของเชื้อโรคผิดปกติไป ในอเมริกา มีการระบาดของเชื้อมาลาเรีย มากขึ้นชัดเจน ในเมืองไทย ก็มีการย้ายถิ่นฐานของแมลงต่างๆ เช่นมีการระบาดของแมลงก้นกระดกในโรงงานอุตสาหกรรม ในทางชุมชน ก็มีไข้เลือดออกระบาดทั้งปี มีการระบาดของไข้หวัดนก ไข้หวัด 2009 ฯลฯ ประเด็นสำคัญคือการ identify ชุมชน หรือกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเสี่ยงสำคัญที่เป็นที่รวมของคนคือสถานประกอบการ และหอพัก รวมทั้งห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะต้องมีการให้ความรู้และป้องกัน

4. โรคทางเดินหายใจ ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น จากโอโซน ซึ่งมีอยู่ตามพื้นผิวโลก ซึ่งเกิดจากรูโหว่และปรากฏการณ์เรือนกระจกในบรรยากาศ รวมทั้งมลพิษต่างๆ ซึ่งโรคที่จะเพิ่มขึ้นคือโรคหอบหืด โรคทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง โรคถุงลมโป่งพอง เป็นต้น นอกจากนี้ในคนที่ไวต่อโรคทางเดินหายใจเช่นคนชรา ก็จะมีผลด้วย

5. โรคจากแสง UV ซึ่งต่างประเทศกลัวมากคือมะเร็งผิวหนัง ในประเทศไทย เนื่องจากเรามีเม็ดสีที่ผิวหนังป้องกัน ดังนั้น จึงค่อนข้างจะปลอดภัย

6. สิ่งที่ยังไม่มีการศึกษามากนักคือปัจจัยทางจิตสังคม และความร้อนของโลก จะขึ้นลงตามกันหรือไม่ คนอารมณ์ร้อนมากขึ้นหรือไม่ ยังไม่มีการศึกษาเรื่องนี้ แต่ถ้าดูโลกเราตอนนี้ ข่าวสารมาไวมากขึ้นจนไม่มีเวลากรอง การรับรู้ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มากขึ้น ทำให้เกิดสิ่งที่สมัยก่อนเรียกว่า culture shock ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับโรคร้อน แต่เกี่ยวกับความไวของข้อมูลข่าวสารมากกว่า ซึ่งปัจจัยนี้ยังไม่มีการถกเถียงกันมากนัก

อย่างไรก็ตามผลของโลกร้อน จะต้องมีผลต่อการดำเนินชีวิตของเราแน่นอน ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง น่าจะช่วยกันคนละนิดในการลดโลกร้อน ที่พูดว่านิด เพราะว่า พลังของสิ่งเล็กๆ พิสูจน์แล้วว่าสามารถเปลี่ยนโลกใหม่ได้ทั้งโลกนั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 327859เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2010 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณสำหรับความรู้ที่อาจารย์สรุปให้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท