จิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้คู่หลักธรรม


นักบริหารอยากเป็น“ยอดไม้หรือลำต้น” อ่านตรงนี้ เพื่อมี “ความอ่อนโยน กับ ตปะ” ประดับตน

จิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้คู่หลักธรรม

นักบริหารอยากเป็น“ยอดไม้หรือลำต้น”

อ่านตรงนี้ เพื่อมี “ความอ่อนโยน กับ ตปะ” ประดับตน

เรียบเรียงโดย ครูออ๊ด

หลักธรรมที่นักปกครองหรือนักบริหาร มีผลสัมฤทธิ์ของการมีหลักธรรมประดับตนนั้น ไม่ได้ชี้วัดกันที่ความสำเร็จด้านวัตถุ เกียรติยศชื่อเสียง ทรัพย์สินเงินทอง ลาภยศใด ๆ แต่วัดที่คุณค่าทางจิตใจที่ผู้ให้คือนักบริหารและผู้รับคือบริวารเท่านั้นที่ตระหนัก… รับรู้ได้ โดยไม่จำเป็นว่านักบริหารคนนั้นจะมีตำแหน่งเล็กหรือใหญ่แค่ไหนคงเคยได้ยินมาบ้างที่ว่าเมื่อผู้บริหารระดับสูงเกษียณอายุออกไปจากองค์กรตามวาระก็ดี หรือจากไปเพราะการโยกย้ายก็ดี กลับไม่มีบริวารคนใดระลึกถึงหรือจดจำในสิ่งที่เขาได้เคยบริหารจัดการเอาไว้เลย คงไม่ต้องตอบว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น…ขอตั้งข้อสังเกตประการหนึ่ง ไม่ทราบว่าเคยมีใครสังเกตคำว่า “หลักธรรม” กับ ”คณธรรม” หรือไม่ หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีความพากเพียรในการแผดเผากิเลส ที่เรียกว่า “ตปะ” อาจจะทราบความหมายที่มีความเกื้อหนุนซึ่งกันและกันแล้ว ในที่นี้ ขออุปมาอุปมัยว่าหลักธรรมเปรียบเหมือนทะเล ส่วนคุณธรรมก็เปรียบเหมือนปลาที่แหวกว่ายอย่างสุขสงบอยู่ในทะเลแห่งธรรม การสร้างคุณธรรมในตัวตนของเราจะส่งเสริมค้ำชูเราให้ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติ หรือเป็นไปตามหลักธรรม (ชาติ) นั้นเอง และการจะกล่าวถึงธรรมข้อใดก่อนหลัง ก็ไม่สำคัญเท่ากับการพึงประดับไว้ให้ได้เสมอกัน ตอนแรกที่กล่าวถึงคุณธรรมที่นักบริหารพึงมี เมื่อแรกก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง คือความเสียสละนั้น ก็ถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของ “ทาน” และตอนต่อมาก็กล่าวถึง “ความเที่ยงธรรม” ซึ่งก็ล้วนอยู่ใน “ทศพิธราชธรรม” โดยต่างมีความสำคัญไม่จำต้องลำดับว่าอะไรควรมีหรือมาก่อน ดังข้อความตอนหนึ่งของหนังสือ “แผ่วผ่านธารน้ำไหล” โดยท่านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่ว่า “ว่าที่จริงแล้ว ธรรมทุกข้อหรือทุกระดับนั้น เปรียบเหมือนห่วงสร้อยหรือลูกโซ่ คือจับข้อใดก็สะเทือนถึงกันหมดทุกข้อ ในพระบาลีนั้น เขาสรรเสริญกันว่า เหมือนพวงดอกไม้ อันร้อยไว้ได้ระเบียบดีนี้เป็นอุปมัยที่ประสงค์จะชมว่างดงาม คือพระธรรมนั้นงามในทุกระดับ งามทั้งต้น ทั้งกลาง และทั้งเบื้องปลายสุดแต่ที่เปรียบกับห่วงสร้อย หรือลูกโซ่นั้น ประสานเอาความสัมพันธ์การสะเทือนถึงกันหมดทุกข้อ ทุกระดับเป็นสำคัญ …”ตอนนี้ที่จะกล่าวถึง ก็เป็นองค์ประกอบในทศพิธราชธรรมเช่นกัน นั่นคือ “ความอ่อนโยน และ ความเพียร (ตปะ)” การนำเสนอที่จะกล่าวต่อไปนี้ มิได้อาจเอื้อมสอนหลักธรรมผู้ใดประหนึ่งเป็นผู้ศึกษาธรรมะอย่างลึกซึ้ง ผู้เขียนเองก็เป็นเพียงผู้พยายามเพียรแผดเผากิเลสคนหนึ่งเช่นกัน เนื้อหาบางส่วนอาจไม่ได้นำมาจากตำราใด ๆ แต่นำมาจากการฟังผู้ปฏิบัติธรรม การปรึกษาหารือผู้รู้ การปฏิบัติด้วยตนเองและความเข้าใจด้วยปัญญา ซึ่งอาจจะตื้นเขินบ้าง ก็ขอให้ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยน ถ้าคิดว่าใช้ได้จริงก็นำไปใช้ ใช้ไม่ได้ก็วางเอาไว้ที่เดิม เพราะสัจธรรมเป็นหลักที่มีอยู่แล้ว มีคุณค่าโดยตัวเอง และไม่เป็นของของใคร เป็นประโยชน์หรือไม่อยู่ที่ผู้นำไปใช้

ที่มาของการนำเสนอเรื่อง “ความอ่อนโยนและความเพียร” คู่กันในครั้งนี้ มาจากการสังเกตเห็นสิ่งที่อยู่ “คู่กัน”อย่างไม่เหมาะสม อย่างไม่งดงาม นั่นก็คือการเห็นนักบริหารบางท่าน“เบ่ง,ก้าวร้าว,ทำตัวใหญ่” เท่าหรือโตกว่าตำแหน่งที่เป็นอยู่… เห็นความพยายามทำให้ตัวตนเหนือแตกต่างจากผู้อื่นในเรื่องของอำนาจลาภยศ ไม่ใช่เรื่องคุณธรรม ซึ่งทำให้หนึ่งในทศพิธราชธรรมข้อหนึ่งขาดหายไป นั่นคือ “ความอ่อนโยน อ่อนน้อมถ่อมตน” นอกจากนี้ ยังได้สังเกตเห็นความกลัว ไม่กล้าแสดงออกถึงภาวะผู้นำ การเป็นผู้ปกครองที่จะทำสิ่งดี ๆ เพื่อส่วนรวม สังคม หรือเพื่อการปกป้องบริวาร ดังถ้อยคำภาษาอังกฤษที่ใช้กันบ่อย ๆ ว่า “play safe” ที่ให้ความหมายว่า “การป้องกันความเสี่ยงหรือความล้มเหลว” แต่ได้ใช้ในบริบทผิดที่ ผิดกาลเทศะ การไม่ทำอะไรเลย ดำรงอยู่ในตำแหน่งที่มี… ประคับประคองมิให้หลุดจากเก้าอี้ เป็นการ “play safe” ไปได้อย่างไรกัน อาจเคยได้ยินคำบางคำที่ผู้บริหารบางคนพูดไว้ “รอให้ผมเกษียณไปก่อนแล้วกัน พวกคุณค่อยริเริ่มโครงการใหม่ หรือแก้ไขปัญหาเรื้อรังนี้ต่อไป ในสมัยผม ให้ชะลอไปก่อน เป็นการ“playsafe” เผื่อเกิดอะไรผิดพลาดขึ้นมา ผมจะได้ไม่เจ็บตัว ดูซิ ขนาดจะเกษียณแล้ว ยังคิด “play safe” ในบริบทเพื่อตัวเองเช่นนี้ได้ การมีคุณธรรมจึงไม่ได้อยู่ที่คน ๆ นั้นมีตำแหน่งใหญ่โต หรืออายุมากแค่ไหน แต่อยู่ที่รู้แจ้ง (“enlightenment”) เมื่อไรเท่านั้นเอง และน่าเสียดาย นี่มันก็ “บั้นปลาย” ชีวิตแล้ว… สิ่งที่ไม่ควรจะจับคู่กันแต่ก็นำมาคู่กันคือ “ความกร่างกับความกลัว” เรื่องที่ควรจะอ่อนน้อมถ่อมตนไม่ทำ กลับทำตัวพองโต เรื่องที่ควรจะกล้าหาญทำความดี กลับทำตัวเล็กลง ขลาดกลัว “play safe” ในประเด็นที่ว่า ที่ควรแสดงออกซึ่งความกล้าหาญ ไม่ทำ…กลับทำตัวพองโตยิ่งใหญ่ แสดงออกซึ่งความก้าวร้าวถึงอำนาจที่มีอยู่นี้… เป็นเรื่องที่น่าแปลกอย่างยิ่ง ลองระลึกถึงภาพที่คุ้นเคยกันดี “ในหลวง” ของปวงชนชาวไทยที่ทรงโน้มพระวรกายลงมาหาหญิงชราชาวบ้านผู้หนึ่ง … ยอดต้นไม้ยิ่งอยู่สูง ยิ่งพริ้วไหวอ่อนโยนมิใช่หรือ… ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความอ่อนโยน เป็นข้อหนึ่งที่นักปกครอง นักบริหารพึงมี การที่ทำตัวยิ่งใหญ่ เท่าหรือมากกว่าตำแหน่งที่ดำรงอยู่ก็เท่ากับทำตัวเป็นเพียงแค่ลำต้นไม้ ทั้งที่อยากจะบอกใคร ๆ ให้รู้ว่าตนมีตำแหน่งใหญ่โตแค่ไหน จึงเป็นเรื่องที่ขัดแย้ง แต่ก็แสดงออกมาให้เป็นเช่นนั้น เพราะรู้ไม่เท่าทัน สำคัญผิดไป ในส่วนของความกล้าหาญที่ควรจะมีเพื่อที่จะอุทิศตนให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือบริวาร ก็กลายเป็นความขลาดกลัว ทำตัว “play safe” ในความหมายผิดๆ…อยู่นิ่ง ๆ ทำตัวตามกระแส หรือผันแปรตามผู้เป็นนายเหนือกว่า เพราะเกรงว่า “เด่นจะเป็นภัย” …ขัดใจ เดี๋ยวจะมีคนใหม่มาสวมตำแหน่งแทน.. คิดกันเช่นนี้สืบไป จากรุ่นสู่รุ่น จนเป็นวัฒนธรรมของผู้นำในองค์กร ต่อให้ปฏิญาณตนไว้เช่นไร ก็คงไม่ซาบซึ้งความหมายเพราะไม่ได้เพ่งพิจารณาถึงสาระ สัจธรรมที่มีอยู่ ความกล้าหาญ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่อยู่ใน “ความเพียร” หรือ “ตปะ” ซึ่งผู้พยายามเพียรแผดเผากิเลสนั้น ย่อมจะมีความแกล้วกล้า อาจหาญในการผดุงไว้ซึ่ความดี ความถูกต้อง มีข้อสังเกตว่า “ความเพียร” ที่เรียกว่า “ตปะ” แตกต่างอย่างไรกับ “ความเพียร” ที่เรียกว่า “วิริยะ” หนึ่งในอิทธิบาท 4 กรณีของ “วิริยะ” เป็นความขยันประกอบกิจการใดก็ตามด้วยความพยายามไม่ย่อท้อ ส่วนตปะ ย่อมต้องเป็น “ความเพียร” ที่มีความพิเศษเป็นแน่แท้ มิเช่นนั้นคงไม่เป็นหนึ่งในทศพิธราชธรรม นอกจาก จะมีผู้ให้ความหมายว่าเป็นความพยายามเพียรแผดเผากิเลสดังกล่าวมาแล้ว ตามพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดยพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต) ได้นิยามไว้ว่า

ตปะ คือความทรงเดช แผดเผากิเลสตัณหา มิให้เข้ามาครอบงำย่ำยีจิต ระงับยับยั้งข่มใจ ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญและความปรนเปรอ มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ หรืออย่างสามัญ มุ่งมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียร ทำให้กิจสมบูรณ์”

จากความหมายข้างต้น “ตปะ” จึงไม่ใช่ความเพียรในระดับเดียวกับ “วิริยะ” เนื่องจากผู้ปกครองที่จะต้องเป็นที่พึ่งพิงแก่ผู้คนจำนวนมาก ย่อมต้องฝึกฝนตนให้จงหนัก เพียรพยายามมากกว่าคนทั่วไป กำจัดกิเลสส่วนตน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้สมกับการได้ชื่อว่าเป็นผู้ปกครองผู้คนจำนวนมาก จนเป็น “ผู้ทรงเดช” กล้าหาญที่จะทำความดี

กล่าวถึงตรงนี้แล้ว สรุปความได้ว่า ท่านผู้ปกครอง นักบริหาร ควรให้ความสำคัญกับ “ยอดไม้มากกว่าลำต้น” อ่อนโยนหรืออ่อนน้อมถ่อมตน บารมีก็จะบังเกิดโดยไม่ต้องทำตัวเองให้พองโต เพราะมันพอง มันโตโดยตัวคุณธรรมที่มีอยู่เอง และ “ตปะ” ก็จะทำให้ไม่ขลาดกลัว ไม่ต้องมัว “play safe” ซึ่งบริวารรอบตัวท่านก็คงใฝ่ฝันอยู่ลึก ๆ และเฝ้ามองอยู่ว่าเจ้านายของพวกเขาจะมีคุณธรรมข้อใดข้อหนึ่งบ้าง และเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรหลบแดดหลบฝนได้หรือไม่ เชื่อเถอะว่าในวัยเด็กที่ยังไม่ทำงาน เราก็พึ่งพาอาศัยบุพการีเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้เราเพราะเราช่วยตนเองยังไม่ได้ ครั้นเติบใหญ่ ที่บ้านเรา เราก็เป็นที่พึ่งให้แก่ท่าน แต่ในที่ทำงานนั้น ผู้เป็นบริวารหรือลูกน้องต่างก็หวังจะอยู่ภายใต้การปกครองหรือการบริหารจากเจ้านายผู้มีคุณธรรม จริยธรรม ถึงตรงนี้แล้ว หากนักบริหารท่านใดเข้าใจแจ่มแจ้ง ก็คงไม่อยากให้ตนพ้นตำแหน่งไปตามวาระ และจบลงที่งานเลี้ยงอำลาเท่านั้น ควรจะฝากความทรงจำด้วยคุณงามความดีที่เรามีโอกาสทำเพื่อคนอื่นบ้าง

          สุดท้ายนี้ ขอเน้นย้ำเช่นเดิมว่าหาก “รู้ตัว” คนเราเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่แค่ Change เท่านั้น แต่ถึงขั้น Transformation เลยทีเดียว  และหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านไม่เพียงแค่รับรู้ แต่สามารถนำไปปฏิบัติได้

                        ...........................................................

 

หมายเลขบันทึก: 327848เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2010 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 10:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีนะครับบทความนี้ อ่านแล้วถ้ารู้จักนำไปใช้จะเป็นประโยชน์มากเลยทีเดียว แต่ขอเสริมนิดหนึ่ง ว่า คนที่มีความรู้ที่แท้จริง คือบุคคลที่รู้ตัวเองดีกว่ารู้สิ่งอื่น....

ขอบคุณครับคุณLucky Man ที่ร่วมแสดงความคิดเห็น เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับข้อความที่คุณLucky Man บอกว่า คนที่มีความรู้ที่แท้จริงน้ั้นคือต้องรู้จักตัวเองให้มากที่สุดก่อน...ถูกต้องแล้วครับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท