...สวรรค์อำพรางนางแอ่นสะอื้น...


...ภูเขาหินปูนนี้เมื่อจมลงไปในทะเลจะถูกน้ำทะเลกัดเซาะ กลายเป็นเกาะรูปทรงแปลกตา มีลักษณะเป็นโพรงถ้ำและสภาพของเกาะหินปูนทั่วๆไปจะไม่ค่อยมีพื้นที่ราบ สำหรับให้มนุษย์เข้าไปอาศัยตั้งถิ่นฐาน ถือเป็นสถานที่สันโดษอันเงียบสงบ มีแสงสว่างในความจำกัดจนเกือบจะเสมือนไม่มี โดยมีเสียงดนตรีขับกล่อมในท่วงทำนองระดับเดียวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จากเกลียวคลื่นที่ได้รับอิทธิพลจากแรงลมที่ม้วนตัว ทยอยถาโถมเข้ากระทบโขดหินผาหรือแนวชายฝั่งที่เป็นหาดทรายล้อมรอบตัวเกาะเป็นระยะ ๆ ...

ภาพภูมิทัศน์ของทักษิณรัฐหรือภาคใต้แห่งราชอาณาจักรสยาม ที่มีลักษณะเป็นเกาะแก่งขนาดต่างๆ ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน กล่าวกันว่า เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งครั้งสุดท้าย มีการไหวตัวของเปลือกโลกในตอนต้นยุคเทอร์เธียรี (Tertiary) หรือประมาณ ๖๐ ล้านปีก่อนยุคปัจจุบัน ซึ่งอาจารย์มนัส ชัยสวัสดิ์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวไว้ในเอกสาร”ข้อมูลเบื้องต้นภาคใต้” ในปี ๒๕๓๐ ว่า การไหวตัวของเปลือกโลกในครั้งกระนั้น ทำให้ผืนแผ่นดินเกิดรอยคดโค้ง เป็นแนวทิวเขาที่มีทิศทางในแนวเหนือ-ใต้ พาดผ่านคาบสมุทรมลายู ทิวเขาเหล่านี้จะมีหมู่หินตะนาวศรี และหมู่หินราชบุรี ปรากฏเป็นบริเวณกว้างขวาง หมู่หินดังกล่าวนี้ประกอบไปด้วยหินปูนเป็นส่วนใหญ่ ภูเขาหินปูนนี้เมื่อจมลงไปในทะเลจะถูกน้ำทะเลกัดเซาะ กลายเป็นเกาะรูปทรงแปลกตา มีลักษณะเป็นโพรงถ้ำและสภาพของเกาะหินปูนทั่วๆไปจะไม่ค่อยมีพื้นที่ราบ สำหรับให้มนุษย์เข้าไปอาศัยตั้งถิ่นฐาน ถือเป็นสถานที่สันโดษอันเงียบสงบ มีแสงสว่างในความจำกัดจนเกือบจะเสมือนไม่มี โดยมีเสียงดนตรีขับกล่อมในท่วงทำนองระดับเดียวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จากเกลียวคลื่นที่ได้รับอิทธิพลจากแรงลมที่ม้วนตัว ทยอยถาโถมเข้ากระทบโขดหินผาหรือแนวชายฝั่งที่เป็นหาดทรายล้อมรอบตัวเกาะเป็นระยะๆ ซึ่งเป็นภาวะธรรมชาติในยามปกตินอกฤดูมรสุม ประกอบกับลักษณะภูมิอากาศที่ตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้มีอากาศร้อนและความชื้นสูง อุณหภูมิที่เกิดขึ้นในฤดูกาลต่างๆ จึงแตกต่างกันน้อยมาก และมีสภาพไม่ร้อนเกินไปและไม่หนาวเกินไป

พื้นที่ตามซอกหลืบของโพรงถ้ำบนเกาะหินปูนต่างๆของภาคใต้ ทั้งฟากฝั่งอ่าวไทยและด้านทะเลอันดามัน จึงเป็นแหล่งสวรรค์สำหรับการตั้งรกรากดำรงชีวิต เพื่อการแพร่พันธุ์ของเจ้านกทะเลหลายชนิดหลายประเภท ซึ่งโดยปกติในวิถีชีวิตของเจ้านกทั่วไป จะสร้างรวงรังจากกิ่งไม้ ต้นหญ้าและโคลนดิน แต่มีนกอยู่สองสายพันธุ์ไม่ได้สร้างรังจากวัสดุดังกล่าว แถมรังของมันยังสามารถนำมาบริโภคได้ นกพันธุ์ที่เอ่ยถึงนี้คุณรัชดาพร ศรีภิบาลได้ค้นคว้ารวบรวมจากเอกสารในและต่างประเทศหลายฉบับ โดยประมวลไว้เป็นข้อมูลในวิทยานิพนธ์ปี ๒๕๔๒ เรื่อง “ความสำคัญของรังนกต่อเศรษฐกิจในภาคใต้ ของประเทศไทย” และระบุถึงนกชนิดนี้ว่า จัดอยู่ในจำพวกนกอีแอ่น หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ แอร์โรดามุล ฟูชิฟากัส(Aerodamus Fuciphagus ) เป็นนกสายพันธุ์สร้างรังสีขาว และแอร์โรดามุส แมกซิมุส (Aerodamus Maximus) เป็นนกสายพันธุ์สร้างรังสีดำ ลักษณะโดยทั่วไปของนกอีแอ่นสองสายพันธุ์นี้ค่อนข้างเหมือนกัน คือมีขนาดเท่ากับนกกระจอกธรรมดา ตาสีดำขนาดเท่ากับเมล็ดพริกไทย มีจงอยปากสั้น กว้างและมีสีดำ ยาวประมาณ ๓ มิลลิเมตร มีปีกยาวแคบ ขนที่ปีกและหางมีสีดำ โดยขนที่ปีกจะซ้อนอยู่บนหาง ขาสีดำปกคลุมด้วยขนอ่อนเล็กน้อย แต่ต่างกันตรงที่แอร์โรดามุส แมกซิมุส จะมีขนสีเหลืองที่อก ขนหางสั้นและขนาดใหญ่กว่าแอร์โรดามุส ฟูซิฟากัสเล็กน้อย สำหรับการสร้างรังที่สามารถบริโภคได้ของนกอีแอ่นทั้งสองสายพันธุ์ ยังคงเป็นปริศนาของผู้คนแต่ละยุคที่คาดคะเนไปต่างๆกัน สรุปได้ว่า รังของมันผิดกับนกอื่น คือ ไม่ได้ทำรังด้วยกิ่งไม้ใบไม้เล็กๆ เหมือนนกทั้งปวงที่เราเคยเห็น แต่มันทำรังด้วยน้ำลายหรือเยื่อเสมหะที่ได้ขากออกจากลำคอและติดเข้าทำเป็นรัง ตามแง่หิน ซอกภูเขาในถ้ำวันละเล็กวันละน้อย ในครั้งที่หนึ่งกว่ามันจะทำรังแล้วเสร็จอยู่ในราวสามเดือน มีขนาดรังโตประมาณ ๔ นิ้วกว่า สัณฐานกลมกลางลึกเป็นแอ่งเหมือนฝาถ้วย สำหรับมันวางฟองไข่ลงไว้ในแอ่งไม่ให้เลื่อนตก ความเชื่อในสรุปข้างต้นมีสืบทอดต่อกันมา จนในปี ๒๕๓๓ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ได้นำเอานกอีแอ่นที่สร้างรังซึ่งบริโภคได้ มาชำแหละและวิเคราะห์จากคำบรรยายที่ปรากฏเกี่ยวกับโครงสร้างของนก ได้ผลการศึกษาว่า ไม่พบต่อมน้ำลายในตัวนก แต่พบอวัยวะที่ชื่อว่า “ครอป”(Crop) ซึ่งเป็นส่วนของหลอดอาหารส่วนบนที่ขยายตัวขึ้น มีลักษณะแข็งเป็นกล้ามเนื้อ ทำหน้าที่เก็บเมล็ดพืช ภายในช่องของครอปมีวัสดุย้อมสีเป็นสีแดงเหมือนรังนก ทำให้ได้ข้อสรุปว่า สิ่งที่ขับออกมาจากปากนกได้ถูกนำไปสร้างให้เป็นรัง และอวัยวะที่ใช้ทำรังนั้น น่าจะเป็นครอปมากกว่าต่อมน้ำลาย และในการตรวจสอบสารประกอบที่มีอยู่ในรังนกพบว่า มีสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์เพียงไม่กี่ชนิด และสารอาหารที่มีอยู่ก็ไม่ได้มีคุณค่าดีเลิศแต่อย่างใด

ในเขตจังหวัดกระบี่มีเกาะที่ธรรมชาติสวยงาม และมีการให้สัมประทานแก่กลุ่มบุคคลเข้าไปจัดเก็บรังนกชนิดนี้ เพื่อนำสู่การจำหน่วยจัดทำเป็นอาหารเสริมสุขภาพ โดยเกาะดังกล่าว ได้แก่ เกาะพีพี เกาะทะลุ เกาะลาแปง เกาะประดา เกาะลี้มา เกาะตุกลหลีมา เกาะพาราไดร์ เป็นต้น และในบรรดาเกาะต่างๆ ที่กล่าวถึงนี้ ส่วนใหญ่ต่างมีทัศนียภาพโดยรอบไม่ว่าจะเป็นชายหาดเรียบ มีทรายขาวละเอียดทอดยาวตลอดแนวโขดหิน เนินผาที่มีลักษณะสูงๆต่ำๆ แนวโพรงถ้ำหินปูนเป็นปล่องหลืบเงียบสงบ ที่เปรียบเสมือนดังสรวงสวรรค์ของเจ้านกน้อยนางแอ่นสองสายพันธุ์ ที่จะสืบเผ่าพันธุ์ของมันอย่างแท้จริง โดยฤดูกาลสร้างรังเพื่อวางไข่ของนกอีแอ่น จะต้องกระทำถึง ๓ ครั้งต่อปี ด้วยอิทธิพลการรบกวนรังแกของมนุษย์ คือ เมื่อนกสร้างรังครั้งแรกเสร็จ จะเป็นรังที่มีคุณภาพดีที่สุด ส่วนใหญ่จะมีสีขาว มีรูปทรงเต็มครบถ้วนตามลักษณะรัง  แห้งไม่ชื้น คนจะรีบเก็บรังนกก่อนที่จะวางไข่ จากนั้นนกจะสร้างรังอีกเป็นครั้งที่สองเพื่อทดแทน คนก็จะรังควานเก็บรังไปอีก รังในครั้งที่สองนี้จะมีคุณภาพรองลงมา เป็นสีเทาไม่เป็นสีขาวสนิท และอาจปนสิ่งสกปรกหรือมีความชื้นบ้าง และเมื่อไม่มีรังที่พัก นกก็จำเป็นต้องสร้างรังเป็นครั้งที่สาม ซึ่งในครั้งนี้รังนกจะมีรูปทรงไม่เต็มตามลักษณะรังครบถ้วน มีสิ่งสกปรกเจือปนมากขึ้น เป็นต้นว่าขนนก สีของรังอาจมีสีดำหรือแดงคล้ายเลือด ในช่วงนี้คนจะปล่อยให้นกวางไข่และฟักไข่ออกมาเป็นลูกนก รอจนกระทั่งลูกนกบินออกจากรัง จึงเริ่มฤดูกาลเก็บรังนกในครั้งสุดท้าย แต่ข้อการปฏิบัตินี้มิได้มั่นคงเสมอไป เนื่องจากรังนกเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีราคาสูง และไม่ต้องลงทุนดำเนินการมากมายนัก จึงเป็นเสมือนสิ่งกระตุ้นเร่งเร้าให้เหล่ามนุษย์ เจตนาเฝ้าสร้างเคราะห์กรรมให้กับเจ้านกน้อยเหล่านี้ กว่าที่มันจะสร้างรังเพื่อวางไข่ เป็นการสร้างครอบครัวกำเนิดลูกนกตัวน้อยๆขึ้นมาได้ ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เหล่ามนุษย์ผู้เจริญแล้วเฝ้าทำลาย ทำลายและทำลายรังของมัน เพื่อนำไปขายหาประโยชน์เป็นทรัพย์สิน ในการสร้างความสุขบำรุงบำเรอให้แก่ตนและครอบครัว ขณะที่เจ้านกน้อยทั้งครอบครัวหลายต่อหลายครอบครัว มีแต่ความทุกข์ยากลำเค็ญ อนิจจาในสิ่งที่ปรากฏเป็นรังในช่วงหลัง จึงเปรอะเปื้อนไปด้วยสายเลือด ซึ่งน่าจะเป็นความทุกข์ทรมานจากความเจ็บช้ำน้ำใจ แทบจะสูญสิ้นชีวิตลงไป หรือภาษที่ชาวบ้านเรียกขานเปรียบเทียบกันในการถูกรังแก แต่ไม่สามารถที่จะปกป้องและโต้ตอบแก่ผู้ทำร้ายเป็นการแก้แค้นได้ ทำให้มีแต่ความอึดอัดอยู่ภายในอกและกระอักออกมาเป็นเลือด ซึ่งสะท้อนปรากฏการณ์พฤติกรรมการเบียดเบียนของเหล่ามนุษย์ได้อย่างชัดเจน ....สวรรค์อำพรางหลอกลวงเหล่าพวกเจ้านกน่ารักทั้งหลาย ให้มาหลงระเริงเข้าสู่อ้อมอกภายในถ้ำ ที่น่าเชื่อจากภายนอกว่า ควรจะอุดมไปด้วยความอบอุ่น ความสุขและความปลอดภัย แต่ครั้งแล้วครั้งเล่ากว่าที่เหล่านกน้อยแสนสวยทั้งหลายจะมีรวงรัง ให้กำเนิดลูกน้อย เพื่อสืบเผ่าพันธุ์ กลับต้องระทมทุกข์สะอื้นแล้วสะอื้นอีก ช่างทุกข์ทรมานเสียนี่กระไร อนิจจัง อนิจจา โลกหนอโลก ชีวิตหนอชีวิต จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด ขอไว้อาลัยแก่สวรรค์อำพรางและขอมอบความเห็นใจต่อสัตว์ร่วมโลกที่สวยงามน่ารักดังกล่าว ที่ต้องสะอื้นทนทุกข์ยากต่อสภาพอุปสรรคที่ขัดขวางความสุขในการสร้างรังสร้างครอบครัวไว้ ณ โอกาสนี้.....

หมายเลขบันทึก: 327446เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2010 14:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 10:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีคะเข้ามาทักทายนกนางแอ่นจากทะเลอันดามันกับนกนางแอ่นจากปากพนังคงจะคล้ายๆกันนะคะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท