เตรียมความพร้อมกันสักนิด ก่อนเลื่อนพนักงานเป็นหัวหน้า


เมื่อวานได้เขียน เรื่องของความรู้สึกของพนักงานคนหนึ่งที่ถูกหัวหน้าและเพื่อนร่วมทีมเพิกเฉย และไม่ให้ความสำคัญ จนทำให้เกิดความรู้สึกหมดแรงในการทำงาน ก็มีท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านก็ได้เขียนอีเมล์เข้ามาและเล่าเรื่องราวของตนเองว่าเกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กัน จนทำให้หมดกำลังใจในการทำงาน และต้องลาออกไปในที่สุด

ผมก็เลยอยากเขียนต่ออีกสักวันสำหรับเรื่องของการให้ความใส่ใจพนักงานของหัวหน้างานว่ามันมีผลต่อแรงจูงใจของพนักงานในทีมงานของเราจริงๆ

มีงานวิจัยหลายต่อหลายงานที่ระบุไว้อย่างชัดเจนเลยว่า สาเหตุอันดับหนึ่งของการลาออกของพนักงาน ก็คือ หัวหน้างานของตนเอง เขาไม่อยากจะออกไปจากองค์กรที่เขาทำงานอยู่หรอกครับ แต่เขาไม่อยากอยู่ทำงานกับหัวหน้าที่ไม่ให้ความสำคัญกับพนักงานมากกว่า

ลักษณะของหัวหน้างานแบบนี้จริงๆ ก็มีให้เห็นกันอยู่มากมาย ที่ดีก็มีเยอะ ที่ไม่ดีก็ยังมีอยู่ และก็เป็นสิ่งที่องค์กรต้องให้ความสำคัญอย่างมากด้วย เพราะหัวหน้างานเหล่านี้เป็นบุคคลที่มีส่วนในการสร้างผลงานโดยอาศัยพนักงาน ที่เขาดูแลอยู่ ดังนั้นถ้าเขาเป็นสาเหตุให้พนักงานในทีมต้องลาออกกันไปหมด แล้วผลงานของทีมจะออกมาได้อย่างไร เขาเองก็คงไม่สามารถจะทำงานคนเดียวได้ พอผลงานของทีมไม่ออก มันก็มีผลกระทบต่อผลงานขององค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

ดังนั้นหลายองค์กรที่เน้นว่า เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับพนักงาน หรือ บุคลากร นั้น จะต้องมีมาตรการในการเตรียมตัวให้กับพนักงานที่กำลังจะขึ้นเป็นหัวหน้างาน หรือผู้จัดการ ทั้งในเรื่องของการบริหารงาน และการบริหารคน สิ่งที่ควรเน้นมากกว่าก็คือ ทักษะในการบริหารคน เพราะเขาจะต้องเป็นคนดูแลพนักงานในทีมงานให้สร้างผลงานออกมาอย่างเต็มใจและ พอใจด้วย

หลายองค์กรเลื่อนพนักงานที่มีฝีมือดีเยี่ยมให้ขึ้นเป็นหัวหน้า เพราะเหตุผลเดียวก็คือ ผลงานดีมาก ก็เลยเลื่อนตำแหน่งให้ โดยไม่พิจารณาเลยว่า พนักงานคนนั้นมีความพร้อมในการบริหารคนหรือไม่ มันก็เลยส่งผลให้พอได้รับการเลื่อนเป็นหัวหน้าแล้ว กลายเป็นหัวหน้างานแย่ๆ ก็เลยกลายเป็นว่า องค์กรเสียพนักงานมือดีไป และได้หัวหน้าแย่ๆ มาแทนที่

ถามว่าแล้วจะต้องแก้ไขกันอย่างไร คำตอบก็คือ ใช้วิธีการวางแผนสายอาชีพของพนักงานไว้แต่เนิ่นๆ โดยหัวหน้างานที่ดูแลพนักงานจะต้องมองพนักงานแต่ละคนให้ออก และถ้ามองเห็นว่าลูกน้องของตนคนนี้มีศักยภาพในการเลื่อนขึ้นมาเป็นหัวหน้า ก็ต้องมีการวางแผนเตรียมตัวให้กับพนักงานคนนั้นก่อนที่เขาจะได้รับการเลื่อน ตำแหน่งเป็นหัวหน้างาน ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมในเรื่องของการบริหารคน การจูงใจ การสร้างทีมงาน การสร้างมนุยษสัมพันธ์ เพื่อเป็นการสร้างความพร้อมให้กับพนักงานที่เก่งเรื่องงาน ให้มีความเก่งเรื่องของคนด้วย

ทั้งนี้ก็เพื่อให้เขาสามารถที่จะบริหารคน และให้ความสำคัญกับพนักงานได้อย่างถูกวิธี ไม่ปล่อยปละละเลยพนักงานให้เคว้งคว้างไร้ที่พึ่ง อย่างที่หลายๆ คนรู้สึกและกำลังโดนอยู่

หัวหน้างานที่ไม่พร้อมนั้น เป็นตัวสร้างต้นทุนของการสรรหาพนักงานที่สูงมากๆ เพราะการที่หัวหน้างานเป็นสาเหตุทำให้ลูกน้องของตนเองต้องลาออกไปนั้น องค์กรจะต้องลงทุนในการสรรหา คัดเลือก และต้องฝึกอบรมฝีมือพนักงานใหม่ เพื่อให้สามารถทำงานได้ พอฝึกได้ทำงานได้แล้ว กลับต้องสูญเสียพนักงานมือดีไป แค่เพียงเพราะการไม่ใส่ใจในพนักงานของหัวหน้างานบางคนเท่านั้น

ดังนั้น ก่อนจะเลื่อนใครขึ้นไปเป็นหัวหน้า ก็คงต้องมีการวางแผนและเตรียมความพร้อมให้กับพนักงานคนนั้นก่อน เพื่อให้แน่ใจว่า เขาจะไม่เป็นตัวการที่ทำให้ทีมงานเกิดความขัดแย้ง เคว้งคว้าง และไร้ที่พึ่งพิง จนต้องพร้อมในลาออกกันหมดทั้งทีม

คำสำคัญ (Tags): #แรงจูงใจ
หมายเลขบันทึก: 327069เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2010 06:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท