การยอมรับนับถือ กับแรงจูงใจในการทำงาน


มีรุ่นน้องที่ทำ งานด้าน HR เขียนเข้ามาขอคำปรึกษาเรื่องของการทำงานว่า เขารู้สึกว่าเขาไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนๆ ที่ทำงานร่วมกัน ทั้งในแผนกเดียวกันและต่างแผนก เวลามีการประชุมเพื่อวางแผนการทำงานโครงการต่างๆ ก็มักจะไม่ได้รับการมอบหมายงานอะไรให้ทำเลย จนเขารู้สึกว่าเขาไร้ค่ามากๆ และรู้สึกหมดแรงจูงใจในการทำงาน

ถ้าท่านเองเจอกับเหตุการณ์นี้บ้าง จะรู้สึกอย่างไรครับ ผมคิดว่าคงจะรู้สึกไม่แตกต่างกันสักเท่าไร สิ่งที่คนเราต้องการมากไปกว่าเงินเดือนและสวัสดิการที่ได้รับอยู่ทุกเดือนๆ แล้ว ก็ยังต้องการสังคม และการยอมรับนับถือจากกลุ่มเพื่อนร่วมงานที่ทำงานด้วยกัน ถ้าไม่ได้รับสิ่งเหล่านี้ผมคิดว่า เขาคนนั้นก็คงหมดแรงทำงาน และไม่อยากอยู่ในบริษัทนั้นอีกต่อไป แม้ว่าเงินเดือนจะมากมายสักเท่าไรก็ตาม

จากที่ผมได้เป็นวิทยากรในหลักสูตรการพัฒนาทักษะการบังคับบัญชาให้กับ องค์กรต่างๆ มามากมาย ผมเห็นสัจธรรมอันหนึ่งก็คือ เรื่องเงินเดือนนั้น ไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่คนเราต้องการเลย มันเป็นสิ่งแรกต่างหากที่คนเราต้องการ ก่อนที่จะเริ่มงานนั้นๆ ก็ให้พอใจในเรื่องของค่าจ้างและสวัสดิการซะก่อน

เมื่อได้รับตรงจุดนั้นแล้ว ค่าตอบแทนต่างๆ มันก็จะเริ่มหมดพลังสำหรับจูงใจพนักงานคนนั้น สิ่งที่จะกลายเป็นแรงจูงใจที่ดีมากๆ ก็คือ การที่พนักงานได้รับการยอมรับนับถือจากหัวหน้างานของเขา และเพื่อนร่วมงานของเขา สิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีผลกระทบแรงมากๆ เลยนะครับ สำหรับความรู้สึกของมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่ง

ลองจินตนาการตามไปด้วยก็ได้นะครับ สมมติว่าท่านเข้ามาทำงานได้รับค่าตอบแทนในอัตราที่ท่านคิดว่าพอใจมากๆแล้ว วันเริ่มงาน หัวหน้างานก็เข้ามาคุย 1 คำ คือ “สวัสดี” จากนั้นก็ไม่ได้คุยอะไรกันอีกเลย วันต่อๆ มาหัวหน้างานก็แค่มอบหมายงานแล้วก็ไม่ได้พูดคุยอะไร ทำงานได้ดี หรือไม่ดี ก็ไม่แจ้ง ไม่บอก ไม่สอนงาน เพื่อนๆ ก็จับกลุ่มนินทาพนักงานใหม่ และไม่ค่อยมีใครที่อยากจะเข้ามาคุยด้วย เวลาประชุมทีมงาน ทุกคนในทีมล้วนได้รับมอบหมายงาน มีแค่ท่านเท่านั้นที่ไม่ได้รับมอบหมายอะไรเลย ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่ได้รับมอบหมายให้เข้าไปศึกษางานนั้นด้วย พูดง่ายๆ ก็คือเคว้งคว้างลอยอยู่กลางอากาศเลย

ท่านจะรู้สึกอย่างไร ผมเชื่อเลยว่า ไม่นานหรอกครับ พนักงานนี้ก็ต้องลาออกไปจากบริษัทนี้ แม้ว่า HR จะบอกว่าพนักงานคนนี้เก่งมีประสบการณ์ทำงานมากมาย แต่ถ้ากลุ่มไม่ยอมรับแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ หมดแรงจูงใจในการทำงาน ถ้าพนักงานคนนี้เก่งจริง เขาก็จะคิดในใจว่า “ไปสร้างผลงานให้กับบริษัทอื่นที่เขาเห็นคุณค่าของเราดีกว่า”

ปัจจุบันเราศึกษาเรื่องของแรงจูงใจมากมาย มีทฤษฎีเยอะแยะที่พูดเรื่องนี้ แต่เราเองก็หารู้ไม่ว่า เรื่องแรงจูงใจนั้นศึกษาแต่ทฤษฎีอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องมีการปฏิบัติด้วย และบรรดาหัวหน้างานทุกคนก็ต้องเห็นความสำคัญของเรื่องแรงจูงใจนี้ มิฉะนั้นหัวหน้างานคนนั้นจะไม่ได้ใจจากลูกน้องเลย ยิ่งไปกว่านั้นทีมงานก็จะเริ่มระส่ำระส่าย ผลงานในทีมก็จะเริ่มแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด

แล้วในฐานะที่ท่านเองเป็นหัวหน้า ท่านให้ความสำคัญและการยอมรับลูกน้องของท่านสักแค่ไหน มีคนไหนที่ท่านไม่อยากยอมรับบ้างหรือไม่ ทำไม ลองตรวจสอบตัวเองดูนะครับ การเป็นหัวหน้างานที่ดีก็คือ การระดมเอาความสามารถและจุดดีของพนักงานเข้ามาประกอบกันเป็นผลงานชั้นยอดของ ทีมงาน

คำสำคัญ (Tags): #แรงจูงใจ
หมายเลขบันทึก: 326782เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2010 07:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท